ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ประจำปี 2563 ยกระดับความรู้คนไทย ด้วยบทบาท “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์”

          ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการสังเกต ค้นคว้า ตั้งสมมุติฐาน แล้วทดลองพิสูจน์บนพื้นฐานของเหตุและผล ทำให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่จะทำให้เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยความเท่าทัน

          วิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน ซึ่งหากมีการสื่อสารออกไปแล้วทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในโลกที่การสื่อสารไม่เคยหยุดนิ่งอย่างเช่นในปัจจุบัน

          30 ปีแห่งการเป็น “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” ผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการแปล และการเขียนบทความด้านวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ศิษย์เก่าดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2563 ได้รับการยกย่องในฐานะศิษย์เก่าผู้มีความรู้ความสามารถในการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยยกระดับความรู้ของคนในประเทศ

          ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ได้ให้ความสำคัญในการบริหารสำนักพิมพ์ สวทช. โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กเล็ก โดยมองว่าเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดที่ควรได้รับการปลูกฝังความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านหนังสือประเภทนิทานเรื่องเล่า ซึ่งจะทำให้เด็กๆ สามารถสัมผัสได้ด้วยความเพลิดเพลินและได้รับความรู้โดยไม่รู้ตัว

          นอกจากนี้ ยังได้อำนวยการผลิตตำราวิทยาศาสตร์ที่ท้าทายโลกยุคใหม่ ได้แก่ หนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และ “คริสเปอร์แคสไนน์” (CRISPR/Cas9) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการตัดต่อยีนแม่นยำสูงที่ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีนี้ รวมทั้งนิตยสารออนไลน์ “สาระวิทย์” ย่อยโลกข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ประชาชนได้ติดตามทั้งทางเว็บไซต์ของสวทช. www.nstda.or.th/sci2pub และ FB: นิตยสารสาระวิทย์

          “ประเทศชาติจะพัฒนาไม่ได้ถ้าคนในประเทศไม่มีความรู้ในตัวเองมากพอ วิทยาศาสตร์จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้คนในชาติเกิดการพัฒนาทางความคิด ดำรงชีวิตด้วยหลักของเหตุและผล ซึ่งการเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดีจะต้องมีทั้งพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดี ประกอบกับทักษะการสื่อสารที่ดี ซึ่งการถ่ายทอดความรู้นั้นจะต้องมีความถูกต้องแม่นยำ แต่ว่าเข้าถึงได้ ไม่ยากเกินไป” ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ กล่าว

          ซึ่งวิชา “การสื่อสารวิทยาศาสตร์” (Science Communication) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดสอนให้ประชาชนทั่วไปเรียนออนไลน์ผ่านโครงการ Mahidol University Extension: MUx ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ปลายปีพ.ศ.2561 จนปัจจุบันมีผู้เรียนกว่า 6,000 คน เป็น Top 4 ของรายวิชาที่มีผู้เรียนสูงสุดของหลักสูตรออนไลน์ทั้งหมดของโครงการฯ ที่มีบัญชีผู้ใช้งานกว่า 336,000 accounts

          นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีหลักสูตรออนไลน์ซึ่งกำลังเปิดสอนและเตรียมเปิดสอนรวมอีกกว่า 100 หลักสูตรเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ลงทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยรายวิชาที่เปิดสอนมีทั้งการสอนทักษะภาษาอังกฤษ ดิจิทัล สุขภาพ สังคมและวัฒนธรรม ไปจนถึงการจัดการทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นทั้งในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต โดยผู้เรียนที่สามารถเรียนจนจบหลักสูตรและผ่านการทดสอบจะได้รับใบประกาศนียบัตรออนไลน์

          ผู้สนใจสามารถติดตามได้ทาง mux.mahidol.ac.th


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร
กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author