วันเวลาแห่งความหวัง ‘วัคซีน’ COVID-19

เรื่องโดย: ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา
ท่ามกลางความหวาดวิตกจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกกำลังจะแตะหลักล้านในไม่ช้า แสงสว่างเล็กๆ ตรงปลายอุโมงค์ที่พอจะเป็นความหวังให้กับมวลมนุษยชาติได้ ย่อมฝากไว้ที่ ‘วัคซีน’ ซึ่งเป็นทางรอดเดียวที่จะต่อสู้กับไวรัสมรณะนี้ ทว่าคำถามก็คือ นับจนถึงวันนี้  การพัฒนาวัคซีนก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว และหากประสบความสำเร็จ คนไทยจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีน COVID-19 เมื่อไร


จับตาวัคซีน COVID-19 ทั่วโลก

นับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2563 ที่คณะนักวิจัยประเทศจีน ในเมืองอู่ฮั่น ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณให้งานวิจัยด้านวัคซีน COVID-19 ทั่วโลกเริ่มต้นเดินหน้าในทันที

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ และในฐานะนักไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 จากประเทศจีน ช่วยให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถนำมาใช้เป็นจุดตั้งต้นสำหรับการออกแบบวัคซีนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหลังจากนั้นเพียง 3 เดือน วัคซีนต้นแบบอย่างน้อย 2 ชนิด ได้ถูกนำมาใช้ทดสอบความปลอดภัยในมนุษย์ (Clinical phase I) แล้ว อีกทั้งยังมีวัคซีนต้นแบบอีกจำนวนมากที่อยู่ในช่วงทดสอบประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลอง ซึ่งนับได้ว่าการพัฒนาวัคซีน COVID-19 มีความคืบหน้ารวดเร็วมาก

“ปัจจุบันนักวิจัยจำนวนมากจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย บริษัท สตาร์ทอัพ และบริษัทยาขนาดใหญ่ ในหลายประเทศทั่วโลก กำลังแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ในรูปแบบต่างๆ เฉพาะในประเทศจีนประเทศเดียว มีไม่น้อยกว่า 40 แห่ง โดยเทคโนโลยีวัคซีนที่พัฒนากันอยู่ สามารถแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

  1. Viral Vector Vaccines คือการฝากแอนติเจนของ SARS-CoV-2 เข้าไปกับไวรัสชนิดอื่นที่ติดคนได้แต่ไม่ก่อโรค แล้วใช้ไวรัสดังกล่าวกระตุ้นภูมิคุ้มกันแทนการใช้ไวรัส SARS-CoV-2 โดยตรง
  2. DNA Vaccine คือ การใช้ DNA ที่สามารถสร้างแอนติเจนของ SARS-CoV-2 ได้หลังจากนำส่งเข้าไปในร่างกาย
  3. RNA Vaccine รูปแบบจะคล้ายๆ กับ DNA Vaccine แต่รูปแบบนี้จะไม่เสี่ยงต่อการที่ DNA จากวัคซีนจะเข้าไปรวมกับ DNA ของเรา และปัจจุบันมีข้อมูลมาสนับสนุนว่าวัคซีนรูปแบบนี้อาจจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า DNA Vaccine
  4. Live Attenuated Virus คือการนำไวรัส SARS-CoV-2 ที่แยกได้จากตัวอย่างผู้ป่วยมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นเวลานานๆ จนไวรัสอ่อนเชื้อลง ไม่ก่อให้เกิดโรค และพร้อมนำไปใช้เป็นวัคซีน
  5. Recombinant Proteins คือการสร้างโปรตีนแอนติเจนสำคัญในระบบต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ หรือ เซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และนำโปรตีนที่สร้างได้เหล่านั้นมาใช้เป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน”

แม้หน่วยงานวิจัยชั้นนำและบริษัทยาทั่วโลกจะเร่งเดินหน้าวิจัยพัฒนา ทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังในการผลิตวัคซีนให้สำเร็จ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพต้องอาศัยเวลา เพราะนอกจากการคิดค้นพัฒนาในห้องปฏิบัติการแล้ว ยังต้องมีการทดสอบในสัตว์ทดลองและการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ ซึ่งกว่าจะได้วัคซีน COVID-19 มาใช้ได้จริงนั้นยังต้องใช้เวลานับปี

ดร.อนันต์ กล่าวว่า ขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนจะเริ่มจากการสร้างวัคซีนต้นแบบในห้องปฏิบัติการและมีการทดสอบประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลอง ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรก ส่วนจะใช้เวลามากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับธรรมชาติของระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นขึ้น แต่หลังจากที่วัคซีนต้นแบบผ่านขั้นตอนนี้แล้ว วัคซีนจะต้องผ่านการทดสอบในมนุษย์อีกหลายขั้นตอน เช่น การทดสอบความปลอดภัยของวัคซีนในมนุษย์ การทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในอาสาสมัครไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ซึ่งในสภาวะปกติขั้นตอนทั้งหมดนี้จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และใช้งบประมาณที่สูงมาก แต่สำหรับกรณีที่เร่งด่วนอย่างวัคซีน COVID-19 การทดสอบในมนุษย์น่าจะสามารถเร่งรัดให้ไวขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ดี ระยะเวลาที่จะได้วัคซีนออกมาใช้จริงน่าจะไม่น้อยกว่า 1 ปี ทั้งนี้คาดเดาจากสมมติฐานที่ว่าวัคซีนดังกล่าวปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ยอมรับได้

กระนั้นการพัฒนาวัคซีนในช่วงเวลาอันรวดเร็ว อาจทำให้หลายคนกังวลใจว่า วัคซีนที่พัฒนาขึ้นจะมีความปลอดภัยหรือไม่ ดร.อนันต์ อธิบายว่า ปกติวัคซีนที่ใช้ในมนุษย์จะมีการทดสอบด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก ซึ่งคิดว่าการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ทุกชนิด จำเป็นต้องผ่านการทดสอบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ส่วนตัวไม่มีความกังวลเรื่องของความปลอดภัยของการใช้วัคซีน แต่การพัฒนาที่รวดเร็วอาจทำให้ข้อมูลด้านประสิทธิภาพในมนุษย์มีไม่มากพอ ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพการคุ้มกันโรคมากกว่าด้านความปลอดภัย

“จากข้อมูลของผู้ป่วย COVID-19 ที่หายดี พบว่าปริมาณแอนติบอดีหรือภูมิต้านทานที่เพิ่มขึ้นจะสามารถควบคุมไวรัสในร่างกายได้ดีมาก ถ้าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ เชื่อว่าการฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมการระบาดได้”

ประเทศไทยกับการพัฒนาวัคซีน COVID-19

เนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 มีผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศหลักที่มีโรงงานผลิตวัคซีนอย่าง สหรัฐอเมริกา จีน หรือ กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป หากการพัฒนาวัคซีนประสบความสำเร็จผลิตใช้ได้จริง แน่นอนว่าผู้ที่ได้ใช้วัคซีนเป็นลำดับแรกๆ คือประชากรภายในประเทศนั้นๆ โอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนมาใช้อาจต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและกำลังการผลิตวัคซีนของประเทศผู้ผลิต ดั้งนั้นการวิจัยพัฒนาวัคซีนได้เองในประเทศ นับเป็น ‘การพึ่งพาตนเอง’ ที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในยามเผชิญภาวะวิกฤติ

ดร.อนันต์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานในประเทศไทยได้เร่งเดินหน้าทำงานวิจัยด้านวัคซีนอย่างเต็มที่ โดยความคืบหน้าส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง Pre-clinical phase คือ การพัฒนาวัคซีนต้นแบบ ซึ่งนักวิจัยไทยมีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนได้ไวและแข่งขันกับนานาชาติได้ แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยคือ ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้วัคซีนถูกนำไปใช้จริงได้ เช่น โรงงานวัคซีนที่พร้อมจะขยายขนาดในระดับอุตสาหกรรม และห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองที่มีความปลอดภัยสูง (Animal Biosafety Level 3 facilities)

สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่อเชื้อไวรัสโคโรนา และการสร้างระบบเซลล์ที่รองรับการขยายขนาดวัคซีนได้ ซึ่งขณะนี้นักวิจัย ไบโอเทค สวทช. โดยกลุ่มนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลกที่สามารถพัฒนาระบบการสร้างอนุภาคไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคท้องเสียในลูกสุกรได้ โดยระบบดังกล่าวเป็นที่ยอมรับว่าสามารถนำไปต่อยอดเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้จริง แต่เนื่องจากไวรัส SARS-CoV-2 เป็นไวรัสที่ถูกควบคุมเป็นพิเศษ จึงจำเป็นต้องใช้ห้องชีวนิรภัยระดับ 3 ดังนั้นหากจะมีการสร้างอนุภาคไวรัสในห้องปฏิบัติการ จะทำให้การพัฒนาวัคซีนที่ดำเนินการอยู่ไม่สามารถทำได้

ดังนั้นงานวิจัยด้านวัคซีนที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต้องใช้เชื้อไวรัสโดยตรง เช่น การสร้างโปรตีนสไปค์เพื่อเป็นแอนติเจน, การสร้าง DNA และ RNA Vaccine และ การนำ Virus Vector เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีการแสดงออกของแอนติเจนของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดสอบความสามารถของวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลอง”

 จากสถานการณ์การระบาดใหญ่ครั้งนี้ ในฐานะนักไวรัสวิทยา ดร.อนันต์ มองว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมดำเนินการต่อไป เพื่อเตรียมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต คือการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

“การระบาดใหญ่ครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โรค COVID-19 สร้างผลกระทบมหาศาลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม งานวิจัยและพัฒนาด้านโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างจำกัดมาก โดยเฉพาะงานวิจัยพื้นฐานที่จะช่วยให้เราเข้าใจเชื้อไวรัสมากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญหลายด้านยังมีไม่เพียงพอ และขาดการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ กฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้งานวิจัยล่าช้าอาจจำเป็นต้องมีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สามารถมีช่องทางให้นักวิจัยดำเนินการได้ทันต่อสถานการณ์เร่งด่วน การระบาดครั้งนี้นับว่าประเทศไทยยังโชคดีที่การระบาดไม่เริ่มขึ้นที่บ้านเรา เพราะเรายังมีองค์ความรู้จากนักวิจัยจีนให้สามารถเริ่มงานวิจัยได้ค่อนข้างไว แต่ถ้าในอนาคตเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย และยังไม่พร้อม จะนำไปสู่ปัญหาและผลกระทบต่อประเทศชาติที่ใหญ่มาก”

อย่างไรก็ดี สำหรับในช่วงเวลาที่ยังไม่มีวัคซีนที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อคุ้มภัยให้กับประชาชนได้ ข้อแนะนำที่ดีที่สุดคือ ‘การมีระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing’

“ด้วยสถานการณ์ตอนนี้คงต้องอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ทุกคนมีสิทธิเป็นผู้แพร่เชื้อมาหาเราได้ เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างเคร่งครัด การใส่หน้ากากอนามัยจะมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อจากตัวเราไปสู่คนอื่นและสิ่งแวดล้อมได้

นอกจากนี้ การล้างมือบ่อยๆ ยังมีความจำเป็น และถ้าเรากลายเป็นผู้ป่วย COVID-19 ขอให้ตั้งสติเข้าใจว่า มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยสามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัสพิเศษใดๆ แต่ถ้ามีอาการไข้สูง หายใจติดขัด แสดงว่าอาจมีอาการปอดบวม ต้องรีบพบแพทย์ในทันที” ดร.อนันต์ ย้ำถึงข้อควรปฏิบัติในช่วงเวลาที่โลกยังไม่มีวัคซีน COVID-19

About Author