เสวนา “เปิดตัวสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร”

ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. 2559 (NAC 2016) – หัวข้อเสวนาหนึ่งที่น่าสนใจจากเช้าวันที่ 31 มี.ค. 59 คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดเสวนาเรื่อง “เปิดตัวสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร” (Agricultural Technology and Innovation Management Institute) หน่วยงานแห่งใหม่ภายใต้ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อดำเนินงานบริการแบบครบวงจร (One Stop Service) ปรับแต่งผลงานวิจัยให้พร้อมสู่การใช้งานในพื้นที่ ขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนให้แพร่กระจายออกไปอย่างทั่วถึง เป็นแหล่งความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายที่ตอบโจทย์ความต้องการภายใต้การทำงานร่วมกันกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. กล่าวแนะนำสถาบันฯ ว่า “สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อดำเนินงานบริการแบบครบวงจร ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชุมชนและเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับรายได้เกษตรกร และขยายผลในวงกว้าง รวมทั้งพัฒนาบุคลกรตลอดหัวโซ่การผลิต โดยการดำเนินงานของใต้สถาบันฯ แบ่งออก 3 ฝ่าย ได้แก่

1) ฝ่ายจัดการความรู้ เพื่อให้หน่วยงานกระทรวงต่างๆ และทางจังหวัด เข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการอย่างต่อเนื่อง ผ่านโปสเตอร์และอินโฟกราฟิคต่างๆ

2) ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเสาะหาเทคโนโลยี แก้ไขปัญหา สร้างอาชีพใหม่ และจัดอบรม smart officer และ smart farmer เป็นต้น

3) ฝ่ายสนับสนุนและสร้างความร่วมมือพันธมิตร ทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประสานความร่วมมือทั้งภายใน สวทช. และภายนอก (ภาครัฐ-เอกชน-เกษตรกร)”

โดยกลไกการทำงานของสถาบันฯ จะเริ่มต้นด้วยการจัดการความรู้ให้เป็นชุดความรู้ที่อยู่ในแหล่งเดียวกัน ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้โดยง่าย ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ เว็บไซต์ ขณะเดียวกันสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึง จะมีการจัดทำโปสเตอร์และอินโฟกราฟิคเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ให้ลงถึงชุมชน เมื่อเกษตรกรเกิดความรู้แล้วจะส่งเสริมให้เกิดเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในชุมชน ด้วยการฝึกอบรม พาไปศึกษาดูงานตามกลไกการพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริม รวมทั้งยังมีแนวทางช่วยเหลือให้เกษตรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมา สวทช. ได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เกิดเป็นบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับเครือข่ายการทำงานแล้วหลายแห่ง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง ธกส. มทร.ล้านนา เป็นต้น เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเข้มแข็งและสามารถเข้าถึงชุมชนได้อย่างแท้จริง

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ กล่าวต่อว่า “ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผลองค์ความรู้ต่างๆ ไปสู่ชุมชน มีด้วยกัน 2 แนวทาง คือ หนึ่งการนำสิ่งที่นักวิชาการมีอยู่แล้วนำเข้าไปช่วยและใช้กับพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้ดีขึ้น และสองคือการลงพื้นที่เข้าไปคลุกคลีกับเกษตรกรเพื่อให้ทราบถึงปัญหาและความต้องการของเกษตรกรและรับโจทย์นำปัญหาเหล่านั้นกลับมาพัฒนางานวิจัยที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นๆ โดยต้องตระหนักว่าการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในพื้นที่หนึ่งได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี อาจไม่ประสบความสำเร็จในอีกพื้นที่หนึ่ง เพราะทุกอย่างต้องมีการปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ นับเป็นความท้าทายของการดำเนินงานของสถาบันฯ และที่สำคัญในแต่ละพื้นที่ชุมชนที่เข้าไป จะส่งเสริมให้เจ้าของพื้นที่หรือคนในชุมชนเกิดความรู้และสามารถทำงานร่วมกันไปกับนักวิชาการด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั่นเอง”

สำหรับตัวอย่างผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ชุมชนได้ มีด้วยกันหลายตัวอย่าง อาทิ

  • การเพิ่มผลผลิตการเกษตรต่อพื้นที่ ลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ข้าวหอมชลสิทธิ์ ข้าวทนน้ำท่วม เป็นต้น การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น จากเดิมผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อพื้นที่ 4 ตันต่อไร่ เป็น 6 ตันต่อไร่ ด้วยการปรับปรุงพันธ์ต่างๆ เช่น พิรุณ 1 เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีระบบน้ำหยดมาใช้ในแปลงมันสำปะหลัง เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการใช้ราบิวเรียที่ช่วยควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น
  • การเพิ่มมูลค่าผลผลิตต่อหน่วยให้สูงขึ้น เช่น การเกิดห่วงโซ่เพิ่มอุตสาหกรรมพริก ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรผู้ปลูกพริกและภาคอุตสาหกรรมที่รับซื้อวัตถุดิบพริกสดเพื่อนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ได้แก่ เจลพริกแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น นับเป็นเกิดการเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมแปรรูป พร้อมกับการส่งเสริมให้เกิดการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง สร้างรายได้ที่สูงขึ้นให้แก่เกษตรกร
  • การเกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างยั่งยืน เช่น ธนาคารอาหารของชุมชนที่เกาะแสมสาร สัตหีบ / การปลูกเห็ดระโงก / การเพาะเห็ดตับเต่ากับต้นโสน / การเพาะเลี้ยงชันโรง การส่งเสริมการปลูกไรน้ำนางฟ้าเพื่อเลี้ยงเป็นอาหารปลาสวยงาม ตลอดจนการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น
  • การเกิดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้พลังงาน เพิ่มคุณค่าและมูลค่าการผลิตทางการเกษตร เช่น การเกิดเครื่องจักรต่างๆ การสร้างโรงเรือนพลาสติกคัดกรองแสง เป็นต้น

เหล่านี้ ล้วนเป็นตัวอย่างของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้าไปช่วยชุมชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับรายได้เกษตรกร ให้เกิดการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของเกษตรกรชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป