ม.มหิดล เชื่อมั่นคุณภาพหลักสูตรนานาชาติ ส่ง นศ. ฝึกงานองค์กรระดับโลก UNESCAP

          37 ปีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ด้วยคุณภาพจากนักศึกษาและศิษย์เก่ารวมกว่า 10,000 คน กว่า 40 สัญชาติ ได้พิสูจน์แล้วถึงความเป็นสถาบันอุดมศึกษานานาชาติชั้นนำของประเทศ

          หนึ่งในหลักสูตรของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ที่เปิดสอนมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเปรียบเสมือน “ประตู” เปิดสู่โลกแห่งนานาชาติ คือ “หลักสูตรนานาชาติศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก” (Bachelor of Arts Program in International Relations and Global Affairs (International Program))”

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลเลียม เจ โจนส์ (Assistant Professor William J. Jones) ประธานหลักสูตรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก (International Relations and Global Affairs) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ได้ให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพนักศึกษาของหลักสูตรฯ ว่ามีศักยภาพเทียบเท่านักศึกษาจากสถาบันการศึกษานานาชาติทั่วโลก


ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลเลียม เจ โจนส์ (Assistant Professor William J. Jones)
ประธานหลักสูตรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก (International Relations and Global Affairs)
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC)

          ด้วยระบบการเรียนการสอนแบบสากลที่เน้นให้นักศึกษาได้เปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ให้เข้ายุคสมัยและส่งเสริมให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ทั้งภายใน และภายนอกห้องเรียน

          โดยทางหลักสูตรฯ ได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติ และสถานทูตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและเข้าร่วมฟังเสวนาเพื่อพัฒนาความรู้

          นอกจากนี้ ทางหลักสูตรฯ ได้ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เข้าร่วมงานจิตอาสากับองค์กรในระดับนานาชาติต่างๆ เช่น UNEP, ASEAN Summit Greenpeace และ World Animal Protection เพื่อจะพัฒนาทักษะสำคัญในการทำงานในหน่วยงานต่างๆ

          และที่สำคัญเนื้อหาของหลักสูตรฯ ได้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะร่วมกันพัฒนาประเทศและสังคมโลก

          ที่ผ่านมา หลักสูตรฯ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมฝึกงาน ณ องค์กรระดับโลก เช่นที่คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – UNESCAP) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 400 ชั่วโมงอย่างครบวงจร ตั้งแต่ร่วมวิจัย พัฒนาสู่นโยบาย และนำเสนอเพื่อการปฏิบัติ

          นอกจากนี้ได้มีการส่งนักศึกษาฝึกงานไปในภาคส่วนต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) กระทรวงมหาดไทย ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สถานทูตต่างๆ หอการค้าต่างๆ Greenpeace หน่วยงานสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานเพื่อปกป้องสตรี และ LGBTQ+

          และจากสถิติของบัณฑิตซึ่งสำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก ที่ผ่านมามีจำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งที่ได้รับการเสนองานจากภาคเอกชนระดับแนวหน้าอื่นๆ ที่แสดงเจตจำนงมาอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการส่งนักศึกษาออกฝึกงานนั้น สามารถการันตีได้เป็นอย่างดีว่า นักศึกษาของหลักสูตรฯ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด

          นอกจากนี้ หลักสูตรฯ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกทำวิจัยฉบับย่อตามความถนัด และความสนใจของตัวเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาโท โดยนักศึกษาสามารถต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยฉบับดังกล่าวเพื่อเป็นวิทยาพนธ์สำหรับปริญญาโท

          หนึ่งในผลงานวิจัยอันโดดเด่นของนักศึกษาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในเวลาต่อมา ได้แก่ การตีแผ่ปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลยอดนิยมของวัยรุ่นไทยในมุมมองที่ย้อนแย้งว่า เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือเพียงเพื่อการสร้างกระแส เป็นต้น

          และอีกหนึ่งจุดเด่นของทางหลักสูตรฯ คือ การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งผู้แทนนักศึกษา (IRGA Ambassador) เพื่อเป็นกระบอกเสียง และประสานงานจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาโดยตรง

          และเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ภายใต้ IRGA Program ได้มีการสนับสนุนนักศึกษาในการจัดตั้ง Student Club เช่น MUN Club (Model United Nations Club) และ Gender Club เป็นต้น

          ร่วมเปิดประตูสู่โลกแห่งนานาชาติกับประสบการณ์ที่สัมผัสได้จริงจาก สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก (International Relations and Global Affairs) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) เปิดรับสมัคร 19 เมษายน – 8 พฤษภาคม 2566 ทาง www.muic.mahidol.ac.th

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

Cr: ภาพและแบนเนอร์โดย MUIC

About Author