ไก่แก่แม่ปลาช่อน

ไสว วังหงษา

   

     เจ้าสำบัดสำนวน คือคำพูดที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมของสังคมไทย ที่ไม่ชอบพูดหรือกล่าวกันตรงๆ แต่ใช้คำพูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรย เพื่อสื่อถึงพฤติกรรมหรือลักษณะของคน หรือเหตุการณ์ ที่กำลังกล่าวถึง หรือกำลังเกิดขึ้น เช่น กระต่ายหมายจันทร์ เสร็จนาฆ่าควายถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล เป็นต้น  ในบรรดาสำนวนที่ใช้กันนั้น สัตว์ที่ใกล้ชิดและผูกพันกับคนไทยอย่างเช่นช้าง ถูกใช้ในสำนวน สุภาษิต และคำพังเพย ไม่น้อยกว่า 29 สำนวน ซึ่งได้นำเสนอไว้แล้วใน วารสารมณีบูรพา {3(16), 8-11} เช่น ฆ่าช้างเอางา ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน เป็นต้น และได้สืบค้นที่มาของบางสำนวนเช่น “ช้างป่าต้น คนสุพรรณ” {วารสารมณีบูรพา 4(18), 13-16} และ “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” {วารสารมณีบูรพา 5(19), 22-24} ซึ่งได้นำเสนอไว้เป็นข้อมูลองค์ความรู้แล้ว

swaiy1

     ไก่ ก็เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับคนไทยและถูกใช้ในสำนวนไทยอยู่หลายสำนวน เมื่อตรุษจีน ปี พ.ศ. 2558 นี้ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้กรุณาหยิบยกเอาสำนวน “ไก่ตรุษจีน” มาเปรียบเทียบบริบทของสังคมไทยในช่วงนั้น เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ทราบที่มาของสำนวนไก่ตรุษจีน ที่ท่านนายกกล่าวถึง เพราะสมัยนี้ ไก่ปรุงสุกที่ใช้ไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนนั้น สามารถหาซื้อได้ตามตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เผลอๆเด็กสมัยนี้อาจคิดว่า “ไก่ตรุษจีน” ก็เหมือนกับ “หมูในอวย” คือง่าย ของตาย อยากได้ก็ไปที่ตลาด ยื่นสตางค์ไปรับไก่มา ก็เท่านั้น ไม่เห็นจะยากเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในอดีตไก่ที่ใช้ไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน มีเรื่องราวมากมายจนเกิดเป็นสำนวน ไก่ตรุษจีน ขึ้นมาในสังคมไทยผู้เขียนเองเป็นเด็กชนบท และเกิดในช่วง “สุกรนั้นไซ้คือหมาน้อยธรรมดา” พอได้ยินท่านนายก หยิบยกสำนวนนี้ขึ้นมา ทำให้หวนคำนึงถึงภาพของ ไก่ตรุษจีน ที่เคยพบเห็นในหมู่บ้านขึ้นมาทันที นี่คือเรื่อราวของไก่ตรุษจีน ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในภาคกลางตอนบนของไทยในช่วงนั้นไก่ฟาร์มยังไม่เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายในชนบท ที่ผู้คนเลี้ยงไก่ไว้ฆ่าไก่กินกันเอง ดังนั้นทุกบ้านจึงนิยมเลี้ยงไก่ในครัวเรือน ให้คุ้ยเขี่ยหาอาหารกันเองตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น มด ปลวก ลูกไม้และเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือน ไก่ที่เลี้ยงไว้จึงมีทั้งไก่ชน และไก่อู ไก่ตัวผู้ตัวใดที่มีหน่วยก้าน มีเชิงชั้นในการต่อสู้ก็จะได้รับการเลี้ยงดูประคบประหงมอย่างดี เก็บเอาไว้ตีแข่งขันกันระหว่างหมู่บ้านต่อไป ไก่ตัวใดที่ไม่มีลักษณะดังกล่าว ก็จะทยอยฆ่ากินหรือแบ่งขาย เนื่องจากสมัยนั้นตู้เย็น เป็นอะไรที่อัศจรรย์ (แค่ได้ยินชื่อก็ประหลาดแล้ว ตู้อะไรเย็นได้) และจับต้องยากสำหรับคนชนบท ที่ยังไม่รู้จักการถนอมอาหารให้อยู่ได้นานๆด้วยการแช่แข็ง การมีไก่ตัวเป็นๆในครัวเรือน จึงเป็นหลักประกันความมั่นคงทางโปรตีนของครอบครัว และหน้าตาของเจ้าบ้าน เพราะเมื่อมีแขกมาเยือน เพื่อให้สมฐานะและหน้าตาของครอบครัว เจ้าบ้านจะต้มหรือแกงไก่เลี้ยงผู้มาเยือน ซึ่งดูมีหน้าตากว่าการให้แขกได้ “กินข้าวกินปลา” ซึ่งก็กินกันทุกวันและทุกบ้านอยู่แล้ว เมื่อมีแขกมาเยี่ยมถึงบ้านอะไรมันก็ต้องพิเศษกันหน่อย เหมือนเพลงขอพร ภิรมย์ ที่สองตายายตัดใจ เชือดแม่ไก่ตัวสุดท้ายทำอาหารถวายพระธุดงค์ที่มาปักกลดใกล้บ้าน อันเป็นตำนานที่กล่าวถึงดาวลูกไก่ ที่ฟังแล้วน้ำหูน้ำตาไหลด้วยความสงสาร สำหรับไก่ตัวเมียนั้น นิยมเลี้ยงไว้เก็บไข่กิน มากกว่าที่จะฆ่ากินหรือขาย นั่นคือสภาพสังคมชนบทในยุค “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม”

swaiy2

     ก่อนถึงเทศกาลตรุษจีนในทุกปี ตามหมู่บ้านในชนบท จะมีพ่อค้าตระเวนรับซื้อไก่ตามบ้านต่างๆเพื่อเตรียมไว้เชือดขายให้คนไทยเชื้อสายจีนใช้ไหว้เจ้า ช่วงนี้ไก่ที่เลี้ยงไว้จะมีราคาสูงกว่าปกติ เพราะความต้องการที่สูงขึ้น ชาวบ้านจึงเลี้ยงตุนไก่ไว้รอขายตอนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งก่อนวันตรุษจีนประมาณ 1 อาทิตย์ จะมีพ่อค้าแวะเวียนเข้าบ้านนี้ออกบ้านโน้น เพื่อเลือกหาซื้อไก่ไปเชือดขายตอนไหว้เจ้า โดยจะนำเข่งปากแคบ 2 ใบใส่คานวางพาดกับแบะหลังจักรยานขี่ตระเวนรับซื้อไก่ไปตามบ้านต่างๆ ไก่ที่ชาวบ้านนำมาขายมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ไก่ตัวผู้จากแต่ละบ้านนั้นเมื่อมาเจอกัน โดยสัญชาตญาณ แม้จะอยู่ในที่แคบๆก็จะจิกตีกัน เพื่อแย่งกันเป็นใหญ่หรือเจ้าเข่ง ผู้เขียนเคยเห็นพ่อค้าต้องใช้วิธีเอาปีกไก่ซ้าย-ขวา มาขัดกันเพื่อป้องกันไม่ให้ไก่ตีกัน ซึ่งจะทำให้ไก่ช้ำ หนังไม่สวย ขายไม่ได้ราคา เมื่อถึงบ้าน ไก่ทั้งหมดจะถูกถ่ายออกจากเข่งลงสู่เล้า ที่ใช้ขังไก่ที่ซื้อมาจากที่ต่างๆรวมกัน ที่นี่จะเป็นสนามประลองกำลังกันของไก่ตัวผู้ แม้ปีกจะยังคงขัดกันอยู่ ไก่ก็ยังใช้ปากจิกตี หรือขันข่มกัน ไม่มีใครยอมใคร ไม่นานไก่ทั้งหมดก็จะถูกเชือด หรือแบ่งขายให้คนซื้อไปเชือด ใช้ไหว้เจ้าต่อไป นั่นจึงเป็นที่มาของสำนวน ไก่ตรุษจีน” ที่ใช้ประชด “พวกที่ภัยจะมาถึงตัว แล้วยังมีหน้ามาอวดดีอวดเก่ง”

swaiy3

     ผู้เขียนเห็นว่าสำนวนไก่ตรุษจีน น่าจะหมายความรวมถึง “ผู้ที่เก่งแต่กับพวกเดียวกัน” ด้วย ตรงกันข้ามกับเรื่องราวของนกกระจาบ นิทานสอนเด็กเรื่องความสามัคคี ที่นกทั้งฝูงพาดไปติดตาข่ายเวหาของนายพราน แล้วนกทั้งหมดรวมพลังช่วยกันบินพาตาข่ายพ้นเงื้อมมื้อของนายพราน ต่อจากนั้นประสานสามัคคี ช่วยกันแกะตาข่ายที่พันธนาการออกจนทั้งฝูงเป็นอิสระ รอดตายได้ก็ด้วยความสามัคคี นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ไก่ประกอบสำนวนไทย

swaiy4

     ซึ่งสำนวนที่เกี่ยวกับไก่นั้น นักวิจัยด้านมนุษย์ศาสตร์ภายใต้โครงการ พหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ (Human-Chicken Multi-relationship Research Project, HCMR) ในพระราชดำริของเจ้าชายอากิฌิโน โนมิยา ฟูมิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น และเป็นโครงการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รวบรวมไว้เป็นองค์ความรู้ของโครงการฯ
ผู้เขียนในฐานะนักวิจัยประจำโครงการฯ ที่รับผิดชอบด้านการศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาของไก่ป่า มีข้อมูลจากงานวิจัยที่พบว่าอาจเป็นที่มาของสำนวนไทยที่ใช้ไก่เป็นสื่อบางสำนวน ๆนั้นคือ “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” ไก่แก่แม่ปลาช่อน วลีนี้ไม่ได้เป็นคำเฉลยของคำถามลวง “ไข่ไก่แก่ฝักออกมาจะเป็นตัวอะไร” หรือปลาช่อนมีแม่เป็นตัวอะไร” แต่เป็นสำนวนที่ใช้พฤติกรรมของสัตว์สองชนิดคือปลาช่อน และไก่ มาใช้เปรียบเทียบกับพฤติกรรมของหญิง “มีอายุที่มีมารยาเล่ห์เหลี่ยมมาก มีกิริยาจัดจ้าน จริตแพรวพราว แอบแฝงเจ้าเล่ห์แสนกล ดูเจนจัดเป็นงาน” นั่นคือความหมายในสำนวนไทย ซึ่งดูจะไม่ค่อยตรงกับพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์ที่ 2 ชนิดที่ถูกพาดถึงเท่าใดนัก

swaiy5

     ซึ่งสำนวนที่เกี่ยวกับไก่นั้น นักวิจัยด้านมนุษย์ศาสตร์ภายใต้โครงการ พหุสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่ (Human-Chicken Multi-relationship Research Project, HCMR) ในพระราชดำริของเจ้าชายอากิฌิโน โนมิยา ฟูมิฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น และเป็นโครงการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รวบรวมไว้เป็นองค์ความรู้ของโครงการฯ ผู้เขียนในฐานะนักวิจัยประจำโครงการฯ ที่รับผิดชอบด้านการศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาของไก่ป่า มีข้อมูลจากงานวิจัยที่พบว่าอาจเป็นที่มาของสำนวนไทยที่ใช้ไก่เป็นสื่อบางสำนวน ๆนั้นคือ “ไก่แก่แม่ปลาช่อน”  ไก่แก่แม่ปลาช่อน วลีนี้ไม่ได้เป็นคำเฉลยของคำถามลวง “ไข่ไก่แก่ฝักออกมาจะเป็นตัวอะไร” หรือปลาช่อนมีแม่เป็นตัวอะไร” แต่เป็นสำนวนที่ใช้พฤติกรรมของสัตว์สองชนิดคือปลาช่อน และไก่ มาใช้เปรียบเทียบกับพฤติกรรมของหญิง “มีอายุที่มีมารยาเล่ห์เหลี่ยมมาก มีกิริยาจัดจ้าน จริตแพรวพราว แอบแฝงเจ้าเล่ห์แสนกล ดูเจนจัดเป็นงาน” นั่นคือความหมายในสำนวนไทย ซึ่งดูจะไม่ค่อยตรงกับพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์ที่ 2 ชนิดที่ถูกพาดถึงเท่าใดนัก

     เราลองมาดูพฤติกรรมของสัตว์ 2 ชนิดนี้กันก่อนที่จะนำมารวมกันกลายเป็นสำนวนไทย ที่ไม่มีหญิงใดอยากถูกตราหน้าว่าเป็น ไก่แก่แม่ปลาช่อน โดยสัญชาตญาณ แม่ของสัตว์เกือบทุกชนิด ยกเว้นนกอีแจว จะทำหน้าที่ปกป้องลูก กลยุทธ์ในการปกป้องลูกมีทั้งประเภทพาลูกหนี เช่นค้างคาว เสแสร้งทำเป็นปีกหักเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจในพฤติกรรมของนกกระแตแต้แว๊ด ซ่อนลูกไว้ในที่มิดชิด เช่นเสือ เอาชีวิตเข้าเสี่ยงเผชิญหน้าต่อกรกับศัตรูเพื่อปกป้องลูก เช่นสุนัข เป็นเกาะกำบังให้ลูก เช่นไก่ วาฬ ปู เป็นต้น
     ปลาช่อน เป็นหนึ่งในสุดยอดคุณแม่ในการทำหน้าที่ปกป้องลูก และหวงลูกมาก โดยเมื่อลูกปลาช่อนฝักออกจากไข่ กลายเป็นลูกครอกจะว่ายเกาะกลุ่มอยู่รวมกันเป็นฝูง อันเป็นการแบ่งปันความเสี่ยงจากศัตรู แม่ปลาช่อนจะคอยว่ายน้ำอยู่ใต้ฝูงลูกปลา เพื่อระวังภัยให้ลูก เมื่อภัยมาแม่ ปลาช่อนจะกระโดดตีน้ำ ให้น้ำแ¬ละฝูงลูกปลาแตกกระจาย จนศัตรูตกใจหลีกหนีไป และด้วยเหตุที่ปลาช่อนยังเป็นสัตว์กินเนื้อ จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไล่กัดศัตรูที่เข้าใกล้ฝูงลูกของมัน นั่นคือความรักและกลยุทธ์ในการปกป้องลูกของแม่ปลาช่อน ซึ่งเป็นสัตว์ที่ได้ชื่อว่าหวงลูกมากที่สุดชนิดหนึ่ง

swaiy6

     ส่วนไก่นั้น มีกลยุทธ์ในการปกป้องลูกด้วยไล่จิกศัตรูที่มาจากพื้นราบ ส่วนศัตรูที่อยู่บนอากาศอย่างเช่นเหยี่ยว แม่ไก่จะเป็นโล่กำบังให้ลูกซุกอยู่ใต้ปีก นอกจากนี้ สำหรับไก่ป่านั้น ผู้เขียนเคยพบแม่ไก่ใช้วิธีบินหนีไปไม่ไกลจากฝูงลูก เพื่อเบี่ยงเบนจุดสนใจของศัตรู ให้ตามไปที่แม่ เพื่อให้ลูกไก่ได้มีเวลาหาที่พลางตัวให้เข้ากับลวดลายของปีกและลำตัว จึงทำให้ศัตรูที่ล่าด้วยสายตาหาลูกไก่ไม่พบ ก่อนที่แม่จะกลับมาร้องเรียกลูกรวมฝูงต่อไป หลังจากปลอดภัยจากศัตรู  ไม่ว่าจะเป็นไก่สาวหรือไก่แก่ก็ใช้วิธีเหล่านี้ในการปกป้องลูก แต่สิ่งที่ไม่มีในไก่สาว แต่มีในไก่แก่ จนอาจเป็นที่มาเริ่มต้นของสำนวนไทย ซึ่งเมื่อนำมาผสมกับพฤติกรรมหวงลูกของแม่ปลาช่อน แล้วกลายเป็นสำนวนไทย “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” คือการหวงสามีของไก่แก่

swaiy7

     ไก่มีรูปแบบการสืบพันธุ์ที่เรียกว่า ฮาเร็ม (harem) คือตัวผู้ 1 ตัว มีตัวเมีย 2-8 ตัว เป็นบริวาร โดยตัวผู้ที่เป็นเจ้าฮาเร็ม (despot) จะทำหน้าที่ในการป้องกันอาณาเขต และผสมพันธุ์กับตัวเมียบริวารในฮาเร็ม ซึ่งสังคมลักษณะนี้ ตัวเมียจะได้รับการคุ้มครองจากการระรานของตัวผู้อื่นๆ และตัวเมียไม่ต้องสูญเสียพลังงานไปกับการป้องกันอาณาเขต จึงมีพลังงานมากพอในการออกไข่ 8-10 ฟองในฤดูสืบพันธุ์ ตัวเมียมีสีสันที่กลมกลืนกับธรรมชาติ มีหน้าที่เลี้ยงดูและปกป้องลูก
     การที่จะได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเจ้าฮาเร็ม ตัวผู้ต้องผ่านการท้าทายและปะทะลำแข้งกับตัวผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วไก่จะใช้วิธีประกาศและป้องกันอาณาเขตด้วยการตีปีกและส่งเสียงขัน ที่ได้ยินไปได้ไกลกว่าครึ่งกิโลเมตร น้อยครั้งที่พบว่ามีการลงไม้ลงมือตีกัน ตลอด 4 ปีที่ศึกษาติดตามไก่ป่า ผู้เขียนพบไก่ป่าเจ้าฮาเร็มที่อยู่ติดกัน ตีกันเพียงครั้งเดียวใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาที ปะทะแข้งกัน 2 ผัวะ ต่างก็แยกจากกัน แล้วตีปีก ส่งเสียงขันข่มกัน ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับเข้าบ้านใครบ้านมัน อาวุธที่สำคัญของไก่ป่าคือเดือยที่ยาวมาก ประมาณ 1 ใน 4 ของแข้ง การลงไม้ลงมือตีกันอาจได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถานภาพของเจ้าฮาเร็ม ดีไม่ดี “ตาอยู่” อาจคว้าพุงปลาไปกิน หากเจ้าฮาเร็มได้รับบาดเจ็บ จนแสดงบทบาทเจ้าฮาเร็มได้ไม่เต็มที่

swaiy8

     ในงานวิจัยที่ดำเนินการในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า 1 ฮาเร็ม ครอบคลุมพื้นที่หากิน (home range) 109.81 ไร่ ที่มีบางส่วนซ้อนทับกับฮาเร็มข้างเคียง โดยมีพื้นที่ 64.0 ไร่ เป็นเขตที่เจ้าฮาเร็ม ปกป้องด้วยชีวิตหรือเขตพื้นที่สู้ตาย (territory) เพื่อปกป้องลูกและสาวๆ ของมัน ในพื้นที่ 64 ไร่ที่ไม่ใคร่จะซ้อนทับกับฮาเร็มข้างเคียงนี้ มีไก่ป่าอยู่ 12-15 ตัว มีสัดส่วนเพศที่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัย แสดงว่าในฮาเร็มจะมีไก่ตัวเมีย 6-8 ตัว เป็นบริวาร ตัวเมียก็มีจัดลำดับชั้น (hierarchy) กันเป็นเบอร์ 1, 2, 3 ฯ โดยใช้วิธีการจิกตี (pecking order) ผู้ที่ได้เป็นแม่ใหญ่หรือบ้านใหญ่ (high rank hen) จะได้โอกาสครอบครองเจ้าฮาเร็ม โดยจะคอยกันไม่ให้ตัวเมียเบอร์ 2, 3, 4 ฯ ในลำดับรองๆลงไปเข้าใกล้เจ้าฮาเร็ม  จึงพบว่า ฝูงไก่ป่าร้อยละ 65.20 ประกอบด้วย ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 1 ตัว มีเพียงร้อยละ 0.23 เท่านั้นที่พบตัวเมีย 6 ตัวอยู่ร่วมกับเจ้าฮาเร็ม แสดงว่า ตัวเมียลำดับรองๆจะหากินอยู่ไม่ไกลจากเจ้าฮาเร็ม แต่จะไม่กล้าเข้าใกล้คลุกคลีกับเจ้าฮาเร็ม เพราะมี "บ้านใหญ่" คอยปกป้องเจ้าฮาเร็มอยู่ ในส่วนของตัวผู้ อีก 5-7 ตัว ที่หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ 64 ไร่ของเจ้าฮาเร็มนั้น เป็นไก่หนุ่มประเภทที่เรียกว่า “พ่อพวงมาลัย (floater)” ที่ป้วนเปี้ยนหากินหลบหลีกเจ้าฮาเร็มอยู่ในพื้นที่ บางครั้งรวมตัวกันเป็นฝูงไก่หนุ่มพบมากสุด 5 ตัว พ่อพวงมาลัยเหล่านี้จะไม่ขันหรือแสดงตัวให้เจ้าฮาเร็มพบเห็น เพราะถ้าขันจะเป็นอันตราย เจ้าฮาเร็มจะรู้ตำแหน่งที่อยู่ จึงได้แต่คอยหลบหลีกเจ้าฮาเร็ม ด้วยการดักฟังเสียงขันแล้วคอยหลีกให้พ้นจากสายตาของเจ้าฮาเร็ม  พ่อพวงมาลัยเหล่านี้ จะคอยหาจังหวะ และโอกาสผสมพันธุ์กับตัวเมียลำดับรองๆที่พร้อมจะผสมพันธุ์ แต่ไม่สามารถอยู่ใกล้เจ้าฮาเร็มได้ ซึ่งในงานวิจัยต่างประเทศพบว่าตัวเมียลำดับรอง แอบไปผสมพันธุ์กับพ่อพวงมาลัยที่ซุ่มอาศัยหากินอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองเป็นสมาชิกอยู่

swaiy9

     เข้าใจว่าคนไทยก็คงสังเกตเห็นพฤติกรรมนี้ จึงเป็นที่มาของสำนวนไทยอีกสำนวนหนึ่งคือ "ไก่หลง" ที่ความหมายของสำนวนไม่ค่อยตรงกับพฤติกรรมธรรมชาติของไก่เท่าใดนัก สำนวน “ไก่หลง” สารานุกรมภาษาโคราชให้ความหมายไว้ได้ชัดเจนมากว่า หมายถึง “หญิงที่หลงทางมา หรือมาจากต่างถิ่นไม่รู้ทันเลห์เหลี่ยมของคนมักถูกล่อลวงได้ง่าย”
ในการล่าไก่ป่าโดยใช้ไก่ต่อ หรือไก่ตั้ง จึงพบว่าบางครั้งมีเฉพาะตัวเมียเข้ามาหาไก่ต่อ แล้วพรานก็ยิงหรือจับด้วยบ่วงที่เรียกว่าคลึง แสดงว่าตัวเมียที่เข้ามาหาไก่ต่อนี้เป็น “ไก่หลง” หรือตัวเมียในลำดับรองที่ไม่อาจหรือมีโอกาสผสมพันธุ์กับเจ้าฮาเร็มได้ การหวงหรือการปกป้องเจ้าฮาเร็มจึงมีในไก่แก่เท่านั้น

swaiy10

     ในงานวิจัยที่เขาอ่างฤๅไนยังพบอีกว่า ไก่ป่าตัวผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่นานถึง 31 เดือน ส่วนตัวเมียนานสุด 29 เดือน ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นกับเจ้าฮาเร็ม จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ พ่อพวงมาลัยในลำดับรองๆลงไป จะเทินโปร์ ทันที เหมือนการล่าไก่ป่าด้วยการใช้ไก่ต่อหรือไก่ตั้งไปขันท้าทายเจ้าฮาเร็มในพื้นที่สู้ตาย เมื่อเจ้าฮาเร็มเข้ามาไล่ตีไก่ต่อ ก็จะถูกพรานยิงหรือจับออกไป ทำให้พื้นที่นั้นปราศจากเสียงขัน ปรากฏว่าภายใน 2-3 วันต่อมา จะมีตัวผู้ขันทันทีในฮาเร็มนั้น แสดงว่า มีตัวผู้บางตัวแอบเตรียมพร้อมที่จะก้าวเข้ามาแทนที่ทันที่ถ้าเจ้าฮาเร็มมีอันต้องเป็นไปหรือไม่ขัน อาจมีผู้สงสัยว่า แล้วพ่อพวงมาลัยฝึกขันตอนไหน
     ในสัตว์ที่หากินกลางวันอย่างเช่นไก่ป่านั้น ครึ่งชีวิตอยู่บนคอนเกาะนอน พอไก่ป่าทุกตัวหาที่เกาะนอนในช่วงกลางคืนได้แล้วก็ “บ้านใครบ้านมัน” ไม่มีการขยับหรือเที่ยวเตร่ระรานชาวบ้านในยามวิกาล ช่วงนี้แหละเป็นโอกาสที่พ่อพวงมาลัยสามารถฝึกขันได้โดยไม่โดนเจ้าฮาเร็มคอยไล่ตีเหมือนเช่นในเวลากลางวัน ในช่วงกลางคืนจึงได้ยินเสียงไก่ขันมากว่า 1 เสียงในพื้นที่สู้ตายของเจ้าฮาเร็ม ดังนั้น เพื่อเป็นข่มขวัญและอวดศักดิ์ดาต่อบรรดาพ่อพวงมาลัย และต่อเจ้าฮาเร็มพื้นที่ข้างเคียง ไก่ป่าเจ้าฮาเร็มในช่วงฤดูสืบพันธุ์จึงขันทุกชั่วโมงหลัง 2 ทุ่มเป็นต้นไป เรียกว่าไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันเลยทีเดียว โดยจะขันถี่และนานสุดในช่วงโพล้เพล้ใกล้รุ่ง ส่วนในตอนกลางวันนั้น เป็นช่วงที่เจ้าฮาเร็มส่งเสียงขันบ่อยมากสุด เพื่ออวดสาวๆในฮาเร็ม และประกาศศักดิ์ดา เฉพาะอย่างยิ่งการขันก่อนขึ้นคอน เป็นการประกาศยืนยันพื้นที่อาณาเขตครอบครองของตัวเอง

swaiy12

     งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เจ้าฮาเร็มและพ่อพวงมาลัยไม่มีความแตกต่างกันในการผลิตสเปิร์ม แต่ความถี่หรือจำนวนครั้งที่ไก่ตัวผู้ผสมพันธุ์กับตัวเมียลดลงเมื่ออยู่ร่วมกันนานขึ้น นั่นหมายความว่า การผสมพันธุ์ของเจ้าฮาเร็มกับ “บ้านใหญ่” ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเจ้าฮาเร็มต้องทำหน้าที่ในการปกป้องอาณาเขต ทั้งลาดตะเวนระวังผู้บุกรุก และคอยส่งเสียงขันประกาศอาณาเขตและอวดศักดิ์ดากับบรรดาพ่อพวงมาลัยในพื้นที่ วันๆเจ้าฮาเร็มยุ่งไปกับแต่เรื่องของศักดิ์ศรี หรืออาจจะด้วยเหตุที่เจ้าฮาเร็มมัวยุ่งอยู่แต่กับการ “ทำการเมือง” (การปกป้องอาณาเขต) ไก่แก่จึงต้อง “มีมารยาเล่ห์เหลี่ยมมาก มีกิริยาจัดจ้าน จริตแพรวพราว แอบแฝงเจ้าเล่ห์แสนกล ดูเจนจัดเป็นงาน” เพื่อชักนำให้เจ้าฮาเร็มได้ “ทำการบ้าน" บ้าง
     ส่วนตัวเมียลำดับรองลงไปก็หามีโอกาสได้เข้าใกล้เจ้าฮาเร็มไม่ เพราะมีบ้านใหญ่คอยกันไว้ ในขณะที่พ่อพวงมาลัย ไม่มีส่วนและหน้าที่ต้องทำอะไรในการประกาศหรือป้องกันอาณาเขต เพียงแต่คอยทำตัวอย่าให้เจ้าฮาเร็มรู้ว่าอยู่ที่ไหน ก็อาจมีโอกาส “ส้มหล่น” ได้ผสมพันธุ์กับบรรดาสาวๆของเจ้าฮาเร็ม สถานการณ์ดังกล่าว จึงเกิดคำถามวิจัยว่า ลูกไก่ที่เกิดในฮาเร็มเป็นลูกใคร ระหว่างเจ้าฮาเร็มหรือพ่อพวงมาลัย ในไม่ช้านี้นักวิจัยทางชีวโมเลกุลจากโครงการ HCMR จะไขคำตอบนี้ครับ จากข้อมูลทางนิเวศน์เบื้องต้นพบไก่ป่าตัวเมียเข้าไปหากินกับฝูงของไก่วัด และไก่วัดตัวเมียติดแร้วในพื้นที่ดักจับไก่ป่า ไม่แน่นะครับในสถานการณ์ทางนิเวศน์ที่เป็นอยู่ในสังคมของไก่ป่า เจ้าฮาเร็มอาจเป็นเพียงแค่ผู้ทำหน้าที่ในการประกาศและปกป้องอาณาเขต ในขณะที่พ่อพวงมาลัยมีบทบาทในถ่ายทอดพันธุกรรมของไก่ป่า อาจเข้าตำราเสร็จ “เสือซุ้ม” ก็เป็นได้

swaiy13

     จนบัดนี้ผู้เขียนก็ยังไม่รู้ว่า พฤติกรรมด้านใดของแม่ปลาช่อน และของไก่แก่ ที่เมื่อนำมารวมกันกลายเป็นสำนวน “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” แล้วมีความหมายว่า “หญิงค่อนข้างมีอายุที่มีมารยา และเล่ห์เหลี่ยมมาก และกริยาจัดจ้าน” ตามที่บัญญัติไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานสถาน พ.ศ. 2542 

/hcmr/th