สาระวิทย์ในศิลป์ ตอนที่ 11: “STARGAZING EXPEDITION” Day 5

          ภารกิจในช่วงเช้าของวันนี้ คือการเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเมืองคาร์ดิฟฟ์ “National Museum Cardiff” ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ซึ่งสามารถเดินถึงกันได้อย่างสบายๆ

          ที่นี่เป็นแหล่งความรู้แบบครบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์จริงๆ ซึ่งฉันสามารถเดินเที่ยวได้ทั้งวันโดยไม่เบื่อเลยล่ะ (แม่เคยแซวฉันว่าฉันอยากมีบ้านอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ เพราะแม่ต้องไปนั่งรอฉันเดินวนไปเวียนมาในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น แถมต้องพากลับไปใหม่ในวันรุ่งขึ้นอยู่บ่อยๆ)

          ฉันเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Night at the Museum ที่สิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์กลับมีชีวิตขึ้นมาในยามค่ำคืน ในวันนั้นฉันเองก็รู้สึกเหมือนกับทุกอย่างในนี้มีชีวิตขึ้นมาเหมือนกัน เพราะทุกอย่างถูกรวมเอาไว้ในสถานที่นี้อย่างน่ามหัศจรรย์ เสมือนเป็นแหล่งความรู้ที่สามารถจับต้องได้

          เริ่มต้นชั้นล่างด้วยหุ่นสัตว์สตัฟฟ์มากมาย บางตัวก็ดูเหมือนจริงจนน่ากลัว บางตัวแอบมีกลไกไว้ที่จะขยับและส่งเสียงคำรามให้ผู้ชมที่เดินผ่านตกใจเล่น มีทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำไปจนถึงโครงกระดูกฟอสซิลของไดโนเสาร์ ในขณะที่ชั้นสองของพิพิธภัณฑ์จะเน้นจัดแสดงงานศิลปะทั้งยุคอดีตและปัจจุบัน ลักษณะสถาปัตยกรรมของตึกเองก็ถูกออกแบบให้ดูแตกต่างทำให้ราวกับว่าฉันได้เดินผ่านจุดต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่น่าติดตามค้นหา นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มาทีเดียวได้ครบทั้งวิทย์ทั้งศิลป์จริงๆ

          ในห้องโถงส่วนกลางมีการจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้เราได้ชมกัน โดยส่วนหนึ่งจะเน้นไปที่ประวัติศาสตร์ของประเทศเวลส์ อีกส่วนเป็นเรื่องราวในอดีตที่น่าจดจำของมนุษยชาติ แน่นอนว่าที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ ก้าวแรกของมนุษย์บนดวงจันทร์ของภารกิจอะพอลโลที่โด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้ 

          ใช่แล้ว! ที่นี่เป็นที่จัดแสดงหินที่ถูกขุดจากดวงจันทร์และถูกนำกลับมาพร้อมกับยานอะพอลโล 12 ในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2512 โดยทางนาซ่าได้อนุญาตให้ทางพิพิธภัณฑ์ยืมมาจัดแสดงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ The Evolution of Wales ถือเป็นชิ้นงานแสดงที่มีมูลค่าแพงที่สุดในพิพิธภัณฑ์นี้เลยทีเดียว เพราะต้องลงทุนลงแรงในการใช้ยานอวกาศขึ้นไปพร้อมนักบินอวกาศเพื่อไปเก็บหามาจากดวงจันทร์ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ เลย

          จนถึงปัจจุบันนี้สหรัฐอเมริกาส่งนักบินอวกาศไปเยือนดวงจันทร์ได้สำเร็จจำนวน 6 ครั้ง นั่นก็คือภารกิจอะพอลโล 11, 12, 14, 15, 16 และ 17 ทำให้มีธงชาติอเมริการวม 6 ผืนที่ถูกปักบนดวงจันทร์ และมีนักบินอวกาศชาวโลกเพียง 12 คนเท่านั้นที่เคยเหยียบบนผิวดวงจันทร์ ซึ่งได้แก่

          – นีล อาร์มสตรอง และ บัซ อัลดริน ภารกิจอะพอลโล 11 ในปี พ.ศ. 2512

          – ชาร์ล คอนราด และ แอลัน บีน ภารกิจอะพอลโล 12 ในปี พ.ศ. 2512

          – แอลัน เชปเพิร์ด และ เอ็ดการ์ มิตเชล ภารกิจอะพอลโล 14 ในปี พ.ศ. 2514

          – เดวิด สก็อตต์ และ เจมส์ เออร์วิน ภารกิจอะพอลโล 15 ในปี พ.ศ. 2514

          – จอห์น ยัง และ ชาร์ล ดุก ภารกิจอะพอลโล 16 ในปี พ.ศ. 2515

          – ยูจีน เชอร์แนน และ แฮร์ริสัน สมิตต์ ภารกิจอะพอลโล 17 ในปี พ.ศ. 2515

          และแอลัน บีน คือนักบินอวกาศผู้ที่นำหินก้อนนี้กลับมายังโลก ทางนาซ่าได้เก็บรักษาหินก้อนนี้ไว้ในกล่องนิรภัยที่บรรจุด้วยก๊าซไนโตรเจน และมีเพียงนาซ่าเท่านั้นที่มีกุญแจเปิดกล่องใบนี้

          ไม่อยากจะเชื่อว่าชิ้นส่วนจากอวกาศที่ถูกนำลงมาเก็บอยู่ใกล้กับโรงเรียนฉันแค่นี้เอง! แถมแอลัน บีน ยังเป็นนักบินอวกาศสายศิลปะเสียด้วย นั่นคือสาเหตุที่ฉันตื่นเต้นมากที่ได้มีโอกาสมาชม

          ผลงานศิลปะของแอลัน บีนสื่อถึงนักบินอวกาศกับภารกิจบนดวงจันทร์ โดยนักบินอวกาศตัวจริงที่เป็นผู้ได้สัมผัสพื้นผิวบนดวงจันทร์เป็นผู้ถ่ายทอดภาพนั้นออกมาด้วยตนเอง ซึ่งเขาเรียกผลงานของเขาว่าเป็นภาพวาดแรกของโลกอีกใบหนึ่ง: “The First Paintings of Another Word”

          ในขณะที่เรียกตัวเขาเองว่าเป็นศิลปินบนโลกอีกใบหนึ่ง: “First Artist on Another World” ผลงานของแอลัน บีนมีความพิเศษแตกต่างไปจากภาพวาดบนโลกใบนี้ ก็เพราะว่าเขาได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยการใช้สื่อผสมระหว่างเทคนิคการวาด โดยใช้เครื่องมือวาดภาพผสมผสานกับเทคนิคการทำให้เกิดลวดลายบนพื้นผิวของภาพ โดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ประจำตัวที่เขาเคยใช้ในการสำรวจดวงจันทร์

          ส่วนวัสดุที่ใช้ทำให้เกิดสีสันบนภาพ นอกเหนือจากสีระบายปกติแล้วยังรวมไปถึงวัสดุพิเศษที่ได้มาจากชิ้นส่วนของชุดนักบินอวกาศที่เขาเคยสวมใส่ ซึ่งมีเศษฝุ่นบนดวงจันทร์ติดอยู่ด้วย และชิ้นส่วนจากยานบังคับการของยานอวกาศที่เขาเคยโดยสาร ซึ่งนาซาได้มอบให้กับเขาด้วย

          และถ้าเราอยากรู้ว่าหินก้อนที่คุณแอลัน บีน นำกลับมานั้นถูกขุดมาจากจุดไหนบนดวงจันทร์ ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่บทความในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ https://museum.wales/articles/2009-09-01/Moon-Rock-from-the-Apollo-moon-landing/  ซึ่งจะมีลิ้งค์ให้ดาวน์โหลดเพื่อนำไปเปิดให้ Google Earth แสดงผลการปักหมุดตำแหน่งบนดวงจันทร์ที่ตัวอย่างหินก้อนนี้ถูกเก็บมา ไกลออกไปจากจุดนี้จะเห็นตำแหน่งของ Apollo12 Landing site หรือจุดลงจอดของยานอพอลโล12 เพื่อทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์และเก็บตัวอย่างหินกลับมาศึกษาต่อนั่นเอง

          นอกจากนี้ใน Google Earth ยังมีทั้งข้อมูลของภารกิจอื่นๆ อย่างโครงการ Surveyor ของนาซา ที่ทำการส่งยานอวกาศแบบหุ่นยนต์ขับเคลื่อนจำนวน 7 ลำด้วยกัน ขึ้นไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อทดลองหาวิธีลงจอดที่สะดวกและปลอดภัยที่สุด และถ้าลองเล่นใน Google Earth ดู เรายังสามารถไปเที่ยวดาวได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ ที่มนุษย์เราเคยไปสำรวจมาแล้ว มีภาพถ่ายพื้นผิวดาว และข้อมูลสำคัญที่พบเจอจากการสำรวจอีกด้วย ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ครบครันและรวบรวมมาในรูปแบบใช้งานง่ายอีกด้วย ว่างๆอย่าลืมไปท่องอวกาศเล่นกันดูได้นะ! https://www.google.com/earth/versions/#download-pro

          ในการเก็บตัวอย่างหินครั้งนี้มีผลอย่างมากต่อการศึกษาธรณีวิทยาบนดวงจันทร์ หรือศศิวิทยา (Selenology) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของวิชาดาราศาสตร์ การศึกษาองค์ประกอบทางธรณีวิทยาของวัตถุในระบบสุริยะช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ถึงกำเนิดโลกและดาวเคราะห์ในจักรวาล อีกทั้งยังช่วยไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ดาวเคราะห์,จักรวาล และวิวัฒนาการของโลก ทำให้เราเข้าใจถึงการเกิดธรณีพิบัติภัย อย่างภูเขาไฟระเบิด รอยเลื่อน สึนามึ ซากดึกดำบรรพ์หรือบรรพชีวิน (Fossil)

          หลังนำตัวอย่างหินจากภารกิจอะพอลโล มาทำการตรวจสอบเชิงธรณีวิทยา พบว่าองค์ประกอบทางเคมีของหินจากดวงจันทร์นั้นคล้ายคลึงกับของโลกมากๆ สนับสนุนแนวคิดที่ว่าโลกและดวงจันทร์มีแหล่งกำเนิดเดียวกัน สืบเนื่องจากการค้นพบนี้ และประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ที่ได้จากการศึกษาดวงจันทร์ อย่างเช่น ค่าความหนาแน่นเฉลี่ยของดวงจันทร์ที่น้อยกว่าโลกมาก, ลักษณะการหมุนรอบตัวเองและการโคจรที่สอดคล้องกันในเรื่องของระนาบและทิศทาง และยังมีการชนกันของวัตถุบนอวกาศอื่นๆ ที่มาประกอบเป็นหลักฐานว่าเหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ทำให้สามารถจำลองสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้ขึ้นมา และนำไปสู่สมมติฐานการกำเนิดดวงจันทร์ที่ได้รับการยอมรับที่สุด คือสมมติฐานการชนครั้งใหญ่ (giant-impact hypothesis) ที่กล่าวไว้ว่า เมื่อราว 4,000 ล้านปีที่แล้ว โลกของเราที่เกิดมาได้ 100 ล้านปี ยังไม่มีดวงจัทร์เป็นดาวบริวารแบบทุกวันนี้ ได้ถูก เธีย (Theia) วัตถุขนาดใหญ่พอๆ กับดาวอังคารพุ่งเข้าชนด้วยพลังงานมหาศาลที่พาเศษซากบางส่วนของโลกหลุดกระจายออกไปโคจรอยู่รอบโลกภายใต้แรงโน้มถ่วง จนรวมตัวกันเป็นดวงจันทร์ในที่สุด

          ด้วยทฤษฎีนี้ทำให้มีการประเมินอายุของดวงจันทร์กับโลกไว้ว่า ควรจะใกล้เคียงหรือแม้แต่เท่ากันด้วยซ้ำ เพราะทั้งคู่เคยเป็นหนึ่งเดียวกันมาก่อน หินจากดวงจันทร์ยังบอกเราอีกด้วย ว่าดวงจันทร์มีอายุเก่าแก่กว่าที่คิดไว้หลายล้านปี! แถมหินที่ถูกนำกลับมานั้น เก่าแก่กว่าหินโบราณที่สุดที่เคยเจอบนโลกเราเสียอีก

          นั่นสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุที่ว่า ผิวดวงจันทร์ไม่ได้ถูกรบกวนจากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาแบบโลกของเราที่เกิดการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลกในอดีต การปะทุของภูเขาไฟ และการเกิดหินใหม่ๆ ทำให้หินที่ผิวโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเปลือกโลกมหาสมุทรจึงมีอายุน้อยมากๆ นั่นเอง

          จะเห็นได้ว่าธรณีวิทยาเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่สำคัญทีเดียวในการสำรวจอวกาศ โดยเฉพาะการสานต่อความคิดที่ว่าจะขึ้นไปอยู่บนดาวเคราะห์ซักดวงในอวกาศนั้น นอกจากการศึกษาดาราศาสตร์และความเป็นมาของจักรวาลอันไกลโพ้น ยังจำเป็นต้องใช้ศาสตร์หลายแขนงมาร่วมด้วยช่วยกัน องค์ประกอบทางเคมีของแร่ในชิ้นส่วนเป็นกุญแจสำคัญในการสืบหาจุดกำเนิดของทุกสิ่ง ภูมิศาสตร์ถูกใช้ในการระบุตำแหน่งและภูมิลักษณ์ของดาวดวงใหม่ที่เราค้นพบ ชีววิทยาจะจำเป็นอย่างมากเมื่อเรานึกถึงการขึ้นไปอยู่บนดาวดวงอื่น และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาจมีอยู่ที่ไหนซักแห่งในอวกาศที่กว้างใหญ่และขยายอยู่ตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุด ฟิสิกส์คือปรัชญาธรรมชาติ เป็นความรู้พื้นฐานที่ใช้อธิบายที่มาของทุกสรรพสิ่งในจักรวาล นำจินตนาการไปสู่เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอันจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ และศิลปะจะช่วยเติมเต็มและสานต่อจินตนาการนั้นให้เป็นจริง

          ก็จบไปแล้วกับสัปดาห์ Stargazing Expedition ของฉันและเพื่อนๆ พวกเราได้ลงมือปฏิบัติตั้งกล้องนั่งส่องดาวพร้อมฟังตำนานเทพเจ้ากรีกโรมันเพลินๆ ไปด้วย (ซึ่งส่วนใหญ่ฉันเป็นคนเล่านิทานเองนั่นแหละ) ฉันหยิบยกบางส่วนของภารกิจสนุกๆ มาเขียนบอกเล่าให้ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน ก็หวังว่าผู้อ่านจะได้ผ่อนคลายไปกับศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากยุคอวกาศแบบปัจจุบัน สนุกกับสมมติฐานของการกำเนิดดวงจันทร์ และได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ของเวลาในอวกาศที่น่าพิศวงและยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ To infinity and beyond!!!

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://old.narit.or.th/files/astronomy_media/BookLet_Mission_to_the_Moon.pdf

https://www.space.com/31763-moon-creating-impact-mixed-lunar-earth-rocks.html


อ่านบทความเต็มได้ที่ นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 90 เดือนกันยายน พ.ศ. 2563
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/190177

About Author