Ig Nobel Prize (รางวัลอิกโนเบล)

เรื่องโดย: วริศา ใจดี


แมวเป็นได้ทั้งของแข็งและของเหลวจริงหรือ ?

ตอนเราเหยียบเปลือกกล้วยลื่นล้ม มันมีแรงเสียดทานเท่าไรกันหรือ ?

เราต้องใช้แรงมากแค่ไหนในการลากแกะผ่านพื้นผิวชนิดต่างๆ กัน ?

การมองภาพวาดที่น่าเกลียดมันชวนเจ็บปวดยิ่งกว่าโดนยิงด้วยแสงเลเซอร์อีกนะ !

          ประโยคชวนคิดเหล่านี้อาจฟังดูแปลกๆ ไปสักหน่อย หากแต่หลายคนในวงการวิทยาศาสตร์คงพอคุ้นเคยกันบ้าง เพราะประโยคทั้งหมดข้างต้นนั้นล้วนเป็นคำถามอันจุดประกายสู่ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลอิกโนเบล หรือ Ig Nobel Prize เชียวละ !

          ในเดือนกันยายนของทุกปี เหล่าสาวกที่ชื่นชอบแนวความคิดอันแปลกพิสดารและสร้างสรรค์ก็จะพลาดไม่ได้เลยกับพิธีมอบรางวัล “อิกโนเบล” ซึ่งในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมานี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 31

          รางวัลอิกโนเบล คือ รางวัลที่มอบให้แก่ผู้สรรค์สร้างผลงานที่ฟังดูอาจน่าขบขันแต่กลับชวนให้เราต้องคิดตาม (Laugh, then Think) เรียกได้ว่าเป็นรางวัลที่ต่างกันชนิดคนละขั้วกับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) เลยละ เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อรางวัลที่เป็นมุขตลกล้อเลียนรางวัลโนเบล จากการเล่นคำว่า “noble” ที่แปลว่าผู้ดี เปลี่ยนเป็นคำคู่ตรงข้าม “ignoble” ที่แปลว่าไม่น่านับถือ ซะงั้น ! จึงกลายเป็นแฝดคนละฝากันไปเลยก็ว่าได้

ฉันเองเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่เคยได้ยินเกี่ยวกับรางวัลโนเบลมาก่อน ผ่านการกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังหลายๆ ท่าน การหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างและอ้างอิงอยู่เสมอๆ ในงานวิจัย รวมทั้งผลงานชื่อดังต่างๆ ในบทเรียนก็มักมีคำนี้โผล่ขึ้นมา แถมรางวัลเองก็ยิ่งใหญ่อลังการ ทั้งเกียรติยศและเหรียญทองคำ ที่ทำให้เด็กๆ อย่างฉันวาดฝันไปไกลว่าจะมีโอกาสได้รางวัลนี้มาครอบครองสักครั้ง

          ส่วนรางวัลอิกโนเบลนั้นฉันมารู้จักในภายหลังผ่านการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ขำขัน ไหนจะโล่รางวัลหน้าตาประหลาด ไหนจะผลงานวิจัยที่อ่านแค่หัวข้อก็ทำเอาอุทานว่า “จริงดิ ?!” เป็นเพราะรางวัลอิกโนเบลเองมีอะไรมากกว่าเสียงหัวเราะ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมรางวัลนี้ถึงเป็นที่ตั้งหน้าตั้งตารอของเหล่านักวิจัยทั่วโลก ไม่แพ้รางวัลโนเบลเลย !

          รางวัลอิกโนเบลเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยมีคุณมาร์ก อับราฮัมส์ (Marc Abrahams) ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวารสารวิทยาศาสตร์เชิงขำขันชื่อ Annals of Improbable Research หรือที่แปลว่า งานวิจัยที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้คุณมาร์กยังดำเนินหน้าที่เป็นเจ้าภาพและพิธีกรประจำพิธีมอบรางวัลอิกโนเบลตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ได้รับรางวัลโนเบล ร่วมกับสมาคมฟิสิกส์ และนิยายวิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard-Radcliffe Society of Physics Students and the Harvard-Radcliffe Science Fiction Association)

 


ภาพที่ 1:
ภาพคุณมาร์ก อับราฮัมส์ กำลังชูโล่รางวัลอิกโนเบล สำหรับผู้ชนะ

โล่เหล่านี้นอกจากจะหน้าตาประหลาดแล้วยังแหวกแนวไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละปี และยังมีเรื่องราวเบื้องหลังซ่อนอยู่ในการออกแบบของแต่ละโล่อีกด้วย

          พิธีมอบรางวัลอิกโนเบลประจำปีจะมีขึ้นที่ Sanders Theater ณ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard University) ในทุกปี โดยผู้เข้าร่วมก็มีทั้งผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนั้น ทีมผู้จัดงาน และเหล่าผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่ให้เกียรติมามอบรางวัลและมาร่วมแสดงความยินดีด้วย ส่วนพิธีประจำปี พ.ศ. 2563 นั้นจัดขึ้นแบบออนไลน์เป็นปีแรกเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 นี้ก็จัดแบบออนไลน์เป็นปีที่สอง ถึงจะไม่ได้มาพบเจอกันอย่างเต็มที่เหมือนปีก่อนๆ แต่ความสนุกและขายขำของพิธีนี้ก็ยังไม่หายไปไหน รวมถึงประเพณีที่มีมาเสมอทุกปี อย่างเช่น การมีมินิโอเปราเป็นการแสดงในพิธีเปิดงาน แถมดนตรีเพราะๆ บรรเลงเป็นวง โดยที่นักแสดงและนักดนตรีก็ไม่พ้นผู้ที่มาร่วมงาน ผู้ที่เคยได้รับรางวัลมาก่อน และศาสตราจารย์ที่ช่วยกันจัดงานขึ้นมานั่นแหละ ซึ่งบทละครที่พวกเขาช่วยกันคิดแต่งนั้นก็จะมีเรื่องราวขำขันที่ให้แง่คิดและมุมมองอันแตกต่างกันไป

          หลังจากนั้นก็จะมี 24/7 เลกเชอร์ หรือการบรรยายภายใน 24 วินาที ตามด้วยสรุปแบบชัดๆ ภายใน 7 คำ จากแขกคนสำคัญที่ได้รับเชิญมา ซึ่งเราจะได้เห็นถึงความสามารถของผู้เข้าร่วมงานในการบอกเล่าความคิดออกมาภายในเวลาและคำที่จำกัดแต่สามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ นับเป็นอีกมิติหนึ่งของการสื่อสารวิทยาศาสตร์แบบสั้น กระชับ ชัดเจน และคงประเด็นสำคัญเอาไว้ได้ ช่างน่าทึ่งเสียจริงๆ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ พิธีร่อนเครื่องบินกระดาษเพื่อเปิดงาน พิธีนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เกิดจากกลุ่มนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ที่ร่วมกันพับเครื่องบินกระดาษจำนวนเกือบร้อยลำเพื่อทดสอบการบินในพิธีอิกโนเบล และต่อมาได้กลายเป็นประเพณีประจำอิกโนเบลที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมพับเครื่องบินกระดาษมาอวดฝีมือการบินกัน เราจะเห็นภาพเครื่องบินกระดาษโปรยปรายจากผู้เข้าร่วมงาน ลงมาเต็มเวทีเลยละ


ภาพที่ 2:
ภาพพิธีร่อนเครื่องบินกระดาษในพิธีมอบรางวัลอิกโนเบลประจำปี พ.ศ. 2562 ที่ดูยิ่งใหญ่และวุ่นวายในขณะเดียวกัน

          แต่ไม่ต้องกังวลว่าเครื่องบินกระดาษจะรกเต็มห้องประชุม เพราะเรามีฮีโรอย่างศาสตราจารย์รอย เจ กลาวเบอร์ (Roy J. Glauber) จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เป็นเจ้าของตำแหน่ง “ผู้ครองไม้กวาด” (The Keeper of the Broom) ทำหน้าที่กวาดเครื่องบินกระดาษออกจากเวทีเป็นประจำทุกปี ยกเว้นปี พ.ศ. 2548 ที่เขาไม่ว่างเพราะต้องขอตัวลาตำแหน่งคนกวาดเวทีชั่วคราวไปรับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ที่กรุงสตอล์กโฮล์มเสียก่อน! คุณรอยยังได้บอกแบบขำๆ ด้วยว่า ที่พิธีรับรางวัลโนเบล เขาได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักข่าว แต่สิ่งที่เขาถูกถามเยอะที่สุดกลับไม่ใช่เรื่องงานวิจัยที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล แต่เป็นเรื่องหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการกวาดเครื่องบินกระดาษบนเวทีอิกโนเบลซะงั้น ! คุณรอยยังมีหน้าที่สำคัญอีกหลายอย่างในพิธีมอบรางวัลอิกโนเบล ทั้งเป็นผู้มอบรางวัลและเป็นนักแสดงโอเปราในพิธีเปิดงานอีกด้วย ถึงแม้คุณรอยได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 93 ปี ในปี พ.ศ. 2561 ชื่อเสียงในด้านฟิสิกส์ทฤษฎีและเรื่องราวชวนยิ้มของเขากับตำแหน่งคนกวาดเครื่องบินกระดาษก็ยังคงอยู่ในใจทุกคนเสมอ


ภาพที่ 3:
ภาพคุณรอยกับไม้กวาดคู่ใจในพิธีมอบรางวัลอิกโนเบล

          พิธีรับรางวัลอิกโนเบลเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้ชม ที่สำคัญคือการนำเสนอผลงานของผู้ชนะ ซึ่งภายในพิธี ผู้ที่ได้รับรางวัลอิกโนเบลมีเวลาคนละ 60 วินาที ในการนำเสนอผลงานของตนโดยสังเขป แต่ถ้าอยากบรรยายแบบละเอียดก็ต้องรออีกสองวันหลังจบพิธีมอบรางวัลไปแล้ว ที่จะมีพื้นที่เวทีให้จัดการบรรยายสาธารณะ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ซึ่งในปีที่ผ่านมาเป็นการถ่ายทอดออนไลน์ ฉันเลยได้มีโอกาสไปนั่งฟังจากเทปย้อนหลัง พอฟังแล้วฉันก็อดนึกขำในใจว่า เขาคิดและทำกันได้อย่างไรกันนี่ ?!

          โดยพิธีล่าสุด ในปี พ.ศ. 2563 มี 10 ผลงานที่ได้รับรางวัลอิกโนเบล จากทั้งหมด 10 สาขาด้วยกัน

อันได้แก่

          – สาขาสวนศาสตร์ (Acoustics) จากการศึกษาเสียงคำรามของจระเข้หลังสูดดมก๊าซฮีเลียมผสมออกซิเจนเข้าไป

          – สาขาจิตวิทยา (Psychology) จากงานวิจัยที่พิสูจน์ว่าคิ้วสามารถใช้บอกความหลงตัวเองของบุคคลได้

          – สาขาสันติภาพ (Peace) ของรัฐบาลอินเดียและปากีสถานที่ผลัดกันส่งคนไปกดกริ่งป่วนสถานทูตของกันและกันยามดึก

          – สาขาฟิสิกส์ (Physics) จากการศึกษาลักษณะลำตัวของไส้เดือนที่ถูกสั่นด้วยความถี่สูง

          – สาขาเศรษฐศาสตร์ (Economics) จากการคำนวณค่าความสัมพันธ์ระหว่างความไม่เท่าเทียมทางรายได้กับจำนวนเฉลี่ยของการจุมพิตในแต่ละประเทศ

          – สาขาบริหาร (Management) ของมือปืนอาชีพที่ถูกจ้างให้ฆ่าคนแต่กลับไปจ้างวานต่อ ๆ กันไปถึง 5 คนจนค่าส่วนแบ่งลดน้อยลง สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีการฆ่ากันเกิดขึ้น ช่างบริหารกันได้ดีทีเดียว!

          – สาขากีฏวิทยา (Entomology) จากการรวมรวบหลักฐานเพื่อแสดงว่านักกีฏวิทยา (ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับแมลง) ส่วนใหญ่กลัวแมงมุมเพราะแมงมุมไม่ใช่แมลง

          – สาขาการแพทย์ (Medicine) จากผลงานวิจัยอาการ misophonia หรืออาการรำคาญเสียงเคี้ยว ซึ่งเป็นอาการทางจิตที่มีอยู่จริงแต่ถูกมองข้ามมานาน

          – สาขาการศึกษาแพทยศาสตร์ (Medical Education) มอบให้ผู้นำประเทศที่ได้ใช้วิกฤตโควิด 19 สอนให้เห็นว่านักการเมืองมีอิทธิพลต่อความเป็นความตายของคนมากกว่านักวิทยาศาสตร์และหมอเสียอีก

          และสุดท้ายคือ

          – สาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) จากการทดลองพิสูจน์ว่ามีดที่ทำจากอุจจาระมนุษย์แช่แข็งนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

          เห็นไหมล่ะว่าแต่ละผลงานนั้นแค่อ่านชื่อหัวข้อก็ร้องว้าวแล้ว เพราะหลายๆ อย่างที่ดูไม่น่าจะมาอยู่รวมกันได้กลับเป็นไปได้จริงและมีผลสรุปทางวิทยาศาสตร์ออกมาให้เห็นกันเป็นที่ประจักษ์ เพื่อนๆ ผู้อ่านสาระวิทย์ที่สนใจสามารถติดตามอ่านงานวิจัยฉบับเต็มๆ และเข้าชมพิธีได้ที่ www.improbable.com ซึ่งจะมีการรวบรวมทุกผลงานที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 จนถึงปัจจุบันเลยนะ นับเป็นรางวัลที่สร้างความสนุกสนานผสมผสานกับสาระ เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนได้หันมามองวิทยาศาสตร์ในมุมมองที่แปลกออกไป รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สนุกและไม่มีถูกผิด ถ้าเราสนใจและลองค้นคว้าลงลึกไปกับมัน บางทีอาจจะตามมาด้วยเรื่องชวนคิดที่ทำให้เราต่อยอดไปยังการค้นพบสิ่งใหม่ๆ อย่างสโลแกนของรางวัลอิกโนเบลที่ว่า “Laugh, then Think” ให้พวกเราลองตั้งคำถามในมุมแปลกๆ ดูบ้าง เผื่อบางทีข้อสงสัยของเราที่ดูเหมือนไม่เข้าท่า แต่เอาเข้าจริงๆ อาจมีหลายคนคิดตรงกัน เพราะว่ามันอาจสำคัญไม่ทางใดก็ทางทางหนึ่งก็เป็นได้

          ใช่แล้ว ! ยิ่งอ่านฉันก็ยิ่งเกิดแรงบันดาลใจ อิกโนเบลให้ข้อคิดกับฉันว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่คุ้มกับเวลาที่จะค้นหา ไม่ว่าคำถามนั้นจะบ้าหลุดโลกถึงแค่ไหน แต่ถ้าเราสามารถหาคำตอบได้ก็นับเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้แล้ว

          แล้วปี พ.ศ. 2564 นี้จะมีผู้ชนะที่พาผลงานมาให้เราขำแล้วคิดตามแบบไหนกันบ้าง สามารถชมพิธีมอบรางวัลอิกโนเบลที่ถ่ายทอดสดออนไลน์ ไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน ทาง YouTube: https://youtu.be/_Rr8NxPDzBM  โดยดูย้อนหลังกันได้เลย !


ขอบคุณข้อมูลจาก:

  • เว็บไซต์ของวารสาร Annals of Improbable Research (AIR) www.improbable.com
  • รูปภาพเกี่ยวกับพิธีมอบรางวัลอิกโนเบล นำมาจากบันทึกวิดีโอของพิธีแบบเต็ม สามารถดูได้ใน YouTube ของ Improbable Research (https://youtu.be/mfzs8ZIPVIA )

About Author