เบื้องหลังการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก 35 ชนิด: ชนิดที่ 19-23

เรื่องโดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ และจารุปภา วะสี


 

การค้นพบสัตว์น้ำชนิดใหม่ของโลก 5 ชนิดจากธารใต้ดินในชุดถ้ำเนินมะปราง จ.พิษณุโลก

          ระบบนิเวศเขาหินปูน (karst ecosystem) ในเมืองไทยนั้นมีพื้นที่อยู่ในจำนวนไม่มากนัก ระบบนิเวศแบบนี้จะพบพรรณพืชและสัตว์เฉพาะถิ่น (endemic species) อยู่หลายชนิด ตั้งแต่นก หนู แมลง หอยจิ๋ว สัตว์ตัวเล็กๆ น้อยๆ แพลงก์ตอน ซึ่งถ้าสำรวจพบอีกก็มักพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกทุกครั้ง โดยเฉพาะลำธารและแหล่งน้ำในถ้ำของไทยยังมีสัตว์น้ำต่างๆ ตั้งแต่แพลงก์ตอนจนถึงปลาที่พบเฉพาะถิ่น นักปลาทั้งไทยและเทศจากชุดถ้ำของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกาญจนบุรี ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ค้นพบปลาชนิดใหม่ของโลกและตั้งชื่อไปแล้ว 9 ชนิด และยังมีปลาอีกราว 3 ชนิดจากถ้ำอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เก็บตัวอย่างมาวิจัยเพื่อตั้งชื่อ ปัจจุบันเรามีความหลากหลายของปลาถ้ำในอันดับที่ 5 ของโลก รองจาก จีน เม็กซิโก บราซิล และอินเดียเท่านั้น แต่เวียดนามก็กำลังจะแซงเรามาติดๆ ทั่วทั้งโลกตอนนี้มีการพบปลาถ้ำแล้วร่วม 200 ชนิด จาก 30 ประเทศ

          ในฉบับนี้ เป็นเบื้องหลังการค้นพบสัตวน้ำชนิดใหม่ของโลกในถ้ำหินปูน จากชุดถ้ำในอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้รับการจำแนกชนิดและตั้งชื่ออีก 5 ชนิด คือ

          – ปลาพลวงถ้ำ (Neolissochilus subterraneus Vidthayanon & Kottelat, 2003)

          – ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura speisi Vidthayanon & Kottelat, 2003)

          – ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti Vidthayanon & Kottelat, 2003)

          – ปูถ้ำพิทักษ์ (Thampramon tonvuthi Ng & Vidthayanon, 2013)

          – กุ้งถ้ำพระวังแดง (Macrobrachium spelaeus Cai & Vidthayanon, 2016)

ปลาพลวงถ้ำ (Neolissochilus subterraneus Vidthayanon & Kottelat, 2003)

          การค้นพบเริ่มจากการสำรวจถ้ำทั่วประเทศไทยโดยกรมป่าไม้และทีมของผู้เชี่ยวชาญต่างชาติด้านถ้ำ มิสเตอร์ดีน สมาร์ต (Dean Smart) ราวปี พ.ศ. 2540-2545 ได้เข้าสำรวจชุดถ้ำที่เนินมะปรางทุกถ้ำ เช่น ถ้ำพระวังแดง ถ้ำพระไทรงาม และอื่นๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ซึ่งเป็นถ้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย (ยาวกว่า 13 กิโลเมตร) มีระบบถ้ำหลายแบบ และมีแม่น้ำสองสามสายของลุ่มน้ำย่อยคลองชมพูอยู่ในนั้น   มิสเตอร์ดีนได้สำรวจถ้ำเชิงภูมิศาสตร์ เช่น ดูโครงสร้าง ขนาด และชั้นดิน แล้วเจอสัตว์น้ำในถ้ำ 5 ชนิด คือ ปลาพลวงตัวใหญ่สุดขนาดเกือบศอก รูปร่างเหมือนปลาพลวงในแม่น้ำทั่วไป แต่สีขาวซีด และตาค่อนข้างเล็ก ครั้งแรกที่ไปสำรวจถ้ำ เขาได้ปลามาสองชนิด หลังจากนั้นไปสำรวจอีกก็ได้ปลาชนิดที่สาม ปู และกุ้ง เขาส่งมาให้ผมจำแนกชนิดที่กรมประมงอย่างละไม่กี่ตัว ผมเห็นก็รู้ว่าเป็นชนิดใหม่แน่ๆ

ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura speisi Vidthayanon & Kottelat, 2003)

          ปลาถ้ำมีการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมจนต่างจากปลาทั่วๆ ไป มันมักมีสีเหลืองหรือสีชมพูซีดๆ ตาเล็ก หรือบางชนิดไม่มีตา และมีโครงสร้างของร่างกายที่ไต่หรือเกาะหินได้ แต่ปลาในถ้ำเนินมะปรางลักษณะยังไม่เหมือนปลาถ้ำแท้ๆ น่าจะไม่ได้ถูกแยกออกจากสิ่งแวดล้อมข้างนอกหรือไม่ได้ถูกกักอยู่ในถ้ำนานมากนัก จึงมีสีสันเหมือนปลานอกถ้ำเล็กน้อย มีตา แต่ตาไม่สมบูรณ์ บางตัวมีตาเดียว บางตัวมีตาเล็กๆ สองตา บางตัวมีตาขนาดใหญ่และสมบูรณ์ตอนเด็กๆ แต่พอโตขึ้นตาไม่ใหญ่ตามตัว เลยกลายเป็นตาเล็กก็มี บางจุดของถ้ำเนินมะปรางมีปล่องทะลุมองเห็นท้องฟ้า ปลาบางชนิดตอนยังเล็กจะอยู่ใกล้ๆ ช่วงที่มีแสง พอโตหน่อยก็ว่ายเข้าไปโตในถ้ำลึก

ปูถ้ำพิทักษ์ (Thampramon tonvuthi Ng & Vidthayanon, 2013)

          ปูถ้ำที่พบก็ยังเป็นปูถ้ำที่ไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันไม่ใช่ปูถ้ำแท้ แต่เป็นปูถ้ำที่ชอบหนีเที่ยวกลางคืน คือพอตกกลางคืนจะออกมานอกถ้ำ กลางวันก็วิ่งกลับถ้ำ จึงเป็นปูที่ยังมีสีสันอยู่ แต่สีจางๆ ออกม่วงดำ และยังมีตา มีอวัยวะครบ  ส่วนกุ้งถ้ำ แม้จะไม่ได้ออกไปเที่ยวจนสีกลายเป็นสีขาวซีดและตาเริ่มเล็กลง แต่ยังเล็กไม่มาก แสดงว่าสัตว์ถ้ำกลุ่มนี้ถูกกักในถ้ำไม่นานมาก

          ผมตามไปเก็บตัวอย่างกุ้งปูปลาในถ้ำอีกหลายครั้ง พอมีข่าวออกไปว่าเราเจอสัตว์ชนิดใหม่ อาจารย์ฝรั่งคนหนึ่งคือ โปรเฟสเซอร์ริชาร์ด บอรอสกิ (Prof. Richard Borowski) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ติดต่อผ่าน ศาสตราจารย์วรเรณ บรอคเคลแมน ของมหาวิทยาลัยมหิดล ว่ามีความสนใจวิจัยเรื่องพันธุกรรมของปลาถ้ำ และได้เข้าสำรวจถ้ำด้วยกันกับทีมกรมประมง พวกเราได้พาเขาเข้าถ้ำสำรวจปลาทั่วประเทศ อาจารย์ริชาร์ดไม่ได้สนใจทำเรื่องสัตว์ชนิดใหม่ของโลกและอนุกรมวิธาน แต่เขาสนใจเรื่องสัตว์ถ้ำและเก่งเรื่องการผจญภัยในถ้ำ จึงแนะนำทีมงานเรื่องการทำงานในถ้ำเป็นอย่างดี เพราะการเก็บตัวอย่างในถ้ำค่อนข้างอันตราย ต้องปีนป่าย ถ้าไม่ชำนาญหรือไม่ระวังอาจจะตกลงมาบาดเจ็บหรือถึงตายได้ และเขายังช่วยผมแก้ไขภาษาอังกฤษในบทความที่เขียนบรรยายชนิดปลาถ้ำชุดนี้ ทั้งคำศัพท์ ไวยากรณ์ และการเชื่อมโยงประเด็นในบทความ

          ช่วงที่เราเข้าไปเก็บตัวอย่าง ถ้ำพระวังแดงยังไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแค่หน่วยพิทักษ์อุทยานเล็กๆ ที่ชาวบ้านเดินเข้าออกถ้ำกันเป็นปกติ จากคำบอกเล่าของตำรวจแถวนั้นว่า เมื่อก่อนเขาจับปลาในถ้ำมาแกงกินเป็นเรื่องธรรมดา มีปลาเยอะมาก เดินๆ อยู่ก็มีปลามาวนตอมขา ปลาพลวงนี่ใช้ผ้าขาวม้าช้อน ส่วนปลาค้อใช้สวิงช้อนก็ได้แล้ว ส่วนกุ้งมีไม่ค่อยเยอะ แต่พอถึงช่วงเราเข้าไปสำรวจปลา ปลาก็เริ่มเหลือน้อยและตื่นคน ไม่ได้จับง่ายๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว และผมมารู้ทีหลังว่ามีบางคนในทีมสำรวจแอบกลับไปเก็บตัวอย่างในถ้ำอีก เพราะหวังจะเอาไว้เขียนนิวสปีชีส์ของตัวเอง เขาได้ตัวอย่างมาพอสมควร แต่ก็บาดเจ็บกลับมาในสภาพขาใส่เฝือก ต้องเย็บหลายเข็ม และภายหลังก็เขียนบทความไม่สำเร็จ

ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti Vidthayanon & Kottelat, 2003)

          การทำงานเพื่อบรรยายชนิดปลาทั้ง 3 ชนิด ผมทำร่วมกับมอริซ คอตทีแลต (Maurice Kottelat) นักมีนวิทยาชาวสวิสที่ทำงานร่วมกับกรมประมงหลายครั้ง มอริซได้ตั้งชื่อและมีข้อมูลปลาถ้ำหลายชนิดในโลก รวมทั้งปลาถ้ำที่กาญจนบุรีและลาว ทำให้เปรียบเทียบข้อมูลได้ง่าย บทความจำแนกชนิดและตั้งชื่อปลาทั้ง 3 ชนิดได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยปลาพลวงถ้ำ (Neolissochilus subterraneus) ผมตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แปลว่าปลาที่อยู่ใต้ดิน ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti) ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เป็นเกียรติแก่ดีน สมาร์ต และปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura speisi) ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เป็นเกียรติแก่จอห์น สปีส์ นักสำรวจที่บุกเบิกการสำรวจและอนุรักษ์ถ้ำในประเทศไทยอีกคนหนึ่ง

          ส่วนปูและกุ้งนั้นหาตัวอย่างได้น้อยกว่าปลา กว่าจะหาตัวอย่างสวยๆ และเขียนบรรยายชนิดเสร็จก็สิบกว่าปีให้หลัง โดยผมทำงานร่วมกับนักวิชาการของพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยสิงคโปร์สองคน

          เรื่องปู ผมทำงานร่วมกับปีเตอร์ อึง (Peter KL. Ng) ซึ่งเป็นพันธมิตรกัน ผู้เคยทำงานร่วมกับเจ้าพ่อปูเมืองไทย คือ ศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร เราพบว่าปูชนิดนี้เป็นทั้งสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก จึงได้ชื่อว่า ปูถ้ำคุณพิทักษ์ (Thamphramon tonevuthi) เป็นเกียรติแก่คุณพิทักษ์ โตนวุฒิ นักเคลื่อนไหวต่อต้านสัมปทานโรงโม่หินที่เขาหินปูนเนินมะปราง ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2544

กุ้งถ้ำพระวังแดง (Macrobrachium spelaeus Cai & Vidthayanon, 2016)

          ส่วนกุ้ง ผมได้ทำงานร่วมกับ Yixiong Cai เป็นผู้เชี่ยวชาญกุ้งน้ำจืดชาวจีนที่ไปเรียนและตั้งรกรากที่สิงคโปร์ เราตั้งชื่อกุ้งชนิดใหม่ว่า กุ้งถ้ำพระวังแดง (Macrobrachium spalaeus) ชื่อวิทยาศาสตร์แปลว่า กุ้งที่อยู่ในถ้ำ

          เราเขียนบทความเรื่องปูและกุ้งกันได้เร็วมาก ในทริปไปดูงานที่สิงคโปร์ไม่กี่วัน วันหนึ่งไปหาปีเตอร์ อึง ที่ห้องแล็บของเขา ช่วยกันเช็คตัวอย่าง ดูรูป และเขียนบทความเกือบเสร็จ หลังจากนั้นไม่กี่วัน บทความก็ได้รับการตอบรับตีพิมพ์จาก Raffles Bulletin of Zoology ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลี กง เจียน ของสิงคโปร์ และตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2556 ส่วนเรื่องปูก็ไปกินข้าวเย็นคุยกับมิสเตอร์ฉ่ายในวันต่อมา แต่กว่าบทความจะได้ตีพิมพ์ก็อีก 3 ปีถัดมา ใน พ.ศ. 2559

          ใครสนใจดูตัวอย่างสัตว์น้ำจากถ้ำหินปูนเนินมะปรางทั้ง 5 ชนิดนี้ ทั้งแบบดองแอลกอฮอล์และฟอร์มาลีนติดต่อได้ที่งานความหลากหายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กรมประมงครับ


สามารถอ่านบทความในรูปแบบ e-Magazine ได้ในนิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 94 เดือนมกราคม 2564
https://oer.learn.in.th/search_detail/result/218938

About Author