magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ASEAN ปศุสัตว์ไทยรุกเออีซีฝันหวานไม่สร้างภาพ
formats

ปศุสัตว์ไทยรุกเออีซีฝันหวานไม่สร้างภาพ

ประตูเออีซี…ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเปิดในไม่ช้า ด้าน “ปศุสัตว์”…เมืองไทยในมุมมองภาคเอกชนถือว่าแนวโน้มค่อนข้างเป็นบวก

“เมืองไทยมีจุดแข็งที่แปลกมาก นอกจากมีมาตรฐานในการผลิตสูง คุณภาพสูงแล้ว ก็ยังทำได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำด้วย จะพบว่าวันนี้ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่จะไปขยายการลงทุนในพม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม…”

เภสัชกรทรงวุฒิ ศักดิ์ชลาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซเอทิส (ประเทศไทย) จำกัด บอก

พูดถึงปศุสัตว์เมืองไทย หลักๆก็จะเป็นสุกร ไก่ สัตว์น้ำ อาหารสัตว์ ประตูเศรษฐกิจอาเซียนประเทศไทยจะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้เต็มที่จะต้องมีความ ร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน นับรวมไปถึงสถานศึกษาที่ต้องผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่วงการปศุสัตว์          ทรงวุฒิ มองว่า ถ้าเราอยากให้ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งด้านปศุสัตว์ครบวงจรในเออีซี จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย รวมตัวกันที่จะทำอย่างไรให้เป็นเลิศในทุกจุด เทคโนโลยีการผลิต…เวชภัณฑ์ที่ใช้…กระบวนการผลิต… กระบวนการด้านควบคุมคุณภาพ

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 นี้…ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ จะมีการประชุมอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์สัตว์ครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นใน ประเทศไทย

งานนี้จะรวบรวมผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไว้ทั้งหมดกว่า 1,000 คน อาทิ สัตวแพทย์ เจ้าของฟาร์ม นักวิชาการ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านปศุสัตว์ รวมถึงช่างเทคนิคและผู้ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพสัตว์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม เวชภัณฑ์สัตว์ของอาเซียน

“เออีซี” เป็นโอกาสสำคัญในการขยายอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์สัตว์ให้เติบโตยิ่งขึ้น ภายใน 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ถึง 3 เท่าตัว คิดเป็นมูลค่ากว่า 90,000 ล้านบาท…

ประเมินกันว่าการเติบโตนี้จะส่งผลต่อการพัฒนา สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ ใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นอันดับ 2 รองจากเกษตรกรรมในด้านการสร้างอาชีพ          “วัคซีน” เป็นมูลค่าเพิ่มทางนวัตกรรมที่น่าสนใจ ไม่ว่าวัคซีนคนหรือวัคซีนสัตว์ ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งมีต้นทุนในการค้นคว้าวิจัยสูงเช่นกัน

“เดี๋ยวนี้ วิธีการควบคุมโรคไม่ว่าในคนหรือสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เราต้องการมีความปลอดภัยของอาหารไม่ให้มีสารตกค้าง…ยา ปฏิชีวนะต่างๆก็เลยจะเป็นลักษณะเป็นการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค ไม่ว่า ไก่ หมูก็เหมือนกับคน พอเกิดมาก็ต้องฉีดวัคซีน ป้องกันโรคไวรัส โรคต่างๆเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง จนกระทั่งถูกนำมาแปรรูปเป็นอาหาร อนาคตเวชภัณฑ์สัตว์จึงหนักไปที่วัคซีนกับการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ควบคุม ปลอดภัยไม่ให้มีเชื้อโรค”

โดยเฉพาะวัคซีนสุกรและสัตว์ปีก รวมถึงการนำเทคโนโลยี ความรู้ความเชี่ยวชาญไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เรามีศักยภาพในการเป็นผู้นำได้ เนื่องจากไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากตลาดส่งออกที่มีการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เจ้าของฟาร์มมีความสนใจ และส่งผลต่ออุตสาหกรรมเวชภัณฑ์สัตว์ให้เติบโตตามไปด้วย

แม้ว่าวัคซีนส่วนใหญ่วันนี้ยังนำเข้า แต่ที่เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องคือการวิจัยพัฒนาในโครงการร่วมกับ สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ไทย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มุ่งหวังพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ในภูมิภาคนี้

“แม้ว่าจะเป็นภาคเอกชน แต่ก็มีความพยายามที่อยากให้เกิดงานวิจัยที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ตอนนี้มีการตั้งห้องทดลองไว้ในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ…ถือเป็นสิ่งที่ จำเป็นมากสำหรับผู้ประกอบการ เพราะในการควบคุมโรคต่างๆจำเป็นจะต้องคอยตรวจเลือดอยู่เรื่อยๆ” ทรงวุฒิ ว่า

“เพื่อเป็นตัวบ่งชี้ว่าสุขภาพสัตว์ยังดีอยู่ ไม่ใช่ว่ารอจนมีอาการก่อนถึงจะรู้ว่าเป็นโรค”

ถามถึงแนวโน้มความรุนแรงโรคในสัตว์ จะเป็นเหมือนโรคในคนที่มีโรคอุบัติใหม่ พัฒนากลายพันธุ์สร้างความเจ็บป่วยให้กับผู้คนได้เพิ่มขึ้นทุกปีหรือเปล่า

โรคในสัตว์เท่าที่พบ ในช่วงปีที่ผ่านมา 2555-2556 ยังไม่ค่อยมีโรคเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะว่าผู้ประกอบการสามารถควบคุมโรคได้ดี เน้นการป้องกันมาก เลี้ยงในระบบปิด…เทียบกับต่างประเทศจะเห็นว่าเมืองไทยไม่ค่อยมีข่าวโรค ระบาดในไก่ หมูสักเท่าไหร่…แล้วทีนี้พอหมูมีมาก ราคาก็ตกต่ำเป็นช่วงๆ

“มาตรการความปลอดภัยด้านอาหารและชีวภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งจะเห็นได้จาก เมื่อเร็วๆนี้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ยุโรปเกือบจะต้องหยุดชะงัก ก็เพราะประสบปัญหานี้” เภสัชกรทรงวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

รศ.น.สพ.ดร.จตุพร กระจายศรี คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เสริมว่า อนาคตปศุสัตว์ไทยมีการคาดการณ์กันว่าจะมีอนาคตที่สดใส ความได้เปรียบมาจากพื้นฐานที่ดี เรามีความก้าวหน้าด้านการเลี้ยงสัตว์มากกว่า…ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นทุกปี มีเกษตรกรที่ชำนาญการ มีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถสูง รวมถึงมีการผลิตวัตถุดิบเพื่อไปเป็นอาหารสัตว์ ในปริมาณเพียงพอกับความต้องการ

อย่างไรก็ตาม อนาคตปศุสัตว์ไทยที่พวกเราฝันหวานไว้เมื่อเปิดเสรีเออีซีแล้วจะเป็นจริงหรือ ไม่นั้น รศ.น.สพ.ดร.จตุพร วิเคราะห์ว่าในช่วงแรกๆ ของการเปิดเสรีน่าจะไปได้ดีจากข้อได้เปรียบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ในระยะยาวอาจไม่แน่ ด้วยเหตุ…ปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนไป อาจมีโอกาสทำให้ข้อได้เปรียบที่ว่านั้นลดลง

ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ในประเทศเวียดนามก็กำลังมีการส่งเสริมและขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมการ เลี้ยงโคเนื้อ-นม สุกร ประเทศลาว… กัมพูชาส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคเนื้อ

อีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง พื้นที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยก็ลดน้อยลงทุกปี ความสมบูรณ์ของดินก็ลดลงด้วย ประกอบกับปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ น้ำท่วม แล้งนาน อากาศรุนแรงทำให้ผลผลิตพืชที่จะเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน และภัยจากโรคระบาดสัตว์ที่เกิดบ่อยครั้ง ทำให้ผลผลิตปศุสัตว์ลดลงหรือเสียหายอย่างมากมาย…ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ข้อ ได้เปรียบของเราลดลงได้

หากประเทศไทยจะยังคงให้ธุรกิจปศุสัตว์สร้างรายได้ต่อเนื่อง ยั่งยืน ควรปรับยุทธศาสตร์และความคิด สร้างพันธมิตรกับประเทศต่างๆในอาเซียนแทนที่จะมองเขาว่าเป็นคู่แข่งทางการ ค้า โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะต้องเป็นการทำงานกันอย่างบูรณาการ ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจด้านนี้

เช่น…ให้มีการต่อยอดการทำปศุสัตว์ของไทยให้กลายไปเป็นอุตสาหกรรม แปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ให้มากขึ้นเพื่อการส่งออกในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากสุกร เนื้อไก่ ไข่ไก่เป็นอาหารแปรรูป นมพร้อมดื่มหรือนมผงสำเร็จรูป ส่งออกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ชั้นสูงคุณภาพดีของโคเนื้อ แพะ และสุกร ที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย แทนที่จะส่งเป็นซากไปอย่างเดียว ซึ่งต้องอาศัยเงินลงทุนบวกการสนับสนุนจากภาครัฐ

“บูรณาการความคิด ความร่วมมืออย่างเป็นระบบจะยิ่งเสริมความได้เปรียบด้านปศุสัตว์ของประเทศไทย ให้คงอยู่ต่อไป…เงื่อนเวลาที่กระชับเข้ามาทุกวัน ถ้าทำได้ฝันของเราก็จะเป็นฝันหวาน”

รศ.น.สพ.ดร.จตุพร กระจายศรี คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวทิ้งท้าย.

รายการอ้างอิง :
ปศุสัตว์ไทยรุกเออีซีฝันหวานไม่สร้างภาพ. ไทยรัฐ (กรอบบ่าย-สกู๊ปหน้า1). ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556.– ( 48 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


4 + eight =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>