นักวิจัยไทย พัฒนา “อวัยวะจำลองมดลูกและรก” ความหวังเพื่อการยับยั้ง ‘ไวรัสซิกา’ จาก ‘แม่สู่ลูก’

เรียบเรียง: อาทิตย์ ลมูลปลั่ง


 

          เชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมักพบในประเทศเขตร้อนนั้นเกิดจากยุงลายเป็นพาหะสำคัญเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก แต่ความพิเศษของไวรัสซิกา สามารถแพร่เชื้อได้หลายทางเช่นผ่านทางเพศสัมพันธ์ การถ่ายเลือด และจากแม่สู่ลูกในครรภ์

          อันตรายของไวรัสซิกา คือเชื้อสามารถที่จะแพร่จากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ได้ เมื่อทารกรับเชื้อจากแม่ผ่านทางรกมีโอกาส 20% ที่จะเกิดเกิดภาวะสมองเล็ก!! มีปัญหาพัฒนาการทางสมอง และมีโอกาสเสียชีวิตหลังคลอดทันทีได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาป้องกันการติดเชื้อได้

          เมื่อการติดเชื้อไวรัสซิกาในเด็กก่อให้เกิดปัญหาทั้งกายและใจกับครอบครัว และยังเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม นักวิจัยไทย จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ ‘สร้างระบบอวัยวะจำลองมดลูก’ จากตัวอย่างเนื้อเยื่อของคนไข้อาสาสมัคร เพื่อศึกษากระบวนการติดเชื้อไวรัสซิกาในมดลูก การทดสอบแอนติบอดีที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสซิกา รวมถึงกระบวนการการส่งต่อเชื้อจากแม่ตั้งครรภ์สู่ลูกในท้อง

          ดร.ธีรวัฒน์ วิวัฒน์พาณิชย์ นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบและวิศวกรรมชีวโมเลกุลขั้นแนวหน้า ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า ไวรัสซิกา (Zika virus) อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เหมือนกับโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เหลือง ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา ในแถบพื้นที่ทะเลคาริบเบียนตอนกลางและใต้ของอเมริกา แอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย แม้ว่าการติดเชื้อไวรัสซิกาในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงจะไม่มีอาการรุนแรง หรือไม่เกิดอาการเลย แต่ปัจจุบันได้มีผลการศึกษายืนยันแล้วว่า เมื่อผู้หญิงมีครรภ์ได้ติดเชื้อไวรัสซิกา เชื้อไวรัสสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ ซึ่งมีผลให้ทารกมีอาการสมองเล็ก สมองไม่พัฒนา และรวมไปถึงการที่ทารกมีความเสี่ยงเสียชีวิตทันทีหลังกำเนิด การติดเชื้อไวรัสซิกาในทารกส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย และประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนที่สามารถจะยับยั้งการถ่ายทอดเชื้อไวรัสซิกาจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้

          ดร.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. ประสบความสำเร็จในการสร้างออร์แกนอยด์ ซึ่งก็เป็นกลุ่มก้อนเซลล์ที่ได้เพาะเลี้ยงแบบสามมิติ จนมีลักษณะและคุณสมบัติเสมือน หรือ คล้ายกับอวัยวะจริงในร่างกาย โดยนักวิจัยสามารถนำออร์แกนอยด์หรือระบบอวัยวะจำลอง มาศึกษากระบวนการทางชีวภาพต่างๆ ตั้งแต่พฤติกรรมของเซลล์ การทำงานของระบบอวัยวะของร่างกาย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบอวัยวะในร่างกาย การตอบสนองต่อฮอร์โมนหรือยา ตลอดจนกระบวนการก่อโรคจากเชื้อต่าง ๆ และโรคทางพันธุกรรมได้ ซึ่งข้อดีของออร์แกนอยด์ คือ นักวิจัยสามารถทำการทดลองเพื่อศึกษาโรค และทดสอบยาในภาวะที่คล้ายคลึงกับร่างกายโดยที่ยังไม่ต้องทดสอบกับอาสาสมัครหรือคนไข้จริง

          “ถึงแม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทยจะไม่รุนแรงมากนัก  แต่เนื่องจากไวรัสซิกามีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสเด็งกี่ ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกซึ่งมีการระบาดในประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง  อีกทั้งเชื้อไวรัสสองชนิดนี้ยังมียุงลายเป็นพาหะเหมือนกัน ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะประสบปัญหาการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสซิกาในอนาคต”

          ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล เล็งเห็นความสำคัญของการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันและเตรียมพร้อมกับการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในอนาคต โดยเฉพาะการแพร่ของเชื้อไวรัสซิกาจากแม่สู่ทารกในครรภ์ โดยทางทีมวิจัยจะพัฒนาออร์แกนอยด์ของมดลูกและรก เพื่อใช้ทดสอบและพัฒนาสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสซิกา เพื่อการนำมาใช้ต้านทานเชื้อไวรัสซิกา และป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้จากแม่สู่ทารกในครรภ์ต่อไป

          อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยหวังว่า ระบบการเลี้ยงอวัยวะจำลองจากโครงการนี้ จะเป็น ‘ฐานในการสร้างระบบอวัยวะจำลอง’ ในห้องปฏิบัติการที่มีคุณสมบัติคล้ายกับร่างกายคนจริงมากขึ้น ลดการใช้สัตว์ทดลอง ลดความเสี่ยงการทดลองในมนุษย์ และเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคเพื่อมวลมนุษยชาติสืบไป


ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 โครงการ (จาก 121 ผู้สมัครจาก 37 ประเทศ) ที่ชนะ  TDR Global Crowdfunding Challenge Contest ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจัดตั้งเพื่อสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อในเขตร้อน พร้อมเปิดระดมทุนเพื่อดำเนินงานวิจัย (Crowdfunding for Science) ตั้งเป้า 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 260,000 บาท) โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการสนับสนุนโครงการสามารถร่วมบริจาคเงินให้กับโครงการได้ที่ https://www.experiment.com/noZika4Baby ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม จนถึง 30 พฤศจิกายน 2563

About Author