เยาวชนกับการเติบโตอย่างสดใสในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง : บทสนทนากับปัญญาประดิษฐ์

เรื่องโดย ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน
ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED


          พักหลัง ๆ มานี่ผมมักจะสนทนากับปัญญาประดิษฐ์เป็นประจำ โดยใช้เขาเป็นเพื่อนคู่คิด ช่วยหาข้อมูล ช่วยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่าง ๆ ที่ผมกำลังค้นคว้าอยู่ เรื่องหนึ่งที่ผมคุยกับปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT บ่อย ๆ ก็คือเรื่องของการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านระบบการศึกษา ว่าเราควรจะต้องปฏิรูประบบการศึกษาไปอย่างไร เพื่อให้เยาวชนในปัจจุบันได้พัฒนาตัวเองและรับมือกับโลกในอนาคตข้างหน้าได้    

          โลกในทุกวันนี้เปลี่ยนเร็วมาก การศึกษาที่เคยใช้กันมาเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในอดีตย่อมจะใช้ไม่ได้อีกแล้วกับการพัฒนาเยาวชนในยุคปัจจุบัน เราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เราเองก็ไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งก็คาดเดาไม่ได้เหมือนกันว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่ต้องคิดก็คือระบบการศึกษาในปัจจุบันควรจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

          ในประเด็นนี้ ผมลองถาม ChatGPT ไปว่า ทักษะอะไรบ้างที่เด็กในยุคปัจจุบันไม่จำเป็นต้องพัฒนาแล้วก็ได้ เราจะได้ไม่ต้องไปลงแรงกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเจ้า ChatGPT ก็ตอบผมมา 5 ด้าน

  1. การท่องจำ (rote memorization)
  2. การป้อนข้อมูลด้วยตนเอง (manual data entry)
  3. ความเชี่ยวชาญเพียงเรื่องเดียว (single-subject specialization)
  4. ภาษาที่มีคนใช้น้อย (language fluency in rarely used language)
  5. การเสพสื่อแบบขาดปฏิสัมพันธ์ (passive media consumption)

          อ่านที่เขาตอบมาแล้ว ดูก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ผมมักจะบอกทุกคนเสมอว่า อย่าไปเชื่อในสิ่งที่ ChatGPT ตอบมา เราต้องคอยตั้งคำถามเขาต่อ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อ 5 ที่เขาบอกมานี่แหละว่าอย่าไปเสพสื่อแบบนิ่ง ๆ ขาดปฏิสัมพันธ์ ต้องคอยโต้แย้ง สิ่งที่ผมเอ๊ะกับคำตอบนี้ก็จะเป็นข้อที่ 4 นี่แหละ เพราะในความคิดของผม ยิ่งภาษาที่คนใช้น้อย ถ้ายิ่งรู้ ก็ยิ่งได้เปรียบไปใหญ่ เพราะเราจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่มีคนต้องการตัวในเวลาที่ต้องการสื่อสารกับคนน้อย ๆ  

          ผมก็เลยแกล้งถามเขาไปเสียเลยว่า ข้อ 4 นี่เขาหมายถึงภาษาไทยหรือเปล่า เจ้า ChatGPT ตอบผมกลับมาแบบขอโทษขอโพย

          แล้วเขาก็ลิสต์มายาวเลยว่าการเรียนภาษา เช่น ภาษาไทย มีประโยชน์อะไรบ้าง

  1. ช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมของประเทศหรือชุมชนนั้น ๆ ได้ดีขึ้น
  2. ช่วยให้สื่อสารกับคนในชุมชนนั้น ๆ ได้ดี
  3. ช่วยพัฒนาสมองและความคิด
  4. เปิดโอกาสหลาย ๆ อย่างสู่โลกภายนอก ทั้งทางธุรกิจ การท่องเที่ยว และการทูต
  5. ช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

          แต่ผมก็ยังติดใจในประเด็นเดิมอยู่ เลยลองแกล้งถามเขาต่อว่า แล้วภาษาอะไรล่ะที่เขาบอกว่าไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ก็ได้ ซึ่งเขาก็ตอบมาแบบพลิ้ว ๆ เช่นเดิม บอกว่าไม่ได้เจตนาจะสื่อแบบนั้น

          ความพลิ้วของเจ้า ChatGPT ทำให้เขาเลี่ยงจะตอบผมตรง ๆ โดยเลี่ยงมาพูดว่าสิ่งที่เขาสื่อไปในการพูดถึงว่าไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาที่ใช้กันน้อย เป็นการตอบในมุมมองของโอกาสการหางานได้ง่ายในอนาคตและการสื่อสารกับสังคมโลก ไม่ได้บอกว่าภาษาที่มีโอกาสใช้น้อยไม่มีความจำเป็น   

          แล้วก็ยอมคายสิ่งที่อยู่ในใจออกมาว่า เขาคิดว่าภาษาที่ควรจะเรียนรู้คือ อังกฤษ สเปน จีนกลาง ฝรั่งเศส และอาหรับ เพราะเป็นภาษาที่ใช้อยู่มากในทางการทำธุรกิจ การทูต และการสื่อสารในเวทีโลก ซึ่งถ้ารู้ภาษาเหล่านั้นก็จะมีโอกาสก้าวหน้าในโลกของการทำงาน แต่ก็ยังปิดท้ายต่อมาว่า การเรียนภาษาขึ้นอยู่กับความสนใจส่วนตัว รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่มีกับชุมชน ประเทศ หรือวัฒนธรรมนั้น ๆ

          คราวนี้ก็กลับมาที่ประเด็นสำคัญ ผมอยากรู้ว่าเขาจะแนะนำอย่างไรว่าเราควรจะพัฒนาเยาวชนให้เติบโตไปมีชีวิตที่สดใสในในโลกแห่งอนาคตที่มีความเปลี่ยนแปลงสูงได้อย่างไร ซึ่งเขาก็ตอบผมกลับมายาวเหยียดถึง 12 ประเด็น ผมก็เลยขอให้เขาสรุปมาใหม่อีกที ขอสั้น ๆ แค่ 5 ข้อ

  1. ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence)
  2. การพัฒนาความรู้คิด (cognitive development)
  3. ทักษะทางสังคมและการสื่อสาร (social skills and communication)
  4. สุขภาพร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดี (physical health and well-being)
  5. ความสามารถในการฟื้นตัวและปรับตัว (resilience and adaptability)

          คำตอบของ ChatGPT ที่ตอบมานี้ ก็ดูจะเป็นประเด็นทั่ว ๆ ไปที่เรามักจะพูดถึงกันตามปกติ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะคำตอบที่มีอยู่ในคลังความรู้ของเขาก็ได้มาจากการอ่านจากสื่อต่าง ๆ แล้วนำมารวบรวมกันไว้เป็นคลังข้อมูล เพียงแต่เวลาที่เราถามไป เขาก็จะใช้ความเป็น Generative AI เรียบเรียงประโยคขึ้นมาใหม่ ให้เราอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย และไม่ไปซ้ำกับข้อความที่มีคนเคยเขียนมาแล้ว

          ความที่ผมชอบแกล้ง AI เพื่อที่จะได้เข้าใจแนวทางการคิดของเขามากขึ้น ผมก็เลยแกล้งแหย่ต่อ โดยให้เขาคิดว่าถ้ามีโอกาสพัฒนาได้แค่ 4 ข้อ ข้อใดในห้าข้อนี้ที่จะตัดออก ซึ่งคำตอบของเขาก็นำความประหลาดใจมาให้ผมได้พอสมควร

          เขาเลือกที่จะตัดข้อ สุขภาพร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดี (physical health and well-being) ออกไป โดยให้เหตุผลว่าสี่ข้อที่เหลือสำคัญกับการพัฒนาความคิด อารมณ์ และสังคม ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและความสำเร็จในอนาคต แต่ก็แอบทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่ใช่ว่าไม่เห็นความสำคัญของสุขภาพร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดีนะ เพียงแต่ว่าสี่ข้อนั้นสำคัญกว่า ก่อนจะจบว่า การพัฒนาสุขภาพร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดีมันก็ฝัง ๆ อยู่ในการพัฒนาทั้งสี่ด้านที่เขาบอกไปนี่แหละ

          สิ่งหนึ่งที่ผมกับปัญญาประดิษฐ์คิดตรงกันก็ตรงที่ว่า “อย่าเสพสื่อที่ออกมาแบบขาดปฏิสัมพันธ์” นี่แหละครับ คำตอบของปัญญาประดิษฐ์อย่าง ChatGPT มีทั้งส่วนที่เชื่อถือได้และส่วนที่เชื่อถือไม่ได้ เขาเรียนรู้มาจากการอ่านข้อมูลมากมายที่มีอยู่บนโลก แล้วก็ประดิษฐ์คำใหม่ออกมาเป็นคำตอบสวย ๆ เมื่อเราถามคำถามไป เขาเองนั้นถูกสอนมาให้เรียบเรียงคำพูดได้เก่ง ให้ดูน่าเชื่อถือ หลายครั้งที่ให้คำตอบผิด ๆ แต่เขาก็เขียนเรื่องราวประกอบอื่น ๆ ที่มีข้อมูลอยู่มาให้ดูเหมือนว่าเขารู้เรื่องนั้นจริง ๆ แล้วเราก็ควรจะเชื่อคำตอบของเขา

          สิ่งที่ผมพยายามบอกทุกคนที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบเจ้า ChatGPT นี้ก็คือ อย่าไปเชื่อเขามาก แล้วก็ควรที่จะต้องคอยคิดวิเคราะห์คำตอบของเขา หาเรื่องซักถามเขาไปเรื่อย ๆ หยิบคำตอบของเขามาซักถามเพิ่มเติม หาประเด็นใหม่ หามุมมองใหม่ ดูว่าเขาจะจนปัญญาตอบคำถามไม่ได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ผมก็มองว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดีจากปัญญาประดิษฐ์ในการฝึกการคิดวิเคราะห์ หรือ critical thinking ของเรา หรือที่ผมมักจะพูดเสมอว่า AI นี่แหละเป็นตัวช่วยฝึกทักษะ “ความเกรียน” ของเราได้เป็นอย่างดีครับ และทักษะความเกรียนกับ AI นี่แหละครับที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับคนในยุคหน้า ไม่เชื่อก็ลองถาม ChatGPT ดูได้นะครับ

About Author