แบรนด์ทากิริ เราตระหนักถึงทรัพยากรที่ใช้ไป เราสร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติ ป่าและวิถีชีวิตให้ได้มากที่สุด เพราะเรารู้ดีว่าป่าคือ ชีวิต คือ วิถีชีวิตของพวกเราชาวกะเหรี่ยง

“การนำพืชมาใช้ประโยชน์ เราต้องให้ความรู้ชาวบ้านด้วยว่าจะใช้เฉพาะส่วนที่ใช้สีได้ ถากต้นไม้อย่างไรไม่ให้บอบช้ำมากและต้องรักษาแผลต้นไม้อย่างไร เพื่อให้เขาคงอยู่กับธรรมชาติต่อไป ไม่ใช่ตัดโค่นมาทั้งต้น “แบรนด์ทากิริ’ เราตระหนักถึงทรัพยากรที่ใช้ไป เราจะปลูกพืชให้สีในแปลงปลูกของเราเพื่อทดแทนและส่งเสริมการปลูกในพื้นที่ป่า สร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติ ป่าและวิถีชีวิตให้ได้มากที่สุด เพราะเรารู้ดีว่าป่าคือ ชีวิต คือ วิถีชีวิตของพวกเราชาวกะเหรี่ยง” กิติพันธ์ ด่านวนาศรี แกนนำกลุ่มผ้ากะเหรี่ยงบ้านดอยยาว ต.ทากาศ อ.แม่ทา จ.ลำพูน บอกถึงจุดยืนของ
“ทากิริ” แบรนด์ผ้าทอมือของกลุ่มฯ

ทากิริ (TAKIRI) เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า ลาย ที่ครอบคลุมถึงลายผ้าทอ ลายผ้าปัก ลายแกะสลัก หรือลายไม้ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงมีฝีมืองานทอผ้า โดยมี “กี่ทอเอว” เป็นอุปกรณ์ข้างกายที่ใช้สรรค์สร้างลวดลายผ้าลายจกกว่า 300 ลาย แต่ปัจจุบันหลงเหลือเพียงร้อยกว่าลาย จึงทำให้ กิติพันธ์ ช่างแกะสลักไม้ ตั้งใจสานต่อลายจกผ้ากี่ทอของบรรพบุรุษให้คงอยู่ ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผืนผ้าให้ทันสมัย โดยแต่งเติมสีสันจากเส้นใยที่ย้อมสีจากพืชพรรณในธรรมชาติ คงกลิ่นอายบอกเล่าวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง

จากช่างไม้ที่ตระเวนรับงานแกะสลักไม้ทั่วประเทศ กิติพันธ์ รู้ดีว่าการนำไม้ไปแกะสลักคือการโค่นตัดไม้ทั้งต้น แต่นำเนื้อไม้ไปใช้ประโยชน์แค่ 40–50% เท่านั้น ทุกงานแกะสลักจะเหลือเศษเปลือกไม้ใบไม้ถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งต้นไม้บางต้นมีอายุกว่า 50 ปี

“เศษเปลือกไม้ ใบไม้ที่ทิ้งเกลื่อนกลาด เมื่อถูกฝนกลายเป็นน้ำสีไหลนองเต็มพื้นดิน ทำให้ฉุกคิดขึ้นว่าจะใช้สีจากเปลือกไม้ใบไม้พวกนี้ได้อย่างไร และถ้านำมาย้อมเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ได้ ก็น่าจะดี”

กิติพันธ์ หอบความคิดและความตั้งใจกลับบ้านเกิดเพื่อพัฒนาผ้าลายจกกี่ทอเอวของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ที่กำลังเลือนหายไปตามยุคสมัยให้ยังคงอยู่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าลายจกที่ใช้เวลาทอนานกว่า 20 วัน แต่ขายเพียง 200-300 บาทต่อผืนเท่านั้น เขาศึกษาค้นคว้าวิธีย้อมผ้าจากสีธรรมชาติอย่างจริงจังจากหลายช่องทาง จนมีโอกาสได้ศึกษาดูงานการสกัดสีธรรมชาติจากพืชให้สีในท้องถิ่นกับ สวทช. เขาได้ลงมือปฏิบัติในทุกขั้นตอน เรียนรู้เทคนิคและวิธีการจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งกระบวนการฟิกซ์สี การสกัดสี การใช้สารมอแดนซ์หรือการใช้น้ำด่างปรับโทนเฉดสี การทำสีผง รวมถึงการใช้เอนไซม์เอนอีซ (ENZease) นวัตกรรมจาก สวทช. เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าก่อนนำไปย้อม ทำให้เส้นใยฝ้ายเดิมที่แข็งกระด้าง กลับมีสัมผัสที่นุ่มขึ้น และเมื่อย้อมสีแล้ว สีติดทนนานและสม่ำเสมอ

หลังกลับจากศึกษาเรียนรู้ กิติพันธ์ สำรวจพืชพรรณในพื้นที่ซึ่งมีมากมายที่ให้สีได้ อาทิ ประดู่ให้สีน้ำตาล ไม้ขนุนให้สีเหลือง แก่นฝางให้สีม่วงหรือแดง ดอกทองกวาวให้สีส้ม ครั่งให้สีชมพู เป็นต้น เขาจึงเก็บรวบรวมเป็นแม่สี จากนั้นจึงนำเส้นฝ้ายมาย้อมและใช้เอนไซม์เอ็นอีซ (ENZease) ก่อนนำไปทอและจกลายด้วยกี่ทอเอว ซึ่งเป็นกี่ทอโบราณ ใช้พื้นที่น้อยและพกพาได้สะดวก

เส้นฝ้ายมัดย้อมด้วยสีจากดอกทองกวาว ได้ลวดลายสีส้มสวยงามนำไปทอขึ้นผืนลายจก ก่อนส่งต่อให้ช่างในชุมชนตัดเย็บเป็นชุดเดรส ผ้าพันคอ หมวก กระเป๋าผ้า รองเท้า หรือแม้แต่สายสะพายกีตาร์ ซึ่ง “กระเป๋าผ้าทอมือกะเหรี่ยง” ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) จังหวัดลำพูน ประจำปี 2564

เราสร้างจุดขายของแบรนด์ทากิริด้วยการเน้นความยั่งยืน ใช้สีจากพืชพรรณธรรมชาติ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นชุมชนกะเหรี่ยงของเรา ถ้าเน้นรายได้เราแข่งกับโรงงานไม่ได้ เพราะศักยภาพการทอไม่เหมือนกัน ชาวบ้านบางคนมีฝีมือทอแบบมืออาชีพมาก แต่ราคาที่ขายได้คือราคาตามท้องตลาด ทั้งที่บางผืนสามารถขายได้เป็นหมื่น แต่ไม่มีคนมาช่วยพัฒนาศักยภาพเขา” 

ปัจจุบันกลุ่มผ้ากระเหรี่ยงดอยยาวผลิตผ้าทอ 2 รูปแบบ แบบแรกใช้ฝ้ายโรงงานและย้อมด้วยสีเคมี ราคาขายจึงไม่สูง สมาชิกทอผ้าได้ไวและตัดเย็บเป็น “เชเบอะเลอะเปลอ” หรือเสื้อกะเหรี่ยงโบราณ ชุดเดรสปักเดือย “เชเบอะ” (เช-เสื้อ เบอะ-ลูกเดือยหิน*) ย่ามสะพายจกลายทอกะเหรี่ยง เป็นต้น โดยส่งจำหน่ายให้พ่อค้าแม่ค้าที่มารับไปขายต่อ ส่วนแบบที่สองคือ ผ้าย้อมสีธรรมชาติจกลายทอกะเหรี่ยง เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมและนาโนเทคโนโลยี พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทันสมัย จำหน่ายกลุ่มลูกค้าที่นิยมผ้าย้อมสีธรรมชาติและมีกำลังซื้อ โดยจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างๆ และผ่านช่องทางตลาดออนไลน์

“การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ นอกจากจะประหยัดต้นทุน เพราะสีต่างๆ หาได้ง่ายในชุมชนแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมีตกค้างในดินในน้ำ ดีกับผู้ผลิตที่ไม่ต้องสูดดมไอละอองหรือได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายระหว่างย้อมหรือทอผ้า และดีกับผู้บริโภคที่จะได้สวมใส่เสื้อผ้าที่มั่นใจว่าปลอดภัยต่อผิวกายและสุขภาพ แบรนด์เราจึงเป็นต้นน้ำ ถ้าจัดการทรัพยากรดี กลางน้ำ ปลายน้ำก็จะได้รับผลดีด้วย”

นอกจากนี้ กิติพันธ์ ยังรับบทบาทเป็นไกด์ท่องเที่ยวชุมชน “ปงผาง ESCAPE” ซึ่งมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนและใช้ชีวิตแบบ Slow life สัมผัสกับธรรมชาติ ทะเลหมอกบนดอย เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ร่วมกิจกรรมย้อมสีธรรมชาติและเลือกซื้อสินค้าของกลุ่มฯ

“นักท่องเที่ยวได้รู้จักแบรนด์ทากิริ ได้ช่วยชาวบ้านให้มีรายได้และสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนไปด้วย เพราะผ้าที่ลูกค้าซื้อกลับไป เช่น สีที่ย้อมได้จากต้นประดู่ เราถากใช้เปลือกไม่กี่เซนติเมตรมาย้อมสี ชาวบ้านเขารู้ เขาก็ไม่กล้าตัดใช้เปลือกไม้เยอะ กลัวต้นไม้ตาย กลัวลูกค้ากลับมาจะไม่เห็นต้นไม้นั้นอีก”

กิติพันธ์ ตั้งใจพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งผลิตพืชที่ให้สี โดยเฉพาะ “ครั่ง” ที่ให้สีโทนชมพู แดง ซึ่งเขาได้ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกต้นจามจุรีหรือต้นก้ามปู เพื่อเลี้ยงครั่งจำนวนมากเลียบสองฝั่งแม่น้ำแม่ขนาดหรือห้วยแม่คะนะที่ไหลผ่านหมู่บ้าน โดยตั้งใจจะพัฒนาสีจากครั่งให้เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ทากิริ บอกเล่าเรื่องราวและการใช้ประโยชน์ที่คุ้มค่าจากต้นไม้ทุกต้น นอกจากนี้เขายังต้องการพัฒนาที่นี่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การย้อมผ้าสีธรรมชาติและอนุรักษ์ลายจกกี่ทอเอว เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้และสานต่อลายจกผ้าโบราณ โดยสร้างคุณค่าเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

“ทรัพยากรในพื้นที่มีให้ใช้ไม่หมด หากเราเรียนรู้ที่จะใช้และรักษา ประดู่ที่ไหนก็ย้อมได้ แต่จะย้อมอย่างไรให้ยั่งยืนกับธรรมชาติ แต่ก่อนเวลาลูกค้ามาซื้อของไม่มีใครถามแหล่งที่มาของวัตถุดิบ รู้แค่ว่าพืชชนิดนี้มันให้สี
แต่ไม่รู้ว่าเก็บมายังไง เก็บแบบไหน เราอยากใช้จุดนี้บอกเล่าที่มาของผ้าแต่ละผืน ต้นไม้
1 ต้น แก่นไม้นำไปแกะสลัก เศษไม้เปลือกไม้ที่เหลือน้ำมาสกัดสี ทำสีผง ใบไม้นำมาทำอีโค้ปริ้น (Eco print) เศษขี้เลื่อยก็เอามาปั้นเป็นรูปต่างๆ เพื่อใช้ให้คุ้มค่าที่สุดที่ตัดเขามา จุดประกายเล็กๆ ให้ผู้คนที่โหยหาธรรมชาติ แต่ไม่คิดที่จะให้ธรรมชาติยั่งยืน กลับมาเห็นความสำคัญของธรรมชาติและต้นไม้ทุกต้นอีกครั้ง” กิติพันธ์ บอกทิ้งท้ายสอดคล้องกับหมุดหมายของแบรนด์ทากิริ (TAKIRI) ที่มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผสมผสานกับภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

# # #

*ชาวบ้านเชื่อว่า เบอะ คือ แม่ของข้าวทั้งปวง จึงปลูกต้นเบอะไว้ในไร่หมุนเวียน เพื่อดูแลข้าวที่ปลูกไว้ให้ได้ผลผลิตดี เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วจะเกี่ยวเบอะกลับบ้าน เพื่อเอาไว้ปักบนเสื้อ “เชเบอะ” เป็นสัญลักษณ์ความเป็นแม่ และยังเชื่อว่าเบอะบางชนิดช่วยปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยเมื่อเข้าป่า

กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงบ้านดอยยาว 
ต.ทากาศ อ.แม่ทา จ.ลำพูน
โทรศัพท์ 095 4455247
www.facebook.com/ผ้ากะเหรี่ยงดอยยาว, Takiri

(หนังสือ พลังวิทย์ พลังชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565)

“ทากิริ” ผ้าทอมือสร้างสมดุลธรรมชาติด้วยความรู้ สะท้อนภูมิปัญญาชาวกะเหรี่ยงบ้านดอยยาว