“แต่ก่อนปลูกโดยไม่มีความรู้ ผลผลิตก็ได้ตามสภาพ ทำ 100 ได้ 50 พอมีความรู้ กล้าสวย ต้นใหญ่ แขนงโต ลูกใหญ่ ผลสวย ต้านทานโรค เข้าแปลงไปเห็นแล้วชื่นใจ” อนงค์ สอนชา เล่าด้วยรอยยิ้ม

อนงค์เป็นหนึ่งในสมาชิก “สหกรณ์รักษ์ศรีเทพ” อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ จากวิถีชีวิตการทำเกษตรที่พึ่งพิงรายได้หลักจากพืชเชิงเดี่ยวอย่างไร่อ้อยมาทั้งชีวิต หันกลับมาปลูกพืชผักปลอดภัยหลังจากที่เห็น รจนา สอนชา ลูกสาวและสมาชิกคนรุ่นใหม่ของกลุ่ม ลงแรงทำโดยมีตลาดใหญ่รองรับ

สภาพดินเสื่อมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมีทั่วพื้นที่ บวกกับราคาอ้อยที่ไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจกลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิดต้องการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงเลือกพืชผักเป็นทางออก

“เป็นความตั้งใจที่จะทำปลอดภัย เรามานั่งคุยแลกเปลี่ยนกัน ไม่จำเป็นไม่อยากใช้สารเคมี เราใช้เองในแปลง เราก็กินเองจากแปลงเรา ถ้าเราต้องการอะไรที่ปลอดภัยสำหรับตัวเรา ก็ต้องปลอดภัยสำหรับคนอื่น ไม่ใช่คำพูดสวยหรู แต่เป็นความจริงที่คนทำแล้วกินของตัวเอง อยากทำ ณัฐวรรณ ทองเกล็ด อดีตพนักงานธนาคารที่เบนเข็มกลับมาทำเกษตรปลอดภัย บอกถึงความตั้งใจของพวกเธอ

“ตอนนี้แม่ๆ ปลูกผักกันมากขึ้น เลิกใช้สารเคมี เรามีเงื่อนไขให้เขา ถ้าอยากขาย ต้องไม่ใช้สารเคมี พอปลูกแล้ว เขาเห็นว่าได้เงิน ‘ไม่ต้องใส่ยาก็ขายได้’ ค่อยๆ ปรับ แต่ต้องทำให้เขาดูและมีตลาดให้เขาเห็น” รจนา เสริม

การหา “ตลาด” เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้ทั้งพวกเธอและชาวบ้านนั้น ยากไม่น้อยไปกว่าการลดเลิกการใช้สารเคมี แต่เพราะเชื่อมั่นในผลผลิตที่ปลอดภัยของกลุ่มปลูกผักรักษ์ศรีเทพ พวกเธอจึงเพียรพยายามหาตลาดใหม่ที่แน่นอนและให้ราคาเป็นธรรม จนเกิดการเชื่อมต่อตลาดโมเดิร์นเทรดจากผู้บริหารท้องถิ่น และนำไปสู่การจัดตั้งเป็น “สหกรณ์รักษ์ศรีเทพ” เมื่อกลางปี 2560 ระดมหุ้นจากสมาชิกกว่า 100 คน และมีสมาชิกที่เป็นผู้ปลูกผลผลิต 10 กว่าราย

“ดีใจที่ได้ตลาดโมเดิร์นเทรด เป็นตลาดคุณภาพ ราคาดี เราเริ่มต้นจากที่ไม่มีโรงแพ็ค มีแต่ผลผลิต ต้องเอาไปแพ็คกับกลุ่มบ้านน้ำดุก อ.หล่มสัก เดินทางไป 170 กม. เรารู้ว่าขาดทุน แต่ต้องไป เพื่อให้ได้ตลาด” รจนา ย้อนเรื่องราวในวันที่เริ่มต้นส่งผลผลิตทั้งข้าวโพดเหนียว มะเขือเปราะและกล้วยน้ำว้าให้ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต

ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีพื้นที่การปลูกพืชผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP ประมาณ 200 ไร่ ผลิตพืชผักหลากชนิด อาทิ มะเขือเทศราชินี ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดหวาน พริก กระเจี๊ยบ โดยมีโรงแพ็คเป็นของตัวเอง และแม้จะมีตลาดใหญ่รับซื้อผลผลิตสัปดาห์ละสองครั้ง แต่สมาชิกยังต้องเรียนรู้การผลิตและการจัดการแปลงที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพและยกระดับสู่การผลิตในระบบอินทรีย์

“เราปลูกมะเขือเทศกันอยู่แล้ว อาศัยความรู้จากหนังสือ จากคนที่เคยทำ หรืออบรมจากบริษัทที่ขายเมล็ดพันธุ์ พอมาอบรมกับอาจารย์ เราถึงบางอ้อว่าที่ผ่านมาเราเพาะกล้าไม่ถูกวิธี ระยะเวลาเกินกำหนด ถ้าเพาะกล้าไม่แข็งแรง เอาไปปลูกก็ไม่แข็งแรง” รจนา บอกเล่าถึงความรู้ที่ได้หลังจากได้เข้าอบรมการผลิตมะเขือเทศอย่างมีคุณภาพจาก ศ.ดร.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อนงค์ ขยายความต่อว่า แต่ก่อนเพาะกล้าขึ้นไม่สม่ำเสมอ เพาะต้นเดียวกลัวตายก็ใส่หลายๆ เม็ด พอกล้าโตจะถอนก็เสียดาย ลงปลูกได้ผลดีแค่รอบแรกเพราะดินใหม่ แต่ก็ได้ไม่เต็มร้อย พอเรียนจากอาจารย์เห็นความแตกต่างชัดเจน ต้นกล้าสม่ำเสมอ เพาะต้นกล้าหลุมละต้นช่วยลดจำนวนเมล็ดพันธุ์ได้เยอะ แต่ก่อนเคยทำได้ 1.5 ถาด ตอนนี้ทำได้ถึง 2.5 ถาด แล้วลงปลูกต้นเดียว ไม่แน่น แตกแขนงดีกว่า หรือตัดแต่งก็ต้องทำ แต่ก่อนไม่ทำเพราะเสียดาย

เช่นเดียวกับ สุมาลี เผือกกระโทก ที่ได้เรียนรู้การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเทียนคุณภาพ วิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ และการปลูกที่ถูกต้องจากผศ.ดร.พลัง สุริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้ได้ผลผลิตส่งจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม 400-500 ฝัก เป็น 1,400 ฝัก

“เดิมใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเทียนที่เก็บกันเอง ฝักไหนสวย เก็บหมด พอเอามาปลูก ดูแลอย่างดี ข้าวโพดที่ได้ก็ยังหลอ แต่ที่จริงแล้วเราต้องเก็บเมล็ดพันธุ์เฉพาะตรงกลาง ดูสีฝักที่สม่ำเสมอ แล้วขั้นตอนเตรียมดินและปุ๋ยสำคัญ ถ้าเตรียมดินดี ต้นจะแข็งแรง ฝักแข็งแรง” 

นอกจากการเรียนรู้กระบวนการผลิตพืชผักที่มีคุณภาพแล้ว สมาชิกผู้ปลูกยังได้เรียนรู้การผลิตปุ๋ยคุณภาพอย่างปุ๋ยไส้เดือนดินไว้ใช้เอง การผลิตพืชสายพันธุ์ใหม่ เช่น มะเขือเทศนิลมณี มะเขือเทศชายนี่ควีน (shiny queen) ข้าวโพดเทียนเหลือง และข้าวโพดเทียนลาย รวมถึงการใช้โรงเรือนพลาสติกเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพ  

เกือบสองปีแล้วที่สมาชิกกลุ่มปลูกผักรักษ์ศรีเทพมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน กระบวนการผลิตหลีกห่างจากสารเคมีมากขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สุขภาพดีขึ้น แต่พวกเขายังคงเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อผลิตพืชผักที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป้าหมายต่อไปของพวกเขาคือ การผลิตพืชผักในระบบอินทรีย์

# # #

สวทช. ร่วมกับบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด สนับสนุนความรู้ เทคโนโลยี และเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าการเกษตรที่มีมาตรฐานและคุณภาพ ให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักของบริษัทฯ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ สหกรณ์รักษ์ศรีเทพ อ.ศรีเทพ สหกรณ์ผลิตผักน้ำดุกใต้ จำกัด อ.หล่มสัก สหกรณ์รวมกลุ่มการเกษตรน้ำหนาว อ.น้ำหนาว รวมถึงส่งเสริมและสร้างอาชีพให้ชุมชนบ้านสะอุ้ง อ.หล่มเก่า ซึ่งมีข้อจำกัดพื้นที่การผลิตสินค้าเกษตร

สหกรณ์รักษ์ศรีเทพ
หมู่ที่ 13 ถนนสระบุรี-หล่มสัก ต.สระกวด อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

ใช้ความรู้ปลูกผัก ที่ “รักษ์ศรีเทพ”