กินอิ๊ผู้ใหญ่ ท้องไส้ดีงาม

โดย รศ. ดร. ป๋วย อุ่นใจ


          เปเปอร์ใหม่ในวารสาร Current Biology เผยรสนิยมเปิบพิสดารของมวน (squash bug) หนึ่งในศัตรูพืชตัวแสบในวงการเกษตรที่เจอก็บ่อย คุมก็ยาก แถมยังปั่นป่วนไปทั่วอีก

          ที่คุมยากเพราะปกติแล้ว มวนที่โตเต็มวัยจะกินอาหารโดยการเจาะเข้าไปดูดน้ำเลี้ยงของพืชออกมากิน แทนที่จะเคี้ยวเหมือนหนอนศัตรูพืชอื่น ๆ ซึ่งทำให้พวกมันรอดจากยากำจัดศัตรูพืชส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในท้องตลาด

          แต่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีโมรี (Emory University) กลับเปิดเผยรสนิยมสุดแสนประหลาดและแอบน่ายี้ของมวน นั่นคือตอนที่ยังเป็นตัวอ่อน (nymph) พวกมันชอบกิน “อุจจาระ” หรือ “อิ๊” (ขออนุญาตเรียกให้ฟังดูมีความน่าขยะแขยงลดลงสักเล็กน้อยนะครับ) ของพวกเดียวกัน

          “เห็นได้ชัดเจนว่าตัวอ่อนของมวนจะกินแต่อิ๊ของมวนเต็มวัยในสปีชีส์เดียวกัน” เจสัน เฉิน (Jason Chen) นักศึกษาปริญญาเอกผู้หลงใหลมวนกล่าว

          และเพื่อพิสูจน์ว่าพวกมันมีรสนิยมชื่นชม “อิ๊” อย่างแท้จริง เจสันจึงได้สร้างลานทดลองสำหรับมวนวัยละอ่อน โดยบนลานมีเส้นทางให้เลือกเดินได้สองทาง ทางแรกนำไปสู่น้ำเกลือ และทางที่สองนำไปสู่ “อิ๊” ของมวนเต็มวัย

          ชัดเจน พวกมันพุ่งตรงเข้าสู่อิ๊ และดูดสวบอย่างเอร็ดอร่อย

          “มันเป็นการทดลองที่ง่ายที่สุดแล้วที่คุณจะออกแบบได้ และสิ่งที่สวยงามที่สุดก็คือผลที่ได้ออกมา มันช่างชัดเจนและน่าตกใจมาก” สกอตต์ วิลลา (Scott Villa) นักชีววิทยาจากวิทยาลัยเดวิดสัน (Davidson College) หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยหลักของเจสันกล่าว

          และไม่ว่าจะเพิ่มระยะทางวางอิ๊ให้ห่างออกไป หรือจะปิดไฟให้มองไม่เห็น มวนละอ่อนก็ไม่เคยจะลังเลที่จะพุ่งเข้าหากองอิ๊ของมวนพวกเดียวกัน ต้องบอกว่ารักเดียวใจเดียวมั่นมิคลายจริง ๆ

          จากการทดลองนี้ เจสันและทีมสรุปว่า “พฤติกรรมของพวกมัน (มวนละอ่อน) นั้นตรงไปตรงมา พวกมันไม่ได้แค่กินอาหารเปื้อนอิ๊เพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่น่าขยะแขยง แต่พวกมันจงใจไล่เสาะหาอิ๊เพื่อสวาปาม

          พวกเขาเชื่อว่าอิ๊ของมวนเต็มวัยน่าจะส่งกลิ่นอันหอมหวนชวนฝันบางอย่างไปยั่วยวนมวนเด็ก ทำให้พวกมันคลั่งไคล้ไหลหลงไปกับมูลมวน มิต่างไปจากพวกฟูดดี (foodie) ที่พิศวาสเมนูมิชลิน

          ทีมวิจัยตั้งกล้องแอบถ่ายพฤติกรรมการกินอาหารของมวนเด็ก และพบว่าเวลาที่กองอิ๊อันโอชะมาตั้งอยู่เบื้องหน้า มวนเด็กจะพุ่งเข้าไปหาแล้วยื่นปากยาว ๆ ของมันออกมาเจาะเข้าไปข้างในและดูดกินอย่างตะกละตะกลาม แต่ก็มีบางทีที่เนื้อสัมผัสของก้อนอิ๊ที่มีนั้นไม่ถูกปาก ดูดไม่ขึ้น อาจจะแข็งหรือเหนียวจนเกินไป ในกรณีนั้นมวนเด็กก็จะพ่นน้ำลายออกมาละลายก้อนอิ๊ก่อนที่จะดูดซวบเข้าไปอย่างเอร็ดอร่อย (แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ แต่ยอมรับเลยว่านักวิจัยนี่ต้องใจรักจริง ๆ เพราะขนาดแค่เอามาเล่าให้ฟังยังแอบอยากแหวะเอง)

          ว่าแต่ทำไมมวนเด็กจึงหลงไหลได้ปลื้มกับอิ๊ของมวนรุ่นเดอะ

          ประเด็นคำถามนี้น่าสนใจ เพราะถ้าอาหารส่วนใหญ่ของมวนวัยเยาว์จะเป็นอิ๊ของมวนรุ่นก่อน นั่นหมายความว่าน่าจะต้องมีอะไรบางอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแอบซ่อนไว้ในกองอิ๊อันโอชะ คงไม่ใช่แค่รสชาติหรือเนื้อสัมผัสที่ดื่มด่ำกำซาบลิ้นอย่างเดียวเป็นแน่แท้ ข้อสงสัยนี้มีเค้าความเป็นจริง ปกติแล้วแมลงจะมีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อิงอาศัยอยู่ สังคมของจุลินทรีย์พวกนี้เรียกว่า ไมโครไบโอตา (microbiota)

          และในบางกรณีไมโครไบโอตามีความสำคัญมากในการดำรงชีวิตของแมลงจนถึงขนาดขาดไม่ได้ อย่างเช่นในกรณีของพวกเเบคทีเรียและโปรโตซัวที่อาศัยอยู่ในลำไส้ปลวกที่มีบทบาทสำคัญในการย่อยอาหารที่ปลวกกัดกินเข้าไป หากปลวกขาดจุลินทรีย์เหล่านี้ พวกมันก็จะสูญเสียความสามารถในการย่อยอาหารที่เป็นเซลลูโลสไปจนเเทบหมดสิ้น และในที่สุดก็จะค่อย ๆ ท้องอืดตายจากไปเอง

          สัตว์ส่วนมาก (รวมทั้งคนด้วย) จะได้จุลินทรีย์จำพวกไมโครไบโอตานี้มาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ในกรณีของคน ถ้าคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ทารกก็จะรับเอาแบคทีเรียที่เป็นไมโครไบโอตามาระหว่างทางแบบจัดเต็ม ซึ่งทำให้เด็กน้อยมีสังคมจุลินทรีย์ที่แข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ระยะหลังคลอด

          “ทุกอย่างที่มาจากมารดา ล้วนมีความสำคัญ (แม้แต่แบคทีเรียที่ติดปนเปื้อนมาจากช่องคลอดและอิ๊)” เด็บบี บ็อกเกิร์ต (Debbie Bogaert) กุมารแพทย์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (The University of Edinburgh) ผู้ศึกษาบทบาทของสังคมจุลินทรีย์จากแม่สู่เด็กกล่าว

          ซึ่งนั่นเป็นปัญหาสำหรับทารกผ่าคลอดด้วยวิธีที่เรียกว่า C-section เพราะจากการผ่าคลอด ทารกน้อยจะแทบไม่มีโอกาสได้รับไมโครไบโอตาจากแม่เลย ซึ่งการขาดสังคมจุลินทรีย์ที่เหมาะสมในวัยเด็กนี้อาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กได้ในระยะยาว

          บางคนถึงกับอุตริยอมเสี่ยงเอาจุลินทรีย์จากช่องคลอดและบางทีจากอิ๊ของมารดาไปป้ายปากหรือผิวของทารกที่เพิ่งผ่าคลอดออกมา เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้รับไมโครไบโอตาบางส่วนมาจากแม่ เทคนิคนี้เรียกว่า vaginal seeding

          ซึ่งแม้จะได้ผล ถ้าเช็กเพียงแค่สังคมจุลินทรีย์จากเด็ก แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังกระอักกระอ่วนใจที่จะทำเพราะนอกจากจะได้สังคมจุลินทรีย์ดี ๆ จากแม่แล้ว บางทีถ้ามีตัวแสบ ๆ อย่างพวกที่ก่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นของแถมติดปนเปื้อนลงไปสู่ทารกด้วยก็อาจจะเป็นอันตรายอย่างมหันต์ได้

          เด็บบีคือหนึ่งในคนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ไม่ค่อยจะศิวิไลซ์อย่าง vaginal seeding เธอมั่นใจว่ายังมีอีกสารพัดวิธีที่จะช่วยในการลงหลักปักฐานก่อตั้งสังคมจุลินทรีย์ได้ในทารก งานวิจัยของเธอที่เพิ่งลงเผยแพร่ในวารสาร Cell Host & Microbe ระบุชัด “จุลินทรีย์ที่ขาดหายไปจากการผ่าคลอด นั้นสามารถชดเชยได้ด้วยจุลินทรีย์จากแหล่งอื่นจากร่างกายแม่ เช่น จากนมแม่ จากผิวหนัง จากน้ำลาย และอื่นๆ

          นั่นหมายความว่าขอแค่แม่มาคอยคลุกคลีกอดจูบลูบคลำให้ความรัก และที่สำคัญให้นมแม่ แม้จะเพียงนิด ก็ยังเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับทารก เพราะนั่นอาจจะเป็นแพ็กเกจตั้งต้นสำหรับก่อตั้งสังคมจุลินทรีย์อันอุดมในร่างของน้องก็เป็นได้


ลูกมวน

          ย้อนกลับมาในแมลง แน่นอนว่าแมลงไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ด้วยความสำคัญของไมโครไบโอตา แมลงบางชนิดจะวางแผนเผื่อลูกและจะอิ๊ฝากเอาไว้บนแถวไข่เพื่อให้ลูก ๆ ของเธอดื่มด่ำกับไมโครไบโอตาในอิ๊ที่เธอทิ้งไว้ได้ตั้งแต่เจาะไข่ออกมาดูโลก

          แต่สำหรับมวนนั้นไม่ใช่… มวนตัวอ่อนที่เจาะไข่ออกมานั้น ไม่ได้รับมรดกแบคทีเรียที่เป็นไมโครไบโอตามาจากพ่อแม่เลยแม้แต่น้อย

          “สำหรับอะไรที่สำคัญขนาดนี้ คุณน่าที่จะส่งผ่านไปสู่รุ่นลูกหลานในทันทีโดยอัตโนมัติ แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร พวกมันกลับไม่ทำเช่นนั้น และนั่นคือส่วนที่ยังคงเป็นปริศนา” สกอตต์กล่าว

          แต่นั่นหมายความว่ามวนเด็กจะต้องปากกัดตีนถีบไล่หาแหล่งของไมโครไบโอตาเอาเองจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือหากินเอาจากอิ๊ของมวนรุ่นก่อนนั่นแหละ และถ้าหาไม่ได้จริง บางทีอาจจะหมายถึงชีวิตของพวกมัน

          เพราะสำหรับมวนแล้ว “กินอิ๊ผู้ใหญ่ ท้องไส้จะดีงาม”

          และนี่ก็คือจุดอ่อนใหม่ของ “มวนร้าย” ศัตรูพืชตัวฉกาจที่ยาฆ่าแมลงส่วนใหญ่นั้นเอาไม่อยู่ 

          รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง เมื่อมีข้อมูลแล้ว ถ้าหากว่าเราจะคิดข้ามช็อตทะลุกรอบสักนิดนึง ไม่แน่บางที หนทางในการปราบมวนร้ายอาจจะทำได้ง่ายกว่าที่คิด !!!


อ้างอิง

  • Villa, S. M., Chen, J. Z., Kwong, Z., Acosta, A., Vega, N. M., & Gerardo, N. M. (2023). Specialized acquisition behaviors maintain reliable environmental transmission in an insect-microbial mutualism. Current Biology, 33(13), 2830-2838.e4. https://doi.org/10.1016/j.cub.2023.05.062
  • Bogaert, D., Van Beveren, G. J., De Koff, E. M., Parga, P. L., Lopez, C. E. B., Koppensteiner, L., Clerc, M., Hasrat, R., Arp, K., Chu, M. L. J., De Groot, P. C., Sanders, E. A., Van Houten, M. A., & De Steenhuijsen Piters, W. A. (2023). Mother-to-infant microbiota transmission and infant microbiota development across multiple body sites. Cell Host & Microbe, 31(3), 447-460.e6. https://doi.org/10.1016/j.chom.2023.01.018

About Author