ประสบการณ์เพียงไม่กี่ชั่วโมงจากการศึกษาดูงานที่ดินส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก ได้เห็นวิธีการปลูกข้าวต้นเดียวบนพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร สร้างความประทับใจและเป็นแรงผลักดันให้ ปรีดาธพันธุ์ จันทร์เรือง อดีตผู้จัดการโรงงาน ดีกรีปริญญาโทด้านธุรกิจเทคโนโลยี หันมาเรียนรู้การทำเกษตรบนหลักเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมกับเก็บเกี่ยวความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านอยู่สองปี จนตัดสินใจละทิ้งเงินเดือนกว่าครึ่งแสนบาท กลับมาทำเกษตรที่จังหวัดชัยนาทเมื่อปี 2558

“ครอบครัวไม่เห็นด้วย แม่ก็เครียด เรียนจบมาทำงานเงินเดือนก็เยอะ เสียดายเงินเดือน การงานกำลังไปได้ดี แต่ผมคิดแล้วว่าทำเกษตรนี่ล่ะคือใช่ แต่ต้องทำเกษตรแบบใช้ความรู้และทำให้เป็นเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ถึงจะรอด”

“ทำข้าวให้มีคุณสมบัติเชิงยา” เป็นเป้าหมายที่ปรีดาธพันธุ์ตั้งไว้และลงมือทำด้วยการพลิกพื้นที่ 4 ไร่ที่ขอแบ่งจากครอบครัวทำเป็นนาอินทรีย์ โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน

“ข้าวอินทรีย์ออริจิไรซ์ (Origi Rice)” ผลิตภัณฑ์แรกจากแปลงนาอินทรีย์ที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์ ได้รับการตอบรับอย่างดี ออเดอร์สั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรีดาธพันธุ์ตัดสินใจขอใช้พื้นที่นาอีก 17 ไร่ แต่ครั้งนี้ไม่มีเสียงคัดค้านใดๆ จากครอบครัว เขาจึงปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาของครอบครัวแบบเดิมๆ ให้เป็นนาอินทรีย์ทุกขั้นตอนการผลิต ทำแนวกันโดยใช้หลักปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างให้กลายเป็นหัวคันนาทองคำ

“มะพร้าว ทยอยปลูกรอบแปลงนา ไม่กี่ปีก็เก็บลูกขาย มะฮอกกานี ปลูกรอบแปลงนา ไม้โตเร็ว ใบร่วงลงนาทำให้ข้าวงามมาก ยางนา ชื่อบอกอยู่ น่าจะเติบโตได้ดีที่สุดริมนา พะยูง ไม้หายากดีนัก ปลูกไว้เยอะๆ เดี๋ยวมีมูลค่าเอง ทุกอย่างอยู่ที่การลงมือทำล้วนๆ” ปรีดาธพันธุ์ ยกตัวอย่างพันธุ์ไม้รอบคันนาทองคำของเขา

แนวทางธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นอีกเครื่องมือที่ปรีดาธพันธุ์นำมาใช้บริหารจัดการผลผลิต หลังจากที่เขาและ Young Smart Farmer จังหวัดชัยนาท 8 คน ที่มีแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์รวมกว่า 300 ไร่ ร่วมกันจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษเมืองชัยนาท” เป็นศูนย์กลางรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกและแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศภายใต้แบรนด์ “ออริจิไรซ์” จำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดต่างๆ และผลิตอีกปีละ 3 ตันส่งให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อใช้ในกิจกรรม CSR ของบริษัทอีกด้วย นอกจากนี้เขายังสนับสนุนให้สมาชิกของกลุ่มฯ สร้างผลิตภัณฑ์และมีตราสินค้าเป็นของกลุ่มเองด้วย

แม้การขายข้าวอินทรีย์ออริจิไรซ์จะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ปรีดาธพันธุ์มองว่านอกจาก “ขายข้าวเป็นกิโลกรัม” แล้ว ยังน่าจะขายข้าวในรูปแบบอื่นได้อีก จนเมื่อเขาได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรสู่การเริ่มต้นธุรกิจ” ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นให้เขามากขึ้น ปรีดาธพันธุ์
นำความรู้และแนวคิดที่ได้จากการอบรมครั้งนั้นต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Bright ข้าวเม็ดเคี้ยว” อาหารเสริมเพื่อสุขภาพสำหรับเด็ก โดยใช้ข้าวกล้องงอกไรซ์เบอร์รี่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษเมืองชัยนาทเป็นวัตถุดิบหลัก และจดทะเบียนบริษัทในนาม “บริษัท ออริจิไรซ์ จำกัด” เพื่อจัดจำหน่าย

 

 

“ผมไปทุกหน่วยงานเพื่อหาตัวอย่างงานวิจัยแปรรูปข้าวเป็นอะไรได้บ้าง ถูกใจอยู่ตัวหนึ่งคือ ผงชงดื่มจากนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ แต่กระบวนการผลิตข้าวและเก็บเกี่ยวต้องให้ทันช่วงน้ำนมและต้องหาที่สต็อกวัตถุดิบให้พอสำหรับผลิตตลอดทั้งปี เป็นปัญหาพอสมควร พอได้มาอบรมของ สวทช. ได้ลองทำผลิตภัณฑ์ข้าวตอกเม็ด ผมตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์นี้เลย”

จากข้าวตอกเม็ดพัฒนาเป็นBright ข้าวกล้องงอกไรซ์เบอร์รี่ผสมโกโก้” จำนวน 30 กล่อง ผลิตภัณฑ์ต้นแบบชุดแรกที่เกิดขึ้นหลังจากที่แผนธุรกิจของปรีดาธพันธุ์ผ่านการคัดเลือกหลังเข้าร่วมอบรมฯ ครั้งนั้น โดยเขามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่แนวคิดสินค้า ชื่อสินค้า พัฒนาสูตร รวมถึงรูปแบบบรรจุภัณฑ์

Bright เป็นข้าวกล้องงอกไรซ์เบอร์รี่อัดเม็ดที่เริ่มต้นจากได้ทุนให้เปล่าจาก สวทช. และ ธกส. ที่เปิดโอกาสให้เข้าร่วมอบรมและพัฒนาต้นแบบเป็นนวัตกรรมข้าวแปรรูป ก่อนจะได้ทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มาพัฒนาสูตรต่อ และได้สินเชื่อจาก ธกส. เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ จนมีผู้สนใจร่วมทุนเพิ่ม  พัฒนารสชาติเพิ่มส่งขายต่างประเทศ” ปรีดาธพันธุ์ ย้อนเล่าเส้นทางกว่าจะมาเป็นข้าวกล้องงอกไรซ์เบอร์รี่อัดเม็ด “Bright” และเตรียมเพิ่มเป็น 4 รสชาติ โดยใช้ข้าวสายพันธุ์อื่นๆ จากกลุ่มฯ เป็นวัตถุดิบหลัก

Bright ข้าวเม็ดเคี้ยว” เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นบนเส้นทางการทำเกษตรที่ใช่เพียง “ขายข้าวเป็นกิโลกรัม” หากยังยกระดับ “ทำข้าวให้มีสมบัติเป็นยาและทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรม” ให้เกิดขึ้นจริงได้

# # #

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการ “การแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรสู่การเริ่มต้นธุรกิจ”  สร้างความรู้ความเข้าใจการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ข้าวด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการเกษตรอย่างมืออาชีพ

บริษัท ออริจิไร้ซ์ จำกัด
166 หมู่ 7 ต.ท่าชัย อ.เมือง จ.ชัยนาท
โทรศัพท์ 089 675 7606, 056 477157

“Bright ข้าวเม็ดเคี้ยว” ขายข้าวให้แตกต่าง