The Tale of Beatrix Potter เรื่องเล่าของคนเล่าเรื่องกระต่าย

เรื่องโดย รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์


          หนึ่งในตัวละครกระต่ายคลาสสิกที่มีอายุกว่าร้อยปีและยังมีชีวิตอยู่ทั้งในโลกวรรณกรรมและวงการบันเทิง คือ ปีเตอร์แรบบิต (Peter Rabbit) ผลงานชิ้นเอกของ “บีทริกซ์ พอตเตอร์” (Beatrix Potter) นักเขียนและนักวาดภาพวรรณกรรมสำหรับเด็กที่มีสไตล์งานเขียนเป็นเอกลักษณ์ เล่าเรื่องด้วยภาษาเรียบง่าย แต่กลับไม่น่าเบื่อ เพราะมีมุกชวนขำแบบน่ารักน่าเอ็นดูสอดแทรกอยู่ แถมภาพประกอบที่พอตเตอร์วาดนั้นก็มีความสวยงามอบอุ่น มีรายละเอียดครบถ้วนสมจริง แม้ชื่อเสียงของพอตเตอร์กับเจ้ากระต่ายปีเตอร์แรบบิตจะโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีในโลกวรรณกรรม แต่เป้าหมายชีวิตของพอตเตอร์ในช่วงก่อนและหลังมีชื่อเสียงนั้น กลับเป็นงานที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

          บีทริกซ์ พอตเตอร์ เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2409 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวที่มีฐานะดีเป็นที่รู้จักในวงสังคมชั้นสูง แต่ชีวิตของพอตเตอร์ในวัยเด็กค่อนข้างจะเงียบเหงาและแตกต่างจากเด็กสาวจากตระกูลร่ำรวยทั่วไป เธอไม่ค่อยแข็งแรง พ่อกับแม่เลยไม่ให้ไปโรงเรียน ต้องเป็นเด็กโฮมสคูล มีครูพี่เลี้ยงมาสอนหนังสือให้ที่บ้าน จึงค่อนข้างขี้อายและเก็บตัว ยามเหงาก็วาดภาพ เขียนบันทึกลับด้วยรหัสที่รู้อยู่คนเดียว

          ถึงอย่างนั้นพอตเตอร์ก็ไม่ได้อยู่แต่บ้านตลอดเวลา เมื่อถึงวันหยุด พ่อและแม่พาเธอกับเบอร์ทรัม (Bertram) น้องชาย ไปเยี่ยมคุณปู่ หรือไปพักตากอากาศนอกเมืองอยู่บ่อย ๆ สองพี่น้องมีโอกาสได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ออกไปสำรวจสิ่งมีชีวิต ทั้งต้นไม้ ใบหญ้า เห็ดรา สัตว์ป่า โดยสังเกต บันทึก และวาดภาพเก็บไว้ บางครั้งก็แอบเอาสัตว์น้อยใหญ่หลายชนิดกลับมาเลี้ยงอีกด้วย การออกไปเปลี่ยนบรรยากาศกับทริปครอบครัวเป็นประจำนี้ทำให้บีทริกซ์ พอตเตอร์ รู้ว่าเธอชอบและอยากทำอะไร

          ความชอบและเป้าหมายของพอตเตอร์ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ มีครั้งหนึ่งที่ครอบครัวไปพักผ่อนที่สกอตแลนด์ คราวนั้นมีจิตรกรเอกระดับตำนานของอังกฤษ คือ เซอร์จอห์น เอเวอเรตต์ มิลเลส์ (John Everett Millais) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพ่อร่วมทริปด้วย มิลเลส์เห็นพรสวรรค์ของพอตเตอร์จนถึงกับเอ่ยปากว่า “มีหลายคนวาดภาพได้ แต่เธอมีสิ่งที่แตกต่างไป นั่นคือความช่างสังเกต” พ่อเห็นว่าพอตเตอร์ชอบวาดภาพ แต่ก็ไม่เคยเรียนจริง ๆ จัง ๆ จึงส่งเธอไปเรียนศิลปะที่วิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ (National Art Training School) ในกรุงลอนดอน ซึ่งปัจจุบันคือ ราชวิทยาลัยศิลปะ (the Royal College of Art)

          เวลาผ่านไป พรสวรรค์ด้านศิลปะในตัวของพอตเตอร์ได้รับการขัดเกลาและเปล่งแสงไปพร้อม ๆ กับนิสัยหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ที่มิลเลส์เรียกว่า “ความช่างสังเกต”

          นับจากทริปครอบครัวครั้งแรกที่เลกดิสทริกต์ (Lake District) พื้นที่ธรรมชาติทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ พอตเตอร์ที่อายุ 16 ปี เริ่มสนใจศึกษาเห็ดราเป็นพิเศษ นอกจากวาดภาพแล้ว เธอยังสังเกต บันทึกรายละเอียดทุกอย่างที่เห็น และจริงจังไปถึงขั้นศึกษาเรื่องการงอกของสปอร์อีกด้วย อีกสิบปีต่อมาเธอเริ่มส่งภาพวาดเห็ดราให้ชาลส์ แม็กอินทอช (Charles McIntosh) ผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดรา ที่คนรู้จักกันในนาม นักธรรมชาติวิทยาแห่งเพิร์ทเชียร์ (Perthshire) ในสกอตแลนด์ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับภาพวาดเห็ดราของเธอ ซึ่งแม็กอินทอชก็ตอบกลับ พร้อมช่วยจำแนกชนิดและเขียนคำแนะนำในเชิงวิทยาศาสตร์ให้ด้วยความยินดีที่เจอคนคอเดียวกัน จากความช่วยเหลือของแม็กอินทอช พอตเตอร์สร้างสรรค์ภาพวาดวิทยาศาสตร์ของเห็ดราไว้กว่า 300 ภาพ


ภาพวาดเห็ด Hygrocybe coccinea ของพอตเตอร์
ที่มาภาพ : Armitt Museum and Library / Wikimedia Commons

          เซอร์เฮนรี รอสโค (Henry Roscoe) อาเขยของพอตเตอร์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ช่วยจุดประกายและบ่มเพาะความเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้แก่พอตเตอร์ ด้วยความที่ตัวเองเป็นนักเคมี อยู่ในแวดวงนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เมื่อเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของหลาน เขาจึงอนุญาตให้เธอใช้กล้องจุลทรรศน์และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์อื่น ๆ ได้เต็มที่ อีกทั้งยังช่วยชี้แนะแนวทางการทำวิจัยแบบมืออาชีพ และยังแนะนำให้รู้จักกับนักพฤกษศาสตร์ของสวนพฤกษศาสตร์คิว (Kew Gardens) ซึ่งเป็นช่องทางให้พอตเตอร์เข้าไปศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมืออาชีพตัวจริง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เธอวาดภาพวิทยาศาสตร์ของพืชพรรณและเห็ดราได้สมจริงขึ้นอีกหลายเท่าตัว มีผลงานภาพวาดจากกล้องจุลทรรศน์กว่า 70 ชิ้นในเวลาสองปี และที่สำคัญคือมีงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดราที่น่าทึ่งอีกหลายผลงาน

          ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ผสานศิลปินของพอตเตอร์ฉายแสงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พอตเตอร์ในวัย 21 ปี ที่ศึกษาเห็ดราอย่างจริงจัง ค้นพบว่าไลเคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียว เธอวาดภาพไลเคนที่แสดงรายละเอียดให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีสิ่งมีชีวิตสองชนิดอาศัยอยู่ร่วมกัน คือ เห็ดรากับสาหร่าย และตั้งทฤษฎีภาวะอยู่ร่วมกัน (symbiosis) ของสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดว่าต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในเคสของไลเคนนี้ เห็ดราเป็นที่อยู่อาศัยกับช่วยเก็บกักน้ำและอาหาร ในขณะที่สาหร่ายทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตอาหารผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง เธอศึกษาเรื่องนี้อยู่ 13 ปี จนได้บทความวิจัยเรื่องทฤษฎีภาวะอยู่ร่วมกันของไลเคนออกมา แต่บรรดานักพฤกษศาสตร์ที่เธอนำงานวิจัยไปเสนอนั้นต่างไม่ยอมรับ ไม่แม้แต่จะดูภาพวาดไลเคนของเธอด้วย มาถึงตอนนี้เมื่อมองย้อนกลับไป พอตเตอร์คือคนแรก ๆ ของโลกที่ค้นพบความจริงเกี่ยวกับไลเคน

          นอกจากความผิดหวังเรื่องไลเคนแล้ว เส้นทางสายนักวิจัยของพอตเตอร์ก็ยังคงมีอุปสรรคขวากหนาม บทความวิจัยเรื่อง On the germination of the spores of Agaricineae” ที่พอตเตอร์ส่งไปยังสมาคมลินเนียนแห่งกรุงลอนดอนในปี พ.ศ. 2440 ผ่านการพิจารณา แต่ด้วยความที่สมัยนั้นเป็นยุควิกตอเรียนที่ผู้หญิงไม่ได้เทียบเท่ากับผู้ชาย งานประชุมนี้ห้ามผู้หญิงเข้าร่วม พอตเตอร์ไม่ได้นำเสนอผลงานด้วยตัวเอง แถมผลงานก็ไม่ได้รับการตีพิมพ์อีกด้วย [แต่สุดท้ายแล้วอีกร้อยปีต่อมาในปี พ.ศ. 2540 สมาคมลินเนียนฯ ก็ออกมายอมรับความผิดพลาดและยอมรับบีทริกซ์ พอตเตอร์ ในฐานะนักวิทยาเชื้อรา (mycologist)]

          เมื่อเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ดูจะไปต่อไม่ได้ บีทริกซ์ พอตเตอร์จึงหันมาทุ่มเทกับงานบนเส้นทางสายศิลปะและวรรณกรรม ซึ่งเป็นเส้นทางที่พาเธอไปสู่ความสำเร็จและเป็นที่รู้จักของคนเกือบทั้งโลก

          ย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2433 พอตเตอร์เริ่มวาดภาพและเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับกระต่ายส่งไปให้ลูก ๆ ของแอนนี คาร์เตอร์ มอร์ (Annie Carter Moore) อดีตครูพี่เลี้ยงอ่าน โดยเรื่องกระต่ายที่เธอวาดและแต่งขึ้นนั้นได้แรงบันดาลใจจากปีเตอร์ ไพเพอร์ (Peter Piper) และเบนจามิน เบาเซอร์ (Benjamin Bouncer) กระต่ายที่เธอเลี้ยงไว้ มอร์เห็นว่าเรื่องกระต่ายนี้ต่อยอดได้แน่ จึงแนะนำให้พอตเตอร์เอามาปัดฝุ่นเขียนจริงจัง แล้วไปขายสำนักพิมพ์

          พอตเตอร์เองก็เห็นพ้องต้องกัน เลยเลือกจดหมายฉบับที่เธอเขียนส่งให้โนเอล ลูกชายของมอร์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2436 มาเป็นต้นแบบ พอตเตอร์แต่งเรื่องและวาดภาพประกอบเพิ่มจนได้ออกมาเป็น “เรื่องของปีเตอร์ แรบบิต (The Tale of Peter Rabbit)” แต่ยังไม่มีสำนักพิมพ์ใดตอบรับ เธอจึงตัดสินใจพิมพ์ขายเองเลยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2444


ที่มาภาพ : Wikimedia Commons

          The Tale of Peter Rabbit เวอร์ชันแรกที่พอตเตอร์พิมพ์ขายเองจำนวน 250 เล่มนั้น เป็นขาวดำ มีเฉพาะปกหน้าด้านในที่เป็นภาพสี ขายดีเกินความคาดหมาย แม้แต่เซอร์อาเทอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) ผู้เขียนเชอร์ล็อก โฮมส์ ก็ยังสั่งซื้อหนังสือของเธอ ในปีถัดมาระหว่างที่เธอเตรียมพิมพ์ลอตเล็ก ๆ เพิ่ม สำนักพิมพ์เฟรเดริก วอร์น แอนด์โค (Frederick Warne & Co.) สำนักพิมพ์ใหญ่ในอังกฤษที่เคยปฏิเสธพอตเตอร์มาแล้ว กลับมายื่นข้อเสนอให้พอตเตอร์วาดเป็นเวอร์ชันสี ทีแรกพอตเตอร์ไม่สนใจ แต่สุดท้ายก็ตกลง The Tale of Peter Rabbit ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เฟรเดริก วอร์น แอนด์โค ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2445 ยอดขายกระฉูดถึง 50,000 เล่มในหนึ่งปี พอตเตอร์มีผลงานตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เฟรเดริก วอร์น แอนด์โค ถึง 23 เรื่อง หลายเรื่องยังคงความอมตะมาจนทุกวันนี้ โดย The Tale of Peter Rabbit ติดหนึ่งในหนังสือขายดีตลอดกาล แปลมากกว่า 36 ภาษา ยอดจำหน่ายทั่วโลกกว่า 45 ล้านเล่ม


The Tale of Peter Rabbit เวอร์ชันแรกที่บีทริกซ์ พอตเตอร์ พิมพ์ขายเอง


The Tale of Peter Rabbit ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เฟรเดริก วอร์น แอนด์โค

          ในปี พ.ศ. 2448 พอตเตอร์ที่ครองโสดมา 39 ปี หมั้นหมายกับนอร์แมน วอร์น (Norman Warne) ทายาทสำนักพิมพ์เฟรเดริก วอร์น แอนด์โค ซึ่งเป็นบรรณาธิการของเธอ แต่วอร์นป่วยด้วยโรคลูคีเมียและจากไปอย่างกระทันหัน พอตเตอร์หลบไปพักใจที่ฮิลล์ทอป (Hill Top) บ้านฟาร์มในเลกดิสทริกต์ที่เธอซื้อไว้ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่นั่น เขียนหนังสือไป ทำฟาร์มไป ฉากและเรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือของเธอบางส่วนก็มาจากการใช้ชีวิตที่ฮิลล์ทอปนี่เอง

          แปดปีต่อมาเธอแต่งงานกับวิลเลียม ฮีลิส (William Heelis) และย้ายมาอยู่ที่ฮิลล์ทอป ปี พ.ศ. 2466 ฟาร์มแกะเทราต์เบกพาร์ก (Troutbeck Park) ประกาศขาย พอตเตอร์เลยซื้อเอาไว้ แล้วเริ่มศึกษาการปรับปรุงพันธุ์แกะเฮิร์ดวิก (Herdwick) แกะสายพันธุ์พื้นเมืองของเลกดิสทริกต์ที่กำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ อย่างจริงจัง จนฟาร์มที่สภาพร่อแร่ฟื้นกลับมาเต็มไปด้วยแกะเฮิร์ดวิกสายพันธุ์ดี มีสุขภาพแข็งแรง ส่งแข่งขันก็ชนะเลิศอยู่บ่อย ๆ ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2486 พอตเตอร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมปรับปรุงพันธุ์แกะเฮิร์ดวิก ซึ่งจะต้องเข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคมของปีถัดไป แต่เธอกลับเสียชีวิตไปก่อนด้วยวัย 77 ปี

          หลังพอตเตอร์เสียชีวิต พินัยกรรมของเธอระบุให้วิลเลียม ฮีลิสเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมด หากเขาเสียชีวิต ทรัพย์สินทั้งหมดที่ฮิลล์ทอป ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ฟาร์ม รวมถึงแกะเฮิร์ดวิกที่เธอรัก ให้อยู่ภายใต้การดูแลของเนชันแนลทรัสต์ (National Trust) ซึ่งเป็นองค์กรที่เธอเชื่อมั่นว่าจะช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินและธรรมชาติที่ฮิลล์ทอปไว้ได้ตราบนานเท่านาน ส่วนภาพวาดต้นฉบับเกือบทั้งหมดของพอตเตอร์นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์แอลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum) ในกรุงลอนดอน ในขณะที่ลิขสิทธิ์หนังสือทั้งหมด เธอยกให้เฟรเดริก วอร์น สตีเฟนส์ หลานชายของนอร์แมน วอร์น ซึ่งปัจจุบันสำนักพิมพ์เฟรเดริก วอร์น แอนด์โค เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว


บ้านฮิลล์ทอปของบีทริกซ์ พอตเตอร์


ฝูงแกะเฮิร์ดวิกที่เลกดิสทริกต์

 


ที่มา

About Author