“ถ้าคนรุ่นใหม่สนใจงานด้านการเกษตรจะช่วยต่อยอดงานเกษตรได้ เพราะคนรุ่นใหม่เข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่ายกว่า เวลามีข่าวหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาก็จะเปิดรับและปรับตัวได้ง่ายกว่า”

IMG_0075

ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี มีคนรุ่นใหม่ไม่มากนักที่สนใจหรืออยากทำงานกลางแดดแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน หนึ่งในนั้นมี “น้ำ” กัลยาณี เหมือนมาต ทายาทเกษตรกรผู้มีทั้งพ่อและแม่เป็นต้นแบบการดำเนินชีวิต จนเป็นแรงบันดาลใจให้เธอตัดสินใจเลือกเรียนคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเกิดที่บ้านโคกสว่าง ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี

กัลยาณี เป็นลูกสาวคนโตของ พ่อสุรทอนและแม่สำรอง เหมือนมาต งานของพ่อแม่ในความทรงจำครั้งเป็นเด็กของเธอ คือ การทำนาสลับกับปลูกพืชหลังนาและการใช้สารเคมีบนผืนนาหลายสิบไร่ “เห็นพ่อทำเกษตรโดยใช้เคมีมาตลอด หลังจากปลูกข้าวแล้วก็ปลูกพริกส่งขายตลาด พ่อมีอาการแพ้ถึงขั้นเลือดกำเดาไหล ส่วนมากมาจากการฉีดยาฆ่าแมลงจำพวกแมลงวันทองที่พบมากในพริก ต้องฉีดสัปดาห์ละครั้ง แม้จะป้องกันตัวเองแต่ก็ยังทำได้ไม่ได้ดี”

ผลกระทบต่อสุขภาพในครั้งนั้นทำให้ สุรทอน ตัดสินใจหันหลังให้การทำเกษตรแบบใช้สารเคมีโดยเด็ดขาดก่อนตั้งต้นเดินหน้าทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ปัจจุบัน สุรทอนและสำรอง เหมือนมาต เป็นสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง ยืนหยัดปลูกข้าวและผักอินทรีย์ส่งขายเป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัวมาร่วม 14 ปี

แต่กว่าเส้นทางการทำเกษตรอินทรีย์จะประสบผลสำเร็จต้องอาศัยทั้งเวลา ความทุ่มเท และความอดทนของทุกคนในครอบครัว โครงสร้างดินที่เสื่อมเพราะการใช้สารเคมีสะสมทำให้ช่วงแรกของการทำนาอินทรีย์แทบไม่ได้ผลผลิต “ผ่านไป 4 ปีเริ่มเชื่อเพราะมีผลผลิตมากขึ้น ทุกวันนี้แทบไม่ต้องใช้ยาอะไร สุขภาพก็ดี ไม่ต้องพึ่งยา ทำตามแรง ถ้าเหนื่อยก็พัก” เสียง คุณยายแถม  โคตรวงศ์ ในวัย 70 ปีเล่าความสำเร็จของลูกเขยอย่างภูมิใจ

 

ชีวิตวัยรุ่นของ กัลยาณี คลุกคลีอยู่กับทุ่งข้าวและแปลงผักโดยมีคุณยายและพ่อแม่เป็นทั้งครูและเพื่อนพูดคุย ทุกวันหยุดไม่ว่าสมัยเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย เธอจัดสรรเวลามาลงแปลงทำเกษตรกับพ่อแม่เสมอ ทั้งหยิบจับ หัดทำ และเดินตาม เข้าทำนอง “แม่บอก-พ่อพาทำ” ตั้งแต่เตรียมเมล็ดพันธุ์ เพาะกล้า ปลูก รดน้ำดูแล เก็บเกี่ยวไปจนถึงขายผักในตลาด ความอบอุ่นและผูกพันของคนสามรุ่นภายใต้บ้านหลังนี้จึงเป็นเหมือนเกราะกำบังให้ กัลยาณี ก้าวเดินบนเส้นทางเกษตรอย่างมั่นใจ

“ช่วยงานพ่อแม่ตั้งแต่เรียน ม.1 เก็บผักเล็กๆ น้อยๆ แม่จะเป็นคนบอกว่าเก็บอะไร แล้วก็เอาไปล้างไปคัดแยกเอาใบที่เสียออก บางทีเราก็ถือกระสอบเดินเก็บตามแม่ เรียนรู้กับแม่ไปเรื่อยๆ พออยู่ ม.6 เริ่มมีโรงเรือนพลาสติกเข้ามา ไม่มีช่วงไหนที่ไม่มีผักขาย มีรายได้ตลอดทั้งปี ก็คิดว่ามันมีทางไปนะ ไม่ต้องไปหางานที่กรุงเทพฯ ตรงนี้ถือว่ามีผลทำให้เลือกเรียนคณะเกษตรทั้งที่คุณยายอยากให้เรียนพยาบาล แต่เราเรียนหนังสือไม่เก่งและไม่ได้มีใจทางนั้น”

กัลยาณี เลือกเรียนวิชาเอกพืชสวน วิชาโทโรคพืช และทำรายงานวิชาปัญหาพิเศษเรื่องการใช้สารชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืช ทำให้เธอมั่นใจยิ่งขึ้นว่าเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกทางรอดให้เกษตรกรได้จริง แต่ถึงแม้จะบ่มเพาะความรู้ด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยโดยตรง เธอยอมรับว่า “เราจะใช้ทฤษฎีร้อยเปอร์เซ็นต์เลยไม่ได้ หลักการที่เราเรียนมาใช้ได้ในกรณีที่อยู่ในห้องทดลอง แต่พอลงแปลงจริงอาจจะใช้ไม่ได้ มีสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้และมีตัวแปรหลายตัวที่เกี่ยวข้อง” คือโลกความจริงที่เธอเรียนรู้หลังเรียนจบปริญญาตรี

หลังเริ่มทำงานกับพ่อแม่ที่บ้านได้ไม่นาน กัลยาณี ได้รับโอกาสร่วมงานกับบริษัทเอกชนในท้องถิ่นที่สนใจปลูกผักอินทรีย์ภายใต้โรงเรือนพลาสติก ถือเป็นหน้าต่างบานใหญ่ที่เปิดโลกการเรียนรู้ของเธอให้กว้างขึ้น และเป็นโอกาสสำคัญให้เธอได้ประยุกต์ใช้ความรู้จากรั้วมหาลัยกับประสบการณ์ที่เรียนรู้จากพ่อแม่ท่ามกลางเงื่อนไขปัจจัยการทำเกษตรที่ไม่เหมือนเดิม

 

 

“ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยได้รู้เทคโนโลยีมาระดับหนึ่ง กลับมาอยู่กับพ่อแม่ก็ได้ความรู้เพิ่มจาก สวทช. ที่เข้ามาส่งเสริมเกษตรกร พอมาทำฟาร์มจะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะระบบน้ำที่ควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ การให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยด ซึ่งช่วยประหยัดแรงงานแต่การลงทุนสูง เหมาะกับภาคธุรกิจมากกว่า ส่วนเรื่องโรงเรือนพลาสติกอาศัยเรามีต้นทุนความรู้อยู่บ้างก็ช่วยให้ความเห็นเรื่องรูปแบบโรงเรือนที่เหมาะสม และประสานขอความรู้จาก สวทช. ทั้งการไปศึกษาดูงานและอบรมสัมมนาตั้งแต่เรื่องดินไปจนถึงการจัดจำหน่าย”

ประสบการณ์การเรียนรู้และลงมือทำด้วยตัวเองโดยมีพ่อและแม่เป็นต้นแบบ ทำให้ กัลยาณี ไม่ย่อท้อต่อปัญหาหรืออุปสรรคที่พบ พ่อสุรทอนและแม่สำรอง ยังเป็นเพื่อนคู่คิดคอยให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนความรู้ไม่ว่าจะเรื่องการทดลองใช้เมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ การใช้สารชีวภัณฑ์หรือจุลินทรีย์เพื่อควบคุมโรค “พ่อแม่มีความรู้มากกว่าเพราะเขาลงมือปฏิบัติจริงและทำมานาน ได้ผลแล้ว เราเอาความรู้ที่ผ่านการลองผิดลองถูกแล้วไปใช้ ช่วยประหยัดเวลาให้เราได้” เช่นเดียวกับการสอนเธอให้รู้จักเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ผักตระกูลสลัดและผักพื้นบ้าน ไม่เพียงช่วยประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ หากสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคว่าได้ทานข้าวและผักอินทรีย์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง .เป็นการนำความรู้ที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วไปใช้ ช่วยประหยัดเวลาให้คนรุ่นเราได้”

กัลยาณี ยังคงเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเองผ่านการเข้าอบรมสัมมนา ศึกษาดูงาน และท่องโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อสืบค้นงานวิจัยและบทความทางวิชาการมาปรับใช้ เช่นเดียวกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มีโทรศัพท์มือถือเป็นห้องเรียน โดยเฉพาะคนที่ชอบเรียนรู้และทดลองอย่าง พ่อสุรทอน “ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาตลอด เราต้องติดตามให้ทัน ไม่อย่างนั้นตกยุค อย่างดูจากยูทูปแล้วก็มาทดลองทำด้วยตัวเอง ถ้าอันไหนเข้าท่าก็ทำต่อ อันไหนไม่ดีก็เปลี่ยนใหม่ ไม่เสียหาย เพราะทุนเราเองไม่ต้องเสีย ไม่ต้องจ้าง”

ปัจจุบัน กัลยาณี รับผิดชอบงานฝ่ายผลิตผักให้บริษัทเป็นตาฮักฟาร์มจำกัด เธอมีความสุขในสิ่งที่ได้เลือกและรู้สึกท้าทายเสมอเมื่อต้องเจอโจทย์ใหม่ๆ หลังว่างเว้นจากการงานประจำเธอยังคงกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนคุณยาย และช่วยงานพ่อแม่เหมือนเคย เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์ของ ครอบครัวเหมือนมาต

# # #

สวทช. ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตำบลโนนกลางมากว่า 10 ปี นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งเสริมและปรับประยุกต์ในการทำเกษตร สร้างแนวคิดการทำเกษตรด้วยความรู้ นำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงและสุขภาพที่ดีของเกษตรกร

กัลยาณี  เหมือนมาต
ทายาทเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง   
บ้านโคกสว่าง ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี

 

สานต่อเกษตรอินทรีย์..ตามแม่บอก-พ่อพาทำ