มันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 1 พิรุณ 2 และ พิรุณ 4 พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของ กรมวิชาการเกษตร (ดร.โอภาษ บุญเส็ง) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล (รศ.ดร.กนกพร ไตรวิทยากร และคณะ) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เกิดจากการผสมแบบสลับ (cross-reciprocal) โดยเลือกใช้พันธุ์ห้วยบง 60 เป็นต้นแม่ ซึ่งมีลักษณะปริมาณแป้งในหัวสดสูง ผลผลิตสูง ปริมาณไซยาไนด์สูง และอัตราการเจริญเติบโตในช่วงแรกต่ำ และเลือกใช้พันธุ์ห้านาทีเป็นต้นพ่อ ซึ่งมีลักษณะปริมาณแป้งในหัวสดต่ำ ผลผลิตต่ำ ปริมาณไซยาไนด์ต่ำ และอัตราการเจริญเติบโตในช่วงแรกสูง เริ่มต้นผสมพันธุ์ตั้งแต่ปี 2549 ลูกผสมที่สร้างขึ้นส่วนหนึ่งนำไปใช้ในการศึกษาและพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุล (DNA-marker) เพื่อช่วยในการคัดเลือกปริมาณแป้งสูง และไซยาไนด์ต่ำ อีกส่วนหนึ่งนำไปคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามแบบวิธีมาตรฐาน (conventional breeding) พบว่า มีลูกผสมบางสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูง สามารถนำมาพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้ ดังนั้น สวทช. จึงได้สนับสนุนโครงการต่อเนื่องเพื่อนำสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในด้านผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งมาปลูกทดสอบในสภาพแปลงทดลองและคัดเลือกตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีมาตรฐาน มีสายพันธุ์มันสำปะหลังที่มีศักยภาพด้านผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งดีเด่นที่คัดเลือกไว้ 3 สายพันธุ์ ดังนี้

พันธุ์ “พิรุณ 1”

ได้รับการรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 เป็นพันธุ์มันสำปะหลังที่ส่งเข้าอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง มีความต้านทานต่อโรคและแมลง ผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดเฉลี่ย 6.65 ตัน/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ระยอง11 (17.6%) พันธุ์ห้วยบง 60 (9.5%) พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 (20.9%) และพันธุ์ระยอง 7 (56.4%) มีปริมาณแป้งในหัวสดเฉลี่ย 28.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับพันธุ์ห้วยบง 60 พันธุ์ระยอง 11 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 โดยมีลักษณะเด่น คือ ทรงต้นมีการแตกกิ่งเหนือศีรษะ ลำต้นตั้งตรง แข็งแรงไม่ฉีกหักง่าย สะดวกต่อการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว ลำต้นเป็นแบบซิกแซกทำให้สังเกตพันธุ์ปนได้ง่าย ปลายหัวทู่ทำให้หัวหักยากกว่าปลายหัวแหลมเมื่อขุดหรือเก็บเกี่ยว มีก้านที่ขั้วหัวทำให้ตัดง่าย เกิดบาดแผลที่หัวน้อย เนื่องจากมีก้านที่ขั้วหัวทำให้หัวเน่ายากสามารถเก็บรักษาหัวมันในลานก่อนเข้าโรงงานแป้งได้นานกว่าปกติ เหมาะกับดินร่วนปนทราย ดินร่วนปนเหนียว ดินเหนียวสีแดง ดินทรายร่วน และดินเหนียวสีดำ

พันธุ์ “พิรุณ 2”

ได้รับการรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 มีการเจริญเติบโตเร็ว ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 5.8 ตัน/ไร่ มีเปอร์เซ็นต์แป้ง 24.7 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลผลิตหัวสดสูงกว่าพันธุ์ห้านาทีเมื่อปลูกในสภาพไร่แบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ทรงต้นสวย ลำต้นตั้งตรง สีน้ำตาลอ่อน ไม่แตกกิ่ง ให้หัวจำนวนมาก ออกรอบโคนเป็นชั้น ทรงหัวแบบดอกบัวตูม มีก้านหัวสั้นทำให้ตัดหัวง่าย เหมาะสำหรับปลูกในดินเหนียวสีแดงมากที่สุด รองลงมา คือ ดินร่วนปนเหนียว และดินเหนียวสีดำ

พันธุ์ MBR49-2-109

ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตร โดยใช้ชื่อว่า “พิรุณ 4” เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตหัวสดสูงกว่าพันธุ์ห้านาทีเมื่อปลูกในสภาพไร่แบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว ได้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 5.74 ตัน/ไร่ มีเปอร์เซ็นต์แป้ง 25.4 เปอร์เซ็นต์ ยอดสีเขียวอ่อน ก้านใบสีแดง มีทรงต้นสวย แตกกิ่งที่ระดับเหนือศีรษะทำให้ง่ายต่อการเข้าไปปฏิบัติงาน มีก้านหัวสั้น เนื้อหัวสีขาว มีปริมาณไซยาไนด์ในระดับต่ำทุกสภาพแวดล้อม เป็นได้ทั้งพันธุ์อุตสาหกรรมและพันธุ์รับประทาน มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับทำแป้งฟลาวที่ปราศจากสารกลูเต็น (gluten) ซึ่งใช้ทดแทนแป้งสาลีในการทำผลิตภัณฑ์เบอการี นอกจากนี้เมื่อนำหัวมันสดไปนึ่งหรือเชื่อมจะให้เนื้อสีขาว เนื้อสัมผัสนุ่ม ไร้เสี้ยน รสชาติอร่อยกว่าพันธุ์ห้านาที

ความแตกต่างของมันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ 1 พิรุณ 2 และพิรุณ 4