Headlines

บนเส้นทางความท้าทาย ดาวเทียมไทยจะไปดวงจันทร์

เรื่องโดย ปริทัศน์ เทียนทอง


          เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นข่าวการสำรวจอวกาศที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้คนทั่วโลก เมื่อยานจันทรายาน 3 (Chandrayaan-3) ของประเทศอินเดีย ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ ทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ของโลก ถัดจากอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และจีน ที่ประสบความสำเร็จกับความท้าทายในการควบคุมยานลงจอดบนดวงจันทร์อย่างนุ่มนวล

          หากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ภายในระยะเวลา 7 ปี โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้วางนโยบายและก่อตั้งเป็นภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือโครงการ Thai Space Consortium (TSC) ขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยอื่น ๆ ที่มีศักยภาพกว่า 10 หน่วยงาน เพื่อภารกิจสร้างดาวเทียมไปสำรวจดวงจันทร์ โดยเริ่มต้นจากโครงการพัฒนาสร้างดาวเทียม TSC Pathfinder (TSC-P) และดาวเทียมถ่ายภาพหลายความยาวคลื่น (TSC-1) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศจากฝีมือคนไทยทั้งหมด มีเป้าหมายใหญ่ในการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล


แบบร่างของดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1
ที่มาภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)

 

          ดร.พงศธร สายสุจริต หรืออาจารย์ปอม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และในฐานะผู้จัดการโครงการสร้างดาวเทียม TSC-1 ได้อัปเดตความคืบหน้าของโครงการว่า

          “ดาวเทียม TSC-1 เป็นดาวเทียมสำหรับงานวิจัย มีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ซึ่งแตกต่างจากดาวเทียม KnackSat (แน็กแซต) ดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกของประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้พัฒนาขึ้น โดย KnackSat เป็นดาวเทียมขนาดเล็กที่เรียกว่า คิวบ์แซต (CubeSat) มีรูปทรงเป็นลูกบาศก์ขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาคน สร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดาวเทียมให้แก่เยาวชนไทย แต่ด้วยขนาดของดาวเทียมที่มีขนาดเล็กทำให้เหลือพื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ทดลองหรือวิจัยได้น้อย ถ้าจะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมหรือการวิจัยขั้นแนวหน้า (frontier research) ในอนาคต จำเป็นจะต้องสร้างดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

          “เรามองว่าในอนาคตอยากเห็นการสร้างดาวเทียมของไทยออกมาเป็นซีรีส์ เหมือนต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมาโดยตลอด อย่างประเทศญี่ปุ่นก่อนที่จะสร้างดาวเทียมวิจัยสำเร็จ ก็เริ่มต้นจากการสร้างดาวเทียมทดสอบ หรือ pathfinder ขึ้นมาก่อน เช่น ดาวเทียม ETS 1 ถึง ETS 8 เพื่อเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน และนำไปสู่การพัฒนาดาวเทียมวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เราก็อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบนั้นบ้าง และโครงการ TSC ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างดาวเทียม แต่รวมถึงเทคโนโลยีอวกาศด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีจรวด ท่าอวกาศยาน และระบบ Space Human Support System เป็นต้น


โครงสร้างแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้านในของดาวเทียมคิวบ์แซต (CubeSat)

          ดร.พงศธร เล่าถึงแผนคือสร้างดาวเทียม TSC Pathfinder และดาวเทียม TSC-1 เพื่อโคจรรอบโลก หลังจากนั้นจะสร้างดาวเทียม TSC-2 เพื่อไปโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบในหลักการแล้วแต่ยังไม่ได้พิจารณาให้งบประมาณ ส่วนดาวเทียม TSC-3 ถึง TSC-5 ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดภารกิจเป้าหมาย เพราะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของเส้นทางที่เดิน ถ้าดาวเทียมดวงก่อนหน้าประสบความสำเร็จก็จะกำหนดเป้าหมายที่ไกลขึ้นได้ แต่ถ้าพบปัญหาก็ต้องปรับปรุงแก้ไข แล้วเดินทางตามจุดเดิมให้สำเร็จก่อน

          ปัจจุบันดาวเทียม TSC อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรในภาคีความร่วมมืออวกาศไทย เช่น GISTDA, สดร., สวทช., มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยแบ่งงานกันตามความเชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงสร้างผลกระทบให้แก่วงการอวกาศเท่านั้น แต่ยังเป็นโมเดลที่ดีสำหรับโครงการสาขาอื่น ๆ ที่ต้องใช้ความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน

          “โครงการ Thai Space Consortium เริ่มก่อตั้งขึ้นมาได้ประมาณ 4-5 ปี แล้ว แต่เราเพิ่งตั้งโครงการ TSC-1 และ TSC-2 และได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้เราเริ่มลงมือสร้างดาวเทียมมาได้ประมาณ 2 ปี โดยสร้างตัวต้นแบบของดาวเทียมเสร็จแล้ว แต่หน้าตายังไม่ได้เป็นดาวเทียมแบบประกอบแล้ว จะเป็นลักษณะของบอร์ดและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์วางทดสอบอยู่บนโต๊ะ หรือที่เรียกว่า Table Sat แต่ถ้าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โครงการได้รับจัดสรรงบประมาณตามที่ตั้งไว้ ภายในเดือนตุลาคม 2567 เราก็จะได้เห็นดาวเทียมตัวต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ engineering model เป็นดาวเทียมที่เหมือนดาวเทียมจริงทุกประการ แต่จะไม่ได้ส่งออกไปสู่อวกาศ ทำเพื่อเก็บไว้บนโลก เพราะดาวเทียมเป็นอุปกรณ์ที่ส่งออกไปแล้วมีปัญหาจะนำกลับมาซ่อมไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีตัวฝาแฝดอยู่บนโลก แล้วเราจะทำดาวเทียมอีกดวงหนึ่งที่เรียกว่า flight model คือตัวที่พร้อมนำไปใช้งานจริงในอวกาศ พอดาวเทียมที่ส่งออกไปมีปัญหาเราก็สามารถนำดาวเทียม engineering model มาทดสอบเพื่อให้รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับดาวเทียมบนอวกาศคืออะไร

          แม้ทุกวันนี้กระแสสังคมจะยังตั้งคำถามว่าการใช้เงินภาษีของประชาชน 1,050 ล้านบาท คุ้มค่ากับการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมสำหรับประเทศไทยหรือไม่ ? ดร.พงศธรได้สะท้อนมุมมองต่อประเด็นนี้ว่าอยากให้มองว่าการไปดวงจันทร์ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย สิ่งที่ตั้งเป้าไว้คือการพิสูจน์ว่าคนไทยมีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงได้เอง และมีศักยภาพทัดเทียมกับประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านอวกาศขั้นสูงของโลก

          “แม้แต่อินเดียเองก็ยังมีหลายคนตั้งคำถามเช่นกันว่า คนอินเดียยังยากจนอยู่เลย จะสร้างยานจันทรายาน-3 ไปสำรวจดวงจันทร์ทำไม คุ้มค่าหรือไม่ ก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมาให้คำตอบที่ดีว่า จริง ๆ แล้วคนอินเดียยากจนมานานก่อนที่จะมีโครงการอวกาศ ซึ่งโครงการอวกาศไม่ใช่ต้นเหตุทำให้คนยากจน แต่ยิ่งยากจนยิ่งควรไปอวกาศ เพราะสำหรับประเทศที่ยากจน การจะพัฒนาให้คนในชาติมีฐานะดีขึ้นต้องอาศัยการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น อีกทั้งการพัฒนาโครงการอวกาศถือเป็นการพัฒนาวิทยาศาสตร์ชั้นสูงที่ช่วยผลักดันเทคโนโลยีทุกแขนงขึ้นไปพร้อมกัน” ดร.พงศธร กล่าวทิ้งท้าย

          ประเทศไทยของเรามีบุคลากรที่มีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ขาดเพียงเรื่องของการบริหารและจัดการที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้การสร้างเทคโนโลยีอวกาศด้วยฝีมือคนไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่การสร้างคน สร้างอนาคต สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ แล้ววันหนึ่งในอนาคตเราคงจะได้เห็นดาวเทียมหรือยานอวกาศของคนไทยได้ออกไปสำรวจห้วงอวกาศอันไกลโพ้น


ดร.พงศธร สายสุจริต จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aeronautics and Astronautics ปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aerospace Engineering และปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aeronautics and Astronautics จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ระหว่างเรียนได้สั่งสมประสบการณ์ร่วมสร้างดาวเทียมหลายดวง เช่น XI-IV ดาวเทียมคิวบ์แซต (CubeSat) ดวงแรกของโลก, Nano-Jasmin และยังเป็นหัวหน้าทีมผู้สร้าง “KnackSat” ดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกของประเทศไทย

 

About Author