magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ASEAN พม่าดาวเด่นของอาเซียน
formats

พม่าดาวเด่นของอาเซียน

ทุกๆ ประเทศบนโลกใบนี้ต่างมุ่งแสวงหาการพัฒนาประเทศไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น ซึ่งการพัฒนาเหล่านั้นนอกจากจะต้องอาศัยปัจจัยภายในประเทศแล้ว ยังต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอกประเทศอีกด้วย ดังนั้นที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศที่เคยปิดตัวเองจากโลกภายนอกก็ต้องเปิดประเทศเพื่อรองรับการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้คงจะไม่มีเรื่องราวไหนได้รับความสนใจมากไปกว่าการเปิดประเทศของพม่าเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น สอดคล้องกับการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึง

ผลจากการปฏิรูปทางการเมืองในพม่า ส่งผลให้นโยบายต่างๆ ได้รับการแก้ไขและผ่อนปรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน ซึ่งเปิดกว้างและสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้หากใครได้มีโอกาสเดินทางไปพม่า ไปยังเมืองใหญ่ๆ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ หรือเมืองหลวงเนย์ปิดอว์ ก็มักจะพบเห็นภาพของการก่อสร้างอาคารสูงและการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ทันกับความเจริญที่ถาโถมเข้ามา ณ ขณะนี้ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2007 เมื่อครั้งที่โลก 360 องศาเดินทางเข้าไปยังประเทศพม่า ไปในขณะที่สถานการณ์ในพม่ายังคงคุกรุ่น เราพบว่าจริงๆ แล้วบรรยากาศในพม่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คนภายนอกมองกัน ตัวอย่างในย่างกุ้ง บรรยากาศก็เป็นปกติมีการค้าการขาย มีการลงทุน ซึ่งในขณะนั้นพม่ายังคงถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก แต่ยังมีประเทศจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในพม่า รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย หากพูดถึงปัจจุบันนี้บรรยากาศในพม่าคงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะนโยบายการผ่อนปรนทางการเมือง ทำให้ชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรพม่า มากไปกว่านั้น ด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาล ยังเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนจากตะวันตกอยากที่จะเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์เหล่านั้นด้วย ทำให้ในวันนี้พม่าจึงต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทุกๆ ด้าน การกลับไปพม่าอีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ จึงเหมือนกับการไปเริ่มต้นเรียนรู้พม่าใหม่อีกครั้ง และเชื่อว่าต่อให้เดินทางไปอีกปีหรือสองสามปีข้างหน้า บรรยากาศก็เปลี่ยนแปลงไปจากที่เห็นในวันนี้ แต่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปในพม่า คือวิถีแห่งพระพุทธศาสนา

ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท คือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจประชากรส่วนใหญ่ของพม่า ดังนั้นไม่ว่าไปยังจุดใดในพม่า ก็จะต้องพบเห็นวัดวาอารามมากมาย มากไปกว่านั้นศาสนสถานในพม่าส่วนใหญ่มีอายุนับร้อยปีไปจนถึงนับพันปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงได้รับการรักษาและบูรณะให้คงสภาพสมบูรณ์อยู่เสมอ เนื่องด้วยพุทธศาสนิกชนชาวพม่าให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดังนั้นการไปพม่าจึงไม่ควรพลาดการเที่ยวชมวัด หรือไปร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวพม่าเข้าวัดทำบุญกันตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อสวดมนต์นั่งสมาธิในวัด

การบวชเรียนยังเป็นสิ่งที่ชาวพม่าให้ความสำคัญและปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งเห็นได้จากจำนวนพระภิกษุและสามเณรที่ยังมีจำนวนมากในประเทศนี้ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวพม่าจึงมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงมีส่วนสำคัญในการทำให้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาของพม่ามีความน่าสนใจและกลายมาเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยว

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลายมาเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของพม่า ซึ่งมีเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ เมืองย่างกุ้ง ที่ตั้งของพระมหาเจดีย์ชเวดากอง เมืองมัณฑะเลย์ เมืองประวัติศาสตร์และเป็นที่ตั้งของศาสนสถานเก่าแก่มากมาย และเมืองท่องเที่ยวชื่อดังอีกมากมาย เช่น พุกาม อินเล และไจก์โถ่ว ด้วยเหตุนี้พม่าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ประปา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของพม่า เพราะหลายพื้นที่ยังคงเผชิญกับปัญหาไฟฟ้าดับ รวมไปถึงการเข้าไม่ถึงของระบบสายส่งไฟฟ้า ทำให้การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในพม่าไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี มีการระบุว่า เศรษฐกิจของพม่าจะเติบโตมากกว่านี้หากมีการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติยังขาดความเชื่อมั่นอยู่ เพราะปัจจุบันพม่าเป็นประเทศที่มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยน้อยที่สุดประเทศหนึ่งในโลก คือ 104 กิโลวัตต์ต่อคนต่อชั่วโมง มีพื้นที่เพียงร้อยละ 20 ที่ระบบสายส่งไฟฟ้าเข้าถึง และมีประชากรเพียงร้อยละ 25 ที่สามารถใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่ง ซึ่งไฟฟ้ากว่าร้อยละ 70 ผลิตจากเขื่อน รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

จากการส่งทีมงานลงพื้นที่ในประเทศพม่า พบว่ายังมีชาวพม่าอีกจำนวนมากที่ยังต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ โดยอาศัยระบบเกื้อหนุนกันในชุมชน ซึ่งในชุมชนที่เราส่งทีมงานลงไปสำรวจนั้น พบว่าบ้านไหนที่พอจะมีเงินก็จะลงทุนซื้อเครื่องปั่นไฟมาติดตั้ง แล้วกระจายไปยังเพื่อนบ้านในชุมชนมากกว่า 100 ครัวเรือน โดยใช้วิธีการเรียกเก็บเงินบำรุงและค่าน้ำมันรายเดือนตามชนิดเครื่องไฟฟ้าที่ใช้ เช่น หลอดไฟเพียง 1 หลอด คิดราคา 100 จ๊าด และ 350 จ๊าด สำหรับการใช้ไฟฟ้าทั้งหลัง แต่หากบ้านไหนมีเพียงคนเฒ่าคนแก่อาศัยอยู่ก็จะคิดเพียง 50 จ๊าด นอกจากนั้นแล้วการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมสายไฟก็จะช่วยกันในชุมชน ในขณะเดียวกัน ค่าน้ำมันสำหรับเครื่องปั่นไฟก็มีราคาสูงขึ้นทุกๆ วัน นี่คือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในพม่า ทำให้จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ รัฐบาลพม่าต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างระบบไฟฟ้าเพื่อให้ทันกับความต้องการและสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวพม่าและนักลงทุนจากต่างประเทศ

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพม่า ระบุว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของพม่าระหว่างปี 25542555 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,544 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2551 อยู่ที่ 1,717 เมกะวัตต์ ซึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าพม่าได้มีความพยายามที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันพม่าจึงมีโครงการก่อสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าอีกประมาณ 48 โครงการ ซึ่ง 45 โครงการเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ โดยมีเป้าหมายคือการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้มากขึ้น 14 เท่า หรือ 36,635 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นแล้ว พม่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องขยายระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ และที่สำคัญคือสายส่งไฟฟ้าแรงต่ำก็จะต้องขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนและเขตอุตสาหกรรม มากไปกว่านั้นจะต้องปฏิรูประบบสายส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัยเพื่อทดแทนระบบสายส่งรุ่นเก่า ที่ทำให้ไฟฟ้าสูญเสียไปในระบบมากถึงร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 40 ซึ่งนั่นทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า ในอนาคตข้างหน้าพม่าอาจจะต้องมีความจำเป็นในการลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติบางส่วนเพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะการสร้างเขื่อนในพม่า ณ ขณะนี้ มีหลายโครงการที่ต้องถูกระงับเนื่องจากแรงคัดค้านจากประชาสังคม ดังนั้นก๊าซธรรมชาติจึงเป็นความหวังในการผลิตไฟฟ้าให้กับพม่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและเพื่อให้ทันกับความต้องการของประชาชนในประเทศ ด้วยเหตุนี้ประเทศจีนและประเทศไทย ผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติรายใหญ่จากพม่า จึงต้องเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มและความเป็นไปได้ในอนาคต

ทุกๆ ครั้งที่ได้มีโอกาสกลับไปพม่า เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไปข้างหน้าอยู่เสมอ นั่นหมายถึง ณ เวลานี้ พม่ากำลังเดินหน้าใช้ประโยชน์จากการเปิดประเทศอย่างเต็มที่ แต่กับดักสำคัญที่คอยสร้างความลำบากให้กับพม่าคือการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มาสนับสนุนได้ว่า ตราบเท่าที่ประเทศพม่าต้องการจะเดินหน้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อภาพความน่าเชื่อถือในการลงทุนของประเทศ ดังนั้นถ้าในอนาคตข้างหน้ามีความเป็นไปได้สูงมากที่พม่าจะยอมลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติให้กับไทยเพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า เพื่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงานและความเชื่อมั่นทางด้านการลงทุน อันจะนำมาสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลมากกว่าการขายก๊าซธรรมชาติ ถึงวันนั้นถ้าเรายังไม่มีแผนรองรับจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย

รายการอ้างอิง :
พม่าดาวเด่นของอาเซียน. โพสต์ทูเดย์. วันที่่ 10 สิงหาคม 2556.

 – ( 1097 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
1 Comment  comments 

One Response

  1. ประเทศพม่ามีครบจริงๆ ทั้งภูมิประเทศที่สวยงาม ทรัพยากร และแรงงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− 5 = three

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>