Headlines

นวัตกรรมรับสังคมผู้สูงอายุ อยู่อย่างไรให้สุขใจไปด้วยกัน

เรื่องโดย วัชราภรณ์ สนทนา


 

          วันที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว รัฐบาลไทยยังกำหนดให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” วันสำคัญที่ชักชวนให้คนไทยหันมาใส่ใจผู้สูงอายุมากขึ้น ยิ่งเฉพาะในปี พ.ศ. 2565 นี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ระบุว่าเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” เนื่องจากมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นการเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุแล้ว ยังช่วยลดภาระ ลดความเครียด เพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างรอยยิ้มให้ทั้งตัวผู้สูงอายุและคนในครอบครัว

สื่อกระตุ้นความจำ ป้องกันโรคสมองเสื่อม

          โรคสมองเสื่อมเป็นปัญหาที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยจะมีอาการลืมเลือนสิ่งต่าง ๆ หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ซึ่งผู้ที่ดูแลนอกจากจะต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างมากแล้ว การพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยคงความสามารถ ด้วยการหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ เช่น การทายภาพสมาชิกในครอบครัว การเล่นเกม จะช่วยพัฒนาสมองและฟื้นฟูความทรงจำได้มากขึ้น


AKIKO ผ้ากระตุ้นสมอง

          ดร.สิทธา สุขกสิ ทีมวิจัยออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. พัฒนา “AKIKO ผ้ากระตุ้นสมอง” ที่มีการออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยผลงานนี้มีลักษณะเป็นผ้าห่มที่ทำจากผ้าไทย มีความสวยงาม เนื้อผ้าอ่อนนุ่ม เวลาผู้สูงอายุสัมผัสเนื้อผ้าจะรู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ หรือบางครั้งเวลาที่ผู้สูงอายุรู้สึกหงุดหงิดเมื่อจับหรือสัมผัสผ้าจะช่วยให้รู้สึกว่าได้คลายความหงุดหงิด ลดความเครียด และความกระวนกระวายใจได้ นอกจากนี้ยังออกแบบให้มีช่องใส่รูปภาพ หรือกลิ่นหอมต่าง ๆ ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความคุ้นเคยของผู้สูงอายุ ซึ่งนำมาทำเป็นเกมช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและความทรงจำที่ดีให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ ขณะนี้มีการนำไปใช้จริงในสถานดูแลผู้สูงอายุ และมีบริษัทเอกชนเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเตรียมผลิตขายเชิงพาณิชย์


MONICA เกมฝึกสมอง

          นอกจากนี้ยังมี “MONICA เกมฝึกสมอง” สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยสมองเสื่อม เพื่อให้มีสมาธิมากขึ้น โดยเกมจะช่วยกระตุ้นสมองส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้งาน ทั้งในเรื่องความจำ การตัดสินใจ การมองเห็นและตอบสนองต่าง ๆ รวมถึงการใช้ภาษา โดยตัวเกม MONICA จะประกอบด้วยส่วนของโปรแกรมและปุ่มกดที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ การทำงานของเกมจะมีให้เลือกความยากง่าย เน้นการใช้ภาพ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ โดยมีตัวอย่างเกม เช่น เกมเปรียบเทียบภาพปัจจุบันกับภาพก่อนหน้าว่าเหมือนหรือแตกต่าง หากเหมือนกันให้กดเครื่องหมายถูก หากต่างกันให้กดเครื่องหมายผิด เมื่อผู้สูงอายุเล่นเกมผ่านจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจ มีความรู้สึกมั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงมีการตัดสินใจที่ดีขึ้น

อาหารเคี้ยวกลืนง่าย ปลอดภัย ไม่สำลัก

          การสำลักน้ำและอาหาร รวมถึงภาวะการกลืนยาก เป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ เกิดจากอวัยวะในช่องปากเสื่อมลงและไม่สามารถดื่มน้ำหรือบริโภคของเหลวได้เหมือนคนปกติ ซึ่งนอกจากอันตรายแล้วยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การขาดน้ำ ขาดอาหาร ที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้


ผงเพิ่มความหนืด

          ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร เอ็มเทค ร่วมงานกับบริษัทเอกชน พัฒนา “ผงเพิ่มความหนืด” ใช้เติมในน้ำและเครื่องดื่มให้มีความหนืดเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ เพื่อให้เกิดการไหลเข้าสู่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น ไม่ติดอยู่บริเวณคอหอยหรือหลุดเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการสำลักได้

          เรื่องการบดเคี้ยวอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ทีมวิจัยยังใช้องค์ความรู้ในการปรับโครงสร้างของเนื้อสัตว์ให้เกิดการแตกหักง่ายขึ้น เมื่อผู้สูงอายุรับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยให้สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ง่ายจากการใช้เหงือกหรือการใช้ลิ้นดุนเพื่อให้เนื้อสัมผัสของเนื้อสัตว์แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ และเกิดการย่อยได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D food printing) เพื่อตอบรับความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะบุคคลที่คาดว่าจะมีปริมาณมากขึ้นในอนาคต


ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ปรับเนื้อสัมผัสให้บดเคี้ยวและกลืนง่าย

          นอกจากนี้ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหารยังมีผลงานวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ปรับเนื้อสัมผัสให้บดเคี้ยวและกลืนง่าย” ของ ดร.นิสภา ศีตะปันย์ ที่ใช้เทคโนโลยีกระบวนการปรับโครงสร้างร่วมกับการใช้ตัวปรับเนื้อสัมผัส เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ “เนื้อสัตว์ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม” บดเคี้ยวง่ายด้วยฟันหรือเหงือก กลืนง่าย มีปริมาณไขมันสัตว์น้อย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ที่สำคัญยังคงรูปร่างได้ มีลักษณะปรากฏคล้ายอาหารที่เตรียมจากเนื้อสัตว์ทั่วไป สามารถหั่นหรือตัดเป็นชิ้นได้ จึงนำไปเตรียมเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ คั่วกลิ้ง ลาบหมู มัสมั่นหมู หมูกระเทียม ช่วยให้ความรู้สึกในการบริโภคคงเดิม


สเต๊กเนื้อนุ่ม

          ส่วนที่พิเศษสุดคืออาหารปราบเซียนอย่างสเต๊ก ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยโพลิเมอร์ เอ็มเทค สามารถพัฒนาตัวปรับเนื้อสัมผัสอาหารสำหรับประเภทเนื้อสัตว์สู่ผลิตภัณฑ์ “สเต๊กเนื้อนุ่ม” พร้อมอุ่นร้อนจากเนื้อหมูหรือเนื้อวัวบดหยาบที่มีปริมาณเนื้อสัตว์มากกว่าร้อยละ 70 โดยน้ำหนัก และมีไขมันน้อยกว่าร้อยละ 5 โดยผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อชิ้นแต่นุ่มและบดเคี้ยวง่าย ช่วยลดอุปสรรคในการบริโภคของผู้สูงอายุ

ผลิตภัณฑ์จากพืช โปรตีนทางเลือก

          ไม่เพียงการปรับเนื้อสัมผัสเนื้อสัตว์เพื่อให้ผู้สูงอายุรับประทานได้ง่ายและได้โปรตีนครบถ้วนแล้ว ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร เอ็มเทค ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร “โปรตีนทางเลือก” ทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น “Ve-Chick ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากพืช” ผลงานวิจัยของ ดร.กมลวรรณ อิศราคาร ที่ได้นำความรู้เรื่องการออกแบบโครงสร้างอาหารมาผสานเข้ากับความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของโปรตีนจากถั่วเหลือง เพื่อจัดเรียงโครงสร้างของอาหารให้มีลักษณะเป็นเส้นใยเหมือนกับเนื้อไก่ ควบคู่ไปกับการปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติให้เหมือนอาหารต้นแบบ ดังนั้นเมื่อผู้บริโภครับประทาน Ve-Chick จะได้รับความรู้สึกเหมือนรับประทานเนื้อไก่จริง และยังได้รับสารอาหารในปริมาณที่แทบไม่แตกต่างกัน โดยเนื้อไก่ปกติ 100 กรัม จะมีโปรตีนประมาณร้อยละ 20 ของน้ำหนัก ขณะที่ Ve-Chick มีโปรตีนประมาณร้อยละ 16 ของน้ำหนัก ที่สำคัญไม่มีคอเลสเตอรอลและปลอดภัยจากฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตที่อาจตกค้างมาในเนื้อไก่


Ve-Chick ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากพืช

          มีอาหารแล้วต้องมีเครื่องดื่ม ดร.ศิริกาญจน์ วิเศษสุวรรณภูมิ พัฒนา “M-Pro Jelly Drink เครื่องดื่มโปรตีนสูงจากถั่วเขียว” โดยนำโปรตีนถั่วเขียวมาผ่านกระบวนการผลิตเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดโครงสร้างโปรตีนตามต้องการ ร่วมกับการใช้ไฮโดรคอลลอยด์ในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อช่วยในการพยุงโครงสร้างและช่วยในการกระจายตัวของโปรตีนให้คงสภาพได้ดีภายหลังการให้ความร้อนระดับพาสเจอไรซ์ ทำให้ได้เครื่องดื่มโปรตีนสูงชนิดเจลจากโปรตีนพืชที่มีลักษณะปรากฏเป็นเนื้อเดียวกัน มีเนื้อสัมผัสที่เทียบเคียงได้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดเจลทางการค้าที่ไม่มีโปรตีนหรือมีโปรตีนในปริมาณที่ต่ำกว่า โดยผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษานาน 2 สัปดาห์ในตู้เย็น และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เก็บไว้ได้นานขึ้นโดยไม่ต้องแช่เย็น เครื่องดื่ม M-Pro Jelly Drink มีปริมาณโปรตีนสูงกว่าร้อยละ 20* หรือร้อยละ 6 โดยน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ และเสริมแคลเซียมกว่าร้อยละ 10* (*ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI))


M-Pro Jelly Drink เครื่องดื่มโปรตีนสูงจากถั่วเขียว
 

นวัตกรรม ‘รถเข็นไฟฟ้า’ เพื่อคนพิการและผู้สูงวัย

          ปัจจุบันมีผู้สูงอายุและคนพิการทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องการใช้รถเข็นเพิ่มมากขึ้น ทว่ารถเข็นที่ใช้งานส่วนใหญ่มักเป็นรถเข็นแบบทั่วไป ต้องอาศัยกำลังแรงคนในการใช้มือผลักดัน ในกรณีที่ผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ไม่มีกำลังแขนก็ต้องพึ่งพาคนใกล้ชิด ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระ และไม่สะดวกในการเดินทางนัก ขณะที่รถเข็นไฟฟ้าแม้จะใช้งานง่าย แต่ยังมีราคาค่อนข้างสูง ตั้งแต่ราคา 20,000-100,000 บาท มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ 


M-Wheel อุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า

          M-Wheel ผ่านการประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทางไฟฟ้า ด้วยการทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้า การป้องกันสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งผ่านการประเมินความเสี่ยงของอุปกรณ์  โดยศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)  ดร.ดนุ พรหมมินทร์ ทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ เอ็มเทค พัฒนา “M-Wheel อุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า” ที่สะดวก ปลอดภัย และราคาไม่แพง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้รถเข็นทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ยังใช้งานร่างกายท่อนบนได้ดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดียิ่งขึ้น โดยอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ชุดขับเคลื่อน ชุดควบคุมการเคลื่อนที่ และชุดแหล่งพลังงาน เน้นใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด สำหรับระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ หากชาร์จไฟฟ้า 8 ชั่วโมง จะใช้งานได้ต่อเนื่องนาน 4 ชั่วโมง หรือระยะทาง 20 กิโลเมตร ซึ่งในกรณีที่แบตเตอรี่หมดสามารถสลับเปลี่ยนการใช้งานจากระบบไฟฟ้ามาเป็นระบบปกติเหมือนเดิมได้

Power Lift Bed เตียงนอนสุดล้ำ ลุก–นั่งปลอดภัย

          ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมไปตามวัย ทำให้หลายครั้ง การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุมีอุปสรรคทั้งในด้านการลุก การนั่ง การยืน และเป็นสาเหตุของการพลัดตกหกล้ม


Power Lift Bed

          ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค พัฒนา “Power Lift Bed” เตียงนอนสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยพักฟื้นหลังการผ่าตัด ซึ่งมีกลไกช่วยให้สามารถลุก นั่ง ยืน ได้สะดวกสบาย มีความปลอดภัยสูง โดยออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ใช้งานและควบคุมได้ง่ายผ่านรีโมตคอนโทรล มีตัวหนังสือและสัญลักษณ์อธิบายที่ชัดเจน สะดวกต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญเตียงยังสามารถปรับหมุนไปด้านซ้าย-ขวาได้ถึง 90 องศา ผู้สูงอายุที่นอนอยู่สามารถกดรีโมตปรับเตียงมาอยู่ในท่านั่ง และกดคำสั่งให้เตียงหมุนมาด้านข้างเพื่อนั่งรับประทานอาหารหรือดูโทรทัศน์ได้ทันที พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น สร้างความมั่นใจในการลุกขึ้นนั่งหรือยืน ไม่รู้สึกเป็นภาระต่อครอบครัว

          ปัจจุบันร่วมกับบริษัท SB Design Square ปรับรูปลักษณ์เทคโนโลยีให้มีความสวยงาม ทันสมัย มีฟังก์ชันใช้สอยที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตอบโจทย์ผู้บริโภค สร้างความรู้สึกที่แตกต่างจากเตียงผู้ป่วยแบบทั่วไป วางจำหน่ายแล้วที่ SB Design Square หรือสั่งสินค้าออนไลน์ได้ที่ www.sbdesignsquare.com นับเป็นเฟอร์นิเจอร์ทางเลือกใหม่ที่สร้างความอุ่นใจในการใช้ชีวิตภายในบ้านให้แก่ผู้สูงอายุ



ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบ Well-Living Systems

Well-living Systems ระบบดูแลผู้พักอาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัย

          หลายครอบครัวมีผู้สูงอายุอยู่บ้านตามลำพัง แม้ว่าผู้สูงอายุหลายคนจะแข็งแรงช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย อาจจะเกิดพลัดตกหกล้มหรือเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ขึ้นได้

          ดร.สิทธา สุขกสิ และทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. ได้พัฒนาระบบ Well-Living Systems มาเป็น “ผู้ช่วย” ของลูก ๆ หลาน ๆ ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน ภายใต้แนวคิด “ทุกคนที่บ้านสบายดี (All is well at home)” เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ทั้งผู้ใหญ่ที่บ้านและลูกหลานที่ต้องออกไปทำงาน โดยระบบมีศูนย์กลาง LANAH (Learning and Need-Anticipating Hub) ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ LANAH AI ที่เรียนรู้พฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย และแจ้งเตือนผู้ดูแลเมื่อผู้สูงอายุเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ผ่านแอปพลิเคชัน LANAH App เพื่อช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย

          การทำงานของระบบแบ่งเป็น 1) กรณีไม่ฉุกเฉิน ใช้ AI เรียนรู้รูปแบบพฤติกรรมกิจวัตรประจำวันของผู้อยู่อาศัยเพื่อบ่งบอกถึงปัญหา และ 2) กรณีฉุกเฉิน มีอุปกรณ์ให้เลือกใช้แจ้งเตือนหรือเรียกขอความช่วยเหลือ โดยทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ (sensors) ที่ไม่มีกล้อง ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย นำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายแบบ เช่น บ้านผู้สูงอายุ คอนโดที่มีผู้อยู่อาศัยคนเดียว สถานดูแลผู้สูงอายุ โดยทีมวิจัยมุ่งหวังให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เน้นสร้างความมั่นใจว่าหากมีเหตุฉุกเฉินจะมีผู้เข้ามาช่วยเหลือได้ทันที เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย สร้างความสบายใจ ลดการพึ่งพาผู้ดูแล สนับสนุนการเป็น “สูงวัยอย่างมีคุณภาพ หรือ active aging” ให้ได้นานที่สุด

          ปัจจุบันระบบ LANAH App และอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ในขั้นตอนการทดลองในห้องปฏิบัติการและขยายผลสู่ภาคสนาม ซึ่งกำลังมองหาพาร์ตเนอร์เพื่อทดสอบการใช้งานจริง โดยคาดว่าจะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี พ.ศ. 2565 หรือต้นปี พ.ศ. 2566

          ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างผลงานการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยไทยจาก สวทช. ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตพึ่งพาตนเองได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข สอดคล้องกับนโยบายโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) วาระแห่งชาติ ที่มุ่งส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยและเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. โทรศัพท์ 0 2564 6500

About Author