21 กรกฎาคม 2566 ณ จังหวัดร้อยเอ็ด- นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยเครือข่ายการทำงานของ สวทช. ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ให้การต้อนรับ ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา​ วิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมกระบวนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์บนฐานทรัพยากรในพื้นที่ตำบลคำพอุง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับชาวคำพอุงและหน่วยงานในพื้นที่อำเภอโพธิ์ชัย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดร้อยเอ็ด สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ผู้อำนวยการโรงเรียนคำพอุง (ประชาราษฎร์บำรุง) และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลคำพอุง ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community–Based Tourism: CBT) บนฐานความรู้ด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม

การจัดทำ “เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์บนฐานทรัพยากรในพื้นที่คำพอุง” นี้ สท. ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยี สวทช. ขยายผลในพื้นที่ ได้แก่ เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม “นวนุรักษ์” สร้างคลังข้อมูลฐานทรัพยากรท้องถิ่น โปรแกรม Thai school lunch” พัฒนาสูตรอาหารโดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีเมนูอาหารมากถึง 21 เมนู และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการปลูก “ปทุมมา” ให้เป็นพืชไม้ดอกทางเลือกสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

ทั้งนี้ ชาวบ้านคำพอุงได้จัดแสดงรำคองก้าต้อนรับคณะผู้ตรวจ อว. และได้นำร่วมกิจกรรม “เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์บนฐานทรัพยากรในพื้นที่คำพอุง” ประกอบด้วย

  • กราบสักการะพระธาตุภูกุ้มข้าว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมจิตใจของชุมชน
  • รู้จักวิถีชีวิตชาวคำพอุง ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น “ดงแม่เผด” จัดแสดงเครื่องมือและอุปกรณ์การดำรงชีวิต เช่น อุปกรณ์ทอผ้า อุปกรณ์ทำนา อุปกรณ์ล่าสัตว์ ฯลฯ
  • เรียนรู้อดีตผ่านซากหอยดึกดำบรรพ์ ณ พิพิธภัณฑ์หอย 130 ล้านปี แหล่งรวบรวมซากดึกดำบรรพ์หอยสองฝาน้ำจืดวงศ์ Barremian จากลำดับชั้นหินกลุ่มโคราช จำนวน 6,643 ตัวอย่าง
  • สัมผัสเส้นทางธรรมชาติที่คงความสมบูรณ์และความหลากหลายของพืชพื้นถิ่น อาทิ เสี้ยว ว่านแผ่นดินเย็น กระเจียว หนวดเสือเขี้ยว และแวะผ่อนคลายที่แหล่งน้ำฝายปะขาว สายน้ำที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชาวคำพอุงมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ  
  • ชมความงดงามของแปลงปทุมมา 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แม่โจ้อิมเพรส พลอยชมพู ขาวยูคิ ลานนาสโนว์ และสวีสเมมโมรี่
  • กราบสักการะองค์ปู่วิรูปักโขนาคราช รูปปั้นองค์พญานาคขนาดใหญ่ที่สร้างจากแรงศรัทธาของชาวบ้าน
  • เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เกิดจากการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น อาทิ เครื่องจักสาน ผ้าไหม เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ดอกไม้ประดิษฐ์ น้ำอ้อย น้ำผึ้งป่า เห็ดนางรมดำ เป็นต้น
  • ปิดท้ายด้วยเมนูอาหารกลางวันจากวัตถุดิบท้องถิ่น อาทิ แกงหน่อไม้เห็ดรวม ต้มยำไก่บ้านสมุนไพร ส้มตำสมุนไพร ไข่เจียวสมุนไพรรวม แกงบวดมันฮืบ เป็นต้น

“ที่คำผอุงมี Unseen หลายอย่างที่พวกเราต้องช่วยกันนำเสนอ ที่นี่มีแหล่งสุสานหอยที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศ มีป่าอนุรักษ์ที่สามารถพัฒนาให้เป็นชีวมณฑล  (Biosphere) การที่เราร่วมกับสนับสนุนพัฒนาพื้นที่จะสามารถผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกได้ อย่างไรก็ดี การส่งเสริมปลูกปทุมมาของ สวทช. โดยเลือกสายพันธุ์จากงานวิจัยมาส่งเสริมให้ชุมชนปลูกในพื้นที่ ให้ทั้งความสวยงามและผลผลิตที่ดี รวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพัฒาเส้นทางท่องเที่ยวนี้ เป็นอีกผลงานของ อว. ที่ร่วมกันผนึกกำลังมาช่วยชุมชนได้อย่างแท้จริง”  ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ กล่าวหลังเข้าร่วมกิจกรรม

# # #

สวทช. นำคณะผู้ตรวจ อว. สัมผัสเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนคำพอุง จังหวัดร้อยเอ็ด