ผ่านพ้นไปแล้วกับงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. หรือ NAC2023 เมื่อวันที่ 28-31 มีนาคม 2566 ภายใต้แนวคิด “สวทช. ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” ซึ่งกลับมาจัดในรูปแบบ Onsite เต็มรูปแบบอีกครั้ง พร้อมกับหัวข้อสัมมนาวิชาการที่น่าสนใจมากมาย นิทรรศการผลงานวิจัยของทั้ง สวทช. นวัตกรรมจากภาคเอกชน ตลอดจนการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพ (start up) และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้เข้าร่วมกิจกรรมงาน NAC2023 ครั้งนี้ด้วย ทั้งในส่วนการจัดสัมมนาวิชาการ บูธนิทรรศการ และการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชน

ภูมิปัญญาผ้าทอไทยเพื่อคนรุ่นใหม่สู่การเป็นนักออกแบบดีไซน์เนอร์

หัวข้อสัมมนาวิชาการที่ สท. จัดขึ้นโดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การสืบสานผ้าทอไทยในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคุณมีชัย แต้สุริยา ศิลปินแห่งชาติ 2564 สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านคำปุน ได้สะท้อนผ่านเรื่องราวกว่าจะมาเป็นแบรนด์ “คำปุน” ผ้าไหมทอมือที่สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น แรงบันดาลใจและความหลงใหลในผ้าทอไทย ทำให้บ้านคำปุนเป็นแหล่งรวบรวมผ้าทอโบราณมากมาย และได้ต่อยอดพัฒนาลายผ้าลายกาบบัวของจังหวัดอุบลราชธานีที่เลื่องชื่อ

ขณะที่คุณวีริศ เชียรสิริไกรวุฒิ เจ้าของสถาบัน Luxurious.Studio และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการตลาด ได้ให้มุมมองการออกแบบงานสิ่งทอที่ให้ความสำคัญกับตลาดเป็นตัวตั้ง งานออกแบบต้องไปกับตลาดและต้องสร้างความแตกต่าง เพื่อสร้างโอกาสให้ผลิตภัณฑ์

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดมุมมองการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามายกระดับสิ่งทอพื้นเมือง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สิ่งทอและสร้างโอกาสในตลาดสากลได้ ทำให้สิ่งทอพื้นเมืองยังคงอยู่ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร

นอกจากการเวทีพูดคุยจากผู้เชี่ยวชาญทั้งสามท่านแล้ว ยังมีเวทีเดินแฟชั่นโชว์ “การประยุกต์ผ้าไทยจากคนรุ่นใหม่” ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เปิดมุมมองผ้าไทยที่ทันสมัย

อนาคตเกษตรอินทรีย์ไทย “นวัตกรรม” ช่วยได้อย่างไร

อีกหนึ่งหัวข้อเสวนาวิชาการที่ สท. ได้จัดขึ้นในงาน NAC ครั้งนี้ ซึ่งเกษตรอินทรีย์อาจไม่ใช่เพียง “กระแส” แต่กำลังเป็น “วิถี” ของสังคมไทยและสังคมโลก

คุณเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้นิยามคำว่านวัตกรรม คือ ความรู้+ความคิดสร้างสรรค์ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตลาดเกษตรอินทรีย์เติบโตอย่างมาก แต่ผู้ซื้อขาดการเข้าถึงข้อมูล ขณะที่ผู้ผลิตขาดกลไกที่จะแสดงตัวตน การเกิดขึ้นของ platform ต่างๆ จึงเป็นช่องทางเชื่อมผู้ผลิตและผู้ซื้อ (ตลาด) ดังเช่น SDGsPGS เป็นนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศให้เกษตรกรได้พัฒนากระบวนการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม สร้างการขับเคลื่อน SDGsPGS ให้ดำเนินการในระดับจังหวัด โดยตั้งเป้าให้ “ประเทศไทยหัวใจอินทรีย์”

เช่นเดียวกับ platform ของ TOCA หรือสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย เป็นอีกนวัตกรรมส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่ คุณอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทยและเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ มองว่าเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้เกิดสังคมอินทรีย์บนฐานของข้อมูล ซึ่ง TOCA Platform เป็นการขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำ (ผู้ผลิต) กลางน้ำ (ผู้ประกอบการ) ปลายน้ำ (ผู้ผลิต) และส่งเสริมผ่านการท่องเที่ยววิถีเกษตรอินทรีย์

ขณะที่ในมุมของเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ให้มุมมองถึงการเลือกใช้ชีวภัณฑ์ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานหลายแห่งพัฒนาเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ แต่การใช้ชีวภัณฑ์กลับยังไม่แพร่หลาย ขณะเดียวกันเกษตรกรต้องเรียนรู้และทำเข้าใจการใช้ชีวภัณฑ์ที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามหากเกิดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่มีเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ทั้งการส่งเสริมความรู้การผลิตที่ถูกต้อง หรือมีจุดผลิต/จำหน่ายระดับพื้นที่ จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้ชีวภัณฑ์ได้มากขึ้น

ด้านเกษตรกรในฐานะผู้ผลิต คุณสุจารี ธนสิริธนากร ประธานวิสาหกิจชุมชนปันบุญ จ.กาฬสินธุ์ และเกษตรกรดีเด่นสาขาเกษตรอินทรีย์ ประจำปี 2565 บอกเล่าประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ที่เริ่มจากปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรของคนในชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ทั้งความรู้และความอดทน การเปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต รวมถึงโอกาสทางการตลาดที่สวนปันบุญได้รับ

สท. ร่วมงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC2023)