Headlines

สิ่งประดิษฐ์ตอบชีวิต BCG

ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.


 

          Sci Delight ฉบับนี้ขอนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ฝีมือนวัตกรไทย ที่เริ่มต้นจากความใส่ใจและห่วงใยสังคมที่อยู่รอบตัว แล้วนำไปสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนไทยโดยตรง ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวก สร้างประโยชน์ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโจทย์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีซึ่งเป็นวาระแห่งชาติในปัจจุบันอีกด้วย

“อุปกรณ์ตัดสับปะรด” ตัด เก็บ ลดเจ็บ ในขั้นตอนเดียว

          จากปัญหาความทุกข์ของเกษตรกรชาวไร่สับปะรดเรื่องความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ที่ต้องแลกมาด้วยอาการบาดเจ็บจากหนามของใบสับปะรดแทง มีดบาดมือ หรือสัตว์ที่ซ่อนตัวอยู่ในไร่มาทำร้าย ธรรมนูญ รุจิญาติ และอดิศร มยาเศรษฐ นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จึงประดิษฐ์ ‘อุปกรณ์ตัดสับปะรด’ ขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

          อุปกรณ์ตัดสับปะรดที่ทั้งสองคนพัฒนาขึ้นนี้เป็นอุปกรณ์แบบ 2 in 1 คือสามารถใช้ตัดและจับผลสับปะรดได้ในเครื่องมือเดียว มีลักษณะเป็นแท่งสเตนเลสยาวประมาณ 1 เมตร ฝั่งหนึ่งเป็นที่บีบควบคุมการทำงาน อีกฝั่งเป็นกรรไกรตัดและตัวหนีบผลสับปะรด มีเชือกสำหรับสะพายพาดอุปกรณ์ไว้บนบ่า อุปกรณ์หนักประมาณ 1.3 กิโลกรัม ผลิตจากสเตนเลส 304 ปลอดสนิม ควบคุมการทำงานได้จากที่บีบ 2 จุด ที่บีบจุดแรกสำหรับควบคุมการทำงานของกรรไกรในการตัดผลและแต่งใบ ที่บีบจุดที่สองสำหรับควบคุมตัวหนีบผลสับปะรดหลังตัด อุปกรณ์นี้ออกแบบให้ยืนตัดได้สะดวก ไม่ต้องก้มหลังมากเพื่อยื่นมือเข้าไปตัดและจับผลที่ต้นเหมือนการใช้มีดตัดแบบเดิม จึงปลอดภัยและลดโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่หลังจากการทำงานระยะยาวได้

          นอกจากตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยแล้ว เกษตรกรทุกเพศทุกวัยยังใช้อุปกรณ์นี้ช่วยกันทำงานได้สะดวกสบายขึ้น จากที่คนหนึ่งเคยเก็บได้อย่างมากแค่ 5-10 ไร่ต่อวัน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 30-35 ไร่ต่อวัน แถมอุปกรณ์มีราคาเพียง 2,500 บาท ถือว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับความสามารถของอุปกรณ์ ทั้งคู่ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตให้แก่รุ่นน้องที่วิทยาลัยฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการหารายได้หลังเลิกเรียนและสร้างเสริมประสบการณ์อีกด้วย

          ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี (ศูนย์บ่มเพาะศักยภาพนักศึกษา) รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nstda.or.th/home/news_post/sciupdate-20200305-pineappleharvest/

“Crab Bank” เครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ ช่วยฟื้นฟูปูม้าไทย

          “Crab Bank” เป็นเครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ ที่สิทธิพร จันทานิตย์ และภานุวัฒน์ อักษรคง นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ประดิษฐ์ขึ้น โดยผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการฟื้นฟูปริมาณปูม้าจากธนาคารชุมชนกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาปริมาณปูม้าในทะเลไทยและอัตราการเกิดของลูกปูม้าตามธรรมชาติลดลงจนใกล้วิกฤต ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำประมงเชิงพาณิชย์อย่างขาดจิตสำนึก

          ตัวเครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ Crab Bank มีลักษณะแบบคอนโดมิเนียม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ชั้นบนสุดคือถังเก็บและกรองน้ำเค็มที่สูบมาไว้ใช้เลี้ยงปู ส่วนที่ 2 ชั้นอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดอง ประกอบด้วยถังกลาง 1 ถัง และถังรอบนอกอีก 8 ถัง ใช้สำหรับอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดองถังละ 1 ตัว ระบบจะคำนวณระยะเวลาอนุบาลและคอยเติมน้ำลงถังให้อัตโนมัติ เมื่อปูสลัดไข่ ให้นำไข่ในถังรอบนอก 8 ถังปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อให้ฟักต่อตามธรรมชาติ ส่วนไข่ในถังกลางจะปล่อยลงสู่ชั้นที่ 3 ชั้นอนุบาลลูกปู ที่จะดูแลไข่จนฟักเป็นตัวก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ โดยเครื่องมีระบบเซนเซอร์แบบ IoT (Internet of Things) ตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำบริเวณจุดที่จะปล่อยว่ามีสภาวะเหมาะสมแก่การปล่อยลูกปูแล้วหรือไม่ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกปูให้มากที่สุด เพิ่มโอกาสการรอดของลูกปูได้มากถึง 10 เท่าตัว หรือเทียบได้ว่ามีลูกปูเกิดใหม่อย่างน้อยหลักหมื่นตัวต่อแม่ปูม้า 1 ตัว

          นอกจากนี้ Crab Bank ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อป้องกันไฟดับ จึงช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 2,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังนำไปใช้อนุบาลสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เช่น ไข่หมึกทะเล ปูดำไข่นอกกระดอง ฯลฯ ได้ด้วย นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยอนุรักษ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทยและช่วยให้ชาวประมงประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

          รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nstda.or.th/home/news_post/sciupdate-20200228-crabbank/

โรงเรือนอัจฉริยะ เพาะปลูกสบาย ดูแลง่าย ได้ผลผลิตดี

          โรงเรือนอัจฉริยะ “SMART Greenhouse Knockdown Double Roof GH–1” พัฒนาโดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. เป็นโรงเรือนแบบถอดประกอบได้ (knockdown) ที่ติดตั้งระบบติดตามและควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือนด้วยเซนเซอร์ 4 ตัว คือ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง ควบคุมการทำงานของม่านพรางแสง, เซนเซอร์วัดความชื้นดิน ควบคุมการทำงานของระบบน้ำหยด, เซนเซอร์วัดความชื้นอากาศ ควบคุมการทำงานของระบบพ่นหมอก และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ควบคุมการทำงานของพัดลมใต้หลังคา ซึ่งชุดเซนเซอร์และระบบควบคุมทั้งหมดจะแสดงผลแจ้งเตือนและควบคุมการทำงานผ่านสมาร์ตโฟนและเว็บไซต์ด้วยเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เกษตรกรสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลต่อความเสียหายของผลผลิต ใช้วางแผนและบริหารจัดการการปลูกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้ผลผลิตสูงขึ้น

          สำหรับการเพาะปลูกพืชจริงในโรงเรือนอัจฉริยะ สท.ร่วมกับบริษัทนาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกเมลอนในโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อหาปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเติบโตของต้นเมลอน 4 สายพันธุ์ คือ เพิร์ลเมลอนเนื้อสีส้ม (Orange Pearl), เพิร์ลเมลอนเนื้อสีเขียว (Green Pearl), กาเลียเมลอน (Japanese Galia), และเมลอนสีทอง (Golden Dragon) ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนเก็บเกี่ยว รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างโรงเรือนและตั้งค่าเซนเซอร์ให้เหมาะสมกับความต้องการของเมลอน ซึ่งผลการปลูกเมลอนทั้ง 4 สายพันธุ์ในโรงเรือนอัจฉริยะออกมาดีทั้งปริมาณผลผลิตและคุณภาพความหวาน องค์ความรู้ที่ได้ก็นำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกเมลอนและต่อยอดใช้กับพืชอื่นๆ ได้ด้วย

          เกษตรกรทั้งผู้ที่ปลูกเมลอนหรือพืชอื่นที่สนใจนวัตกรรมโรงเรือนอัจฉริยะ “SMART Greenhouse Knockdown Double Roof GH–1” ติดต่อได้ที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 1742 อีเมล agritec@54.169.157.213

รถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีตฟูดไทย ทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

          หนึ่งในธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเป็นสีสันชูโรงการท่องเที่ยวประเทศไทย คือ “สตรีตฟูด” ซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องความหลากหลายและความอร่อย แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยในการบริโภคและต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม หรือ DECC สวทช. จึงพัฒนา “นวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีตฟูด” ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ประกอบการสตรีตฟูด และเป็นไปตามระเบียบของทางราชการด้านความสะอาดและสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหาร

          รถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีตฟูดสะท้อนถึงความทันสมัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีฟังก์ชันการบำบัดน้ำและบำบัดควันก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม มีตู้เก็บความเย็นพร้อมแท่นรับพ่วงข้าง สามารถเลือกรูปแบบและปรับเปลี่ยนโมเดลได้ตามลักษณะการใช้งาน ที่สำคัญคือ มีราคาไม่แพง ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ อุปกรณ์ภายในร้านสะอาดปลอดภัย ตอบโจทย์ยุคนิวนอร์มัล อีกทั้งมีการตกแต่งรถเข็นให้มีความโดดเด่นและแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่ที่ทำการค้าได้ เช่น ตกแต่งลวดลายแบบจีน ประดับป้ายไฟในตำแหน่งชื่อร้าน โดยได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ประกอบการและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

          ตอนนี้ถ้าเราไปย่านการค้ารอบสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ บริเวณถนนเยาวราช ถนนข้าวหลาม และถนนราชวงศ์ ก็จะเจอรถเข็นรักษ์โลกสำหรับสตรีตฟูดของจริง ใช้จริง ขายจริง โดยผู้ประกอบการสตรีตฟูดในย่านนั้น ซึ่ง สวทช.ร่วมกับกรุงเทพมหานคร บริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด และธนาคารออมสิน ได้ส่งมอบไว้ให้ใช้ค้าขายได้อย่างสะดวก สะอาด ทันสมัย ปลอดภัย ตามนโยบายและระเบียบของกรุงเทพมหานคร

          รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.decc.or.th/streetfood/ https://www.facebook.com/NSTDASTREETFOODMOBILE/

“KidBright” พัฒนากระบวนการคิด สู่ชีวิตนวัตกร

          การคิดเชิงตรรกะและการคิดอย่างสร้างสรรค์เป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นนวัตกร และเป็นทักษะที่พ่อแม่ผู้ปกครองสมัยนี้ให้ความสนใจ หลายๆ บ้านมองหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะช่วยเสริมทักษะดังกล่าว ซึ่ง “KidBright” บอร์ดสมองกลฝังตัวที่พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะใช้งานง่าย นำไปใช้ต่อยอดได้ และมี KidBright Community สังคมให้ผู้ใช้งานได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกด้วย

          KidBright ประกอบด้วย บอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright ที่ติดตั้งจอแสดงผล นาฬิกาเรียลไทม์ ลำโพง และเซนเซอร์พื้นฐาน โดยมีไมโครคอนโทรลเลอร์เป็นตัวควบคุมการทำงานของบอร์ด และโปรแกรมสร้างชุดคำสั่ง KidBright IDE ที่ใช้งานได้บนระบบปฏิบัติการ Windows, Mac OS และ Ubuntu สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆ ผ่าน USB, อินเทอร์เน็ต, Wi-Fi, บลูทูท ทำงานได้ทั้งแบบออฟไลน์และ IoT

          บอร์ด KidBright ทำงานตามคำสั่งที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้นผ่านโปรแกรมสร้างชุดคำสั่ง KidBright IDE ซึ่งออกแบบเป็นบล็อกให้ใช้งานง่าย มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไม่ต้องกังวลเรื่องการพิมพ์ชุดคำสั่งผิด เพียงแค่ลากบล็อกคำสั่งมาวางต่อกัน (drag and drop) โปรแกรม KidBright IDE จะส่งชุดคำสั่งดังกล่าวไปที่บอร์ด KidBright ให้ทำงานตามที่เรากำหนดไว้ เช่น เปิด-ปิดไฟตามเวลาที่กำหนด รดน้ำตามสภาพความชื้น

          ในส่วนของการใช้งานจริงนั้น มีการนำ KidBright ไปใช้ต่อยอดความคิด สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานที่นำไปใช้ได้จริงมากมายหลายผลงาน หลายชิ้นก็เป็นผลงานที่ช่วยอำนวยความสะดวก ตลอดจนแก้ปัญหาที่ขึ้นในสังคมด้วย ถ้าสนใจแต่ยังนึกไม่ออกว่าจะนำ KidBright ไปทำอะไรดี ลองเข้าไปส่องหาข้อมูล หาไอเดีย และติดตามกิจกรรมเกี่ยวกับ KidBright ได้ที่ https://www.kid-bright.org/

About Author