magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home Tip & Trick บทบาทบรรณาธิการในการพัฒนางานเขียน
formats

บทบาทบรรณาธิการในการพัฒนางานเขียน

สืบเนื่องจากหลักสูตรการอบรม เรื่อง ขีดเขียนเรื่องวิทย์ เมื่อวันที่ 5-6 กันยายน 2556 ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร โดยฝ่ายสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผ่านมา วิทยากรอีกท่านหนึ่ง คือ คุณณงลักษณ์ จารุวัฒน์ นักแปล และบรรณาธิการหนังสือ ได้มาพูดให้ฟังเรื่อง บทบาทบรรณาธิการในการพัฒนางานเขียน บรรยากาศระหว่างการพูด สนุกมากแต่มีสาระเพียบ จากประสบการณ์ที่คุณณงลักษณ์ ถ่ายทอดให้ฟัง เริ่มจาก ที่มาของคำว่า “บรรณาธิการ”

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ดังนี้

  • ผู้จัดหา เลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องที่ลงพิมพ์
  • บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์ หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์

ทำให้เริ่มเห็นว่า บรรณาธิการ ต้องทำอะไรบ้างในภาพรวม วิทยากรได้เสริมให้เห็นถึงภารกิจของบรรณาธิการ ที่ชัดเจนมากขึ้นอีก ทำให้เห็นว่างานบรรณาธิการนั้น มีความสำคัญยิ่ง เพราะบรรณาธิการต้องทำหน้าที่

  1. ทำให้หนังสือเสร็จเป็นรูปเล่ม
  2. ทำให้หนังสือน่าอ่าน มีคุณค่า มีคุณภาพ ถูกใจผู้อ่าน
  3. วางแผน จัดการ ประสานงาน ประเมินคุณค่าต้นฉบับที่จะพิมพ์
  4. บรรณาธิกรเนื้อหา: ตรวจแก้โครงสร้าง เนื้อหาสำคัญ และตรวจแก้ ปรับปรุงต้นฉบับทั้งเล่ม
  5. ประสานงานกับผู้เขียนในด้านเนื้อหา ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต้นฉบับ
  6. ประสานงานกับฝ่ายศิลปกรรมด้านการออกแบบรูปเล่ม
  7. ประสานงานกับฝ่ายการตลาดด้านการจัดจำหน่าย ส่งเสริมการขาย
  8. ประสานงานกับผู้อ่านด้านหนังสือที่ผู้อ่านต้องการ

กล่าวได้ว่า ต้องทำครบทั้งเนื้อหา ทั้งรูปเล่ม ตั้งแต่แรกเริ่มจนหนังสือเสร็จออกมาเป็นเล่ม และวางจำหน่ายเลยทีเดียว ในเมื่อภารกิจของบรรณาธิการที่มากมายขนาดนั้น ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการต้นฉบับจึงต้องมีคุณสมบัติ

  1. มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Confidence) ไม่ว่าจะเป็นความรอบรู้ด้านต่างๆ ทักษะการเขียน กระบวนการผลิต นโยบาย
  2. ไม่เอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ (Objectivity) พิจารณาผลงานในมุมมองของผู้เขียน
  3. มีความตระหนักรู้ (Awareness) ในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับผู้เขียน แนวทางของสำนักพิมพ์ หรือกระบวนการผลิตต่าง ๆ เป็นต้น
  4. มีความเฉลียวฉลาด (Intelligence) ในการตัดสินใจอย่างถูกต้องว่าอะไรผิดอะไรถูก
  5. มีความสงสัยเป็นธรรมชาติ (Questioning Nature) เพื่อแสวงหาคำตอบที่กระจ่างชัด เพราะหากตนยังสงสัยผู้อ่านก็เกิดคำถามเช่นเดียวกัน
  6. มีทักษะในการเจรจา (Diplomacy) ถือเป็นทักษะที่สำคัญ เพราะต้องติดต่อพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้เขียนในลักษณะต่าง ๆ
  7. มีความสามารถในการเขียน (Ability to Write) เพื่อจะได้เข้าใจความคิดและแนวทางของผู้เขียนนอกเหนือไปจากการเป็นนักอ่านที่ดีที่จะต้องมีอยู่แล้ว
  8. มีอารมณ์ขัน (Sense of Humor) เพราะคนที่อารมณ์เสียมักทำให้ผลงานออกมาไม่ดี

คุณสมบัติของบรรณาธิการต้นฉบับ ดังกล่างข้างต้น วิทยากรได้อ้างอิงจาก William G. Connolly Jr. บรรณาธิการ The New York Times Week in Review และได้สรุปคุณสมบัติของบรรณาธิการต้นฉบับ ตามแนวทางของวิทยากรอย่างง่ายๆ สั้น ว่า

  1. เป็นนักอ่าน อ่านหลายเนื้อหา หลายแนว
  2. มีความสามารถในการใช้ภาษาได้ถูกต้อง
  3. ตาไว หูไว
  4. ขี้สงสัย
  5. ความจำดี
  6. มีวิจารณญาณ มีความมั่นใจ
  7. ทำงานเป็นระบบ มีแบบแผน ละเอียดรอบคอบ
  8. ขยันค้นคว้า มีทักษะในการค้นคว้า สืบค้นข้อมูล
  9. มีมนุษยสัมพันธ์ มีจรรยาบรรณ

ในเมื่อบรรณาธิการต้นฉบับ มีภารกิจมากมายขนาดนั้น งานของบรรณาธิการต้นฉบับ จึงประกอบด้วย

  1. ตรวจสอบเนื้อหาของต้นฉบับ
    – โครงสร้าง
    – การเรียงลำดับหัวข้อและเนื้อหา ความต่อเนื่อง
    – ความถูกต้อง ความชัดเจน ความครบถ้วน
    – การอ้างอิง
    – ตรวจสอบและกำหนดให้เป็นแบบแผนเดียวกันตลอดทั้งเล่ม
  2. ตรวจสอบภาษาให้ถูกต้อง อ่านง่าย ตามง่าย เข้าใจง่าย
    – ตรวจคำ ตรวจความ ตรวจประโยค ตรวจบริบท
    – การเลือกใช้คำ สำนวน โครงสร้างประโยคเป็นภาษาไทยที่ถูกต้อง
    – หลีกเลี่ยงโครงสร้างประโยคซับซ้อน โครงสร้าง/ภาษาต่างประเทศ
    – ระดับภาษา โทน ลีลา
    – คำราชาศัพท์ คำฟุ่มเฟือย คำขาด (ห้วน) คำซ้ำ คำไม่จำเป็น
    – การสะกดคำ ตัวการันต์ ลักษณะนาม หน่วยนับ
    – การใช้ศัพท์วิชาการ ศัพท์บัญญัติ การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ
    – ตัวเลข รูปแบบตาราง แผนภูมิ ภาพ คำบรรยายใต้ภาพ ตัวเน้น/ตัวเอน
    – การใช้ตัวย่อ คำย่อ เครื่องหมายวรรคตอน การเคาะวรรค การขึ้นย่อหน้า
    – เชิงอรรถ หมายเหตุ ภาคผนวก บรรณานุกรม อภิธานศัพท์ ดรรชนี
    – ตรวจสอบและแก้ไขให้เป็นแบบแผนเดียวกันตลอดทั้งเล่ม (consistency)
  3. จัดทำหนังสือให้สวยงาม น่าอ่าน
    – การจัดวาง/เรียงลำดับ เนื้อหาและภาพประกอบในแต่ละหน้า แต่ละบท
    – ตาราง แผนภูมิ แผนภาพ คำบรรยายใต้ภาพ
    – เชิงอรรถ หมายเหตุ ภาคผนวก บรรณานุกรม อภิธานศัพท์ ดรรชนี
    – ประสานงานการออกแบบรูปเล่ม ปกหน้า ปกหลัง การพิมพ์ เทคนิคการพิมพ์แบบพิเศษ การเข้าเล่ม

บรรณาธิการ จึงต้องเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องของส่วนประกอบของหนังสือ เป็นอย่างดี การเรียงลำดับของส่วนประกอบของหนังสือที่ควรจะออกมาเป็นเล่มตามมาตรฐานของหนังสือ การรู้จักส่วนประกอบของหนังสือ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่วิทยากรนำเสนอ

ส่วนประกอบของหนังสือ ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง ส่วนอ้างอิง/ส่วนเพิ่มเติม ส่วนหน้าปกใน และด้านหลังปกใน ในแต่ละส่วนมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ส่วนนำ ประกอบด้วย
    ใบหุ้มปก (book jacket)
    ปกหน้า (front cover)
    สันหนังสือ (spine)
    ใบรองปก (fly leave)
    หน้าปกใน (title page)
    หน้าอุทิศ (dedication)
    กิตติกรรมประกาศ (acknowledgement)
    คำนำ (preface)
    สารบัญ (table of contents)
    สารบัญภาพ ตาราง แผนภูมิ แผนที่ (list of illustrations, tables, figures, maps)
  2. ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย
    บทนำ (introduction)
    ภาคหรือตอน (section)
    บท (chapter)
    บทสรุป บทส่งท้าย (summary, epilogue)
    เชิงอรรถ (footnote)
  3. ส่วนอ้างอิง/ส่วนเพิ่มเติม ประกอบด้วย
    ภาคผนวก (appendix)
    บรรณานุกรม (bibliography)
    เอกสารอ้างอิง (reference)
    อภิธานศัพท์ (glossary)
    ดรรชนี (index)
  4. ด้านหน้าปกใน ประกอบด้วย
    ชื่อเรื่อง (title)
    ชื่อรองเรื่อง (sub title)
    ชื่อผู้เขียน (author)
    ชื่อผู้รวบรวม (compiler)
    ชื่อผู้แปล (translator)
    ชื่อบรรณาธิการ (editor)
    ชื่อผู้วาดภาพ (illustrator)
  5. ด้านหลังปกใน ประกอบด้วย
    ชื่อเรื่อง/ชื่อรองเรื่อง
    ชื่อผู้เขียน/ผู้รวบรวบ/ผู้แปล/บรรณาธิการ
    เลข ISBN
    ชื่อ/ที่อยู่ผู้จัดพิมพ์ (publisher)
    ฉบับพิมพ์ที่ (edition)
    ปีที่พิมพ์ (year of publication)
    ชื่อ/ที่อยู่ผู้จัดจำหน่าย (distributor)
    อื่นๆ

งานบรรณาธิการต้นฉบับ ขึ้นอยู่กับความถูกต้องเป็นหลัก จึงต้องมีคู่มือ หรือหนังสืออ้างอิงไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการเขียน การใช้ภาษาที่ถูกต้อง เช่น

  1. พจนานุกรม
    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, ๒๕๕๕
    คลังคำ รวมคำและสำนวนในภาษาไทย (นววรรณ พันธุเมธา)
    หลักเกณฑ์การเว้นวรรค การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
    หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอน และเครื่องหมายอื่นๆ
    หลักการเขียนทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ (เว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถาน)
  2. พจนานุกรมศัพท์เฉพาะวิชา
    ศัพท์บัญญัติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
    ศัพท์วิทยาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
    ศัพท์เทคโนโลยีสารสนเทศ/คอมพิวเตอร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
    ศัพท์คอมพิวเตอร์
  3. พจนานุกรมภาษาต่างประเทศ
  4. สืบค้นจากแหล่งข้อมูลออนไลน์
  5. คู่มือการเขียนอ้างอิงภาษาไทย / ภาษาต่างประเทศ

ขั้นตอนการบรรณาธิกรต้นฉบับ

  1. เมื่อได้รับต้นฉบับ ตรวจดูโครงสร้างของหนังสือ การจัดแบ่ง การเรียงลำดับเนื้อหา ภาพ/ตาราง/แผนภูมิ ครบถ้วนหรือไม่ ข้อมูลผู้เขียน ความรู้ ความชำนาญ ผลงานที่เกี่ยวข้อง
  2. อ่านรอบแรกเพื่อสำรวจ (1-2 บทแรก) ไม่ต้องแก้ไข พิจารณาวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย การนำเสนอ โครงเรื่อง เนื้อหา ระบบและวิธีการเขียน การใช้ภาษา/คำ/สำนวน/ประโยค ระบบอ้างอิงต่างๆ ผลการวินิจฉัยเบื้องต้น ยอมรับต้นฉบับได้หรือไม่ จะส่งคืนให้ผู้เขียนแก้ไข หรือ บรรณาธิการจะแก้ไขเอง
  3. อ่านอย่างละเอียด ทำความเข้าใจ วิเคราะห์เพื่อแก้ไข ตรวจทานให้เรียบร้อย
  4. จัดหน้า จัดเรียงเนื้อหา กำหนดรายละเอียดการพิมพ์
  5. ตรวจพิสูจน์อักษรตัวอย่างงานพิมพ์

วิทยากรได้ให้เคล็ดลับการบรรณาธิกรหนังสือ ไว้ดังนี้

  1. อ่านหนังสือที่ใช้ภาษาถูกต้อง อ่านมากๆ อ่านบ่อยๆ ให้มีฐานข้อมูลและคลังคำที่ถูกต้อง
  2. อ่านออกเสียง หรือ อ่านในใจ แต่ต้องให้ได้ยินเสียงของตนเอง เพื่อให้ได้ยินเสียงวรรณยุกต์ต่างๆ >> แก้คำสะกดผิด เติม/เปลี่ยนคำให้เสียงสละสลวยขึ้น
  3. ฝึกนึกเป็นภาพ
  4. อย่าปล่อยให้ความเคยชิน ความคุ้นเคย มาทำให้การใช้ภาษาไขว้เขว
  5. ภาษาไทย กับ ภาษาต่างประเทศ ไม่เหมือนกัน

– ( 1084 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


three × 7 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>