เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการนักวิจัยแกนนำ ฝ่ายบริหารโครงการความร่วมมือวิจัยขนาดใหญ่ (RBC) ให้การสนับสนุนนักวิจัยแนวหน้าและศักยภาพสูงของประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และผลงานวิจัยรูปแบบต่างๆ ในหลากหลายสาขาวิชา เช่น การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม พลังงาน การเกษตร จัดสัมมนาเรื่อง "เทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี" ภายในการประชุมประจำปี 2565 สวทช. ครั้งที่ 17 (NAC2022) ในรูปแบบออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยแกนนำ สวทช. ได้บรรยายและเผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานวิจัยสู่สาธารณชน โดยได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเปิดงาน และวิทยากรจำนวน 4 ท่าน ได้แก่

1. ศ. ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา นักวิจัยแกนนำ สวทช. ประจำปี 2563 สังกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บรรยายเรื่อง “อาหารแห่งอนาคต : สีผสมอาหารธรรมชาติ และเจลชีวภาพสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค” 

  • สร้างนวัตกรรมอาหารสุขภาพและความปลอดภัย โดยการสังเคราะห์สีผสมอาหารจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ (สีเขียว) แครอท (สีเหลือง-แดง) ข้าวโพด (สีเหลือง) บีทรูท (สีแดง) ปรับปรุงความเสถียรให้ดีขึ้น สีคงเดิม เมื่ออุณหภูมิและความเป็นกรดด่างเปลี่ยนไป เป็นคุณสมบัติที่ดีขึ้นจากสีผสมอาหารจากธรรมชาติที่ขายในปัจจุบัน
  • สังเคราะห์เจลชีวภาพเชิงหน้าที่จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น เศษผักและผลไม้จากโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เปลือกผลไม้ ฟางข้าว ด้วยกระบวนการที่ไม่ใช้สารเคมี สามารถนำไปเพิ่มความข้นหนืดของอาหาร สำหรับผู้ป่วยกลืนลำบากป้องกันการสำลักอาหาร

2. ศ. ดร. นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร นักวิจัยแกนนำ สวทช. ประจำปี 2561 สังกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเรื่อง “ยาย้อนวัยมณีแดง สุขภาพดีที่เลือกได้

  • การค้นพบรอยแยกดีเอ็นเอหรือข้อต่อดีเอ็นเอ (มีปริมาณน้อยในเซลล์ชรา) เชื่อว่ามีบทบาทในการช่วยปกป้องดีเอ็นเอและป้องกันความแก่ชรา
  • โมเลกุลมณีแดง หรือ REDGEMs ย่อมาจาก REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules ช่วยเพิ่มข้อต่อดีเอ็นเอ ลบรอยโรคของดีเอ็นเอ แก้ไขความชราของเซลล์ได้
  • การศึกษาในหนูทดลองพบว่า หนูชราที่ได้รับโมเลกุลมณีแดงมีจำนวนเซลล์แก่ลดลง พังผืดที่ตับลดลง การทำงานของตับดีขึ้น ความจำดีขึ้น

3. ศ. ดร.แชบเบียร์ กีวาลา นักวิจัยแกนนำ สวทช. ประจำปี 2559 สังกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บรรยายเรื่อง “วัฏจักรชีวิต แนวคิดสำหรับอาหาร พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่ความยั่งยืน

  • การประเมินโดยตลอดวัฏจักรชีวิต เป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ โดยพิจารณาถึงการใช้ทรัพยากร พลังงาน และการปลดปล่อยของเสียรูปแบบต่าง ๆ ครอบคลุมทุกขั้นตอนตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ
  • ตัวอย่างการประเมินโดยตลอดวัฏจักรชีวิต เช่น หากล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากท่อไอเสีย การประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของยานยนต์ไฟฟ้าจะต้องพิจารณาให้รอบด้านว่าไฟฟ้าที่รถใช้นั้นถูกผลิตขึ้นจากโรงไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษมากน้อยอย่างไร แบตเตอรี่ที่ใช้อาจมีส่วนของวัสดุที่มีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้า การสูญเสียพลังงานในระบบส่งไฟฟ้า และอื่น ๆ ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องนำมาพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าด้วยทั้งสิ้น

4. ศ. ดร.มาโกโตะ โอกาวะ นักวิจัยแกนนำ สวทช. ประจำปี 2560 สังกัด สถาบันวิทยสิริเมธี บรรยายเรื่อง “เทคโนโลยีการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงทางเคมีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

  • พลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาจากแหล่งพลังงานสิ้นเปลืองหรือที่ใช้แล้วหมดไป เข่น น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และจากพลังงานหมุนเวียน สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล
  • พัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาจากวัสดุเคมีระดับนาโน เช่น titania nanoparticle ให้มีประสิทธิภาพสูง อาจเป็นหนึ่งทางเลือก โดยตัวเร่งปฏิกิริยาจะนำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงประดิษฐ์เพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงเคมี เช่น ก๊าซไฮโดรเจน ก๊าซมีเทน เมทานอล โดยอาศัยน้ำ (และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) เป็นสารตั้งต้น