สาระวิทย์ในศิลป์ ตอนที่ 6: ศิลปะของความคิด ที่แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังยากจะอธิบาย

Art of Thoughts: Phenomenon that even science find it hard to explain

          ฉันเชื่อว่าบางคนเคยเจอกับปรากฏการณ์แปลกๆ ที่อธิบายได้ยาก ด้วยสิ่งเหล่านั้นมีความเป็นนามธรรม ดังนั้นบางครั้งการจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดจึงทำได้ยาก ทำให้บางคนเลือกที่จะใช้ศิลปะเข้าช่วย เพื่อสื่อสารประสบการณ์ที่พบเจอมาแทน

ฉันเคยตั้งข้อสงสัยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีของมนุษย์สามารถส่งเราไปไกลถึงนอกโลก แต่ก็ยังไม่อาจทำให้เราเข้าใจกระบวนการความคิดของมนุษย์ได้ หรือความคิดของเรามันจะขยายออกไปเรื่อย จนใหญ่ยิ่งกว่าขนาดของเอกภพทุกวันนี้กันแน่? กระทั่งฉันได้มาเรียนวิชา Theory of Knowledge” ที่โรงเรียน เป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานเกี่ยวกับการพิสูจน์และทำความเข้าใจกระบวนการรับความรู้ ซึ่งนำไปสู่การประมวลความจริงเท็จของข้อมูล สิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และจัดอยู่ในหัวข้อปรากฏการณ์ทางจิต (Psychological phenomenon)

          ในฉบับนี้ ฉันจึงอยากจะยกตัวอย่างบางสิ่งที่หลายคนอาจเคยได้ยินหรือพบเจอกับตัวเองในชีวิตประจำวัน แต่ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ยิ่งคิดก็ยิ่งงงเพราะหาสาเหตุไม่ได้ จะรอให้เกิดปรากฏการณ์อีกครั้งเพื่อเก็บหลักฐานก็ทำได้ยากเช่นกัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามกำหนด เหมือนอย่างเหตุการณ์ข้างขึ้นข้างแรมหรืออุปราคาที่มาตามปฏิทิน เราไม่สามารถสวมเครื่องมือวัดคลื่นประสาทเอาไว้ตลอดเวลาเพื่อดักรอการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่างๆ ในสมองได้ เช่นเดียวกับที่ไม่เคยมีผู้ใดสามารถถ่ายคลิปความฝันมาเป็นหลักฐาน แม้จะมีผู้คนเคยเข้าสู่ Lucid dream หรือการฝันที่คนฝันรู้ตัวมาแล้วก็ตาม 

         ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยเจอกับเหตุการณ์ประหลาดบางอย่าง แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก จนวันหนึ่งที่ทางโรงเรียนประกาศปิด ให้นักเรียนทุกคนรีบติดต่อทางบ้านเพื่อวางแผนการเดินทางกลับประเทศอย่างรวดเร็วที่สุด จากการแพร่ระบาดของโควิค-19

          นับตั้งแต่วินาทีที่ฉันเก็บข้าวของเครื่องใช้ เพื่อฝากเข้าห้องเก็บของของโรงเรียน ฉันก็เห็นทุกอย่างมีชีวิตไปหมด บางสิ่งทำหน้ายิ้มเยาะ บางสิ่งทำหน้าหลอกหลอน และบางสิ่งก็ดูเหมือนจะเศร้าและเห็นใจฉัน จนฉันขึ้นรถบัสออกจากโรงเรียนมายังสนามบินเพื่อกลับไทย ฉันแหงนหน้าขึ้นมองเพดานรถ รายละเอียดเล็กๆ บนนั้นทำเอาฉันจ้องอยู่นาน

          บนนั้นมีใบหน้ายิ้มแย้มให้กำลังใจ แทนที่จะเห็นเป็นหลอดไฟอย่างที่ควร รูบนเคสมือถือของฉันก็กลับดูเหมือนใบหน้าคนเหวอ ตอนแรกฉันเองก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน ฉันจึงต้องใช้ศิลปะเข้าช่วย ฉันวาดภาพที่เห็นจากมุมมองของฉันแทนคำอธิบาย แล้วขอให้เพื่อนดูภาพเหล่านั้น แล้วลองวาดอธิบายออกมาในมุมมองของแต่ละคน

          ทุกคนล้วนคิดเหมือนกันว่าเห็นภาพใบหน้า แต่ภาพที่วาดออกมา กลับแตกต่างกันเสียสิ้นเชิง บ้างหน้าบึ้ง บ้างหน้ายิ้ม หน้าเศร้าก็มี จะเห็นได้ว่าแม้คิดใกล้เคียงกันแต่แท้จริงแล้วอาจมองต่างกันก็เป็นได้ ฉันจึงใช้เวลาระหว่างนั่งรอขึ้นเครื่องที่สนามบิน ทำการสืบค้นข้อมูล แล้วเริ่มเขียนบทความนี้ออกมา

ภาพหลอดไฟบนเพดานรถบัส กับภาพวาดในมุมมองของฉันและเพื่อนๆ

ภาพเคสมือถือของฉัน กับภาพวาดในมุมมองของฉันและเพื่อนๆ

แพริโดเลีย (Pareidolia) ปรากฏการณ์คิดไปเอง

          ฉันว่าแปลกดีนะ ที่ในบางครั้งเรามองไปรอบตัวแล้วเห็นอะไรบางอย่าง แต่สิ่งแรกที่ปรากฏขึ้นในหัวเรา กลับเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่เราเห็น และยังแตกต่างออกไปในแต่ละคนอีกด้วย ทั้งที่พวกเราคือมนุษย์ที่มีประสาทสัมผัสและการรับรู้สิ่งเร้าเหมือนกัน

          หลายครั้งการเชื่อมโยงก็เกิดขึ้นแบบสุ่ม เชื่อมอย่างหนึ่งกับอีกอย่างที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง โดยเราเองก็ไม่รู้ตัวหรือไม่ทราบถึงเหตุผล นั่นเป็นเพราะสมองของเราเป็นทั้งนักคิดและนักเชื่อมโยง จึงเกิดการสร้างสรรค์ จินตนาการ หรือปรุงแต่ง ทำให้เกิดผลผลิตที่แตกต่างในแต่ละคน

          ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “แพริโดเลีย (Pareidolia)” เป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้สิ่งเร้าที่ไม่ชัดเจน สมองของเราจะเกิดการจินตนาการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จากองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความทรงจำเดิมที่มีอยู่ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่บริเวณสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) และสมองส่วนการมองเห็น (Visual cortex) โดยสมองส่วนหน้าจะส่งข้อมูลไปยังประสาทส่วนหลังของสมองส่วนการมองเห็น จากนั้นสมองส่วนการมองเห็นจะเริ่มทบทวนความทรงจำ พยายามตีความสิ่งเร้า หรือสิ่งที่เรารับรู้และมองเห็น ณ ขณะนั้น ออกมาเป็นภาพที่ใกล้เคียงความคุ้นเคยมากที่สุด (อ้างอิงจาก https://bit.ly/3auKrt7)

ภาพตัวอย่างอื่นๆ ของแพริโดเลียที่ฉันพบในชีวิตประจำวัน

          ในอดีต แพริโดเลียถูกใช้ประโยชน์ในเรื่องของการเอาชีวิตรอด คนสมัยก่อนจะมีความระแวงและระมัดระวังตัวมากขึ้น เมื่อพวกเขาคิดว่าเห็นใบหน้าของคนหรือศัตรูในธรรมชาติ ทั้งที่ไม่ได้เห็นภาพนั้นจริงๆ ปรากฏการณ์ทางจิตนี้เป็น ‘สัญชาตญาณ’ ที่มีการถ่ายทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จากบรรพบุรุษมาถึงปัจจุบัน

          จากการศึกษา พบว่ามีข้อสมมติฐานหลายกรณีอธิบายว่า ผู้ป่วยทางจิต หรือผู้อยู่ในภาวะอารมณ์ไม่ปกติ มักมีแนวโน้มประสบกับปรากฏการณ์นี้มากกว่า เพราะเขาเหล่านั้นอาจหวาดระแวงสิ่งรอบข้าง รวมถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ทำให้สมองประมวลผลภาพที่ไม่ได้มีอยู่จริงออกมา

          นอกจากนั้นผู้หญิงยังมีแนวโน้มมองเห็นสิ่งของเป็นใบหน้าคนมากกว่าผู้ชาย เพราะว่าผู้หญิงมีความสามารถในการระบุอารมณ์ ผ่านการตีความการแสดงออกทางสีหน้ามากกว่า ซึ่งสาเหตุที่มนุษย์ได้บ่มเพาะสัญชาตญาณนี้ขึ้นมา เพราะสมองถูกออกแบบให้รับภาพและจดจำใบหน้ามนุษย์จากสิ่งที่ตาเห็น ซึ่งถือเป็นทักษะทางสังคมอย่างหนึ่ง สมองที่ทำงานหน้าที่นี้โดยเฉพาะ มีชื่อว่าฟูซิฟอร์ม ไจรัส (Fusiform gyrus) หากสมองส่วนนี้ถูกทำลายหรือบกพร่องไป จะเป็นเหตุสำคัญของการป่วยเป็นโรคโพรโซแพ็กโนเซีย (Prosopagnosia) หรือโรคหลงลืมใบหน้าคน (Face blindness)

          แพริโดเลียถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาและบำบัดผู้ป่วยทางจิต เช่น แบบทดสอบบุคลิกภาพจากหยดหมึก (Inkblot test) ซึ่งคิดคนขึ้นโดยเฮอร์มานน์ รอร์สชาช (Hermann Rorschach) เพื่อใช้วิเคราะห์ประเมินผลทางความคิดจากคำตอบของผู้รับการทดสอบ ซึ่งใช้งานได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างแบบทดสอบบุคลิกภาพจากหยดหมึก (Inkblot) คิดค้นขึ้นโดยเฮอร์มานน์ รอร์สชาช (Hermann Rorschach)

ข้อมูลจาก https://bit.ly/2xB9rQW

         

Mandela Effect เมื่อสมองกุเรื่อง

          แม้แพริโดเลียจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับสิ่งเร้าที่ไม่ชัดเจน จนทำให้สมองเราคิดมโนต่อเอาเอง แต่ถึงอย่างนั้น บางครั้งการได้รับรู้จากสิ่งเร้าที่ชัดเจน เห็นและจดจำมันได้ จนถึงขั้นมั่นใจว่าสิ่งที่จดจำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็ใช่ว่าจะถูกเสมอไป

          ในชั้นเรียน Theory of Knowledge ของฉันได้พูดถึงปรากฏการณ์ทางจิตที่นอกเหนือจากแพริโดเลียด้วยเช่นกัน และเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่มีผลอย่างมากต่อการประมวลข้อมูล เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก บางครั้งก็ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาไม่น้อย ก่อนฉันจะเล่าถึงปรากฏการณ์เรื่องต่อไป อยากให้ทุกคนลองทำบททดสอบง่ายนี้ดูก่อน อาจลองนึกคำตอบไว้ในใจ แล้วลองถามคนรอบๆ ตัวดูก็ได้นะ

  1. ตัวการ์ตูนพิกาชูจากโปเกม่อนมีแถบสีดำคาดที่หางมั้ย?

  2. คุณลุงหนวดจากเกมโมโนโพลีใส่แว่นตาหรือเปล่า?

         

  1. ฉากนี้ในเรื่องสโนว์ไวท์ ประโยคติดปากที่ราชินีพูดกับกระจกวิเศษเริ่มต้นว่าอย่างไร?

         

 

          จากการสำรวจพบว่าคนส่วนมากราวร้อยละ 90 เลือกคำตอบที่ผิดหรือรูปฝั่งซ้าย ฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นอะไรที่ทำให้ประหลาดใจมาก ทั้งที่แบบทดสอบนั้นเป็น โลโก้แบรนด์ดัง ตัวการ์ตูนที่คุ้นเคย หรือประโยคติดปากจากภาพยนตร์ที่ผ่านตาจนคุ้นชิน

          เมื่อคนหนึ่งเข้าใจผิด และพบว่าคนอื่นๆ ก็เข้าใจแบบเดียวกัน จะเกิดการหลอกสมองของเราว่ามันถูกต้องแล้ว เหตุการณ์นี้มักส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มใหญ่ ทำให้เกิดความทรงจำที่เหมือนกัน แต่กลับผิดไปจากความเป็นจริง ปรากฏการณ์นี้เป็นที่รู้จักในวงการจิตวิทยาในชื่อ “Mandela Effect (แมนเดลา เอฟเฟค)” สาเหตุของชื่อมาจากการจดจำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อย่างปีที่เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เสียชีวิตผิด

          เหตุการณ์นี้จุดประกายให้คนหันมาสนใจว่า เหตุการณ์ประหลาดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร Fiona Broome นักวิจัยอาถรรพ์ เป็นคนแรกที่ใช้ชื่อของแมนเดลาในการอธิบายปรากฏการณ์นี้ เพราะเธอและกลุ่มคนอีกจำนวนมากเชื่อว่า แมนเดลาเสียชีวิตไปแล้วในปี ค.ศ. 1980 ทั้งที่จริงแล้วเขาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 2013 หลังจากนั้นก็มีอีกหลายทฤษฎีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้ แต่ส่วนมากยังค้นหาวิธีการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ จึงยังถูกทิ้งไว้เป็นคำถามต่อไป

หากอ้างอิงตามหลักการทำงานของสมองและระบบประสาท ความทรงจำในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูล (Consolidation) จะเป็นร่องรอยความทรงจำ ที่บรรจุไว้แบบชั่วคราว ในส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งทำหน้าที่เก็บความจริงและเหตุการณ์ที่พบ ก่อนจะถูกโอนย้ายไปบรรจุแบบถาวร ที่สมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex)เมื่อเราต้องการรื้อฟื้นความทรงจำขึ้นมา จะผ่านกระบวนการประมวลข้อมูลซ้ำ (Reconsolidation) ทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันอีกรอบ และเปิดช่องให้ข้อมูลใหม่ไหลเข้ามารบกวนความจำเดิม ยิ่งความทรงจำนั้นเลือนรางมากแค่ไหน ความถูกต้องของข้อมูลก็จะยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น เพราะเกิดจากการบิดเบือนในขั้นตอนการเชื่อมโยงนั่นเอง

          ทั้งนี้ยังมีคำเฉพาะที่ใช้อธิบาย ช่องว่างในการทำงานของสมองแบบนี้ว่า “การกุเหตุความจำเสื่อม (Confabulation)” หรือการที่สมองสร้างเรื่องราวจากความทรงจำที่มีอยู่ แล้วแปลความทรงจำออกมาผิดเพี้ยน อย่างไรก็ตามเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจจิตใจ เราไม่รู้ตัวว่ามันผิดเพี้ยนไปตั้งแต่ตอนไหน และควบคุมมันไม่ได้ แต่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะเป็นเรื่องที่ปกติมากๆ และเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทั่วไป ไม่ใช่ความบกพร่องของสมองหรือร่างกายแต่อย่างใด

          ปรากฏการณ์ทางจิตโดยมากจะได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่มนุษย์พบเจอและคุ้นเคย แน่นอนว่าอาจมี False memory ปะปนมาด้วย นี่ล่ะความย้อนแย้งที่ทำให้มันน่าปวดหัวสำหรับการอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ผลกระทบของเหตุการณ์นี้ เราอาจพบเห็นได้ในรูปแบบข่าวลวง (Fake news) ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจนเป็นปัญหา

          ตอนนี้ฉันกลับถึงบ้านแล้ว และแน่นอนฉันต้องถูกกักตัวตามระเบียบของสังคม ฉันมองเห็นภาพอาหารในจานที่แม่ส่งให้ทุกมื้อเป็นภาพใบหน้าแตกต่างกันไปทุกวัน และฉันก็เข้าใจแล้วว่าฉันไม่ได้มีความผิดปกติหรือเกิดอาการหลอนและหวาดกลัวแต่อย่างใด แล้วเพื่อนๆ เคยมองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นหน้าตาอะไรกันบ้าง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.wewantscience.com/science-articles/scientific-facts-pareidolia/

https://www.lenstore.co.uk/eyecare/pareidolia-science

https://www.mentalfloss.com/article/538524/science-behind-pareidolia

https://steemit.com/science/@aggroed/exploring-the-mandela-effect-s1e3-mirror-mirror-on-the-wall-line-has-changed-to-magic-mirror-on-the-wall-in-disney-s-snow-white

https://www.goodhousekeeping.com/life/entertainment/g28438966/mandela-effect-examples/


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ฉบับที่ 85 เดือนเมษายน 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/178959

About Author