ครอบครัวสุดซึ้งชีวิตสัตว์โลก (ตอนที่ 1)

เรื่องโดย
รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)


ตามไปดูคู่ชีวิตสัตว์โลกในรูปแบบต่างๆ กัน…
ความผูกพันของ พ่อ-แม่ ที่ช่วยกันเลี้ยงดูลูกของนกเพนกวินจักรพรรดิและนกกระเรียน
ความซื่อสัตย์ในรักแท้ของหนูแห่งทุ่งหญ้าแพรรี่ ที่เมื่อคู่ชีวิตของมันตายไป
หนูอีกตัวที่ยังอยู่ มีจำนวนถึงร้อยละ 80 จะไม่ยอมมีคู่ใหม่เลยตลอดชีวิต

 

            ในครอบครัวมนุษย์ที่ถูกครอบไว้ด้วยอารมณ์และความรู้สึก ทำให้คนเรามีรูปแบบของครอบครัวที่หลากหลาย… เล็ก ใหญ่ อบอุ่น ไม่สมบูรณ์ ซับซ้อนซ่อนเงื่อนไข บางคนเคยมีครอบครัว และบางคนก็อยากจะสร้างครอบครัว

            ส่วนในครอบครัวสัตว์ พวกมันไม่ได้ถูกครอบไว้ด้วยอารมณ์ แต่การสร้างครอบครัวเป็นเหตุผลหนึ่งเพื่อ “การดำรงพันธุ์” สัตว์แต่ละชนิดได้เลือกรูปแบบครอบครัวที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสืบต่อเผ่าพันธุ์ของพวกมัน ซึ่งบางชนิดอาจจะมีมากกว่าหนึ่งรูปแบบ หรืออาจพิสดารตามแต่สถานการณ์และความสามารถในการปรับตัว แต่ที่แน่ๆ บางครอบครัวมีดีจนทำให้คนเราอิจฉาเล็กๆ ได้

            ในตอนแรกนี้ ขอเริ่มแบบโลกสวย ด้วยการไปไล่เรียงดู “ครอบครัวในฝัน” ของบรรดาสัตว์โลกให้ใจอิ่มเอมกันก่อน

            ครอบครัวพ่อแม่ลูกผูกพัน หรือ ในตำราของคนเรียกว่า ครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิกครอบครัวพื้นฐาน คือ พ่อ แม่ และลูกที่ยังโสด

พ่อแม่เพนกวินจักรพรรดิเลี้ยงดูลูกน้อยอย่างอบอุ่น
(ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/)

            ครอบครัวแรกที่จะพาไปดู ได้แก่ ครอบครัวพิศวงของ “เพนกวินจักรพรรดิ” แห่งแอนตาร์กติกา แม้เพนกวินจักรพรรดิจะแตกต่างจากเพนกวินชนิดอื่นตรงที่พวกมันไม่ได้มีรักมั่นนิรันดร และพร้อมแต่งแล้วหย่า แล้วแต่งใหม่ทุกฤดูผสมพันธุ์ แต่เมื่อสร้างครอบครัวแล้ว คู่รักเฉพาะกิจนี้ก็ซื่อสัตย์ต่อคู่ของตน และทำหน้าที่ในครอบครัวได้ดีมาก พวกมันเป็นตัวอย่างของพ่อและแม่ที่เสียสละและอดทน แม้มีภารกิจให้ต้องแว้บไปแว้บมา ไม่ค่อยอยู่พร้อมหน้า แต่ทั้งสองก็ผลัดกันดูแลลูกเป็นอย่างดี และไม่เคยทอดทิ้ง แม้สรีระจะไม่เอื้ออำนวยให้มีอ้อมกอดที่อบอุ่น แต่พ่อแม่นกเพนกวินจักรพรรดิก็มี “หว่างขาอันอบอุ่น” ปกป้องคุ้มภัยให้ลูกเสมอ

            ตามธรรมชาติ แม่นกเพนกวินจักรพรรดิวางไข่ครั้งละหนึ่งฟองไว้บนพื้นน้ำแข็ง ก่อนจะหายหน้าไปถึงสองเดือนเพื่อหาอาหาร โดยปล่อยให้พ่อนกทำหน้าที่กกไข่แทน

            พ่อนกวางไข่ไว้บนเท้าทั้งสองข้าง คอยกกให้ความอบอุ่นตลอดเวลาโดยไม่ไปไหน ช่วงเวลานี้คุณพ่อต้องอดอาหารและเฝ้ารอจนกว่าลูกนกจะฟักออกมา ซึ่งก็เป็นเวลาพอดิบพอดีที่แม่นกกลับมาเปลี่ยนเวร แล้วให้พ่อนกที่อดทนและอดโซออกไปหาอาหารใส่ท้องบ้าง พ่อนกไปแล้ว ก็จะกลับมาช่วยแม่นกเลี้ยงดูลูกในเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เมื่อลูกนกอายุราวเดือนครึ่งถึงสองเดือนจะเริ่มเข้าก๊วนอนุบาลกับลูกนกตัวอื่นๆ ในฝูง ช่วงนี้พ่อแม่ออกหาอาหารได้สบายใจ ไม่ต้องคอยเฝ้าประคบประหงมลูกเหมือนตอนยังเป็นเบบี๋ และในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ลูกนกจะเริ่มผลัดขนพร้อมออกไปเผชิญโลก พ่อแม่ก็ไม่ต้องหาอาหารให้อีกต่อไปแล้ว

ครอบครัวสุขสันต์ของนกกระเรียนญี่ปุ่น (Grus japonensis)
(ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/)

            ครอบครัวของ “นกกระเรียน” ก็อบอุ่นไม่แพ้ใคร นกกระเรียนตัวผู้ในหลายชนิดเป็นแบบอย่างอันดีงามของผู้ชายเลย เพราะพวกมันเป็นนกที่มีความซื่อสัตย์และรักมั่น แถมยังเป็นพ่อบ้านที่ดี คอยช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แม่นกกระเรียนจะออกไข่ครั้งละสองฟอง พ่อนกมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนไม่ว่าจะช่วยแม่นกกกไข่และช่วยดูแลลูกน้อย ลูกนกกระเรียนตัวโตไวมาก แค่สามเดือนพวกมันก็จะมีขนาดตัวเท่ากับพ่อแม่นกแล้ว แต่พวกมันก็ใหญ่แต่ตัว และยังคงไปไหนมาไหนกับพ่อแม่ไปจนอายุเกือบ 1 ขวบ

หนูแห่งทุ่งหญ้าแพรรี่ (prairie voles)
(ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/30793552@N04/7523368472)

            แต่ในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ความรักความผูกพันกันในครอบครัวนั้น ไม่มีใครสู้ “หนูแห่งทุ่งหญ้าแพรรี่” ได้ พวกมันเป็นต้นแบบของการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียวตัวจริงเสียงจริง นักชีววิทยาพบว่า ความสัมพันธ์ของคู่ผัวเมียหนูแห่งทุ่งหญ้าแพรรี่นั้น ไม่ใช่แค่เพื่อดำรงพันธุ์ แต่มันผูกพันกันชั่วชีวิต ถ้าตัวเมียตาย ตัวผู้จะไม่มีเมียใหม่เด็ดขาด ระหว่างที่อยู่ด้วยกัน นอกจากใส่ใจดูแลกันแล้ว มันยังช่วยกันเลี้ยงลูก และเมื่อลูกๆ คอกแรกโต ลูกหนูพวกนี้ก็จะช่วยพ่อแม่เลี้ยงน้องๆ คอกต่อไปอีกด้วย ลูกหนูจะอาศัยอยู่กับพ่อแม่จนกว่าจะมีคู่ จึงจะแยกเรือนออกไป

ครอบครัวบรรดาศักดิ์ของพวกหมาป่า
(ภาพจาก https://pixabay.com/th/photos/polarwolf)

            “ฝูงหมาป่า” เป็นตัวอย่างของครอบครัวเจ้ายศเจ้าอย่าง พวกมันมีการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละตัวในฝูง ฝูงหนึ่งอาจมีสมาชิกตั้งแต่ 5-12 ตัว แต่ตัวผู้และตัวเมียที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด ซึ่งเรียกว่า อัลฟา เท่านั้น ที่จะให้กำเนิดลูกหมาป่าได้ แม่หมาป่าอัลฟาจะคลอดลูกในโพรงที่ขุดไว้ ครั้งละตั้งแต่ 1-14 ตัว ลูกหมาป่าจะอยู่กับแม่นาน 3 สัปดาห์ แล้วจึงออกจากโพรง นอกจากจะมีทั้งพ่อและแม่ที่ช่วยกันอบรมเลี้ยงดูแล้ว ลูกหมาป่ายังได้รับการเลี้ยงดูจากหมาป่าตัวอื่นๆ ในฝูง ซึ่งก็เป็นพี่น้องกัน จนเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ลูกหมาป่าบางตัวจะแยกออกจากฝูงไปหาคู่ แม้หมาป่าจะรักมั่น แต่มันต่างจากหนูแห่งทุ่งหญ้าแพรรี่ตรงที่ถ้าตัวเมียตาย ตัวผู้ก็ไม่ปิดกั้นตัวเอง โดยพร้อมจะมีเมียใหม่ได้ทันที

            นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของครอบครัวอบอุ่นจนน่าอิจฉา ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่ขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นพ่อ แม่ หรือครอบครัวตัวอย่าง ในตอนหน้าเราจะไปติดตามดูครอบครัวแบบอื่นๆ กันบ้าง แล้วพบกันค่ะ


แหล่งที่มา

https://animal.discovery.com/fansites/mostextreme/mostextreme.html

https://animals.nationalgeographic.com/animals/

ขอขอบคุณ ดร.ประทีป ด้วงแค และ ดร.ยอดชาย ช่วยเงิน สำหรับข้อมูลและช่วยตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ

About Author