เลขเปลี่ยนโลก ฉบับที่ 121

เรียบเรียงโดย
เรียบเรียงโดย พีรวุฒิ บุญสัตย์, และธนกฤต ศรีวิลาศ
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จากเพจ The Principia และเว็บไซต์ theprincipia.co


          สำหรับคนไทยแล้ว ในทุกเดือนล้วนมีช่วงเวลาสำคัญ ซึ่งเป็นทั้งช่วงเวลาแห่งความสุขหรืออาจเป็นช่วงเวลาแห่งความเศร้า แล้วแต่ว่าเราเคยตัดสินใจอย่างไร โดยช่วงเวลาแบบนี้วนเวียนมาเดือนละสองครั้งเท่านั้นเอง ใช่ครับ ช่วงเวลาประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ใครที่ถูกรางวัลก็ดีใจกันไป แต่ใครที่ไม่ถูกรางวัลก็ไม่จำเป็นต้องเสียใจ เพราะทุกตัวเลขที่ประกาศออกมา พวกเราจะสรรหาเรื่องราวความรู้มาประกอบให้ แม้ว่าบางคนไม่ถูกหวย แต่ยังมีโอกาสได้รวยความรู้

          เกริ่นมาขนาดนี้ คงถึงเวลาแล้วที่จะประกาศว่า งวดประจำวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566 เลขท้ายสองตัวที่ออกได้แก่…

55

          เรื่องราวเริ่มต้นจากการแข่งขันด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นที่มีความดุเดือดเป็นอย่างยิ่ง เพราะชาติมหาอำนาจทั้งสองต้องการแสดงแสนยานุภาพ เพื่อที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางของโลกในอนาคต เงินทุนวิจัยต่าง ๆ นำมาเพื่อการพัฒนาจรวดและเทคโนโลยีอวกาศ เพียงเพื่อบอกว่าประเทศของตนเหนือกว่าอีกฝ่าย ถึงแม้ในระยะแรกสหภาพโซเวียตจะกุมชัยชนะได้ในเกือบทุกครั้งแต่ทว่าในขณะนั้นก็ยังไม่เคยมีชาติใดเลยที่ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้

          จนกระทั่งเมื่อ 55 ปีก่อน ภารกิจซึ่งจะเป็นรอยเท้าที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติได้เริ่มต้นขึ้น ณ ฐานยิงจรวด 39A ศูนย์อวกาศ จอห์น เอฟ. เคนเนดี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา จรวดลำหนึ่งปล่อยตัวไปพร้อมกับพานักบินอวกาศ 3 คนขึ้นสู่วงโคจรโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ภารกิจการไปเหยียบดวงจันทร์ในครั้งนั้นได้ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เรารู้จักภารกิจอันแสนทะเยอทะยานนี้ในชื่อ ภารกิจอพอลโล 11

          โครงการอพอลโลเป็นโครงการการบินด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกาลำดับที่ 3 ดำเนินการโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศ หรือนาซา (NASA) โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายในการพามนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ตามคำประกาศของจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ที่ต้องการจะมีชัยเหนือสหภาพโซเวียตที่เคยส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ ระหว่างระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการมีการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อการพัฒนาจรวดและยานอวกาศที่จะส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์

          ยานอพอลโล 11 ถือเป็นยานลำแรกของมนุษยชาติที่ได้เดินทางพามนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ โดยตัวยานปล่อยจานฐานยิงจรวด 39A เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 และลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ณ ทะเลแห่งความเงียบสงบ (Sea of Tranquility) ซึ่งเป็นที่ราบที่เกิดจากลาวาที่ไหลท่วมบนดวงจันทร์ในอดีต

          ลูกเรือจำนวนสามคนที่ได้เดินทางไปอพอลโล 11 ในขณะนั้นคือ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) บัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin) และไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) โดยนีล อาร์มสตรอง ถือเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ และบัซซ์ อัลดริน ได้เหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่สอง ทั้งสองได้ติดตั้งกระจกสะท้อนเลเซอร์สำหรับวัดระยะห่างโลกกับดวงจันทร์ เครื่องวัดแผ่นดินไหว เครื่องวัดลมสุริยะ และเก็บตัวอย่างหิน 22 กิโลกรัม นำกลับโลก

          ภายหลังจากภารกิจอพอลโล 17 โครงการอพอลโลได้ยุติโครงการลง ถึงแม้ว่าจะมีแผนการไปจนถึงอพอลโล 20 แล้วก็ตาม เนื่องจากเสียงประชามติในขณะนั้นมองว่ารัฐทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปกับงานด้านอวกาศซึ่งเป็นสิ่งไร้ค่า ควรทุ่มเทงบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและกระแสของสงครามตัวแทนในสงครามเย็น นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องลดงบประมาณด้านอวกาศลงจนเหลือเพียงร้อยละ 0.3 ของงบประมาณทั้งหมด ดังนั้นนาซาจึงไม่สามารถดำเนินโครงการสำรวจดวงจันทร์โดยมนุษย์ได้อีกต่อไป และเปลี่ยนไปเน้นที่การสร้างสถานีอวกาศอยู่บนวงโคจรของโลกแทน พร้อมกับยังคงรักษาโครงการส่งอากาศยานไร้คนขับไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ

          จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2561 ยานอวกาศจันทรายาน 1 ของอินเดียที่ได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจหาสินแร่พบก้อนน้ำแข็งบนดวงจันทร์บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ก่อนที่เวลาต่อมานาซาได้ยืนยันถึงน้ำแข็งหลายล้านตันบนดวงจันทร์ โดยเราสามารถนำน้ำมาแยกเป็นออกซิเจนเพื่อหายใจและนำไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงของยานอวกาศ ทำให้ส่งจรวดจากดวงจันทร์ได้โดยใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าที่โลก เนื่องจากดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงเพียง 1 ใน 6 ของโลกเท่านั้น

          ดังนั้นเองในปี พ.ศ. 2562 จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้อำนวยการนาซาในขณะนั้น ได้ประกาศถึงโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ที่จะเป็นการพามนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี โดยการไปเหยียบดวงจันทร์ในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการแสดงแสนยานุภาพ แต่จะเป็นความสำเร็จของมนุษยชาติในการสร้างบ้านและอาณานิคมแห่งใหม่พร้อมกับขยายขอบเขตการสำรวจของมนุษย์ไปยังอวกาศอันไกลโพ้น

          โครงการอาร์เทมิสนอกจากเป็นการพามนุษย์กลับไปดวงจันทร์แล้ว ยังเป็นการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในอนาคต เช่น จรวด SLS ซึ่งทรงพลังมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยมีมา ความทรงพลังของจรวดรุ่นใหม่นี้มากกว่าจรวดแซตเทิร์น ไฟฟ์ (Saturn V) ที่ใช้ในภารกิจอพอลโล ชุดนักบินอวกาศที่ออกแบบให้มีความคล่องตัว น้ำหนักเบา และปลอดภัยมากขึ้น ทำให้นักบินอวกาศและนักวิจัยสามารถปฏิบัติงานบนดวงจันทร์ได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยตำแหน่งที่จะใช้ในการตั้งศูนย์วิจัยและอาณานิคมในโครงการอาร์เทมิสคือบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง

          แต่ทว่าการเดินทางลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์จำเป็นต้องอาศัยการปรับวงโคจรที่ละเอียดซับซ้อนดังนั้นจึงต้องสร้างสถานีอวกาศขึ้นมาในอนาคต เรียกว่า ลูนาร์เกตเวย์ (Lunar Gateway)

          จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 13.48 น. ตามเวลาประเทศไทย จรวด SLS ในภารกิจอาร์เทมิส  1 ได้ปล่อยจากฐานส่งจรวดศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา โดยภารกิจนี้คือการบินทดสอบจรวด SLS และยานโอไรออน ในการเดินทางจากโลกไปยังดวงจันทร์และโคจรรอบดวงจันทร์ก่อนจะเดินทางกลับมาที่โลกซึ่งกินระยะเวลา 25 วัน

          หลังจากนั้น ภารกิจอาร์เทมิส  2 ก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้น โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566 องค์การนาซาได้ประกาศรายชื่อนักบินอวกาศที่จะเดินทางไปกับภารกิจอาร์เทมิส 2 ทั้ง 4 คน ประกอบด้วยนักบินจากสหรัฐอเมริกา 3 คน และนักบินจากแคนาดา 1 คน ซึ่งภารกิจนี้คือการส่งมนุษย์กลับไปโคจรรอบดวงจันทร์อีกครั้งคล้ายกับภารกิจอพอลโล 7 ในอดีต

          หลังจากภารกิจอาร์เทมิส  2 จบลง ภารกิจอาร์เทมิส  3 ก็เริ่มต้นขึ้น ซึ่งในภารกิจนี้เป็นการส่งมนุษย์กลับไปเดินบนดวงจันทร์ โดยหนึ่งในคนที่ได้เดินบนดวงจันทร์ยังต้องเป็นนักบินอวกาศหญิงอีกด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าอวกาศไม่ใช่เรื่องที่จำกัดเพียงเพศชายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน…

          นอกจากความน่าสนใจในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศที่พัฒนาอย่างมากในปัจจุบัน รวมถึงอนาคต เรื่องราวเทคโนโลยีในอดีตบนโลกใบนี้ ก็มีเสน่ห์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะผลสลากของงวดหลังในเดือนมีนาคมดันสอดคล้องกับการกำเนิดของเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงก่อนยุควายทูเค (Y2K) โดยงวดประจำวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566 เลขท้ายสองตัวที่ออกได้แก่…

73

          73 ปีก่อน “เพจเจอร์” เครื่องมือสื่อสารยอดนิยมของวัยรุ่นยุค 80s ก่อนเข้าสู่ยุควายทูเค (Y2K) ให้บริการเป็นครั้งแรกในโลก เชื่อว่าหลายคนก็น่าจะรู้จัก…

          เพจเจอร์ หรือภาษาไทยเรียกว่า วิทยุติดตามตัว เป็นเครื่องมือสื่อสารแบบพกพาที่ทำหน้าที่รับข้อความสั้น ๆ ลักษณะคล้ายกับ SMS แต่ไม่สามารถรับส่งข้อความแบบทันทีทันใดได้ ผู้ที่ต้องการส่งข้อความ เช่น นัดหมาย ส่งข่าวสำคัญ จีบสาว ต้องใช้โทรศัพท์โทรหาคอลเซนเตอร์ เพื่อบอกข้อความที่ต้องการส่ง และให้คอลเซนเตอร์เป็นคนพิมพ์ข้อความส่งให้ (มีความเป็นส่วนตัวบ้างไหมเนี่ย ?!)

          เพจเจอร์ใช้ครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2520 โดยบริษัทแปซิฟิก เทเลซิส และมีผู้ให้บริการรายแรกชื่อว่า แพคลิงก์ ต่อมาก็ได้มีผู้ให้บริการรายอื่น ๆ เช่น เวิลด์เพจ โฟนลิงก์ ฮัทชิสัน (คล้าย ๆ กับผู้ให้บริการโทรศัพท์อย่างทรูหรือเอไอเอสในปัจจุบัน) สุดท้ายผู้ให้บริการรายสุดท้ายในประเทศไทยก็หยุดให้บริการเพจเจอร์ในปี พ.ศ. 2545 ส่วนผู้ให้บริการรายสุดท้ายของโลกคือ บริษัทโตเกียว เทเลเมสเซจ (Tokyo Telemessage) ก็ปิดบริการไปเมื่อปี พ.ศ. 2562

          จุดเริ่มต้นของเพจเจอร์ ผลิตโดย อัลเฟรด กรอสส์ (Alfred J. Gross) ซึ่งจดสิทธิบัตรในปี พ.ศ. 2492 และให้บริการจริงในปี พ.ศ. 2493 (73 ปีก่อน) ที่โรงพยาบาลยิว ในเมืองนิวยอร์ก เพื่อส่งสัญญาณแจ้งเตือนเหตุการณ์ฉุกเฉินให้แก่หมอและพยาบาลรับรู้โดยทั่วกัน แต่ไม่ได้เปิดบริการให้คนทั่วไปใช้งาน

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 บริษัทโมโตโรลา (Motorola) ผลิตอุปกรณ์สื่อสารออกมา โดยใช้ชื่อว่า Handie-Talkie Radio Pocket Pager ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าเพจเจอร์ และประสบความสำเร็จในการผลิต โดยผู้ใช้งานทั่วไปเริ่มมีโอกาสใช้เพจเจอร์จริง ๆ ในปี พ.ศ. 2507 จากเพจเจอร์ที่ชื่อว่า Pageboy ซึ่งคิดค้นโดย จอห์น มิตเชลล์ (John F. Mitchell) ซึ่งประสบความสำเร็จมากจนพัฒนาต่อเป็น Pageboy II ในปี พ.ศ. 2518

          ปัจจุบันแม้จะไม่มีผู้ให้บริการเพจเจอร์สำหรับคนทั่วไปแล้ว แต่ยังมีเพจเจอร์ที่ใช้งานอยู่ประมาณ 5,000,000 เครื่อง โดยเฉพาะในโรงพยาบาลมีการใช้งานประมาณร้อยละ 90 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งข้อความแจ้งข้อมูลการทำงานไปยังเครื่องเพจเจอร์ที่หมอและพยาบาลพกอยู่ได้ตลอดเวลา นอกจากงานด้านโรงพยาบาลแล้ว หน่วยกู้ภัยหรือวิศวกรนิวเคลียร์ก็ยังนิยมใช้เพจเจอร์ด้วยเช่นกัน

          การเกิดขึ้นและหายไปของเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า แต่มันเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาของเทคโนโลยีตามยุคตามสมัยที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากจดหมายสู่เพจเจอร์ และเป็นโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันที่ใช้งานได้สะดวกสบาย รวดเร็ว และมีความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น

          ทั้งหมดนี้คือความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเลข ที่เราหยิบยกมาจากผลสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หวังว่าทุกคนจะสนุกไปกับเรื่องราวเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

          ไม่ว่าการเสี่ยงโชคงวดนี้จะเป็นอย่างไร โปรดจำไว้ เราพร้อมมอบความรู้ใหม่ ๆ ให้คุณเสมอ แบบไม่ต้องรอโชคช่วย… #แม้คุณจะไม่ถูกหวยแต่คุณจะรวยความรู้ #พบกันใหม่งวดหน้า


อ้างอิง

  1. https://spaceth.co/everything-about-artemis/
  2. https://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/614-4083-nasa-spacesuit-xemu-artemis
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Apollo_program
  4. https://www.nasa.gov/specials/artemis-ii/?fbclid=IwAR2J_9lwZNLDDGw1d09reIxPhELowcN42e9JJACoiiCuknNbIbZ4cC9YMKk
  5. https://www.thoughtco.com/history-of-pagers-and-beepers-1992315
  6. https://www.backthenhistory.com/articles/the-history-of-pagers?fbclid=IwAR2e12awMF8thXaL6zW8W3uUh31qiCa982JiiYA3t27SmxwAjwZK0m6ryc0
  7. https://www.gqthailand.com/culture/article/pager-1994?fbclid=IwAR1W8P3Htt-zZOXVFmx

อ่านบทความพร้อมภาพประกอบได้ที่ E-Book นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 121

About Author