เผยเคล็ดลับว่าที่บัณฑิตใหม่ ม.มหิดล นักกีฬาทีมชาติยิมนาสติกลีลาผู้พิชิตเหรียญทองซีเกมส์ 2019

          การแข่งขันกีฬาระดับโลกในปัจจุบัน นอกจากวัดกันด้วยอัจริยภาพของนักกีฬาแล้ว การวางแผน และเตรียมพร้อมที่ดีของนักกีฬาก็เป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ชะตาการแข่งขัน

          “วิทยาศาสตร์การกีฬา” เป็นการวางแผน และเตรียมพร้อมนักกีฬาด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการฝึกความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้อ การป้องกันการบาดเจ็บ การดูแลด้านโภชนาการ หรือการใช้หลักจิตวิทยาในการแข่งขัน ฯลฯ ซึ่งหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เปิดสอนเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยนั้นมีจุดเริ่มต้นที่ “โรงเรียนกีฬาเวชศาสตร์” ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธดิคส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก่อนพัฒนาสู่ “วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล” เช่นปัจจุบัน

          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงภารกิจของวิทยาลัยฯ ในการผลิตบุคลากรทางการกีฬาที่มีคุณภาพ โดยมุ่งหวังให้บัณฑิตสามารถส่งต่อองค์ความรู้ไปยังบุคคลภายนอก ตลอดจนคนรุ่นหลังต่อไปได้ โดยที่วิทยาลัยฯ มีบัณฑิตหลายรายรับใช้ชาติในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่จากการเป็นนักกีฬาผู้มีศักยภาพสูงแล้ว ยังนำมาซึ่งความภาคภูมิใจในการเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนวิทยาศาสตร์กีฬาไปพัฒนาการเล่นกีฬาของตนให้ดีขึ้นต่อไปได้อีกด้วย

          นางสาวเบญจพร ลิ้มพานิชย์ หรือ “น้องปิ่นมุก” ว่าที่บัณฑิตใหม่หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอกการออกกำลังกายและการกีฬา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีกำหนดเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2565 ที่จะถึงนี้ ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ผู้สามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาไปพัฒนาการเล่นกีฬาของตนจนสามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองจากการแข่งขันซีเกมส์ 2019 ให้กับชาติไทยได้อย่างภาคภูมิ

          “ยิมนาสติกลีลา” (Rhythmic Gymnastics) เป็นกีฬาที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากกีฬายิมนาสติก (Gymnastics) โดยมีการใช้อุปกรณ์ประกอบการเคลื่อนไหวตามเสียงดนตรี อาทิ บอล (Ball) ริบบิ้น (Ribbin) คฑา (Clubs) ห่วง (Hoop) และ เชือก (Rope) เป็นตัวอย่างของประเภทกีฬาที่ต้องอาศัยทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวร่างกายที่อ่อนช้อยประกอบกัน

          โดย “น้องปิ่นมุก” ได้กล่าวถึงความยาก-ง่ายของการใช้แต่ละอุปกรณ์ในการแข่งขันกีฬายิมนาสติกลีลาว่ามีความแตกต่างกัน อาทิ ถ้าเป็นลูกบอล และห่วง ซึ่งมีความกลม จะต้องระวังไม่ให้หลุดกลิ้งออกนอกสนาม ถ้าเป็นคฑาต้องระวังไม่ให้โยนแล้วรับพลาด ซึ่งหมายถึงคะแนนการแข่งขันจะถูกหักออกไปด้วย และจะทำอย่างไรให้ริบบิ้นซึ่งมีความยาวถึง 6 เมตรไม่แตะพื้น เป็นต้น

          ซึ่งเคล็ดลับของการชิงชัยขึ้นอยู่กับ “สมาธิ” ในขณะแข่งขันด้วย โดย “น้องปิ่นมุก” เล่าว่าเวลาแข่งขันจะตั้งจิตให้จดจ่ออยู่เพียงแค่ สนามแข่ง อุปกรณ์ และตนเองเพียงเท่านั้น หากวันใดที่ตนยังตัดความกลัวและกังวลระหว่างการเล่นไม่ได้ พบว่าวันนั้นจะเล่นออกมาได้ไม่ดี

          “กีฬาจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หากขาดการสนับสนุนจากหลายฝ่าย “ครอบครัว” คือ “กำลังใจ” ความสำเร็จจะบรรลุได้เริ่มต้นด้วย “การตั้งเป้าหมายที่ดีในชีวิต” “น้องปิ่นมุก” กล่าวทิ้งท้าย


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author