ดาราศาสตร์แดนมังกร (ตอนที่ 1)

โดย รวิศ  ทัศคร


         เมื่อกล่าวถึงจีนโบราณ สิ่งที่แวบเข้ามาในหัวของคุณคืออะไรครับ

         แน่นอนหลายคนคงคิดถึงภาพบ้านเมืองใหญ่โต มีซุ้มประตูป้อมปราการอลังการ ผู้คนเดินขวักไขว่ ผู้ฝึกยุทธ์พกกระบี่เดินทางรอนแรม พักตามโรงเตี๊ยม และยังนึกไปถึงพื้นที่ชนบททุรกันดารแถบทะเลทราย ป่าไม้ไผ่เงียบงัน ภูเขาหินปูนสูงตระหง่านสลับโตรกลึก แม่น้ำที่ทอดตัวคดเคี้ยวไปตามเทือกเขาที่มีชาวนาปลูกข้าวบนนาขั้นบันได

         หรืออะไรก็ตามที่เป็นภาพของดินแดนแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมอบมรดกหลายต่อหลายอย่างให้แก่โลก ทั้งวัฒนธรรม ภาษา กระดาษ ดินปืน เข็มทิศ รวมถึงสิ่งต่าง ๆ มากมายเหลือคณานับ


ท่านที่สนใจประวัติศาสตร์จีน รับชมภาพยนตร์สารคดีชุดประวัติศาสตร์จีนทั้งหมดที่จัดทำโดยประเทศจีน ได้ใน QR code นี้ สามารถเปิดซับไตเติลภาษาอังกฤษประกอบการรับชม

         แต่สิ่งหนึ่งที่มีมาคู่อารยธรรมจีนมาเนิ่นนานก็คือความรู้ทางดาราศาสตร์นั่นเอง จีนเป็นหนึ่งในชนชาติแรก ๆ ที่เป็นผู้สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชาง และปรับปรุงให้ดีขึ้นตลอดมาในช่วงเวลากว่าสามพันปี ปรากฏหลักฐานว่าคนจีนโบราณได้ระบุชื่อดาวไว้ตั้งแต่ 1300 ปีก่อนคริสต์ศักราช จากชื่อดาวตามคติจีนที่มีการแบ่งหมวดหมู่เป็น 28 หมู่นักษัตรแบบจีน เรียกว่าเอ้อร์ฉือปาสิ้ว (二十八宿) มีฐานะเทียบเท่ากับกลุ่มดาวจักรราศีในดาราศาสตร์ตะวันตก หรือเหมือนกันกับดาวนักขัตฤกษ์ในดาราศาสตร์ไทยและอินเดีย โดยสลักไว้บนกระดูกสัตว์สำหรับใช้พยากรณ์ที่ขุดพบในเมืองอันหยาง (Anyang) ในมณฑลเหอหนาน มีอายุย้อนไปถึงสมัยกลางราชวงศ์ชาง ในช่วง 1250–1192 ปีก่อนคริสต์ศักราช สะท้อนการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ผ่านเดือนทางจันทรคติ (sidereal month)

         นักษัตรแบบจันทรคติยังใช้ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นอีกด้วย โดยมีการกล่าวถึงไว้ใน เบนเซนชูไค หนังสือรวมความรู้จากแถบอิงะและโคงะ เขียนโดยฟูจิบายาชิ ยาสุทาเกะ ในปี ค.ศ. 1676 (พ.ศ. 2219) และมีประวัติการบันทึกการสังเกตอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ยุคเลียดก๊ก (475–221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เลยทีเดียว


ยุคต่าง ๆ ของอารยธรรมจีนสมัยโบราณจนถึงเริ่มสมัยจักรวรรดิ

         ปัจจุบันเราทราบว่าพีทาโกรัส (570 ปีก่อนคริสต์ศักราช) อาจจะไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นทฤษฎีบทพีทาโกรัส เพียงแต่เป็นคนพิสูจน์ เพราะคนเราทราบความสัมพันธ์ระหว่างความยาวของด้านทั้งสามของรูปสามเหลี่ยมมุมฉากมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคอารยธรรมอียิปต์และบาบิโลเนีย สำหรับชาวจีนเองก็พบความสัมพันธ์ของจำนวน 3, 4 และ 5 เรียกว่า ทฤษฎีบทโกวกู่ (Gougu theorem) บันทึกอยู่ในคัมภีร์โจวปี้ซ่วนจิง (Zhoubi Suanjing) ตำราคณิตศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจว ช่วง 1,046 ปีก่อนคริสตกาล แต่ยังมีการปรับแก้เขียนเพิ่มเติมเรื่อยมาโดยนักปราชญ์แต่ละยุคสมัยจนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น (ช่วงปี 202 ก่อนคริสต์ศักราชถึง ค.ศ. 220) จากนั้นจึงมีการเติมบทวิจารณ์ต่าง ๆ ในตำราโดยปราชญ์ยุคหลังจนมาท้ายสุดในปี ค.ศ. 1270 โดย หยาง ฮุย (Yang Hui)[3] ซึ่งภายในตำราปรากฏหลักการประยุกต์ใช้ทฤษฎีบทโกวกู่ในงานต่าง ๆ รวมถึงความพยายามเทียบหาความสูงของสวรรค์หรือทรงกลมท้องฟ้าที่มีดวงอาทิตย์อยู่ ด้วยการวัดเงาแดดและคำนวณออกมาได้ว่าเท่ากับแปดหมื่นลี้ หรือราวสี่หมื่นกิโลเมตร ซึ่งแม้เราจะทราบว่าไม่ถูกต้องตามความรู้ในปัจจุบัน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามของคนยุคโบราณในการเข้าใจธรรมชาติรอบตัวผ่านวิธีการหาเหตุผลในยุคนั้น


เอ้อร์ฉือปาสิ้ว 28 นักษัตรจันทรคติของจีน ซึ่งมีการแบ่งสุริยวิถีออกเป็น 4 เขต ได้แก่ มังกรคราม (青龍) ทางตะวันออก เต่าดำ (玄武) ทางเหนือ พยัคฆ์ขาว (白虎) ทางตะวันตก และหงส์แดงหรือหงส์เพลิง (朱雀) ทางใต้ ซึ่งมีความละม้ายกับนกฟินิกซ์ของตะวันตก

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Twenty-Eight_Mansions

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับดาวเหนือของจีนโบราณ

          จีนโบราณมีเทพที่เกิดก่อนจะมีศาสนาเต๋าอยู่สามองค์ องค์แรกชื่อ ไท่อี่ (太乙) องค์ที่สอง คือ เทียนอี่ (天乙) ส่วนองค์ที่สาม คือ ตี้อี่ (地乙) มีดาวสองดวงคือ ไท่อี่และเทียนอี่ เป็นดาวที่นักดาราศาสตร์จีนโบราณให้ความสำคัญทั้งคู่ จากข้อมูลที่ปรากฏในงานวิจัย[6] ซึ่งวิเคราะห์แผนที่ดาวตุนหวงเทียบกับพิกัดตำแหน่งดาวในแผนที่ปัจจุบัน พบว่าสำหรับคนจีน ดาวที่ถือว่าเป็นดาวเหนือนั้น ไม่ใช่ Polaris แต่เป็น b Ursae Minoris หรือดาวบีตา ในกลุ่มดาวหมีเล็ก ซึ่งห่างออกไปจากขั้วเหนือจริง 6o 30’ อย่างไรก็ตามยังมีอีกสมมติฐานจากข้อมูลอีกแหล่งหนึ่ง[2] ว่า ในยุคศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล เทียนอี่ หรือ Ti ซึ่งเป็นองค์จักรพรรดิที่เป็นเทพสูงสุดควรจะเป็นดาวเหนือ โดยยุคนั้นดาวฤกษ์ที่ใกล้ขั้วเหนือตามแกนหมุนของโลกมากที่สุดคือ Kappa Dragonis

         ส่วนดาวไท่อี่เป็นเทพที่มีฤทธิ์อำนาจลำดับสูง เป็นผู้ช่วยของเง็กเซียนฮ่องเต้ จะอยู่ข้าง ๆ เทียนอี่ แหล่งข้อมูลบางแหล่งอ้างว่าสำหรับดาราศาสตร์ในปัจจุบัน ดาวไท่อี่ คือ Alpha Draconis หรือดาวดวงแรกของกลุ่มดาวมังกรนั่นเอง ซึ่งน่าจะไปกันได้กับสมมติฐานที่ 1

         อย่างไรก็ตามหากข้อมูลจากแหล่งนี้ถูกต้อง ดาวไท่อี่ก็น่าจะเป็น 4 Draconis ซึ่งเป็นดาวยักษ์ที่เป็นดาวแปรแสง มีความสว่างแมกนิจูด 4.95 ซึ่งอยู่ถัดจากดาวเทียนอี่ (k Draco) มากกว่า

          สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในแผนที่ดาวตุนหวงหมายเลข 13 แสดงถึงบริเวณโดยรอบดาวเหนือ เรียกว่า ราชวังม่วง (Purple Palace) ซึ่งความหมายในเชิงสัญลักษณ์จะมีองค์จักรพรรดิเป็นดาวเหนือ (pole star) ล้อมรอบไปด้วยดวงดาวที่เป็นตัวแทนของครอบครัวที่เป็นราชวงศ์ ข้าราชบริพารรับใช้ แม่ทัพนายกองต่าง ๆ แผนที่ดาวตุนหวงเป็นชุดแผนที่ดาวที่เก่าแก่ที่สุดของโลกที่มีการบันทึกดวงดาวไว้อย่างเป็นระบบ จากสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ประกอบด้วยแผนที่ดาว 13 ชิ้น ครอบคลุมดวงดาวที่จารึกชื่อไว้กว่า 1,300 ดวง โดยหลักการทางดาราศาสตร์ของแผนที่อธิบายไว้ในหน้าเว็บของโครงการนานาชาติตุนหวง (International Dunhuang Project: IDP) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือนานาชาติที่จะอนุรักษ์ จัดหมวดหมู่ และทำสำเนาดิจิทัลของเอกสารทั้งหมดในถ้ำ ตามลิงก์ https://idp.bl.uk/4DCGI/education/astronomy/atlas.html


ถ้ำโม่เกา

         ในช่วงต้นนั้นการศึกษาวิถีแห่งสวรรค์เป็นสิ่งสำคัญในการจัดตั้งอำนาจของกษัตริย์ และในกาลต่อมามันก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นราชัน ดังนั้นการฝึกฝนทักษะในการสื่อสารกับสวรรค์จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น ใครก็ตามที่หมายปองบัลลังก์ต้องฝึกฝนให้เข้าถึงซึ่งวิถีแห่งสวรรค์ เมื่อเข้าใจกลไกของฟากฟ้าแล้วจึงจะรับโองการสวรรค์ได้

          ในสมัยนั้นสถานที่ที่ใช้เรียนรู้ความประสงค์ของสวรรค์ คือ หลิงไท่ (Lingtai, Platform Garden) ซึ่งเป็นศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สื่อสารระหว่างสวรรค์กับมนุษย์ จึงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์มาก ในเมื่อความรู้เกี่ยวกับโองการสวรรค์เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งอำนาจของราชบัลลังก์ การเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้จึงต้องเป็นความลับที่สุด เมื่อมีการเปลี่ยนราชวงศ์ ราชวงศ์ใหม่มักพยายามที่จะสืบให้รู้ทั้งความรู้และความลับของราชวงศ์เก่า เพื่ออ้างสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะเป็นผู้รู้โองการสวรรค์และขึ้นสู่อำนาจได้นั่นเอง

          เมื่อเปลี่ยนโองการสวรรค์ไปสู่ผู้ที่มีความชอบธรรม ราชวงศ์ก็อาจเปลี่ยนตาม ดังเช่นในตอนที่พระเจ้าโจวอู่ (King Wu) นำทัพสู้กับฮ่องเต้ชางโจ้ว หรือชื่อ โจ้วหวัง (Zhou Wang) แห่งราชวงศ์ชาง ที่ร่ำสุรานารี ละเลยกิจการบ้านเมือง คนของราชวงศ์โจวจึงเป็นคนกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงโองการของสวรรค์อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเปลี่ยนราชวงศ์ พระเจ้าโจวเหวิน (King Wen) ของราชวงศ์โจวพระบิดาของพระเจ้าโจวอู่ จึงสร้างหลิงไท่ขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่สำหรับศึกษาศาสตร์ดังกล่าว

พัฒนาการของการศึกษาทางดาราศาสตร์ของจีนแต่ละยุคสมัย

          ยุคก่อนราชวงศ์ฉิน ช่วงที่มีการกำเนิดระบบ 28 นักษัตรเมื่อ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช เริ่มมีการใช้นาฬิกาแดด (Gnomon) เพื่อวัดการเปลี่ยนแปรของเงา เริ่มนำเอากฎปีอธิกสุรทิน 7 ปี ในทุกช่วง 19 ปี มาใช้งานตั้งแต่ปีที่ 589 ก่อนคริสต์ศักราช เริ่มบันทึกและทำนายปรากฏการณ์ท้องฟ้า เริ่มศึกษาปรากฏการณ์ท้องฟ้าอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น มีบันทึกเอาไว้ว่าในช่วง 242 ปี ระหว่างปี ที่ 722-481 ก่อนคริสต์ศักราช มีสุริยุปราคาเกิดขึ้น 37 ครั้ง ในยุคชุนชิว ซึ่งอย่างน้อย 31 ครั้งได้รับการพิสูจน์ว่าเกิดขึ้นอย่างแม่นยำ

          ยุคราชวงศ์ฉิน (221–206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และราชวงศ์ฮั่น (206 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 220) ในยุคนี้มีการศึกษาเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ทั้ง 5 ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก และบันทึกการสังเกตลงบนผืนผ้าไหม เรียกว่า ตำราปัญจดาราพยากรณ์ (Five Planets Divination) หรือ อู่ซิงจ้าน (Wu Xing Zhan, 五星占) ซึ่งขุดค้นพบในสุสานหม่าหวันตุยฮั่น (Mawangdui Han) จังหวัดฉางซา มณฑลหูหนาน ตำรานี้ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนคำพยากรณ์และส่วนของตารางตำแหน่งดาว ซึ่งบันทึกตำแหน่งของดาวพุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัส เสาร์ เป็นเวลา 70 ปี จากปีแรกที่ฉินชีฮ่องเต้ หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huangdi) ขึ้นครองราชย์ 246 ปีก่อนคริสต์ศักราช ไปจนถึงปีที่สามของยุคจักรพรรดิฮั่นเหวิน (Wen of Han) (ค.ศ. 177) ที่ปรากฏข้อมูลคาบดาราคติ (synodic period) ของดาวศุกร์เท่ากับ 584.4 วัน แตกต่างจากค่าที่วัดในปัจจุบันเพียง 0.48 วัน คาบดาราคติของดาวเสาร์เท่ากับ 377 วัน น้อยกว่าค่าวัดปัจจุบันเพียง 1.09 วัน โดยยังมีการนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปัจจุบัน หาอ่านเพิ่มเติมใน QR code ด้านล่างนี้

          ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก มีความเจริญด้านดาราศาสตร์อีกหลายประการ ดังเครื่องมือด้านดาราศาสตร์โบราณที่ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1977 ในสุสานของเซี่ยโหวเจ้า (Xiahou Zao) ที่แหล่งโบราณคดีชวางกู่ตุย (Shuanggudui, 雙古堆) ใกล้เมืองฟู่หยาง มณฑลอานฮุย ซึ่งปิดผนึกในปี 165 ก่อนคริสต์ศักราช ช่วงต้นราชวงศ์ฮั่น ภายในพบสิ่งประดิษฐ์ทางดาราศาสตร์หลายอย่าง ตั้งแต่กระดานทำนายโหราศาสตร์หลิวเหริน (cosmic board for six ren divination) ซึ่งต่อมากลายเป็น ต้าหลิวเหริน (Da Liu Ren) โหราศาสตร์รูปแบบหนึ่งปลายยุคสามก๊กที่ยึดตามปฏิทินจีน อาศัยการหมุนแป้นให้เข็มที่เป็นรูปกลุ่มดาวเหนือชี้ไปยังจุดที่ต้องการเพื่อทำนาย และกระดานทำนาย Grand Monad and Nine Lodge Divination ซึ่งศาสตราจารย์โดนัลด์ ฮาร์เพอร์ (Donald Harper) ผู้เชี่ยวชาญอารยธรรมจีนตอนต้น จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้อภิปรายว่าสิ่งประดิษฐ์นี้เป็นมากกว่าเครื่องมือโหราศาสตร์ เนื่องจากมันถือได้ว่าเป็นแบบจำลองเชิงกลไกของจักรวาลนั่นเอง[7]

      ในสุสานเดียวกันนี้ยังค้นพบเครื่องมือไม้เคลือบแล็กเกอร์ ไม่ทราบชื่อและหน้าที่การใช้งาน ซึ่งภายหลังจากวิเคราะห์[7] พบว่ามันเป็นนาฬิกาแดดพับได้ สำหรับกำหนดเวลาของฤดูกาลทั้งสี่ในปฏิทินจีนโบราณ ทั้งวสันตวิษุวัต (spring equinox) วันครีษมายัน (summer solstice) ศารทวิษุวัต (autumnal equinox) และวันเหมายัน (winter solstice)

       นอกจากนี้ยังพบแผ่นจานที่มีสัญลักษณ์ของ 28 นักษัตรจันทรคติ ซึ่งเป็นต้นแบบของแบบจำลองวงแหวนแสดงตำแหน่งดวงดาวในจักรวาลแบบของจีน (Chinese armillary sphere) ซึ่งในโลกตะวันตกนั้นเป็นแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานของทรงกลมท้องฟ้า แผ่นจานมีชิ้นบนกับล่าง ชิ้นบนแบ่งตามเส้นรอบวงออกเป็น 365 du (หน่วยวัดมุมของจีนโบราณที่ใช้ในการแบ่งวงกลมท้องฟ้า) และแผ่นจานด้านล่างมีชื่อ 28 นักษัตรเรียงลำดับไปตามทิศทางทวนเข็มนาฬิกา นักวิชาการได้ทำมันขึ้นมาใหม่โดยสร้างตามแบบของเดิมที่ขุดพบ พวกเขาพบว่า เมื่อปักเข็มชี้ยาว ๆ ในแนวดิ่งไปตรงรูตรงกลางแผ่นจาน จะวัดค่าไรต์แอสเซนชัน (right ascension) ของวัตถุท้องฟ้าใด ๆ ที่มองเห็นจากสถานที่ที่ผู้สังเกตการณ์อยู่ได้อย่างแม่นยำ[7]

       ในรัชกาลของฮ่องเต้ซวนเต๋อ (Xaunde) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก มีบุคคลผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งปรากฏตัวขึ้น เขาเป็นทั้งนักดาราศาสตร์ นักพรตเต๋า นักคณิตศาสตร์ และนักวรรณคดี ชื่อว่า จางเหิง (Zhang Heng) (ค.ศ. 78-139) เขาเป็นผู้คิดค้นเครื่องวัดแผ่นดินไหวเครื่องแรกของโลกที่ชื่อ โฮ่วเฟิงตี้ต้งอี๋ (候风地动仪) ได้ก่อนหน้าเครื่องวัดแผ่นดินไหวของบรรดาชาติตะวันตกถึง 1,700 ปี ประกอบด้วยไหสำริดที่มีมังกรคาบแก้วและรูปหล่อกบเรียงรายอยู่ตามทิศต่าง ๆ ทั้งแปดทิศ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ลูกแก้วจะตกจากปากของมังกรลงไปยังปากกบในทิศที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้น นอกจากนี้เขายังเป็นคนแรกที่ได้ประดิษฐ์กลไกการขับเคลื่อนแบบจำลองวงแหวนทรงแสดงทรงกลมท้องฟ้า (armillary sphere) โดยอาศัยหลักการของพลังงานน้ำจากกังหันน้ำและนาฬิกาน้ำในการขับเคลื่อน

แบบจำลอง “โฮ่วเฟิงตี้ต้งอี๋” เครื่องวัดแผ่นดินไหวเครื่องแรกของโลกที่ออกแบบโดยจางเหิง
ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:EastHanSeismograph.JPG

          นักดาราศาสตร์ชาวกรีก เอราทอสเทนีส (Eratosthenes) ได้คิดแบบจำลองทรงกลมท้องฟ้า(armillary sphere) นี้ขึ้นมาในปี 255 ก่อนคริสตกาล ซึ่งของจีนพัฒนาจนสมบูรณ์ภายหลังในปี 52 ก่อนคริสตกาล นักดาราศาสตร์ เกิง ฉู่ฉาง (Geng Shouchang) เพิ่มวงแหวนเส้นศูนย์สูตร และในปี ค.ศ. 84 นักดาราศาสตร์ ฝู อัน (Fu An) และเจี่ย ขุย (Jia Kui) เพิ่มวงแหวน ecliptic ring แสดงระนาบการโคจรของโลก และท้ายสุดจางเหิงได้เพิ่มวงแหวนแนวนอน (horizon ring) และวงแหวนแนวตั้ง (meridian ring) เข้าไป ซึ่งทรงกลมท้องฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำของจางเหิงนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อวงการดาราศาสตร์จีนและวิศวกรรมเครื่องกลในยุคหลังจากนั้น โดยมีอิทธิพลอย่างมากต่อการประดิษฐ์เครื่องกลที่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำของนักดาราศาสตร์ยุคหลัง ได้แก่ อี๋ ซิง (Yi Xing, ค.ศ. 683-727) จาง ซีสุ้น (Zhang Sixun, คริสต์ศตวรรษที่ 10) ซู่ ซง (Su Song, ค.ศ. 1020-1101) กัว โฉ่วจิ้ง (Guo Shoujing, ค.ศ.1231-1316) และคนอื่น ๆ อีกมากมาย ดังตัวอย่างในรูป

แบบจำลองทรงกลมท้องฟ้า (armillary sphere) บนหอนาฬิกาของ Su Song ที่ขับเคลื่อนด้วยกังหันน้ำ และโซ่ ซึ่งได้พัฒนาแบบมาจากงานของจางเหิง
ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Zhang_Heng#Water-powered_armillary_sphere)

         จางเหิงยังอนุมานไว้ได้แม่นยำว่าดวงอาทิตย์ทำให้ดวงจันทร์สว่าง และจันทรุปราคาเกิดจากดวงจันทร์วิ่งเข้าไปในเงาของโลก นอกจากนี้เขายังได้ทำแผนที่ดาวอย่างละเอียด บันทึกดาวเอาไว้กว่า 2500 ดวงในกลุ่มดาว 124 กลุ่ม รวมถึงตั้งชื่อดาวรวม 320 ชื่อ และรวมจำนวนดาวบนท้องฟ้าเท่าที่สังเกตพบในสมัยนั้นว่ามีถึง 11,520 ดวง อีกทั้งยังเขียนตำราดาราศาสตร์เอาไว้จำนวนมาก เล่มที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Ling Xian (靈憲) หรือ The Spiritual Constitution of the Universe เขียนในปี ค.ศ. 120 โดยตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับโครงสร้างจักรวาลและตำแหน่งของโลกในจักรวาลเอาไว้ว่า ท้องฟ้านั้นเหมือนไข่ไก่ที่กว้างใหญ่ไพศาล มีโลกเหมือนไข่แดงตรงกลางขนาดจิ๋วเมื่อเทียบกับฟองเปลือกไข่นั้น

         อันที่จริงเรื่องราวของดาราศาสตร์จีนยังคงมีต่อ รวมถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของจีนในช่วงหลังจากยุคสามก๊กไปถึงยุคหลัง ๆ เมื่อได้ติดต่อกับชาวตะวันตก เราจะมาติดตามตอนจบกันในบทความฉบับหน้านะครับ


แหล่งอ้างอิง

[1] Pankenier David W. 2013. Astrology and Cosmology in Early China : Conforming Earth to Heaven. New York: Cambridge University Press. https://doi.org/10.1017/CBO9781139017466.

[2] Ansari S. M. Razaullah and International Astronomical Union. 2002. History of Oriental Astronomy : Proceedings of the Joint Discussion-17 at the 23rd General Assembly of the International Astronomical Union Organised by the Commission 41 (History of Astronomy) Held in Kyoto August 25-26 1997. Dordrecht: Kluwer Academic.

[3] Cullen Christopher. 2006. Astronomy and Mathematics in Ancient China : The Zhou Bi Suan Jing 1St pbk. version ed. Cambridge: Cambridge University Press.

[4] Martzloff Jean-Claude. 2016. Astronomy and Calendars — the Other Chinese Mathematics : 104 Bc-Ad 1644. Berlin: Springer. https://doi.org/10.1007/978-3-662-49718-0.

[5] Lu Yung-hsiang. 2015. A History of Chinese Science and Technology. 1. Heidelberg: Springer.

[6] Jean-Marc Bonnet-Bidaud, Francoise Praderie, Susan Whitfield. The Dunhuang chinese sky: a comprehensive study of the oldest known star atlas. J. of Astronnomical History and Heritage. 12(1), (2009) 39-59

[7] Shi, Y. (2014). Ancient Chinese Astronomy – An Overview. Handbook of Archaeoastronomy and Ethnoastronomy, 2031–2042. doi:10.1007/978-1-4614-6141-8_210
[8] Fomenko Anatoly and Nosovskiy Gleb. 2003. The Issue with Chinese Astronomy. Delamere Resources LLC


เว็บไซต์สำหรับอ่านเพิ่มเติม

  • https://www.facebook.com/groups/783674078384718/posts/2568606019891506/
  • https://grandtourchina.com/บทความ/ประวัติศาสตร์จีน/
  • https://www.digitalschool.club/digitalschool/social2_1_1/m6_1/content/lesson3/3_21.php
  • https://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์จีน
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Zhoubi_Suanjing
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_astronomy
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Shuanggudui

About Author