ม.มหิดล แนะปลูกฝังเด็กให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ “อยู่กับ COVID-19”

          วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อบรรดาสถาบันการศึกษา ทำให้ต้องหยุดการเรียนการสอน ศูนย์เด็กเล็กซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนามนุษย์ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังคงสู้ยืนหยัดเพื่อให้ “อยู่กับ COVID” ได้อย่างยั่งยืน

          เช่นเดียวกับ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การบริหารโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ยังคงยืดหยัดต่อสู้กับวิกฤติ COVID-19 อย่างเข้มแข็ง โดยที่ผ่านมาได้มีการวางแผน ทดลอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย และผู้ปกครอง เพื่อให้สามารถ “อยู่กับ COVID-19” ได้อย่างยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่าในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่จะถึงนี้ เด็กๆ จะได้กลับมาเข้าชั้นเรียนได้อย่างปลอดภัย ได้กลับคืนสู่เบ้าหลอมแรกของการพัฒนาชีวิตมนุษย์ ณ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้ต่อไป

          รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้แสดงมุมมองถึงการที่กระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดให้เด็กอายุตำ่กว่า 6 ปีเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 ได้ต่อไปในอนาคตหรือไม่นั้น เชื่อว่าการทดสอบวัคซีนเชื้อตายสำหรับใช้ในเด็กเล็กน่าจะประสบความสำเร็จและนำมาใช้ได้ เช่นเดียวกับที่กระทรวงสาธารณสุขได้ไฟเขียวให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนประเภท mRNA ได้

          ในขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมให้กับ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถรองรับมาตรการฯ ได้อยู่ตลอดเวลา โดยในเบื้องต้นจะให้เด็กเล็กทุกรายของศูนย์ฯ ได้รับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 และจะมีการตรวจต่อไปเป็นระยะๆ ด้วยวิธีการสุ่มตรวจ และยังคงใช้วิธีการแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ ทำกิจกรรมแยกกันอย่างชัดเจน แต่จะให้เด็กสามารถเล่นกลางแจ้งได้โดยมีการควบคุม และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ตลอดจนได้ขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองรายงานสถานการณ์อย่างไม่ปิดบัง กรณีสงสัยว่ามีบุคคลในครอบครัวสัมผัสเชื้อ เพื่อจะได้ให้เด็กหยุดเรียนที่บ้านสังเกตอาการต่อไป

          ซึ่งจากการทดลองตรวจหาเชื้อ COVID-19 กับเด็กในพื้นที่กักโรคของชุมชน (Community Isolation) ที่ผ่านมาพบว่า การตรวจโดยใช้วิธี Swab หรือการเก็บตัวอย่างโดยใช้ไม้พันสำลีสอดเข้าทางรูจมูกนั้น แม้จะให้ผลที่ดี แต่ไม่อาจใช้กับเด็กเล็กทุกรายได้ เนื่องจากอาจทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว แต่ด้วยบุคลากรที่มีทักษะในการดูแลเด็กเล็ก แม้ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ก็จะสามารถทำได้อย่างราบรื่น

          นอกจากนี้ อาจใช้การตรวจด้วยวิธีอื่นที่ง่ายกว่าทดแทน เช่น วิธีการตรวจด้วยน้ำลาย ทั้งนี้ การสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ในผู้ใหญ่ด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 หมายถึง การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กด้วย เนื่องจากเป็นบุคคลที่เด็กใกล้ชิดโดยตรง หากผู้ใหญ่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน เด็กก็จะปลอดภัยไปด้วย แต่ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ยังคงควรต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความสะอาด และรักษาระยะห่างเช่นเดิม ซึ่งการกอดรัดฟัดเหวี่ยงเด็ก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

          “เด็กในยุค COVID-19 แพร่ระบาดนอกจากควรได้รับการฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว ควรส่งเสริมให้เด็กได้รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเอง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป รวมทั้งรักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเข้าใจผู้อื่น จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และมั่นคง” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวทิ้งท้าย


สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย
}ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

About Author