บุคลากร สวทช. ที่เปลี่ยนการทำงานจาก “สายวิจัย” ดำรงตำแหน่ง “ผู้บริหาร” : ดร. อดิสร เตือนตรานนท์

ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี

บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสัมภาษณ์ ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้สำคัญในการทำงาน จากการปรับเปลี่ยนบทบาทจาก “นักวิจัย” สู่ “ผู้บริหารระดับสูง” ขององค์กร เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของบุคลากรของ สวทช. ที่จะก้าวขึ้นสู่สายงานบริหาร หรือ ที่สนใจเพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จากนักเรียนทุน สู่การเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักวิจัย และการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในระดับผู้บริหาร

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2001 ดร. อดิสร เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จัดสรรให้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อกระทรวงในขณะนั้น) ตามความต้องการของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (หรือที่คุ้นเคยในชื่อ เนคเทค) โดย ดร. อดิสร จบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) เน้นเฉพาะทางด้าน Laser และ Optics จาก University of Colorado at Boulder ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพื้นฐานงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (Micro-Electro Mechanical System หรือ MEMS) เมื่อ ดร. อดิสร สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ก็กลับเข้ามาทำงานที่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเป็นนักวิจัย 1

การทำงานในตำแหน่งนักวิจัยในเนคเทค ดร. อดิสร ได้เริ่มสร้างทีมวิจัยด้วยการนำเทคโนโลยี Microelectronics  และ Microfabrication มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ทำให้มีโอกาสได้ทำงานกับเพื่อนร่วมงานในห้องปฏิบัติการ Electro-Optics และได้รับทุนวิจัยในการสร้างห้องปฏิบัติการด้านระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (Micro-Electro Mechanical System หรือ MEMS) ขึ้นมา จากนั้น ดร. อดิสร ได้แยกตัวออกมาจากห้องปฏิบัติการ Electro-Optics เพื่อสร้างทีมวิจัยที่หลากหลาย โดยการพยายามนำบุคลากรภายในเนคเทคที่มีองค์ความรู้พื้นฐานที่หลากหลายและแตกต่างกัน เช่น บุคลากรที่จบวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล และชีวเคมี รวมถึงวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ มาทำงานร่วมกันเป็นทีมวิจัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการหรือปัญหาที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา  (Multi-disciplinary)

การเดินทางตามเส้นทางอาชีพนักวิจัยของ ดร. อดิสร เริ่มต้นจากการเป็นนักวิจัย 1 สร้างทีมวิจัยที่เข้มแข็งทางวิชาการ สร้างผลงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริง และล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่อุตสาหกรรม เลื่อนขึ้นมาเป็นนักวิจัยในระดับที่สูงขึ้น คือ นักวิจัย 2 นักวิจัย 3 และนักวิจัย 4 ซึ่งเป็นเส้นทางที่นักวิจัยใน สวทช. คิดหรือมองไว้ โดยในขณะที่เดินทางตามเส้นทางนี้ ดร. อดิสร มองเรื่องความสำคัญของการสร้างทีมวิจัยเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์สังคมและประเทศได้จริง โดยมีความรู้ทางวิชาการที่เข้มแข็งรองรับ

หลังจากนั้น ดร. อดิสร ได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการหน่วยวิจัย มีโอกาสได้ทำงานวิจัยที่สนใจและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ได้จัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (Thai Organic and Printed Electronics Innovation Center หรือ TOPIC) ในปี 2012 เพื่อเป็นที่ตั้งของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลและบูรณาการองค์ความรู้ด้าน Organic และ Printed electronics เป็นศูนย์กลางของเครื่องมือที่เกี่ยวข้องและการให้บริการทางเทคนิคแก่ภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เชื่อมโยงความสามารถและศักยภาพเครือข่ายวิจัยและเครือข่ายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ Organic และ Printed electronics ของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อถือให้เกิดการลดต้นทุน และให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาอุตสาหกรรม Organic และ Printed electronics โดยเน้นการวิจัยเชิงอุตสาหกรรมระหว่างภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และ สวทช. ซึ่งการจัดตั้ง TOPIC นี้ก่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่ล้ำสมัยและเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมที่ต้องการการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่กำลังตกต่ำ ไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่

ต่อมา ดร. อดิสร ได้รับการชักชวนให้มาเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (National Security and Dual-use Technology Center หรือ NSD) ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการ NSD โดย NSD เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศที่สามารถประยุกต์ใช้งานทั้งในหน่วยงานด้านความมั่นคงและในภาคประชาชนทั่วไปเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยจากความไม่สงบและอาชญากรรม เทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยต่อความมั่นคงและเสถียรภาพแหล่งจ่ายพลังงาน และเทคโนโลยีเพื่อการรับมือภัยพิบัติ

จากนั้น ดร. อดิสร ได้รับการชักชวนจาก ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กำกับดูแลศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เพื่อช่วยดูแลงานทางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการนำเทคโนโลยีและผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่ง ดร. อดิสร ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานภายใน สวทช. ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี มาใช้ขับเคลื่อนงานที่กำกับดูแล

สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนเมื่อต้องขยับบทบาทจากนักวิจัยสู่ผู้บริหาร

ดร. อดิสร กล่าวว่า “ขอขอบคุณทีมผู้บริหาร NSTDA 6.0 ที่เห็นถึงความสามารถของผมที่ผ่านมา ทั้งการทำงานวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้งานจริง รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์สำหรับภาคเอกชน นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับทีมผู้บริหารของ สวทช. ในยุค NSTDA 6.0 โดยการใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่”

“การที่เราเป็นนักวิจัยและได้ปรับเปลี่ยนบทบาทให้มาดำรงตำแหน่งผู้บริหารนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองวางแผนไว้ตั้งแต่แรก เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าตนเองอาสาเข้ามา อยากที่จะใช้ประสบการณ์ในการทำงานตลอดระยะเวลา 20 ปีที่สั่งสมรวบรวมมา เพื่อช่วยพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงกระบวนการการนำผลงานวิจัยของ สวทช. ออกไปสู่ภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น โดยสิ่งที่ต้องปรับตัวเมื่อขยับบทบาทจากนักวิจัยสู่ผู้บริหาร คือ ต้องรู้ให้ลึก รู้ให้กว้าง และรู้ให้มาก และ การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ”

ขณะที่เป็นนักวิจัยจะรู้เรื่องทางเทคนิคและทางวิชาการในงานวิจัยเชิงลึก แต่การเป็นผู้บริหารจะต้องใช้ทักษะอีกด้านหนึ่ง ซึ่งต้องรู้ให้มากและรู้ให้กว้าง หมายถึง นอกจากต้องรู้เรื่องของงานวิจัยแล้ว ต้องรู้ในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ต้องรู้เรื่องทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารคน การบริหารงบประมาณ รวมทั้งการบริหารงานทางด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว

การเป็นผู้บริหาร จะมีภาระหน้าที่ที่แตกต่างจากการเป็นผู้บริหารหน่วยวิจัย จะต้องทำงานในลักษณะที่พร้อมที่จะตอบสนองกับผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที รวมถึงการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการบริหารเวลาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

แรงบันดาลใจในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา

ดร. อดิสร กล่าวว่า แรงบันดาลใจตั้งแต่เป็นนักวิจัย คือ “นักวิจัยทุกคนใน สวทช. ถูกปลูกฝังมาเหมือนกันตั้งแต่ต้นว่า เราจะต้องทำผลงานวิจัยที่มีความเป็นเลิศและสามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งในเชิงสาธารณประโยชน์หรือในเชิงพาณิชย์ เรื่องต่างๆ เหล่านี้อยู่ในสายเลือดนักวิจัยของ สวทช. ดังนั้น การจะสร้างผลงานวิจัยที่มีความเป็นเลิศได้นั้น จะต้องค้นหาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถใช้งานได้ ทันสมัย และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

“การต้องการเห็นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและสามารถสร้างผลกระทบให้กับภาคอุตสาหกรรมและประเทศชาติได้ นำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยของ สวทช. ทุกคนยังคงทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงาน”

ตัวอย่างผลงานวิจัยที่มีความสำเร็จและเป็นที่ภาคภูมิใจ

ดร. อดิสร ได้บอกเล่าถึงตัวอย่างผลงานวิจัยที่มีความสำเร็จและเป็นที่ภาคภูมิใจ โดยย้อนกลับไปเริ่มต้นตั้งแต่
การก่อตั้งห้องปฏิบัติการด้านระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (Micro-Electro Mechanical System หรือ MEMS) ที่เนคเทค การพัฒนาและร่วมพัฒนาผลงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยของ สวทช. ตลอดจนการทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และศูนย์วิจัยอื่นๆ ภายนอก สวทช. ก่อให้เกิดผลงานวิจัยต่างๆ มากมาย

ทั้งนี้ ผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ ดร. อดิสร คือ การได้รับรางวัลทุนเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในปี พ.ศ. 2561 โดย ดร. อดิสร เป็นนักวิจัยคนแรกๆ ของ สวทช. ที่ได้รับรางวัลทุนวิจัยนี้ จากผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกราฟีน (Graphene) วัสดุ 2 มิติ ซึ่งเป็นการคิดค้นและค้นพบเทคนิคในการสังเคราะห์กราฟีนได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

การได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ มอบโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จากผลงานวิจัย เทคโนโลยีกราฟีนและวัสดุนาโนคาร์บอน เพื่อการใช้งานด้านเซ็นเซอร์และระบบกักเก็บพลังงาน

รวมถึง การได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล ประจำปี พ.ศ. 2561 มอบโดยมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรม นับเป็นรางวัลที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า งานวิจัยของเรามีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยอื่น ที่ ดร. อดิสร และทีมวิจัย ได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาขึ้น และได้รับรางวัลผลงานวิจัย เช่น ผลงาน “หมึกนำไฟฟ้ากราฟีน” ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นับเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของปีนั้น

ดร. อดิสร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นจากการได้รับรางวัลต่างๆ แล้ว การสามารถนำผลงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นไปใช้งานจริง โดยสามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสามารถนำผลงานวิจัยไปผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ สิ่งเหล่านี้นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุดสำหรับ ดร. อดิสร และทีมวิจัย

เทคนิคในการทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จ และสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ดร. อดิสร ได้แบ่งปันเทคนิคของการทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จว่า ต้องเริ่มจากการสร้างทีมเวิร์คที่ประกอบด้วยคนที่มีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน เนื่องจากการทำงานวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากศาสตร์ด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะ แต่เกิดขึ้นจากศาสตร์หลากหลายด้านเข้ามาประกอบกัน หรือ multidisciplinary ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างทีมงานจากคนที่มีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันที่จะมาช่วยส่งเสริมกันและสามารถมองหางานวิจัยใหม่ๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ลำดับถัดมา คือ การสร้างแรงบันดาลใจภายในทีมงานเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้าทีม หัวหน้าห้องปฏิบัติการ และผู้บริหารงานวิจัยในอนาคต ถ้าใครไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและความกระตือรือร้นให้แก่ทีมได้ ก็ไม่ควรขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมวิจัย

นอกจากนี้ การทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จผู้วิจัยจะต้องเข้าใจโจทย์ของภาคเอกชน ซึ่งการทำงานวิจัยส่วนมากของ ดร. อดิสร ได้รับทุนวิจัยจากภาคเอกชน โดยมีหลักคิดที่สำคัญ คือ การทำงานวิจัยต้องตอบโจทย์และต้องแก้ไขปัญหาภาคเอกชนตั้งแต่แรก และต้องนำเอาองค์ความรู้ที่มี มาช่วยให้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของเอกชนนั้นดีขึ้นและแข่งขันกับตลาดได้ ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือ การเลือกเทคโนโลยี ต้นทุน วัสดุ และวิธีวิจัยที่เหมาะสม ซึ่งตอบโจทย์ภาคเอกชนให้ดีที่สุด และสามารถนำผลงานไปใช้งานได้จริง ขายได้จริง เกิดธุรกิจจริง

อีกทั้ง การมองงานวิจัยในมุมมองอื่นที่ไม่ใช่เฉพาะมุมมองของนักวิจัยตั้งแต่ต้น คือ การมองงานวิจัยในมุมผู้ใช้งาน ลูกค้า หรือผู้ที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อผลงานวิจัยไปใช้ เพื่อให้รู้ เข้าใจ และสามารถพัฒนางานวิจัยที่ตรงเป้า ตอบสนองความต้องการ และตอบโจทย์กลุ่มคนดังกล่าว รวมถึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สิ่งเหล่านี้เป็นแนวคิดที่ ดร. อดิสร ปลูกฝังให้กับทีมวิจัยทุกคน

กลยุทธ์ในการดึงดูดภาคเอกชนเข้ามาใช้บริการงานวิจัยของ สวทช.

ดร. อดิสร ได้เน้นย้ำ เรื่อง การต้องพูดคุยกับภาคเอกชนอย่างมากก่อนที่จะเริ่มต้นทำงานวิจัย เพื่อให้รู้และเข้าใจโจทย์และความต้องการของภาคเอกชน

นอกจากนี้ ดร. อดิสร ยังได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญที่นักวิจัยควรจะมี แต่ไม่ได้หมายความว่า นักวิจัยทุกคนจะต้องมี คือ นอกเหนือจากเรื่องการมีทักษะ ความรู้ และความสามารถ รวมถึงการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีแล้ว นักวิจัยควรจะมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ในเชิงเทคนิคออกมาเป็นภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจ ที่สามารถฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย สำหรับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่น นักธุรกิจ คนทั่วไป และนักเรียน นิสิตนักศึกษา เพราะหากสามารถสื่อสารให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายเข้าใจ ก็แสดงว่านักวิจัยมีความเข้าใจในผลงานของตนเอง (ดร. อดิสร เขียนบทความและเป็นเจ้าของคอลัมน์ เทคโนโลยีปริทรรศน์ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ยาวนานกว่า 15 ปี) ยกตัวอย่างเช่น หากนักวิจัยต้องนำเสนอผลงานในลักษณะ Pitching หรือ นำเสนอผลงานทางธุรกิจ นักวิจัยก็จะต้องสามารถสื่อสารและนำเสนอให้นักธุรกิจเข้าใจ โดยอาจจะไม่ลงลึกในเชิงเทคนิค แต่จะต้องบอกให้ได้ว่าผลงานที่กำลังเสนอนี้มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจได้อย่างไร รวมถึงผลงานที่กำลังนำเสนอนี้จะมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจอย่างไร เป็นต้น การสื่อสารถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งทุกคนสามารถที่จะฝึกฝนกันได้

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน และวิธีการจัดการ

ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งบุคคลธรรมดาทั่วไป ก็ไม่น่าจะหนีพ้นปัญหาได้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะมองปัญหานั้นเป็นอย่างไร จะมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวเราเองหรือเกิดขึ้นจากคนอื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เราสามารถแก้ไขได้หรือแก้ไขไม่ได้ และเราสามารถควบคุมได้หรือควบคุมไม่ได้ เราจะต้องมาแยกแยะปัญหาก่อนว่าเป็นปัญหาแบบไหน แล้วจึงมองไปข้างหน้าว่าเราจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีไหน แน่นอนว่าหากมีปัญหาใดที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยกลไก หรือวิธีการที่ถูกต้องที่มีอยู่แล้วเราก็แก้ไขไป ส่วนปัญหาที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อมหรือสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป สิ่งที่เราทำได้เพื่อแก้ไขปัญหา คือ การต้องปรับตัวให้เข้ากับปัญหานั้นและหาหนทางที่จะสามารถดำเนินงานต่อไปได้โดยไม่ติดขัด” ดร. อดิสร กล่าว

ดร. อดิสร ได้ชี้จุดสำคัญซึ่งเป็นปัญหาในเชิงบริหาร เช่น ปัญหาเรื่องของคน และ ปัญหาเรื่องของกฎระเบียบ โดยได้แนะนำวิธีการจัดการปัญหาดังกล่าว คือ การพยายามทำความเข้าใจ หมายถึง การใช้หลักคิดในการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การพยายามทำความเข้าใจคนที่มีปัญหา การพยายามทำความเข้าใจกับกฎระเบียบต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาและพยายามที่จะแก้ไข โดยใช้สติและใช้ความรู้เป็นพื้นฐาน

ความคิดเห็นต่อคำว่า “ผลงานวิจัยขึ้นหิ้ง”

ดร. อดิสร แสดงความเห็นต่อคำว่า “ผลงานวิจัยขึ้นหิ้ง” ว่า เป็นคำที่หลายคนใช้เพื่อที่จะบอกว่าองค์กรใด หรือ นักวิจัยคนใด ทำงานแล้วไม่สามารถนำผลงานไปใช้งานได้จริง ดร. อดิสร คิดเห็นว่าไม่มีผลงานใดขึ้นหิ้งโดยเฉพาะผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานที่เกิดขึ้นจากความสามารถของ สวทช. ทุกชิ้นงาน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่ และใครจะนำผลงานนั้นไปขาย หรือ นำผลงานนั้นไปขึ้นห้าง อยู่ที่ว่าจะนำผลงานนั้นไปพัฒนาสู่ระดับที่พร้อมใช้งานมากน้อยเพียงใดต่อไป โดย นักวิจัย สวทช. ทุกคน เข้าใจบริบทนี้ดี อยู่ในสายเลือด และอยากที่จะพัฒนาผลงานตัวเองให้มี TRL (Technology Readiness Level หรือ ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี) ที่สูงขึ้นและพร้อมถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม

แนวทางหรือวิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ทีมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา  

ดร. อดิสร ได้กล่าวถึงวิธีการหลักของการแบ่งปันและการถ่ายโอนความรู้ คือ On the Job Training โดยเล่าถึงรายละเอียดว่า

          “ถ้าเราทำงานเป็นทีมตั้งแต่ต้น องค์ความรู้ในการบริหารต่างๆ เราสร้างให้กับนักวิจัยในทีมของเราอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะหัวหน้าห้องปฏิบัติการ เริ่มจะซึมซับการทำงานทั้งเรื่องของ “งาน เงิน คน” ไปตลอดเวลา ตรงนี้เป็นเหมือนการฝึกไปด้วยกันตั้งแต่ต้น เรื่องแบบนี้เราคงไม่ได้ส่งไปอบรมหรือไปสร้างให้เกิดได้ อยู่ที่ผู้ให้ก็คือเราและผู้รับก็คือนักวิจัยในทีม อยู่ที่ว่าคนไหนจะรับได้และซึมซับองค์ความรู้ตรงนี้ได้มากหรือน้อย”

“ส่วนการพยายามพัฒนาให้การทำงานมีความต่อเนื่องนั้นต้องมองหานักวิจัยที่มีทักษะเหล่านั้นมาฝึกฝนในเรื่องของการทำงานบริหารวิจัยมากขึ้นอาจจะสร้างเป็น next leader คนต่อไป อันนี้เป็นสิ่งที่คิดว่าทุกคนใน สวทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับผู้บริหารระดับกลางขึ้นไป คิดว่าน่าจะมองเห็นและมองหาหนทางในการสร้าง next leader ของตัวเองอยู่แล้ว”

คำแนะนำสำหรับทุกคนใน สวทช. ที่ขยับบทบาทจากนักวิจัยสู่ผู้บริหาร

ดร. อดิสร ได้ให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำแก่นักวิจัยที่ขยับบทบาทสู่ผู้บริหารว่า “ไม่ใช่นักวิจัยทุกคนที่ต้องการขึ้นมาเป็นผู้บริหาร เพราะฉะนั้นในขณะที่เป็นนักวิจัยก็อยากจะให้ทุกคนทำผลงานวิจัยของตัวเองให้ดีที่สุด แนะนำว่าตอนที่เป็นนักวิจัยมีแรงบันดาลใจของการทำวิจัยก็ทำให้สุดๆ หมายความว่าเราจะต้องทำงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การสร้างองค์ความรู้ ไปสู่ปลายน้ำ คือ การนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ถ้าเราทำให้ครบตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำแล้วจะเป็นประสบการณ์ที่ดีของนักวิจัยทุกคน ทำให้มองได้รอบและมองได้ครบว่าตั้งแต่แนวคิดจนถึงไปขายได้จริงจะต้องใช้องค์ความรู้และทักษะแบบไหน และใช้การบริหารงานแบบไหน แม้กระทั่งการบริหารงานวิจัยเองก็จะต้องฝึกการบริหารงาน บริหารเงิน และบริหารคน เป็นทักษะที่นักวิจัยทุกคนที่อยากจะเติบโตขึ้นมาสู่ระดับที่สูงขึ้นจะต้องมี ซึ่ง การบริหารงาน เงิน และคน มีความยากง่ายแตกต่างกัน”

“นักวิจัย อย่าไปคิดว่า นักวิจัยทุกคนจะต้องขึ้นมาเป็นผู้บริหาร นักวิจัยก็ทำในสิ่งที่นักวิจัยต้องทำและทำให้ดีที่สุด ผมคิดว่าเส้นทางของการเป็นนักวิจัยใน สวทช. เป็นเส้นทางที่น่าภาคภูมิใจและเป็นเส้นทางที่ได้รับเกียรติ เวลาที่ออกไปอยู่ในวงการอุตสาหกรรมหรือไปอยู่ในวงการวิชาการ ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิจัยมืออาชีพ เป็นนักวิจัยที่ทำงานเพื่อประเทศชาติ มองเห็น Nation First จริงๆ และเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศและของโลก ที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถส่งมอบผลงานได้ตรงตามโจทย์ ตรงตามเป้าหมาย และตรงตามทิศทางของประเทศ สิ่งนี้คือสิ่งที่อยากให้นักวิจัยทุกคนตระหนัก

ดร. อดิสร ทิ้งทายว่า “อยากให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทุ่มเทให้ดีที่สุด สร้างทีม รักษาทีม ถ้าเราทำดีที่สุด สวทช. จะเดินหน้าได้อย่างเข็มแข็งและเป็นขุมพลังหลักที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างแน่นอน”

ตัวอย่างรางวัลที่ ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ได้รับ

  • พ.ศ. 2565 รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ มอบโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จากผลงานวิจัย “เทคโนโลยีกราฟีนและวัสดุนาโนคาร์บอน เพื่อการใช้งานด้านเซ็นเซอร์ และระบบกักเก็บพลังงาน” https://www.nstda.or.th/archives/adisorn-outstanding-researcher-award/ https://www.nstda.or.th/archives/adisorn-inventorday/
  • พ.ศ. 2562 รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล ประจำปี พ.ศ. 2561 มอบโดยมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย https://www.nstda.or.th/archives/ttsf-sci-tech-award-adisorn/
  • พ.ศ. 2561 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2560 ผลงานวิจัยระดับดีเด่น จากผลงาน “ห้องปฏิบัติการระบบของไหลจุลภาคบนชิปที่มีวัสดุนาโนประกอบรวมสำหรับการตรวจวิเคราะห์ทางเคมีอย่างรวดเร็ว” และ ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก จากผลงาน “ระบบตรวจวัดกลิ่นแอมโมเนียและค้นหาตำแหน่งรั่วแบบโครงข่ายไร้สายบนเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง” https://www.nstda.or.th/archives/nrct-awards-nectec/
  • พ.ศ. 2560 รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2560 มอบโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จากผลงาน “หมึกนำไฟฟ้ากราฟีน” https://d.dailynews.co.th/it/549657/
  • พ.ศ. 2559 รางวัลนักวิจัยรุ่นกลางดีเด่น 2015 TRF-OHEC-Scopus Researcher Awards มอบโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จากผลงาน “ระบบปฏิบัติการของไหลจุลภาคบนชิปที่มีวัสดุนาโนประกอบรวมสำหรับการวิเคราะห์ทางเคมีอย่างรวดเร็ว” https://www.matichon.co.th/publicize/news_15269
  • นักวิจัยที่บทความได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุดใน Top 2% ของโลก (World’s Top 2% Scientists) พิจารณาจากผลกระทบการอ้างอิงเฉพาะปี 2020 https://www.nstda.or.th/archives/nstda-worlds-top-2-scientists-by-stanford-uni/