สุริยุปราคา Solar Eclipse

เรื่องและภาพโดย ไอซี วริศา ใจดี


เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สังเกตเห็นได้จากสหรัฐอเมริกา แต่ที่ประเทศไทยจะไม่เห็นสุริยุปราคาในวันนี้ ในนามของเด็กชมรม ASTRO ของ Wellesley College ฉันและเพื่อน ๆ จึงร่วมกันจัดกิจกรรมสำรวจสุริยุปราคาท่ามกลางแสงแดดเจิดจ้าท้องฟ้าสดใสแบบนี้ ใช่แล้ว…ในขณะที่ผู้อ่านในประเทศไทยกำลังหลับปุ๋ยกันอยู่นั้น ฉันได้ออกมาเดินเล่นรับแดดยามบ่าย !

ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่เรารู้จักกันดีและอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลแค่ 1 หน่วยดาราศาสตร์ พวกเรารู้กันดีใช่ไหมว่าไม่ควรมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงโดยตรง ฉันและเพื่อน ๆ เตรียมอุปกรณ์หลากหลายชนิดสำหรับการสำรวจดวงอาทิตย์โดยไม่ให้ดวงตาของเราเสียหาย อย่างแรกก็คือ แว่นตาดูดวงอาทิตย์ (solar viewer) ที่ใช้งานง่ายเพียงแค่ยกขึ้นระดับดวงตาและส่องผ่านมัน เท่านี้เราก็มองดวงอาทิตย์ได้โดยแสงที่เป็นอันตรายถูกกรองออกไปหมด แม้ไม่ได้มีกำลังขยายให้ดูละเอียด แต่ก็เหมาะสำหรับการชมสุริยุปราคาเพราะสามารถเห็นจุดเว้าแหว่งของดวงอาทิตย์ได้ชัดแจ๋ว


แว่นตาดูดวงอาทิตย์ (solar viewer)

อย่างไรก็ดี การสำรวจในวันนี้ฉันได้ใช้เลนส์กรองแสงอาทิตย์ (sun cover) ประกอบเข้ากับกล้องโทรทรรศน์ Meades รุ่น LX200 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเลนส์วัตถุ 8 นิ้ว กล้องนี้มีระบบแทร็กกิง (tracking) ตามวัตถุจึงไม่ต้องมาคอยปรับบ่อย ๆ การที่เราเห็นวัตถุ (ดวงดาว) เคลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งไปในวันหนึ่ง ๆ นั้น จริง ๆ แล้วคือโลกนี่เองที่เคลื่อนที่หมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ทำให้เห็นดวงดาวขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก ถ้าจะตามดูดาวเราก็ต้องขยับตามไปทางทิศตะวันตกนั่นเอง หน้าที่ของเจ้าระบบแทร็กกิงก็คือขยับไปทีละนิด ๆ ด้วยอัตราเดียวกับที่โลกเราหมุนแต่ในทิศตรงกันข้าม หรือก็คือ 1 รอบต่อ 24 ชั่วโมง


ภาพซ้ายคือกล้อง Meade LX200 และเจ้าแมวดอร่าของอาจารย์ฉัน
ภาพขวาคือดวงอาทิตย์ที่ฉันถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์

ภาพวงกลมสีส้มที่เห็นนั้นไม่ใช่ไข่แดงดองน้ำปลา หากแต่เป็นดวงอาทิตย์ที่ผ่านการกรองแสงมาแล้ว จากสีขาวจ้าแสบตากลายเป็นสีส้มนวล ๆ ซึ่งถ้ามองให้ดีจะเห็นจุดดำเล็ก ๆ ที่เรียกว่า จุดมืดดวงอาทิตย์ (sun spot) ได้ด้วย

ต่อมาคืออุปกรณ์โปรดของฉัน กล้องโทรทรรศน์ Coronado hydrogen-alpha solar telescope ที่ทำพิเศษด้วยเลนส์ที่คัดกรองเพียงไฮโดรเจนแอลฟา (hydrogen-alpha) จากแสงทั้งหมดที่ดวงอาทิตย์แผ่มา กล้องนี้ออกแบบมาเพื่อสังเกตดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ นอกจากจะช่วยลดความเข้มแสงลงให้ปลอดภัยต่อดวงตาแล้ว ยังละเอียดถึงขั้นที่เราสามารถเห็นเปลวสุริยะหรือ solar flare ที่ปะทุขึ้นมาตรงบริเวณผิวของดวงอาทิตย์ได้เลยทีเดียว ลองสังเกตดูสิ่งที่นูนขึ้นมาจากผิวดวงอาทิตย์สิ


แสดงเปลวสุริยะถ่ายผ่าน Coronado hydrogen-alpha solar telescope

ภาพข้างบนนี้ฉันถ่ายก่อนสุริยุปราคาจะเกิดขึ้น ดวงอาทิตย์เลยยังกลมดิ๊กอยู่ (ที่แหว่งทางขวานั่นเพราะระหว่างที่ถ่าย ดวงอาทิตย์ได้เปลี่ยนตำแหน่งไป และกล้องตัวนี้เป็นแบบควบคุมด้วยมือ ไม่มีระบบแทร็กกิง ขณะที่เกิดสุริยุปราคาจึงเห็นหน้าตาดวงอาทิตย์ประมาณนี้


ภาพจาก Coronado hydrogen-alpha solar telescope

นอกจากการกรองแสงแล้ว อีกวิธีหนึ่งคือการมองทางอ้อมโดยใช้ฉายภาพลงบนฉาก เรามีทั้งอุปกรณ์พกพาที่มีเลนส์กับกระจกรวมแสงจากดวงอาทิตย์ให้มาตกลงยังฉากบนพื้น (sun spotter)


sun spotter

อีกวิธีเป็นอุปกรณ์อันใหญ่เบิ้มที่ต่อออกมาจากกล้องโทรทรรศน์เก่าแก่ขนาด 12 นิ้วของเรา โดยนำฉากรับเข้าไปอยู่ในตำแหน่งเราจะเอาดวงตาไปส่องดู ก็จะเกิดภาพฉาย (project) ลงมา แถมขยายขนาดด้วย ถ้าลองมองใกล้ ๆ จะเห็นจุดมืดดวงอาทิตย์ที่มีลักษณะเป็นจุดเงามืดบนนั้นเลย

สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่โลกของเรา ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ระหว่างกลาง เมื่อเราสังเกตจากโลกจึงเห็นว่าดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบังดวงอาทิตย์ เกิดเป็นเงามืด สำหรับสุริยุปราคาในครั้งนี้เป็น “สุริยุปราคาวงแหวน” คือ สุริยุปราคาที่ดวงจันทร์โคจรห่างจากโลกมากในขณะเกิดสุริยุปราคา ทำให้ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์บางส่วน เมื่อเราสังเกตจากโลกจะมองเห็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ปรากฏออกมาให้เห็นโดยรอบ จึงมีลักษณะคล้ายวงแหวนนั่นเอง

หลังการสังเกตสุริยุปราคา ฉันและเพื่อน ๆ ได้ช่วยกันตกแต่งโดมให้เข้ากับบรรยากาศ เพื่อเตรียมต้อนรับวันฮาโลวีน 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายของชมรม ASTRO ในวันนี้…

About Author