ม.มหิดล วิจัยพบสารสกัด “สาหร่ายผมนาง” มีฤทธิ์ยับยั้งโรคระบาดในกุ้ง

          วิชา “กายวิภาคศาสตร์” ไม่เป็นเพียงวิชาสำหรับนักศึกษาแพทย์ หรือนักศึกษาในสาขาที่เตรียมพร้อมสู่วิชาชีพบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการศึกษาโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่รวมถึงในสัตว์ และพืช

          รองศาสตราจารย์ ดร.กนกพรรณ วงศ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งศึกษาวิจัยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคระบาด ในกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเค็มเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เกิดการระบาดของ “โรคตัวแดงดวงขาว” และ “โรคตายด่วน” ที่ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับผู้เพาะเลี้ยงอย่างมากมายมหาศาล


รองศาสตราจารย์ ดร.กนกพรรณ วงศ์ประเสริฐ
อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          จนมาถึงวิกฤติการณ์ระบาดของโรค “EHP” (Enterocytozoon hepatopenaei) ที่ปัจจุบันกรมประมงประกาศเป็นโรคระบาดสำคัญเร่งด่วนในอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเกิดจากเชื้อปรสิตไมโครสปอริเดีย (Microsporidia) ที่เข้าทำลายตับของกุ้ง ทำให้กุ้งกินอาหารเท่าไหร่ก็ไม่โต ไม่ได้ขนาดตรงตามที่ต้องการ เกิดอาการขี้ขาวและทยอยตาย ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียโอกาสการส่งออกกุ้งเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

          เริ่มต้นจากการสังเกตว่ากุ้งที่เลี้ยงในบ่อซึ่งมี “สาหร่ายผมนาง” อยู่ในบ่อเดียวกัน มีสุขภาพดี แข็งแรง รอดพ้นจากโรคต่างๆ ได้ ผู้วิจัยจึงได้นำสาหร่ายผมนางมาสกัดและวิเคราะห์หาสารสำคัญในห้องปฏิบัติการจนค้นพบสารสำคัญที่สามารถยับยั้งการติดเชื้อ “โรคตัวแดงดวงขาว” และ “โรคตายด่วน” และนำสารมาทดสอบในกุ้งที่ติดเชื้อไมโครสปอริเดียในฟาร์มกุ้ง พบกุ้งเจริญได้ขนาดใกล้เคียงปกติ จนเกิดความคิดที่จะต่อยอดสร้างสรรค์สู่ผลิตภัณฑ์

          “สาหร่ายผมนาง” (Gracilaria fisheri) เป็นพืชท้องถิ่นประเภทสาหร่ายสีแดงน้ำเค็มที่พบมากทางภาคใต้ของไทย จากการค้นพบดังกล่าว ผู้วิจัยไม่ได้หยุดอยู่เพียงเพื่อการต่อสู้วิกฤติโรคระบาดกุ้ง แต่ยังได้นำสารสกัดสาหร่ายมาศึกษาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยทดสอบฤทธิ์สำคัญของสารต่อเซลล์ต่างๆ ของมนุษย์ พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ในหลอดทดลอง และกระตุ้นการปิดบาดแผลในสัตว์ทดลอง ผลงานวิจัยสามารถนำไปต่อยอดเป็นสารสำคัญทางการแพทย์ได้

          บนหนทางสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ อาจต้องใช้เวลาในการสะสมจิ๊กซอ เพื่อรอวันประกอบขึ้นเป็นรูปร่างที่ชัดเจนและทำให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้อย่างแท้จริง ขอเพียงไม่ปิดกั้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยความเพียรอย่างสม่ำเสมอ

          มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ พร้อมมุ่งจัดการเรียนการสอน วิจัย และบริการวิชาการเพื่อเสริมรากฐานของวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบเพื่อสุขภาวะของมวลมนุษยชาติ ตลอดจนการใช้งานวิจัยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของประเทศชาติ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในวันข้างหน้า

          ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author