เลขเปลี่ยนโลก ฉบับที่ 120

เรียบเรียงโดย
เรียบเรียงโดย นครินทร์ ฉันทะโส, พีรวุฒิ บุญสัตย์, และชินะพงษ์ เลี่ยนพานิช
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จากเพจ The Principia และเว็บไซต์ theprincipia.co


               

          สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกันอีกงวด กับคอลัมน์ที่จะพาทุกคนไปเพิ่มพูนความรู้วิทยาศาสตร์ผ่านตัวเลขที่ได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาล และในครั้งนี้ถึงคิวของงวดประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยงวดประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เลขท้ายสองตัวที่ออกได้แก่…

“92”

          พอพูดถึงเลข 92 พาให้นึกถึงข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เกิดสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการค้นพบทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง และการค้นพบนี้ก็เพิ่งประกาศก่อนจะถึงวันออกสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดที่ว่านี้เพียง 1 วันเท่านั้น นั่นคือ การค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีเพิ่มอีก 12 ดวง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารทั้งหมด 92 ดวง ที่บังเอิญตรงกับผลรางวัลเลขท้ายสองตัวพอดี

          หากเราพูดถึงดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี อันดับแรกคงจะต้องนึกถึงดวงจันทร์กาลิเลียน (Galilean moons) ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี 4 ดวงแรก ประกอบด้วย ไอโอ (Io), ยูโรปา (Europa), แกนีมีด (Ganymede), และคาลลิสโต (Callisto) ที่ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2153 โดยกาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ นักฟิสิกส์ชาวอิตาลี

          แต่ตลอดเวลาหลังจากนั้น นักดาราศาสตร์ยังคงค้นพบดวงจันทร์บริวารอื่น ๆ ของดาวพฤหัสบดีตามมาอีกมากมาย เช่น แอมัลเทีย (Amalthea) ที่ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2435 ไฮเมเลีย (Himalia), เอลารา (Elara), และพาสิฟี (Pasiphae) ค้นพบในปี พ.ศ. 2451 สิโนพี (Sinope) เมื่อปี พ.ศ. 2457 ตามมาด้วยเทเบ (Thebe) และเมทิส (Metis) เมื่อปี พ.ศ. 2523 รวมถึงดวงจันทร์ดวงอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงอีกจำนวนมากหลากหลายดวง

          อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ส่งผลให้เราค้นพบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่ห่างออกไปอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่มีดาวเคราะห์ดวงไหนที่มีดาวบริวารมากไปกว่าดาวพฤหัสบดี ทำให้ดาวพฤหัสบดีกลายเป็นแชมป์ดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดในระบบสุริยะที่ 79 ดวง มาอย่างยาวนาน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562 มีประกาศการค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์เพิ่มอีก 20 ดวง จากเดิม 62 ดวง รวมเป็น 82 ดวง ส่งผลให้ดาวเสาร์ขยับขึ้นมาครองตำแหน่งดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดในระบบสุริยะ ดาวพฤหัสบดีจึงจำเป็นต้องสละตำแหน่งดาวเคราะห์ที่มีจำนวนดวงจันทร์บริวารมากที่สุด เพื่อส่งต่อตำแหน่งดังกล่าวไปให้ดาวเสาร์ไปอย่างน่าเสียดาย

          แต่ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566 ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลดาวเคราะห์น้อยและวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ ได้เผยแพร่ข้อมูลการค้นพบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีเพิ่มอีก 12 ดวง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีกลับมาเป็นแชมป์ดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารทั้งหมดอีกครั้งด้วยสถิติ 92 ดวง ถือเป็นการทวงคืนตำแหน่งเดิมของดาวพฤหัสบดี

          ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีที่ค้นพบใหม่ใครั้งนี้มีขนาดที่เล็กและอยู่ไกลออกไป โดยดวงจันทร์จำนวน 9 ดวงจากทั้งหมด 12 ดวง อยู่ในวงโคจรบริเวณไกลสุดที่มีคาบการโคจรมากกว่า 550 วัน ในขณะที่ดวงจันทร์อีก 3 ดวงที่ค้นพบเพิ่มขึ้นมาในครั้งนี้อยู่ในวงโคจรถัดไปจากกลุ่มดวงจันทร์ของกาลิเลโอเพียงเล็กน้อย ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้นำทีมโดย สกอตต์ เชปเพิร์ด (Scott Sheppard) นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์คาร์เนกี (Carnegie Institute for Science) สหรัฐอเมริกา

          หลังจากที่เราได้เดินทางไปเรียนรู้เรื่องราวของดวงจันทร์ดาวพฤหัสบดีผ่านเลข 92 กันมาแล้ว ก็ได้เวลาย้อนกลับมาเรียนรู้เรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับดาวเคราะห์บ้านเกิดของเราในอดีตเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วกันบ้าง เพราะว่าผลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เลขท้ายสองตัวที่ออกได้แก่…

“80”

          เลข 80 นี้ ชวนให้ผู้เขียนนึกถึง ปี ค.ศ. 1980 ปีที่ผู้คนทั่วโลกกำลังตื่นตาตื่นใจกับสิ่งประดิษฐ์ยุคดิจิตอลยุคแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจาก IBM หรือเครื่องเล่นแผ่นซีดีก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันพลังงานของผืนพิภพก็กำลังก่อตัวขึ้นอย่างเงียบเชียบภายใต้ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ (Mount St. Helens) บริเวณพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งได้ย้ำเตือนเราถึงพลังอำนาจของธรรมชาติที่มนุษย์มิอาจคาดเดาได้

          นับเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ที่นักธรณีวิทยาได้พยายามศึกษาวิเคราะห์ภูเขาไฟในด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะคาดการณ์การปะทุล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ถึงกระนั้นการระบุวันเวลาที่ภูเขาไฟจะปะทุนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับนักธรณีวิทยาอยู่ดี พวกเขาจึงทำได้แค่ตรวจวัดค่าต่าง ๆ จากอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้บริเวณโดยรอบจุดที่มีความเสี่ยง อย่างเช่น เครื่องมือวัดแรงสั่นสะเทือนและเซนเซอร์ตรวจจับก๊าซพิษที่อาจพ่นออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านี้พอที่จะกำหนดกรอบเวลาการปะทุได้เพียงหยาบ ๆ เท่านั้น

          หนึ่งในภูเขาไฟที่นักธรณีวิทยาได้จับตามองอย่างใกล้ชิดมาตลอดในช่วงทศวรรษที่ 1980 ก็คือ ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ ที่ได้รับสมญานามว่า “ฟูจิแห่งอเมริกา” ตามรูปลักษณ์ที่สวยงามและความสมมาตรคล้ายกับภูเขาไฟฟูจิในประเทศญี่ปุ่นอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวกว่า 100,000 คนไปเยี่ยมชมภูเขาไฟทรงกรวยสลับชั้นที่ความสูงถึง 2,950 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลแห่งนี้

          อย่างไรก็ดีในช่วงต้นปี ค.ศ. 1980 พื้นดินใต้ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ก็ได้เริ่มสั่นไหวเป็นช่วง ๆ ประกอบกับลักษณะทางกายภาพของภูเขาที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างจากความดันใต้ตัวภูเขาที่เริ่มสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามข้อมูลของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือที่ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนต์ตั้งอยู่นั้น กำลังถูกแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า Juan de Fuca มุดเข้าไปด้านใต้ ซึ่งได้ก่อให้เกิดความร้อนและแรงดันมหาศาลสะสมตัวอยู่ ก่อนที่ต่อมาช่วงเดือนมีนาคมในปีเดียวกัน ทางการรัฐวอชิงตันก็เริ่มประกาศเตือนเชิงแนะนำผู้คนให้อยู่ห่างจากภูเขาไฟไว้ แต่ประชากรที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นบางส่วนกลับละเลยคำแนะนำจากทางการ บ้างก็ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการเตือนอยู่บ่อยครั้งจนแลดูเป็นเรื่องปกติ บ้างก็เชื่อนักธรณีวิทยาบางท่านว่าการปะทุที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงแค่การปะทุเล็ก ๆ เท่านั้น

          จนกระทั่งในที่สุดเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ก็ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 จากการเคลื่อนตัวของหินหลอมเหลวภายใต้ภูเขาไฟ ซึ่งส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่มที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ รุนแรงมากเสียจนซีกหนึ่งของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์พังทลายลงในพริบตา และในทันทีทันใดกลุ่มก๊าซปริมาณมหาศาลก็ได้พวยพุ่งออกมาด้วยแรงระเบิดที่เทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงเมืองฮิโรชิมะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 1,600 เท่า ส่งเสียงกึกก้องไปไกลถึงรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาที่อยู่ห่างออกไปไกลประมาณ 500 กิโลเมตร

          ไม่นานหลังจากนั้นความร้อนจากการปะทุก็ทำให้น้ำแข็งปริมาณหลายล้านตันละลายลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นน้ำไหลหลากลงไปผสมกับโคลนและขี้เถ้า ไหลลงมาตามแนวสันเขาไปยังที่ราบเบื้องล่างตามแรงโน้มถ่วง ซึ่งได้ทำลายสิ่งที่อยู่ขวางทางไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรือบ้านเรือนของผู้คนก็ตาม อีกทั้งกลุ่มก๊าซจากภูเขาไฟก็ยังได้เข้าไปปกคลุมบ้านเมืองโดยรอบรัศมี 400 กิโลเมตร จนโรงเรียนและสถานที่ราชการต่าง ๆ ต้องหยุดทำการไปโดยปริยาย ผลการสำรวจพบว่าภัยพิบัติในครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปทั้งสิ้น 57 ชีวิตด้วยกัน

          ถึงแม้ว่าภัยพิบัติครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติ เรื่องราวของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ก็ได้ย้ำเตือนเราว่า ดาวเคราะห์บ้านเกิดของมนุษย์ยังคงเป็นดาวเคราะห์ที่มีลมหายใจ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของผืนทวีปทั้ง 7 ทวีปอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้และทำความรู้จักโลกของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิมผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์” เพื่อที่จะปกป้องโลกและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม

          ไม่ว่าการเสี่ยงโชคงวดนี้จะเป็นอย่างไร โปรดจำไว้ เราพร้อมมอบความรู้ใหม่ ๆ ให้คุณเสมอ แบบไม่ต้องรอโชคช่วย… #แม้คุณจะไม่ถูกหวยแต่คุณจะรวยความรู้ #พบกันใหม่งวดหน้า


อ้างอิง

  1. https://skyandtelescope.org/astronomy-news/astronomers-find-a-dozen-more-moons-for-jupiter/?fbclid=IwAR2fVP1rAYQ35vsEM5fGXCIwFg0ybQwEy4XeVvKUKZqVxB65nV7fEs3X7Vk
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Timeline_of_discovery_of_Solar_System_planets_and_their_moons
  3. https://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/544-4032-new-moons-discovered-orbiting-saturn
  4. https://www.theatlantic.com/photo/2015/05/the-eruption-of-mount-st-helens-in-1980/393557/
  5. https://www.pbs.org/newshour/nation/lessons-learned-35-years-since-1980-eruption-mount-st-helens

อ่านบทความพร้อมภาพประกอบได้ที่ E-Book นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 120

About Author