สาระวิทย์ในศิลป์ ตอนที่ 9: “STARGAZING EXPEDITION” Day 3

          หลังจากคืนวันที่สองที่พวกเราอยู่ดูดาวกันจนดึกดื่น ในวันที่สามฉันเลยพาสมาชิกกลุ่มเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการออกเดินทางจากเวลส์มาผ่อนคลายที่อังกฤษบ้าง! ในขณะที่การเดินเที่ยวเล่นในเมือง Bromsgrove แห่งอังกฤษถือเป็นของแถม เป้าหมายอันแท้จริงที่พวกเราวางแผนจะทำในวันนี้ คือการเข้าชมอีเว้นท์สุดพิเศษที่มีเฉพาะช่วงสัปดาห์นี้เท่านั้น! ณ หอศิลปะ Artrix

          สถานที่แห่งนี้จะเป็นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการเวียนและงานศิลปะต่างๆ ในแต่ละช่วงที่หลากหลายแตกต่างกันไป ซึ่งในช่วงสัปดาห์นี้จะมีผลงานศิลปะสุดสร้างสรรค์ที่นำอวกาศมาสู่พื้นโลก ให้ได้ชมกันภายใต้นิทรรศการ “Space Art”

ภาพโปสเตอร์แผ่นนี้ที่เชิญชวนให้ฉันมาหอศิลปะ Artrix

          นิทรรศการนี้นำเสนอผลงานศิลปะภายใต้มุมมองจักรวาลจากสายตาของศิลปินแนวอวกาศเป็นการถ่ายทอดแนวความคิดวิทยาศาสตร์ผ่านผลงานศิลปะ ด้วยการใช้เทคนิคและมุมมองที่แปลกใหม่ สื่อถึงความหมายอันลึกซึ้งซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลของอวกาศที่มีต่อมนุษย์โลก

   

ภาพ The Hand of Mission Control (ซ้าย) เทียบกับภาพ The Creation of Adam (ขวา)

ขอบคุณแหล่งที่มาของภาพ The Creation of Adam (ขวา) จาก wikipedia

          ภาพแรกที่ต้อนรับพวกเราเมื่อเดินเข้าไปในส่วนของนิทรรศการ “Space Art” ก็คือภาพ The Hand of Mission Control โดยศิลปิน Rebecca Hardy เป็นภาพสีอะคริลิกบนผ้าใบ ถูกวาดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 ภาพนี้ได้รับแรงบันดาลใจส่งตรงจากนาซาในช่วงภารกิจอะพอลโล จึงเกิดการดัดแปลงจากภาพผลงาน The Creation of Adam ต้นฉบับของศิลปินชื่อดังในอดีต ไมเคิล แองเจโล (Michael Angelo) แล้วสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นภาพที่สื่อถึงข้อความสำคัญว่า เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยรวมไปถึงศิลปะด้วย

          ภาพดั้งเดิมนั้นสื่อถึงการที่พระเจ้าได้ให้ชีวิตแก่ อดัม มนุษย์คนแรกของโลก ส่วนในภาพที่ฉันได้ไปชมนั้นมือทั้งสองที่แตะกันถูกแทนที่ด้วยมือของนักบินอวกาศและมือของมนุษย์โลกผู้อยู่เบื้องหลังภารกิจนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อว่า ภารกิจอะพอลโลนี้จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี มนุษย์จะไปไกลถึงอวกาศ และมนุษย์เป็นผู้ให้ชีวิตกับวิทยาศาสตร์ สิ่งที่มนุษย์เราได้สร้างขึ้นมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษยชาติในอนาคตข้างหน้า

          Rebecca Hardy ยังสร้างสรรค์ผลงานอีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของภารกิจต่างๆ เกี่ยวกับอวกาศเอาไว้ อย่างเช่นในภาพ X-stasy เธอวาดขึ้นเป็นที่ระลึกแก่โครงการ X-plane ของสหรัฐอเมริกาที่มุ่งพัฒนาอากาศยานและจรวด จะเห็นอากาศยานจำนวนมากเรียงตัวกันโดยรอบ แสดงถึงความพยายามลองผิดลองถูกหลายครั้งจนประสบความสำเร็จ

          Bell X-1 ลำที่เด่นอยู่ตรงใจกลางของภาพซึ่งเป็นอากาศยานลำแรกที่ถูกออกแบบให้สามารถทำลายกำแพงเสียง (sound barrier) หรือแรงที่ดึงให้บินได้ช้าลง นั่นทำให้อากาศยานลำนี้สามารถบินได้ด้วยความเร็วเหนือเสียง หรือที่เรียกกันว่า supersonic ในปี พ.ศ. 2489 การค้นพบนี้นับเป็นก้าวใหญ่ของเทคโนโลยีการบินที่พาเราให้เข้าใกล้อวกาศมากขึ้นไปอีก


ภาพ X-stasy

          นอกจาก Bell X-1 แล้วยังมีอากาศยานอื่นๆ ในโครงการที่เป็นที่น่าจดจำไม่แพ้กัน อย่าง North American X-15 ลำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาพ ที่นับได้ว่าเป็นยานอวกาศลำแรกของโลก! เพราะด้วยความเร็วสูงสุด 7,274 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่เป็นสถิติโลก จึงพานักบินขึ้นแตะเขตรอยต่อระหว่างชั้นบรรยากาศโลกและอวกาศ (Kármán line) ได้เป็นครั้งแรก และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีอากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยแรงมนุษย์ลำไหนทำลายสถิติความเร็วนี้ได้เลย!

          นอกจากภาพนี้จะมีความสวยงามแบบการวาดภาพรูปแบบซ้ำๆ อย่างมีระบบระเบียบทำให้เกิดความสมมาตรที่ลงตัวแล้ว หากเรามองเข้าไปใกล้ๆ อากาศยานแต่ละลำ เราจะเห็นตัวอักษรแรกของชื่อนักบินคนแรกผู้ทำการบินทดสอบอากาศยานเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นการระลึกถึงความกล้าหาญของพวกเขาเหล่านั้น

          ผลงานอีกชิ้นของคุณ Rebecca ในชื่อชุด “cunning cosmos” คือภาพการฉลองครบรอบ 50 ปีของภารกิจอะพอลโล เมื่อยานอะพอล 11 ได้ลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์โลกในปี พ.ศ. 2512  ในภาพดวงจันทร์ซึ่งอยู่ตรงกลางนั้นถูกล้อมรอบด้วยภาพสัญลักษณ์ที่สื่อถึงภารกิจในแต่ละครั้งที่มีเป้าหมายพามนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์

          โดยวงนอกสุดเป็นภาพดวงดาวแต่ละดวงที่สื่อถึงคนแต่ละคนที่ได้ร่วมเดินทางไปยังดวงจันทร์ ยานบังคับการแต่ละลำแทนภารกิจ รอยเท้ารวม 12 รอย แทนคน 12 คนที่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์ ยิ่งมองภาพนี้อย่างละเอียด ฉันยิ่งได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านชิ้นงานศิลปะที่เรียบง่ายแต่แฝงด้วยเรื่องราวสำคัญเกี่ยวกับอวกาศไว้มากมายบนผืนผ้าใบนี้

ภาพชุด cunning cosmos” ภาพการฉลองครบรอบ 50 ปีของภารกิจอะพอลโล (บน)

และภาพวงแหวนดาวเสาร์แบบละเอียดยิบ (ล่าง)

          จากภาพสวยๆ ที่นำเสนอเรื่องราวอันสำคัญของภารกิจอวกาศต่างๆ ในส่วนถัดไปของนิทรรศการจะเน้นภาพที่มีสีสันของจักรวาลในมุมมองที่ไม่ได้มืดมิดอย่างที่เราเห็นจากโลก ดาวฤกษ์ กลุ่มแก๊ส และแสงสีที่สะท้อนกันไปมาของวัตถุบนอวกาศนั้น มีความสวยงามจนละสายตาไม่ได้เลยทีเดียว เนบิวลา เป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งในวงการนักดาราศาสตร์และศิลปะ ด้วยความที่มันเป็นกลุ่มแก๊ส จุดกำเนิดของดาวฤกษ์ ที่น่าศึกษาเสมือนเป็นกุญแจไขความลับของจักรวาล แถมยังมีสีสันที่สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ จนฉันเองยังไม่คิดว่าจะสามารถเห็นอะไรแบบนี้ได้จริงๆ บนอวกาศ นอกจากวันหนึ่งจะมีโอกาสได้ขึ้นไปพิสูจน์เสียเอง


ภาพถ่ายเนบิวลานายพราน (Orion nebula)

          ภาพถ่ายเนบิวลานายพราน (Orion nebula) จากกล้องโทรทรรศน์ที่ผ่านการแต่งสีเพื่อความคมชัด แต่สีที่ได้จะยังอยู่ในช่วงของแสงสีที่ปรากฏจริงที่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตาของเรา ฉันสามารถยืนยันได้ว่าเหมือนจริง เพราะเมื่อคืนก่อนฉันได้เรียนรู้วิธีการส่องหาเนบิวลานายพรานนี้ผ่านกล้องโทรทรรศน์เช่นกัน ครูของฉันได้บอกให้เล็งไปบริเวณทางใต้ของเข็มขัดกลุ่มดาวนายพราน ภาพที่ได้เห็นนั้นคุ้มค่าแก่การรอคอยจริงๆ ฉันตื่นเต้นมากๆ นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็นสีสันของจักรวาลด้วยตาเปล่า

          แต่น่าเสียดายที่ขนาดนี่ถือเป็นหนึ่งในเนบิวลาสว่างที่สุด ฉันก็ยังไม่สามารถจับภาพของมันมาได้ ภาพถ่ายจากแต่ละแหล่งนั้นก็มีความแตกต่างกันออกไป เพราะกว่าจะได้ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ออกมาแต่ละภาพมานั้น ต้องผ่านการตัดต่อหรือใส่ฟิลเตอร์ต่างๆ ตามแต่จุดประสงค์ของการศึกษา

          เรื่องของสียังมีผลในการบ่งบอกธาตุองค์ประกอบในวัตถุที่เราพบเห็นอีกด้วย ฉันขอยกตัวอย่างภาพถ่ายเนบิวลานายพรานโดยนาซา จะสังเกตเห็นว่าสีจะต่างไปจากสิ่งที่ตาคนเราเห็นอย่างสิ้นเชิง โดยสีแดงคือซัลเฟอร์ สีเขียวคือไฮโดรเจน และสีฟ้าคือออกซิเจน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการใช้ฟิลเตอร์ในการถ่ายภาพ วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาธาตุประกอบของจักรวาล เป็นต้น

ภาพถ่ายเนบิวลานายพราน โดยองค์กรนาซ่า

ขอบคุณแหล่งที่มาของภาพ https://www.nasa.gov/multimedia/imagegallery/image_feature_151.html

From: Astronomy Picture of the Day

Credit & Copyright: Russell Croman

          การถ่ายทอดภาพแห่งจักรวาลไม่ได้มีแค่เพียงการวาดและการถ่ายภาพเท่านั้น อย่างศิลปินชื่อคุณ Brian Dickinson ได้สื่อถึงเนบิวลานายพราน และ “Quasar” (วัตถุอวกาศอันไกลโพ้นที่สุดเท่าที่มนุษย์เราเคยรู้จัก ที่มีแสงสว่างในตัวเอง เจิดจ้ากว่าดาวฤกษ์ถึงหลายพันเท่า) ออกมาในรูปแบบของงานศิลปะกระจกสีหรือ  “stained glass” ได้อย่างน่าทึ่งมากๆ

ภาพ Galactic Spinner ที่คุณ Brian Dickinson รังสรรค์ขึ้นโดยอ้างอิงมาจากภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ของเควซาร์ (Quasar : Quasistellar Radio Sources)

 

 

ภาพของคุณ Brian Dickinson สื่อถึงการลุกจ้าของดวงอาทิตย์ หรือเปลวสุริยะ (Solar Flare) ทีเกิดจากการระเบิดที่ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้เห็นเป็นจุดสว่างวาบขึ้นมา

          อีกไฮไลต์หนึ่งของงานที่ฉันชื่นชอบเอามากๆ คือผลงานของคุณ Lisa Price นักศิลปะชื่อดังผู้สร้างสรรค์ภาพของเอกภพด้วยนิ้วมือของเธอและสีอะคริลิกบนผ้าใบ ผลงานหลักๆ ของเธอคือภาพเอกภพที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายโดยกล้องฮับเบิล (Hubble) และจากผลงานเขียนของคุณ Carl Sagan นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน อย่างเรื่อง “Cosmos” และ “Contact”

ภาพชุดเอกภพที่คุณ Lisa Price ใช้นิ้วมือละเลงสีอะคริลิกลงบนผืนผ้าใบ

          ถัดจากภาพวาดก็จะเป็นภาพถ่ายจากองค์กรและสมาคมดาราศาสตร์ประจำแต่ละเมือง เช่น เมือง Redditch, Birmingham และ Worcester astronomical society มานำเสนอจักรวาลในรูปแบบที่เสมือนจริงที่สุด ผ่านการใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง

ภาพถ่ายของจริง โดยเหล่านักถ่ายรูปทางดาราศาสตร์ ที่เรียกกันว่า Astrophotographer


North America Nebula (NGC 7000) ถ่ายโดยคุณ David Murren


ภาพพื้นผิวดวงจันทร์ ถ่ายโดยคุณ Steve Davies

          การได้เรียนรู้เกี่ยวกับจักรวาล และประวัติศาสตร์ของภารกิจทางอวกาศผ่านผลงานศิลปะ ช่วยปรับมุมมองทำให้เรื่องราวยากๆ ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกและน่าสนใจได้มากทีเดียว ใครจะไปรู้ว่าสิ่งที่ไกลตัวสุดๆ อย่างอวกาศอันไกลโพ้นจะส่งแรงบันดาลใจมาถึงคนบนโลกอย่างเราๆ จนเกิดเป็นชิ้นงานอันหลากหลายเทคนิคหากแต่ล้วนสื่อถึงเป้าหมายเดียวกัน สิ่งที่มนุษย์ยังคงเฝ้าตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ขอขอบคุณ: หอศิลปะ Artrix และคุณครูที่ปรึกษา คุณ Valentina Mindoljevic


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 88 เดือนกรกฎาคม 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/184905

About Author