เห็ดต้านมะเร็ง ยาจากธรรมชาติ

เรื่องโดย รวิศ ทัศคร


          เห็ดมักจะถูกเอาไปจัดไว้ในกลุ่มเดียวกับพืช แต่อันที่จริงแล้วเห็ดเป็นเชื้อราชั้นสูง ไม่ใช่ทั้งพืชและสัตว์

          เห็ดในโลกนี้เท่าที่เคยมีการจำแนกเอาไว้นั้นมีมากถึง 14,000 ชนิด (สปีชีส์) บางชนิดก็มีพิษ ไม่ควรนำมาบริโภค เคยมีรายงานว่าเห็ดที่รับประทานได้ในโลกนี้มีถึง 3,000 ชนิด มี 200 ชนิดที่คนเรานิยมนำมารับประทาน มี 100 ชนิดที่มีการผลิตในเชิงเกษตรกรรม และมีเพียงบางชนิดที่มีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม[1] ซึ่งมีการควบคุมจึงรับประทานได้อย่างปลอดภัย ต่างจากเห็ดที่เก็บในป่า ต้องมีการพิจารณาชนิดอย่างระมัดระวัง


เห็ดหัวลิงสดและแห้ง

          มีเห็ดอยู่หลายชนิดที่มีสารต้านมะเร็งอยู่ในตัว ได้แก่

  • เห็ดร่างแห (ชื่อสามัญ bamboo fungus, veiled lady ชื่อวิทยาศาสตร์ Dictyophora indusiata)
  • เห็ดนางรมสีทองหรือเห็ดนางรมทอง (ชื่อสามัญ golden oyster mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Pleurotus citrinopileatus)
  • เห็ดหูหนู (ชื่อสามัญ Jew’s ear, jelly ear, Judas’s ear ชื่อวิทยาศาสตร์ Auricularia auricula, A. polytricha, A. delicata)
  • เห็ดหัวลิงหรือเห็ดยามาบูชิตาเกะ (ชื่อสามัญ lion’s mane mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Hericium erinaceus, H. coralloides)
  • เห็ดไมตาเกะ (ชื่อสามัญ maitake, signorina mushroom หรือ chestnut Mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyporus frondosus)
  • เห็ดตีนแรด (ชื่อสามัญ Mongolia tricholoma ชื่อวิทยาศาสตร์ Tricholoma mongolicum)
  • เห็ดนางรม (ชื่อสามัญ oyster mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Pleurotus ostreatus)
  • เห็ดสนหรือเห็ดมัตสึทาเกะ (ชื่อสามัญ pine mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Tricholoma matsutake)
  • เห็ดกระดุมบราซิล (ชื่อสามัญ princess matsutake, Brazilian mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Agaricus blazei, A. subrufescens, A. brasiliensis, A. rufotegulis)
  • เห็ดกระชายหรือเห็ดขอนสนน้ำผึ้งแบบไม่มีวงแหวน (ชื่อสามัญ ringless honey mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Armillaria tabescens)
  • เห็ดหอม (ชื่อสามัญ shiitake, sawtooth oak mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Lentinus edodes)
  • เห็ดหิมะหรือเห็ดหูหนูขาว (ชื่อสามัญ snow fungus ชื่อวิทยาศาสตร์ Tremella fuciformis)
  • เห็ดแครงหรือเห็ดตีนตุ๊กแก (ชื่อสามัญ split gill mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Schizophyllum commune)
  • เห็ดฟาง (ชื่อสามัญ straw mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์ Volvariella volvacea)
  • เห็ดเข็มทอง (ชื่อสามัญ winter mushroom, enokitake ชื่อวิทยาศาสตร์ Flammulina velutipes)

          เห็ดเหล่านี้ หากมีโอกาสอาจได้นำมารีวิวให้ผู้อ่านฟังอีก แต่ในบทความฉบับนี้เราจะเลือกมาสักสองสามชนิดเพื่อมาสนทนาบอกเล่าเรื่องราวของมันกันครับ

เห็ดหัวลิงหรือเห็ดยามาบูชิตาเกะ (lion’s mane mushroom)

          เห็ดชนิดนี้พบได้ทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย มีการบริโภคมาหลายร้อยปีแล้วในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลี ในสูตรอาหารป่าและใช้รักษาโรคในระบบย่อยอาหาร ในเห็ดแห้ง 100 กรัม จะมีโปรตีน 26.3 กรัม ไขมัน 4.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 44.9 กรัม ใยอาหาร 6.4 กรัม วิตามินบี 1 0.89 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 1.89 มิลลิกรัม และแคโรทีน 0.01 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีเกลือแร่ต่าง ๆ ในปริมาณเล็กน้อย ได้แก่ แคลเซียม โครเมียม โคบอลต์ ทองแดง เหล็ก แมกนีเซียม แมงกานีส โมลิบดีนัม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม โซเดียม กำมะถัน และสังกะสี มีการศึกษาพบว่านอกเหนือจากผลในด้านการต้านมะเร็งและเนื้องอกแล้ว เห็ดหัวลิงยังมีคุณสมบัติช่วยในด้านสุขภาพหลายอย่าง เช่น ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (antiulcer) กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ ลดความดันโลหิต ต้านเบาหวาน ต้านการอักเสบ ปกป้องระบบประสาท และต้านเชื้อจุลินทรีย์[2]

          เคยมีผู้ศึกษาว่าสารสกัดดอกเห็ดหัวลิงที่สกัดด้วยวิธีใช้น้ำร้อน (hot water extraction: HWE) หรือใช้เอทานอลที่ความเข้มข้นร้อยละ 50 สกัดร่วมกับการใช้ไมโครเวฟ (microwave assisted extraction: MWE) สามารถผลักดันให้เกิดการตายของเซลล์ด้วยกระบวนการทำลายตนเอง (proapoptosis) ของ CT-26 ที่เป็นเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ของหนูทดลอง ซึ่งการฉีดสารสกัดเห็ดเข้าไปในช่องท้องของหนู (10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะลดน้ำหนักของเนื้องอกลงไปได้ถึงร้อยละ 38 และยังขัดขวางการลุกลามของมะเร็งปอดในหนูทดลองไปได้ถึงร้อย 66 สำหรับ HWE และร้อยละ 69 สำหรับ MWE อีกด้วย[3], [4] โดยตัวอย่างที่นำมานี้เป็นส่วนน้อยเท่านั้นยังมีงานการศึกษาอื่น ๆ อีกมากมายหลายชิ้นด้วยกัน

          เมื่อมีการค้นพบสมบัติที่ดีต่าง ๆ ของเห็ดหัวลิงแล้ว จึงมีความพยายามในการแยกส่วนประกอบของสารสกัดเห็ดว่ามีสารชนิดใดบ้างที่มีผลยับยั้งมะเร็ง ซึ่งพบว่าสารประกอบที่พบในเห็ดหัวลิงดังต่อไปนี้มีผลในการต้านมะเร็งทั้งสิ้น

สารพอลิแซ็กคาไรด์ทั้งหมดที่สกัดจากเห็ดหัวลิง (Hericium erinaceus polysaccharide, HEPS) [5]
HEG-5 ซึ่งเป็นสารประกอบเชิงซ้อนของพอลิแซ็กคาไรด์-โปรตีน (polysaccharide protein complex) จากการหมักเส้นใยเห็ดหัวลิง
กรดไขมัน (9R,10S,12Z)-9,10-dihydroxy-8-oxo-12-octadecenoic acid
สารในกลุ่ม g-pyrones อันได้แก่ erinapyrones-A และ erinapyrones-B
สารกลุ่ม g-pyridine alkaloids โดยเฉพาะสาร erinacerin-P จากเส้นใยเห็ดหัวลิง
สารในกลุ่ม g-lactams และ g-lactones
สารในกลุ่ม phenolic derivatives ซึ่งได้แก่ isohericenone-J, hericenone-J, 4-[3′,7′-dimethyl-2′,6′-octadienyl]-2-formyl-3-hydroxy-5-methoxybenzylalcohol, Hericenone-I,

hericenone-L, hericene-D, 3,4-dihydro-5-methoxy-2-methyl-2-(4′-methyl-2′-oxo-3′-pentenyl)-9(7H)-oxo-2H-furo-[3,4-h]benzopyran

สารในกลุ่มเออร์โกสเทอรอล (ergosterols) และ ergosterol peroxide ซึ่งเป็นอนุพันธ์
สาร cerebroside E ซึ่งเป็นสารในกลุ่มของไกลโคสฟิงโกลิพิด (glycosphingolipid) ซึ่งเป็นกลุ่มไขมันที่มีขั้ว มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน มีการศึกษาในหญ้าปักกิ่งพบผลในการยับยั้งมะเร็งอีกด้วย (สนใจอ่านเพิ่มเกี่ยวกับไกลโคสฟิงโกลิพิดในหญ้าปักกิ่งได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/en/knowledge/article/140/หญ้าปักกิ่ง/)

เห็ดกระดุมบราซิลหรือเห็ดบราซิล (princess matsutake หรือ Brazilian mushroom)

          เห็ดกระดุมบราซิลมีถิ่นกำเนิดที่เขตเมืองพีดาด (Piedade) ในรัฐเซาเปาลู (São Paulo) รวมถึงในแถบตอนใต้ของประเทศบราซิล และในประเทศเปรู นอกจากนี้ยังพบในรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่ากระดุมนี้เพราะเป็นเห็ดที่อยู่ในสกุล (genus) เดียวกับเห็ดกระดุมหรือเห็ดแชมปิญอง (Agaricus bisporus) ที่คนไทยรู้จักกันดีนั่นเอง เห็ดชนิดนี้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมานาน เช่น ในญี่ปุ่น เริ่มนำมาเพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และมีการเพาะเชิงการค้าในจีน ที่มณฑลฝูเจี้ยนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ซึ่งในเมืองไทยของเรา ศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ศึกษาวิจัยจนเพาะและขยายพันธุ์ได้ในปี พ.ศ. 2535 และพัฒนาไปจนถึงขั้นเพาะเลี้ยงขยายในเชิงการค้าได้สำเร็จ

          เห็ดชนิดนี้นำมาใช้ทั้งเป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและในเชิงของอาหารฟังก์ชัน (functional food) ที่นอกเหนือจากให้รสชาติและความอิ่มแล้ว ยังให้ผลในการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค เห็ดกระดุมบราซิลเมื่อใช้ประกอบอาหารจะให้รสชาติกลมกล่อมและมีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ ปกติจะใช้ดอกแห้งหรือดอกสดใส่ลงในเมนูอาหารหรือน้ำซุป น้ำสต๊อก หรือใส่ตุ๋นกับซี่โครงแบบเดียวกับที่ใช้เห็ดหอม เพื่อเพิ่มกลิ่นรสและคุณค่าทางโภชนาการ ถือเป็นอาหารที่มีราคาแพง โดยมีราคาในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 450–500 บาท ต่อเห็ดแห้ง 100 กรัม


เห็ดกระดุมบราซิลสดและแห้ง

          ตั้งแต่การค้นพบในยุค 60s มีการศึกษาเกี่ยวกับเห็ดกระดุมบราซิลมากมายทั้งในแบบที่ทำในหลอดทดลอง (in vitro) ในสัตว์ทดลอง (in vivo) และการทดลองทางคลินิก ซึ่งสาธิตให้เห็นว่ามีประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้งานทั้งทางยาและโภชนเภสัช เนื่องจากเป็นอาหารฟังก์ชันที่มีความสามารถในการเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง รักษาสมดุลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (immunoregulating) ต่อต้านการกลายพันธุ์ (antimutagenic) และการต้านอนุมูลอิสระ ทำให้เห็ดกระดุมบราซิลได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน

          ในแง่ของการรักษาสมดุลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและภูมิคุ้มกันต่อต้านการเกิดเนื้องอก โดยเฉพาะผลของมันในด้านเซลล์กลืนกิน (phagocytic) และด้านการต้านพิษในระดับยีน (antigenotoxic) ในระบบภูมิคุ้มกันของคนเรามีจำนวนเม็ดเลือดขาวที่เป็น NK Cell (natural killer cell) ประมาณร้อยละ 15  เซลล์เม็ดเลือดขาวพวกนี้เป็นเซลล์ด่านแรกสุดที่จะคอยกำจัดและทำลายเชื้อโรค ไวรัส มะเร็ง หรือสิ่งแปลกปลอมทั้งหลายที่เข้ามาในร่างกาย โดยไม่ต้องรอการกระตุ้นหรือสั่งการจากเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นก่อน ซึ่งจากการทดลองในสัตว์พบว่า การป้อนสารสกัดเห็ดกระดุมบราซิลให้หนูทดลองในปริมาณ 4–100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 21 วัน จะช่วยเพิ่มการทำงานของ NK cell และแมโครฟาจ (macrophage) ซึ่งเพิ่มการหลั่งไซโทไคน์ (cytokine) ที่เกี่ยวข้องอย่าง IL-6 มากขึ้น[6] ทำให้เพิ่มความเป็นพิษต่อเซลล์ต่อการเริ่มเกิดและการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้ สารต้านเนื้องอกและมะเร็งจากเห็ดกระดุมบราซิลคือพอลิแซ็กคาไรด์และสารประกอบเชิงซ้อนที่เกิดจากพอลิแซ็กคาไรด์ที่มีโปรตีนจับอยู่ มีทั้งกลุ่มสารโมเลกุลใหญ่ เช่น polysaccharides [β-glucans, glucomannan, และ mannogalactoglucan] รวมถึง proteoglucans และ riboglucans และพวกโมเลกุลเล็กอย่างพวกอนุพันธ์ของเออร์โกสเทอรอลและสารแอลคาลอยด์ต่าง ๆ

          โดยสารสำคัญในเห็ดกระดุมบราซิล มีดังนี้

สารในกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์จากเห็ดกระดุมบราซิล (A. blazei polysaccharides, ABP) ได้แก่ β-(1-6)-glucan, β-(1-3)-glucan, α-(1-6)- and α-(1-4)-glucan, glucomannan และอื่น ๆ โดยมีตัวหลักคือกลุ่ม β-D-glucan โดย β-(1-6)-(1-3)-glucans ที่ละลายน้ำได้ใน ABP จะเป็นตัวที่ทำหน้าที่ส่วนใหญ่ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
สารในกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์จากเห็ดกระดุมบราซิลที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ (low molecular weight polysaccharide: LMPAB) เช่น β-(1-3)-glucan
FA-2-b-b ซึ่งเป็น RNA–protein complex ที่พบในเห็ดกระดุมบราซิล ซึ่งจากการทดลองแบบ in vitro พบว่ามีผลกดการเจริญเติบโตและการมีชีวิตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวของมนุษย์สายพันธุ์ HL-60 ลงได้
สารในกลุ่มอนุพันธ์ของเออร์โกสเทอรอล (ergosterol derivatives) ทั้ง ergosterol และอนุพันธ์คือ blazein และ agarol
สารกลุ่มแอลคาลอยด์ (alkaloids) พบในสารสกัดเห็ดโดยใช้น้ำร้อน (HWE) โดยมี agaritine ซึ่งเป็นแอลคาลอยด์ที่มีไฮดราซีนเป็นองค์ประกอบ พบว่าสารตัวนี้ขัดขวางการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวของมนุษย์จำนวน 4 สายพันธุ์ที่ใช้ทดลองในห้องปฏิบัติการ ได้แก่ U937, Molt4, HL-60, และ K562 ลงได้

          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเห็ดที่รับประทานได้และคุ้นเคยกันกว่า 15 ชนิดข้างต้น เป็นอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งจากสารพิษนานาชนิดที่พวกเรารับเข้าไปทุกวันได้เป็นอย่างดี เราเล่าเนื้อหาวิชาการมามากแล้วก่อนจบบทความในตอนนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเรื่องเบา ๆ กันบ้าง ผู้เขียนมีสูตรซุปเห็ดกระดุมบราซิล (ใช้เห็ดแชมปิญองทำก็ได้) มาฝากสองสูตร เผื่อใครอยากทดลองนำไปปรุงเพื่อสุขภาพกันครับ

  • สูตรแรก แกงจืดฟักเขียวไส้กรอกโชริโซ (Chorizo) ใส่เห็ดกระดุมบราซิล วิธีทำง่ายมาก เพียงต้มน้ำ 1.7 ลิตรให้เดือดในหม้อ หั่นฟักใส่ลงไปพอประมาณ ต้มให้เดือดต่อสัก 10 นาที ใช้ไส้กรอกโชริโซ 1-2 เส้น มาหั่นเป็นแว่น ใส่ลงไป ใส่เกลือ และพริกไทยตามชอบ ต้มต่อด้วยไฟอ่อนราว 5 นาที จากนั้นใส่เห็ดกระดุมบราซิลสดลงไป 1 แพ็ก ต้มต่ออีก 5 นาที แต่งหน้าด้วยผักตามชอบ แล้วยกเสิร์ฟ
  • สูตรที่สอง ซุปเห็ดกระดุมบราซิล ใส่สาหร่ายคอมบุ วิธีทำ ก่อนจะปรุงให้แช่เห็ดกระดุมบราซิลตากแห้ง 45 กรัม และสาหร่ายคอมบุ 40 กรัม ในน้ำให้ฟูก่อน สัก 30 นาที แช่ถั่วดำ 115 กรัมในน้ำล่วงหน้าด้วย 3 ชั่วโมง พอครบเวลาแล้วเทน้ำที่แช่ทิ้งไป จากนั้นใส่น้ำ 4 ลิตรในหม้อ ใส่ข้าวโพดสดลงไป 1 ท่อน เพื่อให้น้ำซุปหวาน ต้มให้เดือด ใส่น้ำมันงา ¼ ช้อนชา ใส่ถั่วดำกับเห็ดที่แช่น้ำแล้วลงไป ใส่ลำไยอบแห้ง 20 กรัม มะม่วงหิมพานต์คั่ว 100 กรัม ต้มด้วยไฟแรง 15 นาที ใส่สาหร่ายคอมบุลงไปต้มต่อด้วยไฟกลาง เป็นเวลา 30–40 นาที แล้วอุ่นด้วยไฟอ่อนอีก 45 นาที จากนั้นแต่งรสด้วยเกลือเล็กน้อย แล้วเสิร์ฟ

          ทำแล้วได้รสชาติถูกปากหรือไม่อย่างไร ฝากข้อความผ่านมาทางกองบรรณาธิการได้นะครับ พบกันฉบับหน้า


อ้างอิง

  1. Dayani, S., & Sabzalian, M. R. (2018). Genetically modified plants as sustainable and economic sources for RUTFs. In Genetically engineered foods (pp. 49-84). Academic Press.
  2. Friedman, M. 2015. Chemistry, nutrition, and health-promoting properties of Hericium erinaceus (Lion’s Mane) mushroom fruiting bodies and mycelia and their bioactive compounds. Agricult. Food Chem. 63: 7108–7123.
  3. Kim, S.P. et al., 2013. Hericium erinaceus (Lion’s Mane) mushroom extracts inhibit metastasis of cancer cells to the lung in CT-26 colon cancer-transplanted mice. Agri. Food Chem. 61: 4898–4904.
  4. Kim, S.P. et al., 2011. Composition and mechanism of antitumor effects of Hericium erinaceus mushroom extracts in tumor-bearing mice. Agric. Food Chem. 59: 9861–9869.
  5. Yang, Y., Li, J., Hong, Q., Zhang, X., Liu, Z., & Zhang, T. (2022). Polysaccharides from Hericium erinaceus Fruiting Bodies: Structural Characterization, Immunomodulatory Activity and Mechanism. Nutrients, 14(18), 3721.
  6. Kang, I.S. et al., Effects of Agaricus blazei Murill water extract on immune response in BALB/c mice. Han’guk Sikp’um Yongyang Kwahak Hoechi 44(11): 1629–1636.

About Author