บทที่ 2 ตอนที่ 2 การค้นพบธาตุกัมมันตรังสี โปโลเนียม (polonium) กับเรเดียม (radium)

อรพินท์ วิภาสุรมณฑล (เมนช) เรียบเรียง


การค้นพบธาตุกัมมันตรังสี โปโลเนียม* (polonium) กับเรเดียม (radium)

          ตลอดสองปีหลังแต่งงาน นอกจากงานแม่บ้านแล้ว มารียังคงทุ่มเทกับงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยคุณสมบัติแม่เหล็กของเหล็กกล้าที่ผ่านการปรับความแข็งแรงโดยวิธีปรับเปลี่ยนอุณหภูมิร้อนสลับเย็นอย่างรวดเร็ว (tempered steel) ได้รับการตีพิมพ์ และเธอได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพจากงานนี้ เธอเริ่มมองหางานวิจัยในระดับที่ผลงานใช้ประกอบการเสนอรับปริญญาเอกได้


มาร์ติน ไฮน์ริช คลาพโรท (Martin Heinrich Klaproth)
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Martin_Heinrich_Klaproth

          ปี พ.ศ. 2332 นักเคมีชื่อ มาร์ติน ไฮน์ริช คลาพโรท  (Martin Heinrich Klaproth) สกัด สารโลหะสีเทา จากแร่พิตช์เบลนด์ (pitchblende) ที่ขุดได้จากเหมืองแถบชายแดนเยอรมนี-เชโกสโลวาเกีย เขาเรียกสารนี้ว่า ยูเรเนียม ตามชื่อดาวเคราะห์ยูเรนัสที่เพิ่งค้นพบ

          ปลายปี พ.ศ. 2438 เรินต์เกน (Roentgen) ค้นพบรังสีเอกซ์ (x-ray) ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิปี พ.ศ. 2439 อ็องรี แบ็กแรล (Henri Becquerel) ขณะที่ศึกษาคุณสมบัติสารเรืองแสงชนิดต่างๆ พบโดยบังเอิญว่า เกลือยูเรเนียมแผ่รังสีที่ทะลุผ่านกระดาษสีดำได้ รังสีนี้เรียกว่า รังสียูเรเนียม (uranium ray) มีนักวิจัยไม่กี่คนที่ให้ความสนใจรังสีนี้ (ส่วนใหญ่สนใจรังสีเอกซ์มากกว่า)


ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Baron-Kelvin- William-Thomson-compass-1902.jpg

          เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2440 ลอร์ดเคลวิน (Lord Kelvin หรือชื่อจริง William Thomson) แห่งสหราชอาณาจักร ได้เสนอผลงานวิจัยสรุปว่า รังสียูเรเนียมสามารถแยก (ionize) โมเลกุลอากาศให้แตกเป็นประจุบวกและลบได้ ลอร์ดเคลวินตรวจวัดประจุที่เกิดขึ้นโดยใช้เครื่องอิเล็กทรอมิเตอร์ที่ผลิตโดยปิแอร์นั่นเอง ลอร์ดเคลวิน  รู้จักกับปิแอร์และคุ้นเคยกับผลงานวิจัยของปิแอร์มาก่อนหน้านี้แล้ว

          มารีสนใจงานและการค้นพบรังสียูเรเนียมของลอร์ดเคลวิน เธอใช้หลักการเดียวกันแต่ขยายขอบเขตการทดลองออกไป เธอศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารประกอบยูเรเนียมกับปริมาณรังสีที่แผ่ออกมา โดยใช้เครื่องอิเล็กทรอมิเตอร์ร่วมกับเพียโซอิเล็กทริกควอตซ์บาลานซ์วัดปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากสารประกอบยูเรเนียม พบว่าปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาจากสารประกอบยูเรเนียมเป็นปฏิภาคโดยตรงกับปริมาณสารประกอบนั้นๆ ไม่ขึ้นกับคุณสมบัติทางเคมี  แสง หรืออุณหภูมิของสารประกอบ เธอจึงสรุปว่าแหล่งกำเนิดของรังสีมาจากอะตอมของยูเรเนียมเองไม่ได้เกิดจากอิทธิพลหรือสภาวะภายนอกอะตอม (นอกจากสารประกอบยูเรเนียมแล้วเธอยังทดลองกับสารประกอบอื่นๆด้วย)

          ในปีเดียวกันนี้ เจ เจ ทอมสัน (J. J. Thomson) หัวหน้าห้องปฏิบัติการคาเวนดิช (Cavendish) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำการทดลองศึกษาคุณสมบัติของรังสีแคโทด (cathode ray) สรุปว่ารังสีนี้ประกอบด้วยอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมหรือโมเลกุล การค้นพบนี้นำไปสู่ทฤษฎีองค์ประกอบของอะตอม โดยศิษย์เอกของทอมสัน ชื่อ เออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford) ที่เสนอว่า อะตอมประกอบด้วยนิวเคลียสซึ่งมีประจุบวกเป็นมวลส่วนใหญ่ของอะตอมอยู่ตรงกลางกับอิเล็กตรอนโคจรอยู่รอบๆ

          ห้องปฏิบัติการทดลองที่มารีใช้วิจัยการแผ่รังสีนั้นเดิมเป็นห้องเก็บของอยู่ชั้นแรกของโรงเรียนที่ปิแอร์สอนอยู่ (school of physics and chemistry of the city of Paris) บนถนนโลมอนด์ (rue Lhomond) เป็นห้องโล่งเพดานสูง เริ่มต้นมีเพียงโต๊ะทำงานกับเก้าอี้เก่าๆ อยู่สองสามตัว ในวันที่อากาศหนาว อุณหภูมิในห้องลดลงต่ำถึง 43 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 6 องศาสเซลเซียส) ระหว่างทำงานวิจัยนี้ เธอดูแลบ้านช่องและอุ้มท้องลูกคนแรกด้วย ลูกสาว ไอรีน (Irene) เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2440


ภาพจาก https://kenyonlyceum.wordpress.com/2019/12/14/the-half-life-of-marie-curie/

          วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2441 เธอพบว่า แร่พิตช์เบลนด์ซึ่งมียูเรเนียมเป็นองค์ประกอบตัวหนึ่งนั้นให้ปริมาณรังสีมากกว่าสารประกอบยูเรเนียมบริสุทธิ์ถึงสี่เท่า วันต่อมาเธอทดลองซ้ำโดยใช้สารประกอบยูเรเนียมต่างชนิด เมื่อเปรียบเทียบกัน ผลยังเหมือนเดิม คือรังสีจากพิตช์เบลนด์เข้มข้นกว่า แสดงว่าในพิตช์เบลนด์ยังมีธาตุอื่นที่เป็นสารกัมมันตรังสีอีกนอกจากยูเรเนียม

          ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มารีพบว่า แร่คาลไซต์ (chalcite) ตามธรรมชาติซึ่งมีธาตุทอเรียม (thorium)  เป็นองค์ประกอบ (ไม่มียูเรเนียมปน) ให้รังสีเข้มข้นกว่ายูเรเนียมบริสุทธิ์เช่นกัน แต่น้อยกว่าที่ได้จากพิตช์เบลนด์ โดยคาลไซต์สังเคราะห์ไม่แผ่รังสี แสดงว่าคุณสมบัติแผ่รังสีนั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะของยูเรเนียมธาตุเดียว เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดได้กับธาตุอื่นๆ ด้วย ผลการทดลองนี้นำไปสู่สมมุติฐานว่า ในพิตช์เบลนด์ นอกจากยูเรเนียมแล้วยังมีธาตุกัมมันตรังสีตัวอื่นอยู่ด้วย

          ผลการวิจัยของมารีขั้นนี้สรุปได้ว่า การแผ่รังสีเป็นปรากฏการณ์ใหม่ มารีเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า radioactivity (กัมมันตภาพรังสี)

          ในการทดลองขั้นต่อไป มารีได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญทางสเปกโทรสโกปีชื่อ อูยีน เดมาร์เคย์ (Eugene Demarcay) และทางเคมีวิเคราะห์ชื่อ กุสตาฟว์ เบมอนต์ (Gustave Bemont) พบว่า ในพิตช์เบลนด์มีธาตุกัมมันตรังสีใหม่สองตัว ตัวแรกเกิดพร้อมกับบิสมัท (bismuth) มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายธาตุเทลลูเรียม (tellurium ) มารีเสนอให้เรียกธาตุกัมมันตรังสีใหม่นี้ว่า โปโลเนียม* (polonium) เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศบ้านเกิดของเธอ

          การค้นพบนี้เป็นข่าวลงพิมพ์ในกรุงวอร์ซอพร้อมๆ กับลงในเอกสารงานวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Proceedings of the Academy) ในปารีส เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2441 ผลงานวิจัยคุณสมบัติแม่เหล็กของเหล็กกล้าและผลงานวิจัยกัมมันตภาพรังสีนี้ได้รับรางวัล Prix Gegner จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติเป็นเงิน 3800 ฟรังก์ เป็นครั้งแรกที่มอบรางวัลนี้แก่นักวิจัยหญิง ในทางปฏิบัติทางสถาบันให้ แบ็กแรลเป็นผู้แจ้งผ่านทางปิแอร์อีกทีหนึ่ง)

          ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2441 นักวิจัยกลุ่มมารีทำวิจัยกัมมันตภาพรังสีจากพิตช์เบลนด์ต่อ และได้ประกาศ การค้นพบธาตุกัมมันตรังสีตัวที่สองซึ่งให้ปริมาณรังสีสูงกว่ายูเรเนียม มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายธาตุแบเรียม (barium) ให้ชื่อธาตุนี้ว่า เรเดียม (radium)

          มารีตระหนักดีว่า ธาตุใหม่จะไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์จนกว่าเธอจะหาทางสกัดธาตุนี้ออกจากพิตช์เบลนด์เพื่อเอามาวัดคุณสมบัติเฉพาะ เช่น มวลอะตอมของมันให้ได้ (โดยส่วนตัวแล้ว ปิแอร์ไม่เห็นความจำเป็นในการสกัดธาตุ เขาสนใจทำวิจัยศึกษาคุณสมบัติรังสีของมันมากกว่า)

          เธอประสบอุปสรรคหลายอย่างในการสกัดเรเดียม มารีกับปิแอร์ต้องใช้เวลาทั้งหมดถึงสี่ปี เริ่มจากการทดลองเบื้องต้นพบว่าสารใหม่นี้มีปริมาณน้อยมาก ต้องเริ่มจากพิตช์เบลนด์หลายกิโลกรัม แยกสารประกอบต่างๆในยูเรเนียมออกมาก่อน จากนั้นต้องหาวิธีการสกัดสารประกอบเรเดียมบริสุทธิ์ซึ่งมีปริมาณนิดน้อยลงไปอีก กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้ห้องแล็บขนาดใหญ่ พร้อมอุปกรณ์และอุณหภูมิที่เหมาะสม เขาขอเช่าห้องแล็บในซอร์บอนน์ แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายได้รับอนุญาตให้ใช้โรงไม้โล่งๆ ของโรงเรียนที่ปิแอร์สอนอยู่ (อยู่ตรงข้ามสนามจากห้องแล็บเดิม) เดิมเป็นห้องฝึกปฏิบัติผ่าตัดของนักเรียนแพทย์ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม หลังคารั่ว มีโต๊ะไม้เก่าๆ กับ กระดานดำหนึ่งกระดาน เตาผิงเสื่อมสภาพ ฤดูร้อนร้อนสุดๆ ฤดูหนาวก็หนาวเข้ากระดูก ไม่มีปล่องสำหรับระบายอากาศ ยังดีที่กระบวนการส่วนใหญ่ต้องทำในที่โล่งนอกอาคาร แต่หากฝนตกต้องย้ายเครื่องมือเข้าในอาคาร และเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศเสีย มารีทำในส่วนแยกแยะและสกัด ปิแอร์ทำด้านวิเคราะห์สารประกอบที่แยกได้

          งานนี้ต้องใช้พิตช์เบลนด์เป็นจำนวนมาก เหมืองที่ขุดแร่นี้อยู่ในเขตปกครองของออสเตรีย ขุดเพื่อถลุงเอาแร่ยูเรเนียมป้อนให้โรงงานทำแก้ว มารีขอชื้อเศษแร่พิตช์เบลนด์ที่เหลือจากการถลุงจำนวนมากกว่าสิบกิโลกรัม เขาได้รับเงินช่วยเหลือจากบารอนเอดมอนด์ เดอ รอทชายด์ (Baron Edmond de Rothschild) จ่ายค่าแร่กับค่าขนส่งจำนวนหนึ่ง


ภาพจาก https://www.newscientist.com/people/marie-curie/

          กระบวนการสกัด มารีใช้หม้อเหล็กใบใหญ่ตั้งบนเตา ต้มพิตช์เบลนด์สิบกิโลกรัม ต้องยืนกวนเป็นชั่วโมงๆเพื่อเทของเหลวปนเปื้อนที่ไม่ต้องการออกไปจนเหลือเพียงของเหลวตกตะกอนที่แผ่กัมมันตรังสี เพื่อนำไปวิเคราะห์ทางเคมีและตรวจคุณสมบัติผลึกต่อไป  เธอไม่เคยย่อท้อต่องานหนักและอุปสรรคต่างๆ (ปิแอร์เองเกือบยอมแพ้ในช่วงสกัดสารประกอบแรเดียมบริสุทธิ์) การได้ทำงานวิจัยที่เธอรักเคียงคู่กับคนที่เธอรักที่มีทัศนคติเหมือนกันเป็นช่วงสี่ปีที่เธอมีความสุขความพอใจกับงานมาก ทั้งคู่มีโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวของมารีในโปแลนด์หลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2442 มีการชุมนุมครอบครัวที่ศูนย์บำบัดฟื้นฟูสุขภาพโรคปอดของบรอเนียและพี่เขยที่ซาโคเพน (Zakopane) ในแถบเทือกเขาคาร์พาเทียน เป็นการพบพ่อครั้งสุดท้าย (พ่อของมารีป่วยเป็นโรคนิ่ว ถึงแก่กรรมหลังการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 อายุได้ 70 ปี)

          ในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2442 มารีเตรียมตัวอย่างตะกอนของเหลวแบเรียมคลอไรด์ได้หลายหลอด หลอดพวกนี้เมื่อวางเรียงเป็นแถวบนโต๊ะจะเรืองแสงเห็นได้ในที่มืด ขั้นต่อไปต้องใช้วิธีการตกผลึกซึ่งยุ่งยากละเอียดอ่อนมาก และต้องระวังเรื่องความสะอาดและสิ่งแปลกปลอม ทั้งคู่ตื่นเต้นมาก จัดส่งตัวอย่างไปให้เพื่อนนักวิจัยและห้องแล็บต่างๆ

          (ในขั้นนี้ยังไม่มีใครรู้อันตรายต่อสุขภาพจากการได้รับรังสี งานวิจัยต่อมาพบว่ากัมมันตภาพรังสีมีทั้งคุณและโทษมหันต์ คือมีประโยชน์ในด้านวินิจฉัยและรักษาโรค ในขณะเดียวกันหากได้รับมากหรือนานเกินไปจะทำให้เป็นมะเร็งได้ด้วย)

          ในงานสกัดสารประกอบเรเดียมบริสุทธิ์ (เกลือเรเดียม) มารีต้องเรียนรู้ทฤษฎีและเทคนิคใหม่ๆ หลายอย่าง ใช้เวลาถึงสี่ปีจึงสำเร็จ ในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2445 เธอสกัดได้เรเดียมบริสุทธิ์ 0.1 กรัม วัดน้ำหนักเชิงอะตอม(atomic weight) ได้ 225

          ทั้งคู่ตัดสินใจไม่จดสิทธิบัตรวิธีการสกัดเรเดียม ทั้งที่รู้ว่าถ้าจดจะได้รับผลประโยชน์ทางการเงินตลอดไป และเงินนั้นเอามาสร้างห้องแล็บที่ดีกว่า ทันสมัยกว่าได้ แต่ด้วยจิตสำนึกแห่งนักวิทยาศาสตร์ มารีและปิแอร์ตัดสินใจตีพิมพ์การค้นพบและเปิดเผยกระบวนการทั้งหมดต่อสาธารณชน เธอยินดีให้ข้อมูลเหล่านี้แก่วิศวกรต่างชาติที่สนใจด้วย การตัดสินใจนี้ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเรเดียมในฝรั่งเศสและอเมริกาเริ่มต้นได้โดยเร็ว

          สำหรับคุณสมบัติของรังสีแผ่จากเรเดียมนั้น ในปี พ.ศ. 2442 รัทเทอร์ฟอร์ดเสนอรายงานว่า รังสีที่ปล่อยออกมาจากสารกัมมันตรังสี มีอย่างน้อยสองชนิด ชนิดแรกเรียก รังสีบีตา (beta ray) สามารถทะลุผ่านวัตถุขวางกั้นได้ดี หลายปีต่อมานักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันศึกษาการเบี่ยงเบนของรังสีบีตาในสนามแม่เหล็ก และสรุปว่า อนุภาคในรังสีบีตานั้นเหมือนกับอนุภาคในรังสีแคโทดคือ อิเล็กตรอนนั่นเอง มารีกับปิแอร์พร้อมทั้งแบ็กแรลต่างสนับสนุนข้อสรุปนี้

          รังสีชนิดที่สองมีประจุมากกว่า แต่ไม่สามารถทะลุผ่านอะลูมิเนียมแผ่นบางๆ ได้ เรียกรังสีนี้ว่า รังสีอัลฟา ( alpha ray) จากการทดลองศึกษาธาตุกัมมันตรังสีอย่างกว้างขวางหลังจากนี้พบว่า ตัวธาตุกัมมันตรังสีเองไม่เสถียร มีการแปร (transmute) ไปเป็นธาตุอื่นพร้อมๆ กับการแผ่รังสีออกมาเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อๆ ไป จนกว่าจะแปรเป็นธาตุที่เสถียรในที่สุด กระบวนการนี้อาจใช้เวลาเป็นนาที หรือนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาครึ่งชีวิต (half-life ของธาตุกัมมันตรังสีแต่ละตัวในปฏิกิริยาลูกโซ่นั้น

          (สรุปได้ว่าผลงานของกูรีและรังสีวิทยานำไปสู่การยกเลิกทฤษฎีอะตอมที่ใช้มาในศตวรรษที่ 19 ที่กล่าวว่า อะตอมเป็นหน่วยเล็กสุดที่ประกอบขึ้นเป็นธาตุ (มีคุณสมบัติทางเคมีเดียวกัน) จะแบ่งแยกย่อยลงไปอีกไม่ได้ และนำไปสู่การค้นพบแรงพื้นฐานชนิดใหม่ทางฟิสิกส์อีกชนิดหนึ่งคือ แรงดึงดูดระหว่างอนุภาคในนิวเคลียส หรือแรงนิวเคลียร์ (nuclear force)  เพิ่มจากแรงโน้มถ่วงและแรง(ระหว่าง)ประจุไฟฟ้าที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ได้)


ภาพจาก https://www.lindahall.org/eugenie-feytis-cotton/

          มารีได้งานเป็นอาจารย์หญิงคนแรกของวิทยาลัยฝึกหัดครูหญิงชั้นหนึ่งของฝรั่งเศส ที่เซฟเรส (Sevres) เธอสอนที่วิทยาลัยสองวัน เวลานอกนั้นหมดไปกับงานในห้องแล็บและงานแม่บ้าน เพื่อเพิ่มรายได้ให้พอใช้จ่ายในครอบครัว ปิแอร์นอกจากสอนในโรงเรียนมัธยมเคมีและฟิสิกส์แห่งปารีสแล้ว เขายังรับงานสอนพิเศษที่โรงเรียนโพลีเทคนิคให้แก่นักศึกษาแพทย์ของซอร์บอนน์เพื่อเตรียมตัวสอบประกาศนียบัตรฟิสิกส์ เคมี และธรรมชาติวิทยา งานนี้เพิ่มโหลดและเพิ่มเวลาเดินทางระหว่างออฟฟิศใหม่กับห้องแล็บที่ถนนลามอนด์ (แต่ผลพลอยได้คือ ปิแอร์ได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องแล็บเล็กๆ ที่ถนน Cuvier)

          ปิแอร์ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับคัดเลือกเป็นอาจารย์ซอร์บอนน์สองครั้ง แต่แพ้คะแนนคู่แข่งทั้งสองครั้ง

          ปิแอร์ไม่แคร์ชื่อเสียงหรือยึดติดกับตำแหน่ง เขายอมให้เสนอชื่อเพราะเงินเดือนอาจารย์ซอร์บอนน์จะทำให้พอใช้ ไม่ต้องรับสอนพิเศษจะได้มีเวลาทำงานวิจัยมากขึ้น

          มารีส่งผลงานการค้นคว้าและงานสกัดธาตุเรเดียมเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ประกอบปริญญาเอกต่อซอร์บอนน์ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2446 และได้รับความเห็นชอบจากพอล แอปแพลล์ คณบดีของคณะ เธอสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ผ่านและได้รับปริญญาเอกจากซอร์บอนน์ในเดือนมิถุนายน  วิทยานิพนธ์นี้ถือเป็นเอกสารสำคัญ เป็นหลักฐานงานบุกเบิกทางวิทยาศาสตร์กัมมันตรังสี คืนนั้นสามีภรรยากูรีได้รับเชิญเลี้ยงอาหารค่ำที่บ้านของพอล แลงจ์แวง (Paul Langevin) เพื่อนนักวิจัยที่เป็นลูกศิษย์ปิแอร์ ครอบครัวแปแร็ง (Perrin) พร้อมด้วยรัทเทอร์ฟอร์ดกับภรรยา (ซึ่งมาปารีสในช่วงนั้นพอดี) มาร่วมยินดีด้วย รัทเทอร์ฟอร์ดเล่าว่าหลังอาหารค่ำในสวน ท่ามกลางความมืดแห่งสนธยา ปิแอร์ดึงหลอดแก้วทดลอง (ที่ฉาบด้วย zinc sulphide บางๆ) บรรจุสารละลายเรเดียมจากกระเป๋าเสื้อนอกออกมาโชว์ให้ทุกคนเห็นแสงแรืองๆ ที่แผ่ออกมาจากหลอดนั้นด้วย

          มารีแท้งลูกคนที่สองในเดือนสิงหาคมหลังจากท้องได้ห้าเดือน เป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เธอเสียใจมาก เธอโทษตัวเองที่ไม่ดูแลตัวเองให้ดี ความเศร้านี้เพิ่มทวีคูณ เมื่อเธอได้ข่าวจากโปแลนด์ว่า ลูกชายอายุห้าขวบของบรอเนียเสียชีวิตกระทันหันด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis)

          เธอไม่สบายตลอดฤดูร้อนจนเข้าฤดูใบไม้ร่วง แม้ว่าจะได้ไปพักผ่อนพักฟื้นในช่วงฤดูร้อนที่หมู่บ้านชายทะเลแถวตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เธอก็ยังอ่อนเพลียในต้นฤดูใบไม้ร่วงและมีอาการไอ หมอตรวจปอดไม่พบอะไรผิดปกติ สันนิษฐานว่าเธอเป็นโรคโลหิตจาง ซึ่งผู้หญิงเป็นกันมาก อาการนี้เมื่อคิดย้อนหลังไปอาจจะส่อถึงความเริ่มผิดปกติของเม็ดโลหิตแดง เนื่องจากถูกพิษจากกัมมันตภาพรังสีที่เธอคลุกคลีอยู่ในระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมา เธอต้องพักฟื้นอยู่หลายเดือนกว่าจะกลับไปทำงานได้ตามปกติ

About Author