บทเพลงแห่งดวงดาว

คอลัมน์ “เปิดโลกดาราศาสตร์”
โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
Facebook: คนดูดาว stargazer


Twinkle, twinkle, little star,

How I wonder what you are!

Up above the world so high,

Like a diamond in the sky.

แวววาว แวววาว ดาวดวงน้อย

คอยสงสัยเจ้าเป็นอะไร

สูงขึ้นไป ไปไกลโลกา

เหมือนเพชรพลอยล่องลอยนภา

เพลง Twinkle, Twinkle, Little Star แปลเป็นไทยโดยผู้เขียน

—–

          เพลงเกี่ยวกับดาวที่มีคนรู้จักกันมากที่สุดในโลกคือเพลง Twinkle, Twinkle, Little Star ใช้ทำนองเพลงฝรั่งเศส Ah! vous dirai-je, maman ที่พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1761 และใช้เนื้อร้องภาษาอังกฤษจากบทกวีชื่อ The Star โดย Jane Taylor ในหนังสือชื่อ Rhymes for the Nursery เป็นหนังสือรวมบทกวีของ Jane กับน้องสาวคือ Ann พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1806 หรือ 217 ปีก่อน

          แม้จะเป็นเพลงเด็กสั้น ๆ แต่เนื้อหาเพลงน่าสนใจมาก ย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์เมื่อประมาณ 300,000 ปีก่อน เมื่อมนุษย์คนแรกแหงนหน้ามองขึ้นท้องฟ้า แล้วสงสัยว่าดวงดาวที่ระยิบระยับแวววาวนั่นคืออะไร และนี่คือจุดเริ่มต้นของวิชาดาราศาสตร์ (astronomy)

          คำว่า “ดาราศาสตร์” มาจากคำว่า “ดารา” แปลว่า ดาว และคำว่า “ศาสตร์” แปลว่า วิชาความรู้ ดังนั้นดาราศาสตร์จึงแปลว่า วิชาว่าด้วยดาว (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)

          ภาษาอังกฤษคำว่า astronomy มาจากภาษากรีกว่า astronomia (ἀστρονομία) มีรากศัพท์มาจากคำว่า astron (ἄστρον) แปลว่า ดาว และคำว่า nomos (νόμος) แปลว่า กฎเกณฑ์

          จากการเริ่มค้นหาความรู้เกี่ยวกับดาวก็เกิดวิชาโหราศาสตร์ (astrology) วิชาว่าด้วยการพยากรณ์โดยอาศัยการโคจรของดวงดาวเป็นหลัก (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554) มาจากคำว่า “โหร” ผู้พยากรณ์ กับคำว่า “ศาสตร์”

          คำว่า astrology มาจากภาษากรีกว่า astrologia (ἀστρολογία) มีรากศัพท์มาจากคำว่า astron (ἄστρον) แปลว่า ดาว และคำว่า logia (λογία) แปลว่า การศึกษา

          วิชาดาราศาสตร์นั้นทำให้เกิดการทำปฏิทิน เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิต การเดินทาง และการเกษตร

          ในยุคเริ่มแรกสมัยโบราณดาราศาสตร์ได้เจริญในดินแดนต่าง ๆ เช่น บาบิโลเนีย, อียิปต์, อินเดีย, จีน, มายา, กรีก ฯลฯ

          ในบาบิโลเนีย (1894-539 ปีก่อนคริสตกาล หรือ 3,917 – 2,562 ปีก่อน) มีการใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์สำหรับดาราศาสตร์

          ต่อมาในยุคกลางดาราศาสตร์ได้เจริญในประเทศอาหรับ (ปัจจุบันชื่อดาวบางดวงยังเป็นภาษาอาหรับ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 10-11 หรือ 1,000-1,100 ปีก่อน

          ความก้าวหน้าได้กลับมาสู่ยุโรป เมื่อนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ชื่อ นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) ได้เขียนหนังสือ De revolutionibus orbium coelestium (On the Revolutions of the Heavenly Spheres) พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1543 เสนอทฤษฎีที่ปฏิวัติความเชื่อในอดีตก่อนหน้านี้ที่เคยเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล โคเปอร์นิคัสบอกว่าไม่ใช่ เป็นดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางหรือระบบสุริยะ ทฤษฎีนี้ได้พัฒนาจากทฤษฎีของอริสตาคัสแห่งซามอส (Aristarchus of Samos) นักดาราศาสตร์ชาวกรีกที่เคยเสนอไว้ก่อนโคเปอร์นิคัสประมาณ 1,800 ปี

          เมื่อก่อนคนเชื่อว่าดาวทุกดวงรวมทั้งดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก แต่โคเปอร์นิคัสบอกว่าโลกและดาวเคราะห์อื่น ๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสถูกต้อง โดยเริ่มจาก กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ (กล้องดูดาว) ส่องค้นพบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี 4 ดวง เมื่อปี ค.ศ. 1610 เป็นหลักฐานว่า ดาวทุกดวงไม่ได้โคจรรอบโลก (ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีนั้นโคจรหมุนรอบดาวพฤหัสบดี ไม่ได้โคจรรอบโลก)

          หลังจากสมัยของกาลิเลโอ ดาราศาสตร์ก็เจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

          เพลง Twinkle, Twinkle, Little Star แต่งขึ้นในช่วงที่ดาราศาสตร์สมัยใหม่เจริญมาแล้วประมาณ 200 ปี

          มีเพลงมากมายที่เกี่ยวกับดวงดาว รวมทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ และดาวตก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพลงคลาสสิก The Planets (ดาวเคราะห์) แต่งโดย กุสตาฟ โฮสต์ (Gustav Holst) ชาวอังกฤษ ช่วงปี ค.ศ. 1914-1917 เป็นเพลงบรรเลงด้วยวงดุริยางค์ (orchestra) เป็นเพลงชุดมี 7 ท่อน (movement) ประกอบด้วยชื่อดาวเคราะห์ 7 ดวง ในระบบสุริยะ แต่ละท่อนจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันไปตามลักษณะเทพเจ้าของดาวเคราะห์นั้น

          ยังมีเรื่องน่าสนใจคือ เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทั้งหมด 79 เพลง (48 ทำนอง) เป็นเพลงที่มีเนื้อร้อง 72 เพลง และเพลงบรรเลง 7 เพลง สำหรับเพลงที่มีเนื้อร้องมี 31 เพลง คิดเป็นร้อยละ 43 หรือเกือบครึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดาว (รวมทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์)

About Author