ในปี พ.ศ. 2565 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) มีความร่วมมือพัฒนาสถานีเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร (Training Hub) ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นพื้นที่สาธิต ทดสอบและเรียนรู้การปรับใช้เทคโนโลยีเกษตร/เกษตรสมัยใหม่ ให้เกษตรกรได้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกษตร ยกระดับทักษะความรู้บุคลากรภาคการเกษตร พัฒนาเกษตรกรแกนนำ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อีกทั้งเป็นพื้นที่ขยายผลองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสวทช. สู่ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเกษตรปลอดภัยและผลิตสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยนำร่องในจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา

การบริหารจัดการสถานีเรียนรู้ด้านการเกษตร (Training Hub) ในพื้นที่ภาคใต้ ดำเนินการโดยสำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย มีคณะกรรมการกำกับ ติดตาม การขับเคลื่อนและพัฒนาสถานีเรียนรู้ด้านการเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนติดตามประเมินผลร่วมกับ สวทช.

จากความร่วมมือดังกล่าวได้พัฒนาหลักสูตรนำร่อง 3 หลักสูตร ได้แก่

1.  การจัดการผลิตไก่พื้นเมืองด้วยนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพริกไทยและบริหารศูนย์การเรียนรู้การปลูกพริกไทยเพื่อเข้าสู่ตลาดการแข่งขัน
3. การพัฒนาผู้ประกอบการ Young Smart Farmer Innovation Entrepreneurship

นอกจากนี้ยังเกิดศูนย์เรียนรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของ สวทช. ให้เกษตรกร ดังนี้

1. ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) และรับถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตหนอนแมลงวันลาย (Black soldier fly larvae; BSF) จาก สวทช. เพื่อผลิตโปรตีนเสริมลดต้นทุนอาหารสัตว์ บรรจุในหลักสูตรการเรียนรู้การเลี้ยงไก่พื้นเมือง อีกทั้งเกิดต้นแบบแหล่งเรียนรู้การผลิตไก่พื้นเมืองในชุมชน “กลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองจังหวัดพัทลุง” ต.หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

2. ศูนย์เรียนรู้การผลิตพริกไทยปะเหลียน จัดทำแปลงปลูกพริกไทยต้นแบบรวบรวมพันธุ์พริกไทย (พันธุ์ปะเหลียน พันธุ์ซีลอน พันธุ์ซาราวัค พันธุ์จันทบุรี) ขนาด 1 ไร่ 2 งาน โดยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีและติดตั้งระบบการให้น้ำ Water Fit และ Handy Sense ในแปลงพริกไทย ในพื้นที่มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งเกิดการพัฒนา “สถานีเรียนรู้ (Training Hub) เพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่: พริกไทยตรัง” ณ หมู่ที่ 7 ตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง

การดำเนินงานร่วมกับเกษตรกรมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัยของมทร.ศรีวิชัย และ สวทช. เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำเกษตรกร และคอยติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด โดยในปี พ.ศ. 2566 ได้ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ผู้ผลิตพริกไทยและผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการแล้วไม่น้อยกว่า 300 คน เป็นเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย 100 คน จำนวนประมาณ 60 แปลง เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ 30 คน ผลิตไก่พื้นเมืองประมาณ 1,200 ตัว และเกษตรกรผู้สนใจเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีไม่น้อยกว่า 170 คน 

เกิดการขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรเครือข่ายในชุมชน ได้แก่ เครือข่ายผู้ผลิตพริกไทยในพื้นที่จังหวัดตรังและนครศรีธรรมราช จำนวน 5 แห่ง 
1. วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่พริกไทยหมู่ที่ 9 ตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง
2. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทย ตำบลอ่าวตง อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง
3. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมพืชประจำถิ่น (พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน) ตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
4. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
5. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่งเสริมการผลิตไก่พื้นเมืองในชุมชนอย่างน้อย 3 กลุ่ม
1. กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ดำบ้านเขาหลัก ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
2. กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
3. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านวังฆ้องพัฒนา อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

พัฒนาต้นแบบฟาร์มมาตรฐานการเลี้ยงไก่พื้นเมือง 3 แห่ง ได้แก่
1. ฟาร์มไก่ดำเขาหลัก นายสวัสดิ์ ขุนนุ้ย หมู่ที่ 7 ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
2. ฟาร์มพี่น้องเจริญฟาร์ม คุณวีรชัย นิ่มโอ ตำบลป่าบอนต่ำ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง
3. ฟาร์มไก่คอลอนศรีวิชัย นางปรีดา ขุนรัง อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย