ม.มหิดล พร้อมทุ่มเทเพื่อประชาชนและประเทศชาติ สร้างสรรค์นวัตกรรมคุณภาพด้านรักษาพยาบาล การเรียนการสอน และการวิจัย

          การพัฒนาคุณภาพองค์กร ไม่ได้เป็นเพียงนโยบายในระดับบริหาร หรือเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ แต่ผลลัพธ์ของการพัฒนาองค์กร คือ การดำเนินงานภายใต้ระบบงาน และกระบวนการทำงานที่สำคัญตามมาตรฐานสากลที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและได้รับความร่วมมือ ทั้งจากภายใน และภายนอกองค์กร เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศต่อไป


ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การบริหารโรงพยาบาล และโรงเรียนแพทย์นั้นมีบริบทที่แตกต่างกับการบริหารงานทั่วไป โดยจะต้องใส่ใจในรายละเอียดทั้ง 3 พันธกิจ ได้แก่ ด้านการบริการดูแลสุขภาพของประชาชน การจัดการเรียนการสอน การสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยที่มุ่งประโยชน์เพื่อประชาชน และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

          ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) เป็นกรอบในการบริหารจัดการ และพัฒนาองค์กรในทุกพันธกิจ โดยเริ่มจากการสื่อสารให้บุคลากรภายในคณะฯ มีความเข้าใจในเกณฑ์ TQA ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจนเกิดความก้าวหน้าในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนมีผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ ทำให้คณะฯ ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ในปี พ.ศ. 2563 และได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นในด้านนวัตกรรม (TQC Plus Innovation) ในปี พ.ศ.2564 ตามลำดับ

          รางวัล TQC Plus Innovation เป็นการตอกย้ำความสำเร็จด้านการสร้างนวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมด้านการรักษาพยาบาล การเรียนการสอน และการวิจัยดังนี้

          1. ด้านการรักษาพยาบาล มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านกระบวนการบริหารจัดการและสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถจัดการกับโรคต่างๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งให้สามารถได้รับยามะเร็งที่บ้าน (Home Chemotherapy) ได้ตามเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องรอคิวเตียงที่โรงพยาบาล และผลักดัน สปสช. ให้สถานพยาบาลสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เสมือนเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลทำให้สามารถถ่ายทอดวิธีการนี้ไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการสั่งการรักษาผู้ป่วยนอกผ่านระบบคอมพิวเตอร์แบบเต็มรูปแบบ ทำให้สามารถจัดยาให้ผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลาในการรอคอยยา และผู้ป่วยสามารถจ่ายเงินผ่านมือถือโดยใช้ Rama App

          อีกทั้งยังมีนวัตกรรมที่เกิดขึ้นช่วงวิกฤติ COVID-19 คือ การให้การรักษาผ่าน Telemedicine กว่า 3 แสนครั้ง มูลค่ายาที่จัดส่งทางไปรษณีย์กว่าพันล้านบาท มีการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนของคณะฯ ทั้งบุคลากรและนักศึกษามาช่วยดูแลผู้ป่วยช่วงวิกฤติ COVID-19 อย่างเต็มที่ ทั้งในโรงพยาบาลและในระบบ Home Isolation และ Community Isolation

          2. ด้านการศึกษา มีนวัตกรรมทางการศึกษา ได้แก่ การจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนแบบข้ามศาสตร์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนได้ตามความสนใจ และความถนัด จนเกิดหลักสูตรร่วมหลายหลักสูตร (Dual Degree) ได้แก่ หลักสูตรแพทย์นวัตกร โดยควบรวมหลักสูตรปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตไว้ด้วยกัน โดยใช้เวลาเรียนเพิ่มเป็น 7 ปีและหลักสูตรแพทย์นักบริหาร โดยควบรวมหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต กับปริญญาโททางการบริหารจัดการ รวมถึงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ – หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น

          นอกจากนั้น โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้เปิดกว้างให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาอื่นสามารถเรียนต่อยอดในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้โดยใช้เวลา 2 ปี อีกทั้งยังได้เปิดโอกาสให้พยาบาลที่สนใจทำงานวิจัย เลือกเรียนหลักสูตรปริญญาโทระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ พร้อมกับพยาบาลศาสตรบัณฑิตในเวลา 6 ปี หรือเรียนร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียได้ 2 ปริญญา ทำให้ได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตในการทำงานต่างแดนได้

          3. ด้านการวิจัย มีนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชาติได้อย่างมาก อาทิ การค้นพบวิธีการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ด้วยการดัดแปลงยีนของเซลล์ภูมิต้านทาน จนสามารถยื่นจดสิทธิบัตร และดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนต่อยอดสู่การผลิต ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนถึง 280 ล้านบาท ความสำเร็จจากการดำเนินงานร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบสารสำคัญในพืชสมุนไพรกระชายขาวว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง COVID-19 จนสามารถยื่นจดอนุสิทธิบัตร และร่วมกับภาคเอกชนต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์กระชายขาวสกัด ซึ่งส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อประชาชนให้ได้มียาต้าน COVID-19 และประโยชน์ต่อเกษตรกรให้มีรายได้จากการปลูกกระชายขาว

          รวมทั้งการที่ห้องปฏิบัติการไวรัสของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการตรวจสอบ (verify) ชุดตรวจ RT-PCR reagent ของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จนสามารถขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ในประเทศไทย โดยมีราคาถูกกว่าสั่งจากต่างประเทศกว่า 50% ทำให้ค่าตรวจราคาถูกลง และยังมีงานวิจัยที่มีผลต่อนโยบายระดับประเทศ เช่น มีผลการวิจัยที่แสดงข้อมูลให้เห็นถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กวัยรุ่น จนทำให้บุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถเปิดขายในประเทศได้

          แม้บันไดก้าวต่อไปซึ่งอยู่ไม่ไกล คือ การก้าวสู่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในการบริหารจัดการในระดับชาติ แต่ยังไม่สำคัญมากกว่าความพยายามและความสามารถในการคงคุณภาพ และรักษามาตรฐานการพัฒนาคุณภาพองค์กรให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน จากการร่วมมือกันของบุคลากรชาวรามาธิบดีทุกฝ่าย ตามค่านิยม “มุ่งเรียนรู้ คู่คุณธรรม ใฝ่คุณภาพ ร่วมสานภารกิจ คิดนอกกรอบ รับผิดชอบสังคม” และร่วมกับปวงชนชาวไทยนำประเทศชาติสู่อนาคตที่ดีกว่าต่อไป


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author