บทที่ 2 ตอนที่ 3 รางวัลโนเบลครั้งแรก

อรพินท์ วิภาสุรมณฑล (เมนช) เรียบเรียง


 

          ชื่อและประวัติผลงานของมารีนั้นมีอยู่ในแฟ้มคณะกรรมการรางวัลโนเบลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 (ปีที่สองของการจัดให้รางวัล) เมื่อมีผู้เสนอให้รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์แก่มารี ในฐานะผู้ค้นพบเรเดียม
          ในปี พ.ศ. 2446 สมาชิกมีชื่อเสียงกลุ่มฟิสิกส์ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (ฝรั่งเศส) ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับงานของมารีและปิแอร์เสนอชื่อแบ็กเรลกับปิแอร์ (ไม่รวมมารี) เพื่อรับรางวัลสาขาฟิสิกส์จากการค้นพบกัมมันตภาพรังสี เคราะห์ดีที่สมาชิกคนสำคัญชื่อ กุสตาฟ มิทแทก-เลฟเฟลอร์ (Gustav Mittag-Leffler) นักคณิตศาสตร์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนรู้เรื่องนี้ก่อนจึงแจ้งต่อปิแอร์ว่ามารีไม่ได้รับการเสนอชื่อด้วย ปิแอร์เขียนไปยืนยันว่าเป็นผลงานเขาสองคนร่วมกัน ทางคณะกรรมการรางวัลจึงใช้หลักฐานผลงานที่มีอยู่แล้วนั้นเสนอชื่อมารีร่วมด้วยได้ทันเวลา ทั้งสามจึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกัน
 
          รางวัลโนเบลเงินสด (ประมาณ 70,000 ฟรังก์) บวกกับเงินรางวัล Prix Osiris อีก 60,000 ฟรังก์จากที่ปิแอร์ได้รับในฐานะนักประดิษฐ์ทำให้ปิแอร์ไม่ต้องสอนที่โรงเรียนเคมีและฟิสิกส์อีกต่อไป (อาจารย์ที่มารับตำแหน่งแทนปิแอร์คือ พอล แลงจ์แวง ลูกศิษย์ของปิแอร์นั่นเอง) ครอบครัวกูรีได้ใช้เงินนี้ในเรื่องต่างๆ เช่น ปรับปรุงตกแต่งบ้านที่ boulevard Kellerman จ้างผู้ช่วยงานในแล็บ ให้ครอบครัวญาติพี่น้อง เช่น ให้ครอบครัวบรอเนียกู้สำหรับ สถานฟื้นฟูสุขภาพที่ซาโคเปน ให้ครอบครัวของฌัก ให้เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียน
 
ภาพจาก https://histoire-image.org/fr/etudes/marie-curie-presse
 
          ที่แล้วมารางวัลโนเบลสาขาทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเท่ากับสาขาวรรณคดีและ สันติภาพ แต่ตั้งแต่มารี ผู้หญิงคนแรกได้รับรางวัลนี้ หนังสือพิมพ์เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น เป็นผลให้รางวัลนี้พร้อมทั้งมารีเป็นที่สนใจ เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ทั้งคู่ได้กลายเป็นเซเลบ มักมีนักข่าวและตากล้อง ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์มาเยี่ยมที่ห้องแล็บ ที่บ้าน ทั้งเรื่องราวการค้นพบเรเดียม รูปของทั้งสอง ไอรีน บ้าน และห้องแล็บ (ที่ทรุดโทรม) กลายเป็นข่าวลงพิมพ์ทั้งที่ฝรั่งเศสและต่างประเทศ และยังได้รับจดหมายเชิญจากผู้สื่อข่าวขอสัมภาษณ์ จากสถาบันต่างๆ ให้ไปพูด (บางแห่งเสนอให้ค่าพูดด้วย) ทำให้เขาทั้งสองซึ่งปกติชอบอยู่เงียบๆ ต้องการสมาธิและเวลาเพื่อทำงานทดลอง รู้สึกขัดข้อง อึดอัดใจ และมีปฏิกิริยาตอบโต้ค่อนข้างไปในทางลบมากกว่าบวก
 
ภาพจาก https://www.mariecurie.org.uk/who/our-history/marie-curie-the-scientist
 
          เมื่อมีตำแหน่งว่างในสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศสไม่กี่เดือนหลังจากการประกาศผลรางวัลโนเบล ทางสมาคมเสนอชื่อปิแอร์ ครั้งนี้เขาได้รับการสนับสนุนเต็มที่ ปิแอร์นั้นไม่ชอบระบบและธรรมเนียมในการเสนอชื่อและ วิธีการหาเสียงสนับสนุนการโหวตจากสมาชิกสถาบัน เขาเคยได้รับการเสนอมาก่อนถึงสองครั้ง แต่ไม่ได้เสียงข้างมาก สาเหตุหนึ่งอาจมาจากเขาไม่พยายามหาเสียง ไม่ปลีกเวลาไป ‘คุย’ (ขอเสียง) จากกรรมการอื่นๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง หรือจากการที่เขาไม่ได้เป็น ‘พันธุ์ลูกหม้อ’ เขาไม่ได้เป็นผลผลิตของโรงเรียนในระบบการศึกษาของฝรั่งเศส
          ครั้งนี้ก็เช่นกัน ปิแอร์ออกไปหาเสียงเท่าที่คิดว่าจำเป็น เขาได้รับเลือกในที่สุด แต่เสียงสนับสนุนน้อยกว่าที่คาดคิดมาก สิ่งที่ปิแอร์ต้องการมากกว่าเกียรติยศชื่อเสียงคือห้องทดลองที่มีมาตรฐาน มีอุปกรณ์ทันสมัยครบถ้วน สำหรับงานวิจัยต่อไป
          หลังการประกาศผลรางวัลโนเบลไม่นาน ทบวงมหาวิทยาลัยได้ตั้งปิแอร์เป็นหัวหน้าแผนกฟิสิกส์ ตำแหน่งใหม่ของซอร์บอนน์ พร้อมทุนสำหรับสร้างห้องทดลอง และแต่งตั้งมารีเป็นหัวหน้าห้องทดลองนั้นด้วย
          นอกจากสอนที่ซอร์บอนน์แล้ว ปิแอร์ยังมีผลงานวิจัยทางกัมมันภาพรังสีเสนอสองเรื่องในระยะใกล้ๆ กัน
          ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 เขาพบว่า ปริมาณกัมมันตภาพรังสีจะลดลงในอัตราคงที่ ซึ่งนำไปสู่คุณสมบัติครึ่งชีวิตของธาตุกัมมันตรังสี อีกหนึ่งเดือนต่อมาเขาเสนอผลงานที่ทำร่วมกับ Albert Laborde ศึกษาปริมาณ(พลังงาน) ความร้อนจากรังสีแผ่จากสารเรเดียม พบว่าความร้อนที่ได้จากพลังงานแผ่จากเรเดียมหนึ่งกรัม สามารถใช้ต้มน้ำแข็งหนึ่งกรัมให้เดือดได้ในหนึ่งชั่วโมง ผลการทดลองนี้สนับสนุนข้อเสนอที่ว่า กัมมันตภาพรังสีเป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นภายในอะตอมจากกระบวนการการแปรธาตุ (transmutation) จากธาตุเริ่มต้นเป็นอีกธาตุหนึ่งพร้อมกับการแผ่กัมมันตรังสี
 
          ฤดูร้อน พ.ศ. 2446 เฟรเดอริก ซอดดี (Frederick Soddy) วิจัยร่วมกับวิลเลียม แรมเซย์ (William Ramsay) พบว่า รังสีชนิดที่สองที่แผ่จากเรเดียมคือ ก๊าซฮีเลียม ปี พ.ศ. 2448 รัทเทอร์ฟอร์ดสรุปอย่างถูกต้องว่า อนุภาคอัลฟาก็คือธาตุฮีเลียมนั่นเอง
          ช่วงปี พ.ศ. 2447-2449 ปิแอร์วัดกัมมันตภาพรังสีของแหล่งน้ำต่างๆ ในยุโรป และผลของรังสีเรเดียมต่อหนูทดลอง ผลงานวิจัยของปิแอร์เริ่มน้อยลง เหตุผลหนึ่งมาจากโรคไขข้ออักเสบกำเริบมากขึ้น เขาปวดกระดูกขา ปวดหลัง ทำงานไม่ได้เต็มที่ ประสาทมือเสื่อมจากการจับต้องเรเดียม ซึ่งเป็นช่วงที่มารีมีผลงานวิจัยน้อยเช่นกัน โดยเหตุผลส่วนตัวหลายอย่าง เธออายุมากขึ้น ตั้งท้องมีลูกสาวคนที่สอง อีฟ (Eve) (เกิดวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2447) เธอกังวลกับสุขภาพของปิแอร์และของไอรีน ผู้มักเจ็บป่วยด้วยโรคที่เด็กๆ เป็นกัน
          (ปี พ.ศ. 2558 ในรัสเซียมีการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ชาวโปลสนับสนุนการปฏิวัตินี้)
          หลังจากเลื่อนการเดินทางไปรับรางวัลโนเบลที่สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ไปเกือบสองปี ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2448 ปิแอร์กับมารีเดินทางไปเลกเชอร์เรื่องเรเดียมที่สต็อกโฮล์ม ทั้งคู่ประทับใจในการต้อนรับอาคันตุกะและภูมิประเทศของประเทศสวีเดนมาก ปาฐกถาของปิแอร์มีการสาธิตประกอบ มีการกล่าวถึงประวัติการค้นพบ (โดยไม่ลืมให้เครดิตแก่นักวิจัยทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง) ตลอดจนผลประโยชน์ของกัมมันตภาพรังสีในด้านอื่นๆ เช่น เคมี ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา และชีววิทยา ตอนท้ายเขาได้กล่าวถึงดาบสองคมของการประยุกต์วิทยาการทุกด้านว่ามีทั้งด้านบวกและลบ ตัวอย่างเช่นดินประสิวที่ใช้ทำระเบิดนั้นใช้ได้ทั้งด้านก่อสร้างและทำลาย ถ้าอยู่ในมือของคนร้าย
          ฤดูร้อนปีนั้นเป็นช่วงที่ครอบครัวกูรีได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ มีความทรงจำดีๆ เริ่มจากพากันไปเที่ยว St. Remy แล้วกลับมารับเฮเลนกับลูกสาว ฮาเนีย (Hania) ซึ่งเดินทางมาจากวอร์ซอมาพักร้อนด้วย เขาพากันไปเที่ยวชายทะเลแถบนอร์มันดี (Normandy) เช่าบ้านติดชายหาดในหมู่บ้าน Carolles อยู่ตลอดฤดูร้อน เป็นครั้งแรกที่เฮเลนได้เห็นทะเล ได้เล่นโต้คลื่น ได้เห็นภูมิประเทศและชีวิตสัตว์แถบชายทะเลพร้อมกับเด็กๆ และได้รับเกร็ดความรู้ต่างๆ จากปิแอร์ด้วย ก่อนลาจากกันเมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดลง มารีพูดกับเฮเลนถึงความกังวลเรื่องสุขภาพของปิแอร์ เป็นฤดูร้อนปีสุดท้ายที่ครอบครัวกูรีได้พักร้อนร่วมกัน
 

ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Portrait_of_Marie_Curie_and_Pierre_Curie.jpg
 
          ปลายปี พ.ศ. 2448 ห้องทดลองใหม่ที่ถนน Cuvier เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เครื่องมือทดลองสร้างขึ้นตามสเปกของปิแอร์ หลายเครื่องสร้างเสร็จ เขาย้ายอุปกรณ์ทดลองต่างๆ จากแล็บเก่าที่ถนนโลมอนด์ไปยังห้องทดลองใหม่ แต่ยังแวะเวียนไปเยี่ยมแล็บเก่าเพื่อระลึกถึงความทรงจำดีๆ

About Author