magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บตกจากอีเมล์ ผู้ให้…บน “เรือ” หนังสือ
formats

ผู้ให้…บน “เรือ” หนังสือ

ความสุขที่ยิ่งใหญ่ คือการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่หัวใจจะพองโตมากกว่านั้น หากเลือกที่จะให้ปัญญา เสริมสร้างการอ่านให้กับเยาวชน

ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรือ Logos Hope เรือร้านหนังสือลอยน้ำใหญ่ที่สุดในโลก ขนาด 430 ฟุต ซึ่งถูกแปรสภาพจากเรือเดินสมุทรลำใหม่ล่าสุดของเรือพันธกิจ GBA Ships e.V., ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลนานาชาติที่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศเยอรมนี ได้เข้ามาจอดเทียบท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมีผู้สนับสนุนใจดีอย่าง น้ำตาลมิตรผล มาเปิดให้บริการจำหน่ายหนังสือกว่า 5,000 รายการ ประกอบด้วยหนังสือหมวดวิทยาศาสตร์ หมวดกีฬา ตำราทำอาหาร หมวดงานอดิเรก และหมวดการดำเนินชีวิตและครอบครัว รวมถึงหนังสือสำหรับเด็ก ได้แก่ ตำราเรียน พจนานุกรม แผนที่ประเทศต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย
หลายครอบครัวพาเด็กๆไปเยี่ยมเยือนแล้ว บ้างได้หนังสือติดไม้ติดมือมานิดหน่อย บ้างโกยซื้อเป็นกระบุง โดยให้เหตุผลว่า หนังสือคุณภาพดี มากประโยชน์ แต่มีราคาไม่แพงอย่างนี้ ถ้าลงจากเรือไปตัวเปล่า ก็คงเสียดายแย่

Logos Hope จำหน่ายหนังสือไปแล้วมากกว่า 3 ล้านเล่ม และมีผู้เยี่ยมชมเรือมากกว่า 2.6 ล้านคนจากการเดินทางไปรอบโลก ได้ไปเยือนมาแล้วมากกว่า 43 ประเทศ เทียบท่าเรือกว่า 68 แห่ง แต่จุดประสงค์หลักไม่ใช่ยอดขายกระฉูด เพราะเรือลำนี้มีภารกิจสำคัญ คือนำความรู้ ความช่วยเหลือ และความหวังสู่ผู้คนทั่วโลก (Bring Knowledge, Help&Hope) ผ่านอาสาสมัครนานาชาติบนเรือกว่า 400 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก

จุดกำเนิด ผู้ให้ด้วยใจ

ไม่ใช่เพียงหนังสือที่น่าสนใจจนต้องซื้อกลับบ้าน แต่สิ่งที่เรือ Logos Hope สร้างเสน่ห์ตราตรึงใจผู้มาเยือนก็คือ ใบหน้ายิ้มแย้มของอาสาสมัคร ผู้ทำหน้าที่แนะนำ ให้คำปรึกษา และคอยดูแลเอาใจใส่หนอนหนังสือต่างบ้านต่างเมืองอย่างขะมักเขม้น พวกเขามาจากหลากที่มา แต่กลับมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่้นคือ การเป็นผู้ให้

สันติภาพ เอี่ยมสะอาด หรือพีซ เด็กหนุ่มไทยที่มีฝันรับใช้พระเจ้า เขาเป็น 1 ใน 5 คนไทยที่อาสาเข้ามาเป็นลูกเรือ Logos Hope ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ร้านหนังสือ แผนกแคชเชียร์ เล่าให้ฟังว่า เขาตัดสินใจไม่นานเลยที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ด้วยแนวคิดว่า “ถ้าเราเห็นคนอื่นยิ้ม เห็นคนอื่นมีความสุข เราก็จะมีความสุข”

“ทุกคนมีความเชื่อเป็นของตัวเอง ผมเชื่อในพระเจ้า ประทับใจที่ได้อยู่เพื่อทำอะไรเพื่อพระองค์ ผมว่ากิจกรรมต่างๆบนเรือจะสนองสิ่งที่ผมคาดหวังได้ พวกเราเหล่าอาสาสมัครจะนำความหวังไปสู่คนที่สิ้นหวัง เราไปแสดงความรักทำกิจกรรมต่างๆกับเด็กๆหลายประเทศ ก่อนจะมาที่ประเทศไทย ไปช่วยสอนหนังสือน้องๆที่วัดประสุก จังหวัดสิงห์บุรี เราไปกัมพูชามาก่อน ไปให้เครื่องกรองน้ำ ช่วยสร้างห้องน้ำ เราไปช่วยเหลือผู้คนที่นั่น ขณะเดียวกันเราก็ได้เรียนรู้ชีวิตของคนชาติอื่นๆด้วย

พีซ เล่าต่อว่า โครงการนี้จะรับสมัครผู้มีจิตอาสาที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยสารไปกับเรือ Logos Hope ตลอด 2 ปี เมื่อตัดสินใจเป็นอาสาสมัครแล้ว เขาและเพื่อนๆทั้งไทยและเทศกว่า 92 คนต้องอบรม Pre-Ship Training ทั้งขั้นตอนการทำงานพื้นฐาน และการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ แล้วก็เดินทางไปที่ฟิลิปปินส์ เพื่อเริ่มปฏิบัติงานจริง จากนั้นก็ล่องเรือไปแวะที่ฮ่องกง จนเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองไทยจนถึงวันที่ 11 มีนาคม แล้วจากนั้นก็จะกลับไปซ่อมแซมเรือที่ฮ่องกง

“วันแรกที่ไปเจอเพื่อนๆทั้ง 400 คนจากกว่า 50 ประเทศ เป็นสิ่งที่ประทับใจมาก พวกเราจะนับ 1-2-3 แล้ววิ่งออกไปพร้อมกันเพื่อลอดเชือกร้อยธงชาติเพื่อนๆ มันบรรยายเป็นคำพูดได้ยาก พอขึ้นเรือมาแล้ว พวกเราต้องทำงานด้วยกัน แชร์งาน ช่วยเหลือกัน โดยแต่ละคนจะมีหน้าที่ประจำของตน บางคนเลือกที่จะทำงานในครัว ทำอาหาร ทำขนม หรือจะทำในห้องเครื่อง ช่วยกัปตันเรือ หรือจะอยู่แผนกจัดการเอกสาร คนๆนั้นก็จะทำงานตรงจุดนั้นไป 6 เดือนแล้วค่อยเปลี่ยนงานไปทำแผนกอื่นก็ได้ ตอนนี้ผมก็สนุกกับงานในส่วน Book Fair (ร้านหนังสือ) สนุกที่ได้บริการเด็กๆและผู้ปกครองที่มาเลือกซื้อหนังสือกลับไป”

ผู้ให้ปัญญา ผู้รับประโยชน์

ถึงแม้พวกเขาจะสนุกและอิ่มใจกับการทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างแล้ว แต่สิ่งที่ตอบแทนกลับมามีคุณค่ามหาศาลกว่าเงินทอง อาสาสมัครไทยวัย 26 ปี เผยว่า อันดับแรกที่ได้ คือภาษาอย่างแน่นอน นอกจากนั้นยังสอนให้เขารู้จักปรับตัวหลายอย่าง ทั้งความคิด และวัฒนธรรมที่หลากหลาย

“ก่อนเราจะมาขึ้นเรือ จะต้องมีกิจกรรม Culture Shock เพื่อให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับความแตกต่าง ว่าคนชาติต่างๆคิดต่อเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างไร การใช้คำพูด การแสดงพฤติกรรมต่างๆออกมาว่าแต่ละประเทศสื่อถึงอะไร เพื่อไม่ให้คิดกันไปคนละทิศละทาง สิ่งนี้ทำให้เราจูนกันง่ายขึ้นเร็วขึ้น ขณะเดียวกันเราต้องปรับเปลี่ยนได้ตลอด ต้อง “ถ่อมใจ” เรียนรู้ที่จะทำได้ทุกอย่าง ที่นี่ไม่มีชนชั้นวรรณะ อย่างเพื่อนที่มาจากอินโดนีเซีย จบด็อกเตอร์สาขาแมลง ก็ต้องทำงานท่าๆกับคนที่จบทุกระดับ”

พีซเล่าต่อว่า เพื่อนๆที่อยู่บนเรือจะช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าถ้าขอความช่วยเหลือไป เขาจะยินดีช่วย หรืออธิบายจนเราเข้าใจ นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้วัฒนธรรม การละเล่น ตลอดจนไลฟ์สไตล์ของเพื่อนๆแต่ละชาติด้วย ยกตัวอย่างชาติตะวันตก เวลาว่างพวกเขาจะเอาหนังสือมาอ่าน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม นิสัยรักการอ่านจึงฝึงลึกลงไปในจิตวิญญาณของพวกเขา

รายการอ้างอิง :
ชฎาพร นาวัลย์. ผู้ให้…บน “เรือ” หนังสือ. กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). วันที่ 14 มีนาคม 2556.

 – ( 91 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


6 × nine =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>