วิทยาศาสตร์ (ควร) ขับเคลื่อนด้วยอะไร ?

เรื่องโดย ป๋วย อุ่นใจ


          “การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนั้นควรวิเคราะห์ให้ดีว่าภาคเอกชนนั้นติดขัดตรงไหน แล้วฝึกนักวิทยาศาสตร์ (และวิศวกร) รุ่นใหม่ให้มีทักษะเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน

          ในงานประชุมระดมสมองที่เต็มไปด้วยกูรูแห่งวงการดีปเทคทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผมได้ยินไอเดียที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยจากหนึ่งในปราชญ์แห่งวงการเทคโนโลยีของประเทศ

          ไอเดียนี้น่าสนใจเพราะถ้าเอกชนเดินไปข้างหน้าได้ ระบบนิเวศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็น่าที่จะเริ่มเข้มเเข็งขึ้น ตรงไหนที่เอกชนไปต่อไม่ได้ หนทางตีบตัน ก็สร้างคนขึ้นมาเป็นห่วงโซ่อุปทานเพื่อช่วยทะลุทะลวง เอาภาคธุรกิจเป็นตัวตั้ง จะได้เห็นเม็ดเงินชัดเจน อัดฉีดให้ตรงจุด วงการจะได้เดินต่อไปแบบไม่สะดุดหรือล้มระหว่างทาง

          ได้ยินปั๊บ ไอเดียก็เริ่มปึ๊งปั๊งขึ้นมาในหัว แนวคิดนี้ฟังดูเข้าท่า เเละน่าจะตอบโจทย์ประเทศได้ ถ้าหากว่าเรามีระบบนิเวศทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นรูปเป็นร่าง และมีการสร้างเทคโนโลยีที่นำไปใช้จริงได้แล้วอยู่พอประมาณในประเทศ

          ปัญหาคือถ้าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำ ๆ ดีป ๆ อย่างอวกาศ ดาวเทียม ควอนตัม นาโนเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง อย่างชีววิทยาสังเคราะห์ ที่แลนด์สเคปของเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมี know-how ในประเทศค่อนข้างน้อย แม้แต่ภาคเอกชนที่เป็นสายดีปเทคเองก็ยังตามไม่ค่อยทัน เราควรจะเริ่มวางห่วงโซ่อุปทานที่ตรงไหน

          ช่องโหว่ที่มีมากมาย อาจจะหมายถึงโอกาสอันมหาศาล แต่ถ้าคู่แข่งเดินไปไวกว่าที่เราจะตามทัน เรายังควรจะพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้หรือไม่ หรือจะรอซื้อเทคโนโลยีที่ต่างชาติพัฒนา ราคาแพงเท่าไรก็ต้องจ่าย ขาดดุลอย่างไรก็ยังต้องยอม

          บางคนอาจจะเถียงว่าเทคโนโลยีล้ำ ๆ พวกนี้มีไปทำไม ต่อให้ทำไม่ได้ สร้างไม่ได้ในประเทศ ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะดูแล้วมันไกลตัวและต่อให้ไม่มีก็ไม่น่าจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตสักเท่าไร คำโต้แย้งนี้ก็อาจเป็นจริงหากเราพอใจที่จะอยู่กันแบบประเทศ “กำลัง” พัฒนา แม้เพื่อนบ้านจะใช้เทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศแซงหน้าไปจนหมดแล้วก็ยังไม่ซีเรียส

          แต่อย่างไรก็อย่าลืมบาดแผลเดิมที่เคยเจ็บ ไม่มีใครที่ทำนายอนาคตได้ และไม่มีใครรู้ว่าหายนะจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อไร ยามใดที่มีพิบัติภัยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาให้ทันท่วงที แต่ไม่มีเทคโนโลยีจะใช้ ขอซื้อก็ไม่มีใครยอมขายให้ เพราะผู้ผลิตก็ต้องกันไว้ให้ประเทศตัวเองก่อน เหมือนตอนรอต่อคิวซื้อวัคซีนต้านโควิด 19  ที่รอแล้วรอเล่ากันเป็นปี กว่าจะได้มา มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นไปแล้วอย่างมโหฬาร

          ยังไม่นับเทคโนโลยีที่ช่วยทำนายและออกแบบวิธีจัดการปัญหาภูมิอากาศ มลภาวะ น้ำท่วม ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พิทักษ์ผลผลิตทางการเกษตร ประมง และอีกสารพัดอีก

          การลงทุนนี้แม้จะเสี่ยงแต่ก็มีโอกาสอยู่ข้างใน เพราะถ้าบ่มเพาะเอกชนที่เติบโตใหญ่ได้ระดับโลก อย่างกูเกิลหรือโอเพนเอไอได้สักรายสองราย ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ย้อนกลับมาเข้าสู่ประเทศนั้นจะมีมากมายมหาศาล ทั้งการสร้างงานและเม็ดเงิน สรตะส่วนได้ส่วนเสียดูแล้ว การลงทุนในเรื่องนี้อย่างไรก็คุ้มเสี่ยง แต่ถ้าจะเอาให้ได้กำไรคงต้องทำอย่างมีกลยุทธ์

          วิเคราะห์แลนด์สเคปของแต่ละเทคโนโลยีให้ดี มองดูช่องทาง เล็งหาโอกาสฟูมฟักสตาร์ตอัปสายดีปเทคที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ผลักดันการสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีให้ตรงจุด อุดรอยรั่วอุตสาหกรรม นี่คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้า และในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไว ใครที่จับจุดได้ก่อน (และดำเนินการได้ไวกว่า) คือผู้ชนะ และถ้าเราคว้าเอาไว้ได้ นี่คือโอกาสของประเทศไทย

          มองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยกลยุทธ์ ไอเดียนี้บอกเลยว่า “ชอบ” แต่กลยุทธ์แบบตามอุตสาหกรรมนี้ มันดีจริงหรือในการขับเคลื่อนวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ? คำถามนี้วนเวียนอยู่ในหัวของผมตั้งแต่ได้ยิน

          เพราะไอเดียนี้มันขัดกับปรัชญาและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของผมอย่างสิ้นเชิง สำหรับผมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่ควรเริ่มจาก “ผลกำไร” แต่ควรมาจาก “แรงบันดาลใจ” และ “ความรู้อยากเห็น”

          และในวันเดียวกันนั้นเอง ผมก็มีโอกาสได้พบเจอและพูดคุยกับ อาจารย์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีต ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และ ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด รูฟโฟโล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สองนักวิทยาศาสตร์ตัวจริงที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ บทสนทนากับทั้งสองท่านในวันนั้นช่วยยืนยันความคิดของผม “วิทยาศาสตร์ควรเริ่มจากความอยากรู้อยากเห็น !

          เพราะความอยากรู้อยากเห็นจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราอยาก “ทำงาน” เพื่อผลักดันวิทยาศาสตร์ให้ขยายขอบเขตองค์ความรู้ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งอาจจะเป็นงานพื้นฐานที่บางคนค่อนขอดว่าเป็นงานวิจัยสวยหรูดูแพงแต่มีประโยชน์แค่เอาไว้ใส่กรอบ “ขึ้นหิ้ง” โชว์

          อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าถ้าอยากเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้ได้อย่างยั่งยืน องค์ความรู้พื้นฐานจะต้องแน่นเสียก่อน เพราะถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ให้ดี ในทุกเทคโนโลยีพลิกโลก ล้วนมีงานวิจัยขึ้นหิ้งเป็นรากฐานทั้งสิ้น

          วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) เคยกล่าวไว้ว่า “เราเดินไปข้างหน้า เปิดโอกาสใหม่ ๆ และทำในสิ่งใหม่ ๆ ได้เพราะเราอยากรู้ และความอยากรู้อยากเห็นนี้เองที่นำเราไปสู่เส้นทางใหม่ ๆ

          และถ้างานดี มีความน่าสนใจ ต่อให้เป็นองค์ความรู้ขึ้นหิ้ง ท้ายที่สุดแล้วก็จะมีคนไปชอปปิงมาพัฒนาต่อจนเป็นเทคโนโลยีขึ้นห้างอยู่ดี

          แต่ทุกทีที่มองย้อนกลับมาในเรื่องการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยของประเทศ ก็ยังแอบสะเทือนใจอยู่ลึก ๆ เพราะส่วนใหญ่จะเน้นทุนแนวชอปปิง ดึงงานวิจัยจากหิ้งลงสู่ห้าง หรือไม่ก็เน้นผลระยะสั้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ไว ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะด้วยข้อจำกัดของเวลา งานวิจัยบางชิ้นที่ดูอู้ฟู่หรูหรา know-how ส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเองในประเทศ และจะทำได้ไหมถ้าต้องผลิตใช้เองในประเทศ อันนี้ต้องมาลุ้นกันอีกรอบ

          กรอบการให้ทุนแบบเน้นผลระยะสั้นบีบคั้นขอเคพีไอ (key performance indicator: KPI) แบบนี้ส่งเสริมแค่ให้เกิดการสร้างผลงานเทคโนโลยีใหม่ที่ส่วนใหญ่มาจาก “การซื้อเทคโนโลยีของต่างชาติมาแล้วต่อยอดนิดหน่อย” ให้ดูใหม่ แม้อาจจะดีในแง่ธุรกิจ เพราะคงเอาออกมาขายในท้องตลาดได้ไว แต่แนวทางนี้อาจจะไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนในการสร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะนอกจากจะได้แค่เทคโนโลยีที่ฐานกลวงแล้ว ยังอาจไปปิดกั้นจินตนาการและความอยากรู้อยากเห็นที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของนักวิจัยอีกด้วย

          นีล เดอแกรสส์ ไทสัน (Neil deGrasse Tyson) หนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่โด่งดังที่สุดในโลก เคยกล่าวไว้ว่า “เด็กนั้นเกิดมาพร้อมกับความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลก แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่มักทำต่อหน้าเด็ก ๆ ก็คือขัดขวางความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขา

          น่าเสียดาย ในวงการการศึกษาเราคุยกันมากมายเรื่องการเอาสเตมศึกษามาใช้เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพเยาวชนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ด้วยความหวังที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีมายด์เซต (mindset) เป็นผู้นำหรือผู้สร้างเทคโนโลยี

          แต่กลยุทธ์ในการสนับสนุนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กลับเน้นงานวิจัยฉาบฉวยแค่หวังผลระยะสั้นที่ตีกรอบความอยากรู้อยากเห็น จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของนักวิจัยจนเป็นได้แค่ผู้ตามเทคโนโลยี ทำให้รสชาติของการทำงานทางวิทยาศาสตร์ที่เคยสนุก เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและไฟฝัน กลับกลายเป็นทั้งเฝื่อนและขม

          บางทีก่อนที่จะสาย เราควรปรับกลยุทธ์ใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้เราอาจจะต้องตั้งคำถามแล้วตอบตัวเองให้ดีเสียก่อนว่าหนทางแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตที่เราอยากเห็นคืออะไร อยากเป็น “ผู้นำ” หรือว่าเป็นแค่ “ผู้ตาม”

About Author