ว่าด้วยโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน

เรื่องโดย ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ


 

          ทอล์กออฟเดอะทาวน์ในช่วงนี้คงไม่พ้นเรื่องโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” หรือที่หลายคนเรียกว่า “โอไมครอน” ที่หลังจากเปิดตัวอย่างเปรี้ยงปร้างก็ทำเอาเศรษฐกิจปั่นป่วนไปหมดแล้วทั่วโลก เป็นเหมือนตัววงแตกที่ทำให้การเปิดประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังค่อยๆ ฟูขึ้นอย่างช้าๆ ต้องชะงักกึกราวต้องมนต์นะจังงังไปอีกรอบ

          และจากการประกาศล่าสุด ชัดเจนว่าในเวลานี้โอมิครอนก็เข้ามาเยี่ยมเยือนพี่ไทยเป็นที่เรียบร้อย…

          ซึ่งนั่นทำให้หลายคนเริ่มกังวลและตระหนก แต่ด้วยข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด คงจะเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าสายพันธุ์นี้จะระบาดได้รวดเร็วและร้ายแรงเพียงใด แต่เท่าที่มีการประมาณการคร่าวๆ จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบ คิดว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนนี้น่าจะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตาที่ยึดหัวหาดอยู่ในตอนนี้อยู่พอสมควร

          สายพันธุ์โอมิครอนนี้เจอครั้งแรกจากรายงานของแลนเซต (Lancet) แล็บเอกชนในเมืองพรีทอเรีย (Pretoria) ในประเทศแอฟริกาใต้ที่แจ้งพบผลตรวจอาร์ทีพีซีอาร์แปลกๆ ในผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด 19 ที่มาจากจังหวัดกัวเต็ง และเมืองโยฮันเนสเบิร์ก

          ดร.แอลลิสัน กลาส (Allison Glass) นักวิทยาศาสตร์ของแลบเเลนเซ็ต เผยว่าการค้นพบครั้งนี้ดูจะมาพร้อมๆ กับการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นในแอฟริกาใต้ ในเดือนที่ผ่านมา

          “โอมิครอนเคสแรกที่เราตรวจพบมาจากบอตสวานา (Botswana) และต่อมาก็เจอในแอฟริกาใต้” ดร.จอห์น เก็นกาซอง (John Nkengasong) ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (the Africa Centres for Disease Control and Prevention) ให้ข้อมูล “แต่การค้นพบไวรัสชนิดหรือสายพันธุ์ใหม่ ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีต้นกำเนิดมาจากที่นั่น”

          เรายังบอกไม่ได้ว่าไวรัสนี้เกิดมาจากที่ไหน เป็นไปได้ว่าอาจจะอุบัติขึ้นมาสักระยะแล้วกว่าที่เราจะหามันเจอ ยิ่งไประบาดอยู่ในพื้นที่ที่มีการสำรวจจีโนมน้อยและไม่ครอบคลุม ยิ่งหาเจอได้ยาก

          “เราน่าจะพอประมาณได้กว้างๆ จากความหลากหลายที่พบในตัวอย่างจีโนม ไวรัสนี้น่าจะอุบัติขึ้นมาช่วงกลางเดือนตุลาคม (เดาแบบกว้างๆ) เราเชื่อว่ามันน่าจะเพิ่งเกิดได้ไม่นาน” ดร.คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Kristian G. Anderson) จากสถาบันวิจัยสคริปส์ (Scripps Research) ในแคลิฟอร์เนียทวีต

          ซึ่งทวีตของแอนเดอร์สันนั้นถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับความเห็นของ ดร.เทรเวอร์ เบดฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ที่เห็นพ้องต้องกันหลังจากดูข้อมูลจีโนมและการระบาดคร่าวๆ แล้วว่า “สายพันธุ์โอมิครอนนั้นน่าจะถือกำเนิดขึ้นมาก่อนหน้าที่เราจะรู้จักมันอยู่นานแล้ว น่าจะตั้งแต่ช่วงต้นๆ ตุลาคมโน่นเลย”

          “การจะไปขุดคุ้ยหาผู้ป่วยคนแรกหรือ patient zero นั้นคงทำได้ยาก” จอห์นกล่าว

          ดร.มิเชลล์ กรูม (Michelle Groome) นักวิจัยจากสถาบันโรคติดต่อแห่งแอฟริกา (Africa’s Institute for Communicable Diseases) เผยว่า “ที่จริงแล้ว การสำรวจน้ำเสียได้เตือนให้เรารู้ล่วงหน้าแล้วว่ามีเคสเกิดใหม่เกิดขึ้นสักพักแล้วในเมืองพรีทอเรีย ผลการตรวจพันธุกรรมไวรัสในน้ำเสียในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนจากเมืองพรีทอเรียนั้นบ่งชี้ชัดว่ามีปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในท้องที่”

          “ในช่วงต้นไตรมาส คิดว่าสถานการณ์การระบาดกำลังดูเริ่มจะค่อยๆ ดีขึ้น ค่าอัตราการระบาดหรือค่า R ในกัวเต็งในเดือนกันยายน 2564 ในช่วงที่การติดเชื้อเกือบทั้งหมดในประเทศมาจากสายพันธุ์เดลตานั้นน้อยกว่า 1 และจำนวนเคสก็มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ” นพ.ริชาร์ด เลสเซลส์ (Richard Lessels) แพทย์โรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยควาซูลูนาทัล (Kwazulu-Natal University) ประเทศแอฟริกาใต้ เผย “ทว่าในช่วงก่อนที่จะมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 สถานการณ์การติดเชื้อก็เริ่มกลับมาน่ากังวลอีกครั้ง ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเริ่มพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ค่า R ที่เคยน้อยกว่า 1 ในกัวเต็ง กลับเพิ่มขึ้นไปแตะเลข 2 อีกรอบ”

          ค่า R เท่ากับ 2 นั่นหมายความว่าคนป่วยหนึ่งคนจะแพร่เชื้อไปติดคนรอบข้างเพิ่มได้อีกสองคน ชัดเจนว่ากัวเต็งกำลังผจญกับการระบาดระลอกใหม่ที่กำลังค่อยๆ ขยายวงออกไป ซึ่งเป็นที่น่าตกใจ เพราะการเพิ่มของค่า R ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนั้นชี้ชัดว่าโอมิครอนมาแล้ว และที่น่าตกใจยิ่งกว่า มาแรงกว่าเดลตาด้วย อย่างน้อยก็ในพื้นที่กัวเต็ง

          การระบาดในแอฟริกาใต้อาจจะบ่งชี้ได้ในระดับหนึ่งถึงความสามารถในการหลบหลีกภูมิของโอมิครอน เพราะแม้จะฉีดวัคซีนกันไปแค่ราวๆ ยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ แต่แอฟริกาใต้เจอการระบาดอย่างหนักหน่วงมาแล้วหลายรอบ จึงอาจเชื่อได้ว่าประชากรในแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่น่าจะเคยติดเชื้อก่อโรคโควิดสายพันธุ์ก่อนๆ กันมาบ้างแล้ว จึงน่าจะพอมีภูมิคุ้มกันหมู่อยู่ในระดับหนึ่ง จำนวนเคสการติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจึงน่าที่จะมาจากการติดเชื้อซ้ำและการติดเชื้อทะลุภูมิ

          สภาวะแบบนี้ถ้ามองในมุมวิวัฒนาการ เพราะภูมิที่มีคือแรงคัดเลือกที่จะช่วยกีดกันไม่ให้ไวรัสสายพันธุ์เดิมๆ ที่ยึดครองพื้นที่อยู่เดิมทั้งเดลตา แอลฟา บีตา ไม่สามารถระบาดติดเชื้อได้กว้างขวางอย่างที่เคย จึงเหมาะมากที่จะบ่มเพาะสายพันธุ์ไวรัสที่จะหลบหลีกภูมิได้ และเป็นไปได้ว่าโอมิครอนก็เป็นหนึ่งในตัวที่กลายพันธุ์แล้วแจ็กพอตเลยได้โอกาสได้อุบัติขึ้นมาจากการคัดเลือกแบบนี้

          “การกลายพันธุ์นี้นี่เป็นผลดีอย่างมหาศาลกับไวรัส แต่ไม่ใช่กับเรา” ดร.ทอม เวนเซลเลียร์ (Tom Wenseleers) จากมหาวิทยาลัยคาทอลิก ลิวเวน (Catholic University of Leuven) ประเทศเบลเยียมกล่าว

          ทอมประมาณการว่าโอมิครอนน่าจะระบาดแพร่เชื้อได้ไวกว่าเดลตาราวๆ 3-6 เท่า

          แต่หลายฝ่ายก็ยังคงไม่ยอมไม่ปักใจเชื่อในตัวเลขพวกนี้ เพราะถ้าว่ากันแฟร์ๆ การตีความจากข้อมูลที่มีจำกัดจากเมืองที่กำลังระบาดกันอยู่แค่เมืองเดียวนั้น ก็อาจจะให้ข้อสรุปที่น่ากังวลจนเกินจริงก็เป็นได้

          ท้ายที่สุดจึงยังต้องรอดูต่อไปอย่างระมัดระวังและตั้งการ์ด

          หลายประเทศเริ่มประกาศปิดประเทศ แบนนักเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง หรือแม้แต่ล็อกดาวน์กันอีกรอบ เพื่อรอให้มรสุมโอมิครอนเริ่มซาลงก่อน หรืออย่างน้อยก็ให้ข้อมูลสำหรับการประเมินโอกาสและความเสี่ยงเริ่มที่จะชัดเจนขึ้น จะได้ออกยุทธศาสตร์ป้องกันได้ถูก ด้วยเข็ดขยาดกลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหนักหนาสาหัสเหมือนตอนที่เจอกับอู่ฮั่น แอลฟา และเดลตามาแล้วหลายระลอก

          ในยุคที่ข้อมูลรวดเร็วทันใจ อีกไม่นานก็ต้องรู้ชัด เพราะถ้าโอมิครอนมันร้ายกาจจริงดังที่กลัวกัน จำนวนเคสติดเชื้อทะลุภูมิจะต้องเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นระลอกใหม่อีกรอบในหลายประเทศที่เพิ่งอิมพอร์ตมันเข้าไป และยังไม่มีมาตรการในการป้องกันโรคที่เหมาะสม อาจจะเป็นดังที่พรีพรินต์ที่ออกมาแล้วโดยทีมวิจัยจากสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ (National Institute of Commumicabla Diseases) ประเทศแอฟริกาใต้ และมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ (The University of the Witwatersrand) ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ใน MedRxiv ได้เตือนเอาไว้

          ในมุมนักวิจัย แอบอึ้งเล็กๆ กับผลงานวิจัย เพราะเร็วมาก แค่ไม่ถึงสัปดาห์หลังการเปิดตัวของโอมิครอน พรีพรินต์ก็ออกมาจองถนน น่าจะเตรียมเขียนส่งไปตีพิมพ์เป็นเปเปอร์เรียบร้อยแล้ว ขอชื่นชมว่าทำงานไวจนนักวิจัยประเทศอื่น…ถึงขั้นอึ้ง

          ส่วนเรื่องของอาการป่วยก็เช่นกัน ในเวลานี้ยังเร็วไปที่จะบอกว่าโอมิครอนจะทำให้คนติดเชื้อป่วยหนักหรือเบากว่าสายพันธุ์อื่นๆ เพราะคนที่ติดเชื้อโอมิครอนในเวลานี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มอายุน้อย ที่ปกติต่อให้ติดเชื้ออาการก็จะไม่ค่อยหนักอยู่แล้ว หรือไม่ก็เป็นพวกที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว หรือไม่ก็เป็นพวกที่เคยประสบพบเจอ หรือติดเชื้อมาแล้วรอบนึงจากสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งถ้าติด อาการก็จะเบากว่าพวกกลุ่มเสี่ยงอยู่ดี คงต้องติดตามดูข้อมูลการระบาดของโอมิครอนอีกสักระยะกว่าที่จะฟันธงได้ว่าความรุนแรงของการติดเชื้อสายพันธุ์กลายโอมิครอนนั้นหนักหรือเบา รุนแรงหรือหน่อมแน้ม

          แต่ที่เห็นในตอนนี้โดยรวมน่าจะไม่ต่างจากอาการของโควิดที่เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว

          อีกอย่างที่นักวิทยาศาสตร์รู้แล้วเกี่ยวกับโอมิครอนก็คือลำดับพันธุกรรมทั้งหมดของมัน แต่จะบอกว่าแค่เห็นจีโนมโอมิครอนเข้าไป หัวใจก็หวาดหวั่น ด้วยจำนวนการกลายพันธุ์ที่มีแบบมากมายในจีโนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโปรตีนหนามที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีน และยาชีววัตถุหลายตัว ถ้าให้ประเมินจากแบบแผนการกลายพันธุ์ โอมิครอนน่าจะหลบภูมิคุ้มกันได้แบบไม่ธรรมดา

          การกลายพันธุ์ของโอมิครอนสะเทือนเลื่อนลั่นขนาดที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายเจ้า ทั้งโมเดอร์นา ไฟเซอร์ และแอสตาเซเนกา ต่างก็เร่งออกมาแถลงการณ์ในเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนและจะรีบทำการศึกษาโดยด่วนว่าการกลายพันธุ์แบบที่พบในไวรัสใหม่นี้จะเพิ่มความสามารถให้ไวรัสสามารถหลบเลี่ยงภูมิจากวัคซีนได้มากเพียงไร โดยส่วนใหญ่บอกว่ารออีกนิดดดดด กำลังรีบวิจัยอยู่ แล้วจะรีบเอาผลมาให้ดูในอีกไม่กี่สัปดาห์

          แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างที่ออกมาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดย ศ.พอล เบียนิแอสซ์ (Paul Bieniasz) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller University) ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่แบบแผนของจุดกลายพันธุ์หลายจุดบนโปรตีนหนามที่ทำให้ไวรัสสามารถดื้อต่อภูมิจากวัคซีนและการติดเชื้อธรรมชาติได้แบบสมบูรณ์ออกมาในวารสาร nature  การกลายพันธ์ุที่พอลเจอนั้นน่ากลัวมาก เพราะหลบภูมิเก่งขนาดที่ต้องบอกว่าแม้จะมีระดับแอนติบอดีสูงลิ่วชนทะลุเพดานไปสามชั้น แอนติบอดีมากมายเหล่านั้นก็ไม่ระคายโปรตีนหนามกลายพันธุ์เหล่านั้นแม้แต่น้อย

          ที่น่าตกใจก็คือลิสต์ของการกลายพันธุ์มากมายของโอไมครอนดันแจ็กพอตไปตรงกับที่พอลเขียนไว้ในเปเปอร์ของเขาอยู่ค่อนข้างมาก และยังตรงกับอีกหลายงานที่ออกมาบ่งชี้หรือทำนายจุดกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามดื้อภูมิคุ้มกันที่มีออกมามากมายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

          แม้จะยังไม่สามารถหาหลักฐานชัดๆ มายืนยันได้ว่าโอไมครอนมีอิทธิฤทธิ์มากแค่ไหน แบบแผนการกลายพันธุ์ที่เราเห็นได้จากจีโนมของมันที่ไปพ้องกับการกลายพันธุ์แสบๆ ก็ได้สร้างความกังวลใจให้นักวิทยาศาสตร์มากมายไปแล้ว

          อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เรายังไม่รู้สำหรับโอมิครอน เพราะสายพันธุ์นี้มันใหม่มาก อย่างน้อยคงต้องรออีกสักสองสามสัปดาห์จึงจะเริ่มมีข้อสรุปเกี่ยวกับโอมิครอนที่พอจะเชื่อถือได้จริงๆ (และไม่ได้มาจากการคาดเดาหรือตีความ) ออกมา ในตอนนี้ พวกเราก็คงต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ รับข้อมูลแบบฟังหูไว้หูต่อไป ที่สำคัญ อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ แต่ก็ต้องไม่ประมาท เตรียมพร้อมทุกเมื่อที่จะกลับมาตั้งการ์ดและเฝ้าระวังตัวเองและครอบครัวกันอีกรอบ เพื่อจะได้ไม่เจอเรื่องเซอร์ไพรส์แบบไม่พึงประสงค์ !

          ขอให้สุขภาพดีกันทุกคนครับ

About Author