Headlines

Fashion x Space ความเชื่อมโยงระหว่าง ศิลปะกับวิทยาศาสตร์

เรื่องโดย
นางสาวศริญญา จิตคล่องทรัพย์
สมาคมยุวชนอวกาศไทย


          ในตอนบ่ายวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2563 ฉันเดินเข้าไปภายในห้องประชุมขนาดเล็กซึ่งตั้งชื่อได้เข้ากับธีมของงานในวันนี้มาก

          “Juno” คือชื่อยานสำรวจของนาซาที่ส่งไปสำรวจดาวพฤหัส และเป็นชื่อของห้องประชุมในการจัดงาน ข้างในห้องมีผู้คนนั่งเว้นระยะห่างกันแบบ Social Distancing อยู่ประมาณ 10 คน โดยที่ด้านหน้าห้องมีฉากโปรเจ็คเตอร์แสดงถึงหัวข้อการมารวมตัวกันในวันนี้ “Fashion x Space Workshop” ซึ่งจัดโดย Manrva ร่วมกับ Spaceth.co และ Space Zab Company

          เมื่อฉันนั่งลงที่โต๊ะก็พบเอกสารประกอบการทำเวิร์คช็อปวางอยู่ตรงหน้าพร้อมดินสอและยางลบ มีเอกสารสรุปเนื้อหา และที่สำคัญคือกระดาษแบบร่างชายหญิงอย่างละแผ่น ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากจากหัวข้อว่าให้มาเพื่อใช้ทำอะไร


คุณ Juliah S. Champion
Art Director ของ Manrva

          พิธีกรได้แนะนำแขกรับเชิญผู้มาเป็นวิทยากรของพวกเรา คือคุณ Juliah S. Champion ดีไซเนอร์สาวจากแบรนด์ Manrva (มาเนอร์วา) เธอเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “มีใครทำการบ้านมาบ้างคะ”

          ก่อนวันเวิร์คช็อปได้มีอีเมลส่งมาหาฉัน อีเมลนั้นประกอบไปด้วยรายการสิ่งของที่ต้องนำมา และแบบร่างชายหญิงเปล่าๆ อย่างละแผ่น เหมือนกับที่วางอยู่ตรงหน้าฉันตอนนี้นั่นเอง การบ้านของพวกเราคือให้ลองออกแบบชุดที่คิดว่ามนุษย์จะใส่บนดาวดวงอื่นในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าฉันก็ได้ทำและนำมาด้วย

          ในส่วนของเนื้อหานั้น คุณจูเลียเริ่มต้นด้วยการพูดถึงชุดนักบินอวกาศในปัจจุบัน ที่มีหลายแบบตั้งแต่ชุดขนาดใหญ่สำหรับปฏิบัติภารกิจในอวกาศของนาซา ไปจนถึงชุดเรียบง่ายสำหรับการบินอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกของ Virgin Galactic


ภาพจาก https://www.manrva.com/post/nasa-jacket

          ต่อจากนั้นก็มาถึงนิยามของคำว่า “แฟชั่น” ทั้งในชีวิตจริงและในสื่อต่างๆ อย่างภาพยนต์และหนังสือการ์ตูน คุณจูเลียได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างแฟชั่นและ costume design คือแฟชั่นนั้นออกแบบมาเพื่อผู้คนทั่วไป ในขณะที่ costume คือเครื่องแต่งกายเฉพาะของตัวละครในเรื่องราวต่างๆ ถึงกระนั้น ทั้งสองอย่างนี้ก็อาจเชื่อมถึงกันได้ แฟชั่นหลายอย่างก็ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนต์หรือโทรทัศน์ นั่นจึงนำมาสู่หัวข้อที่สองคือการทำ research

          ในการออกแบบเสื้อผ้านั้นจำเป็นจะต้องมีที่มาที่ไป โดยองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงมีหลายอย่าง เช่น ไทม์ไลน์ (ออกแบบเสื้อผ้าสำหรับยุคสมัยใด) วัฒนธรรม เทคโนโลยี โครงสร้างทางสังคม งานวิจัย และแรงบันดาลใจส่วนตัว สำหรับหัวข้อนี้ คุณจูเลียได้ยกตัวอย่างภาพยนต์ sci-fi เช่น Star Trek และ The Expanse ที่ต่างก็มีการออกแบบเสื้อผ้าในอวกาศที่แตกต่างกัน เนื่องด้วยปัจจัยที่หลากหลายของแต่ละเรื่อง และเกม Horizon ที่ได้นำดีไซน์ของหุ่นยนต์และเครื่องจักรมาผสมผสานกับรูปแบบของสิ่งมีชีวิต ขณะที่ฟังอยู่ ฉันก็เริ่มรู้สึกสนุกไปด้วยและมีแรงบันดาลใจในการลองออกแบบบ้าง

          สุดท้ายคือการนำหัวข้อทั้งสองข้างต้นมารวมกัน เพื่อสร้างคอนเซปต์และสเก็ตช์เสื้อผ้าออกมา คุณจูเลียได้นำดีไซน์ของเธอมาให้พวกเราดู สำหรับฉันแล้วมันเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่สร้างสรรค์มาก เสื้อผ้าที่เธอได้ออกแบบนั้นเป็นชุดหน้าตาล้ำยุคที่รูปร่างหน้าตาคล้ายชุดเกราะ มีเสื้อคลุมที่ชวนให้นึกถึงชุดจาก Star Wars และที่น่าประทับใจที่สุดคือ มีโฮโลแกรมที่สามารถฉายภาพดีไซน์ที่เราต้องการลงไปบนตัวชุดได้ ฉันคิดว่ามันเป็นการคิดนอกกรอบที่ดีมากและรู้สึกประทับใจกับผลงานนี้

          หลังจากนั้นคุณจูเลียก็บอกให้พวกเราเริ่มด้วยการทำ research และหาแรงบันดาลใจมาสร้างสเก็ตช์ของเรา ทุกคนเริ่มขมักเขม้นกับการหาข้อมูลและรูปภาพอ้างอิง ทางทีมงานได้เปิดเพลงสร้างบรรยากาศและนำหนังสือการ์ตูนมาวางไว้เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม

          นอกจากนั้นยังมีการเข้ามาให้คำแนะนำและตอบคำถามทุกๆ คนอีกด้วย ทว่า ฉันก็ยังนึกไม่ออกเสียทีว่าต้องการจะออกแบบเสื้อผ้าแบบไหน ฉันเริ่มด้วยการร่างไทม์ไลน์และพื้นหลังของคอนเซ็ปต์ก่อน โดยเลือกสถานที่คือดวงจันทร์ ช่วงเวลาในอนาคตอันใกล้ ประมาณ 100 ปีข้างหน้า ฉันเขียนถึงปัญหาต่างๆ ที่มนุษย์จะต้องพบเจอเมื่อพยายามตั้งที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นรังสีอันตราย อุณหภูมิแปรปรวน หรือฝุ่นดวงจันทร์ที่ติดตามตัวอย่างแน่นหนาและมีความแหลมคม

          ฉันพบว่าตัวเองไม่มีปัญหาเกี่ยวกับมุมมองของด้าน “วิทย์” แต่ด้าน “ศิลป์” ซึ่งก็คือการออกแบบเสื้อผ้านั้น ฉันกลับไม่รู้จะเริ่มที่ไหนด้วยซ้ำ ขณะที่ฉันกำลังนั่งคิดไม่ตกอยู่ก็มีการนำอาหารว่างและน้ำผลไม้เข้ามาให้กับทุกๆ คน ฉันนั่งทานขนมไปพลางๆ และตอนนั้นก็ได้ยินคำคำหนึ่งแว่วมาจากที่ไหนสักแห่งในห้องว่า “Steampunk”

          ฉันหันไปเห็นผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปคนหนึ่งกำลังคุยกับคุณจูเลียเรื่องไอเดียของเขาอย่างออกรส สิ่งที่เขาพูดนั้นทำให้ฉันคิดอะไรออกได้ Steampunk นั้นเป็นสไตล์การออกแบบอย่างหนึ่งที่ถือกำเนิดมาจากจินตนาการของชาววิคตอเรียน (ศตวรรษที่ 19) ที่เป็นการนำดีไซน์ของยุคสมัยนั้นมาประยุกต์กับเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ และเป็นหนึ่งในสไตล์ที่ฉันเองก็ชื่นชอบอยู่เป็นการส่วนตัว ฉันเริ่มพอมีไอเดียบ้างว่าต้องการจะออกแบบยังไง แต่ก็ยังค่อนข้างเลือนรางอยู่ โชคดีที่มีทั้งทีมงานและคุณจูเลียคอยให้คำแนะนำอยู่ หลังจากได้คุยกับพวกเขาแล้ว ฉันก็สามารถเริ่มลงมือออกแบบได้

          เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก ตอนที่คุณจูเลียขอให้อาสาสมัครคนแรกขึ้นมานำเสนอผลงานนั้น ฉันรู้สึกว่าเพิ่งผ่านไปเพียงอึดใจ ยังทำงานไม่ทันเสร็จเลย อาสาสมัครคนแรกนั้นคือเด็กผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกันกับฉันที่นั่งอยู่ข้างๆ เธอได้นำการบ้านมาแสดงก่อน คือดีไซน์ที่วาดและลงสีไว้สวยงาม ดูคล้ายชุดแข่งรถ

          สำหรับสเก็ตช์ที่เธอทำในเวิร์คช็อปนั้น เธอได้นำความเป็นตะวันตกและตะวันออกมาผสมผสานกันเพื่อแสดงถึงการหลอมรวมกันของวัฒนธรรมเมื่อมนุษย์ไปอยู่ดาวดวงอื่น แน่นอนว่าทุกคนประทับใจกันมาก ผลงานทุกชิ้นที่ฉันได้เห็นในวันนั้นน่าสนใจและมีความเป็นเอกลักษณ์ทุกๆ ชิ้นงาน และแรงบันดาลใจก็หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชุดสไตล์กรีกที่ใส่ได้ทั้งชายและหญิง ชุดอเนกประสงค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโดราเอม่อน ชุดแบบ high fashion ที่เอาไว้ใส่ออกงานแฟชั่นในอวกาศ และชุดที่ผสมผสานระหว่างสไตล์ steampunk กับเครื่องแต่งกายญี่ปุ่นยุคเอโดะ

          ในที่สุดคุณจูเลียก็ประกาศว่ามีเวลาเหลือพอสำหรับการนำเสนออีกเพียงคนเดียวเท่านั้น ฉันรวบรวมความกล้ายกมือ และเดินไปแสดงผลงานของฉันหน้าห้องอย่างประหม่าๆ

          สเก็ตช์ของฉันเริ่มต้นมาจากการนำเครื่องจักรมาผสมผสานกับดีไซน์สำหรับมนุษย์ เมื่อคิดอย่างนี้ได้แล้ว ฉันจึงนึกถึงอวัยวะเทียมและคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ในอนาคตอาจจะมีผู้พิการทางร่างกายขึ้นไปอยู่ในอวกาศ ดังนั้น ฉันจึงออกแบบชุดสำหรับผู้ที่ใช้ขาหรือแขนเทียม โดยเป้าหมายคือต้องตอบโจทย์ปัญหาของการไปอยู่บนดวงจันทร์ให้ได้เช่นกัน เริ่มจากหมวกครอบหัวที่เป็น VR สามารถแสดงสถานะของผู้ใช้ รวมถึง display อื่นๆ เช่น แผนที่

          นอกจากนี้ยังมีไฟติดอยู่รอบหัว และที่ไหล่ เนื่องจากหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่มากมายของการอยู่บนดวงจันทร์เช่นรังสีอันตรายและอุณหภูมิแปรปรวนคือ การไปอยู่ใต้ดิน ชุดจึงควรมีไฟเพื่อมองเห็นได้ในความมืด นอกจากนี้ ฉันได้ออกแบบให้ตัวชุดมีช่องเก็บอุปกรณ์ สายเพื่อผูกติดกับสิ่งต่างๆ และแผ่นกันกระแทกสำหรับข้อศอกและหัวเข่า

          ทั้งหมดนี้คือด้านวิทย์ของดีไซน์ของฉัน สำหรับด้านศิลป์นั้น ฉันตัดสินใจอ้างอิงจากยุควิคตอเรียน โดยชุดของผู้ชายและผู้หญิงจะแตกต่างกันที่ท่อนบน คือชุดของผู้ชายจะออกแบบให้คล้ายกับเสื้อโค้ตของผู้ดี ส่วนของผู้หญิงจะหน้าตาคล้ายคอร์เซ็ต หรือเสื้อรัดเอวชั้นในที่โด่งดังของยุคนั้นนั่นเอง

          เมื่ออธิบายผลงานของฉันเสร็จแล้ว ทุกคนก็ปรบมือให้ ฉันรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ได้ลองทำในสิ่งใหม่ และใช้ความรู้ที่มีมาประยุกต์กับความคิดสร้างสรรค์เพื่อได้ผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันออกมา

          หลังเสร็จจากเวิร์คช็อปแล้ว ฉันก็ได้สังเกตว่า ตัวเองมีมุมมองต่อวิทยาศาสตร์และศิลปะที่เปลี่ยนไป เมื่อก่อน ฉันเคยคิดว่าอวกาศเป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเท่านั้น

          แต่ตอนนี้ฉันเห็นได้ว่า ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะเชื่อมโยงต่อกันได้ โดยเฉพาะในส่วนของอวกาศแล้วเราควรต้องคำนึงว่าทั้งในปัจจุบันในอนาคต อวกาศไม่ใช่เรื่องวิชาการเพียงอย่างเดียว ตราบใดที่ยังมีวิทยาศาสตร์อยู่ ก็จะมีศิลปะเคียงคู่กันไป


วิดีโอประกอบการบรรยาย

About Author