จากคนที่ทำสวนลำไยมีรายได้เป็นแสนบาทต่อปีให้หยิบจับ รัตฑนา จันทร์คำ หรือ แม่หลวงอ้อ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ใช้เวลาเรียนรู้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอยู่กว่า 7 ปี จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสาน

จุลินทรีย์

“ไปอบรมแรกๆ ก็แย้งในความรู้สึกว่ามันดูกระจอก จะได้จริงเหรอ กระจอกคือรายได้นิดเดียว ขายลำไยปีนึงได้เป็นแสน เก็บผักได้วันละ 100-300 บาท ทำเหนื่อย รายได้น้อย แต่เป็นผู้ใหญ่บ้านถูกส่งไปอบรมเรื่อยๆ ก็ซึมซับว่าน่าจะดี จะดีจริงมั้ย ก็ต้องลงมือทำ พอมาทำก็ยากอยู่ ต้องใช้ความอดทน ความขยันและเรียนรู้ตลอด แต่ผลที่ได้ ทำแล้วคุ้ม โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เพราะไม่ใช้สารเคมี”

วิถีการทำสวนลำไยที่พึ่งพาการใช้สารเคมี ทำให้สมาชิกในชุมชนได้รับผลกระทบเรื่องสุขภาพ ผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย แม่หลวงอ้อ ใช้เวลากว่า 2 ปี ลงมือทำและปรับเปลี่ยนการทำเกษตรในพื้นที่ 7 ไร่ของตนเองให้เป็นเกษตรผสมผสานเพื่อเป็นตัวอย่างให้สมาชิกได้เข้ามาเรียนรู้ จนเกิดเป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านป่าลาน” ที่มีทั้งแปลงผักอินทรีย์ โรงเลี้ยงไก่ บ่อปลา และไม้ผลหลากชนิด และทำให้สมาชิกในชุมชนที่แม้จะยังปลูกพืชเชิงเดี่ยว เริ่มให้ความสำคัญที่จะลดการใช้สารเคมี

เมื่อเชื่อมั่นในเส้นทางเกษตรผสมผสานและต้องการลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรในชุมชน แม่หลวงอ้อ ศึกษาหาความรู้และเข้าอบรมเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์นี้ได้

จุลินทรีย์

“มีโอกาสได้ไปเรียนรู้เรื่องจุลินทรีย์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปอบรมตั้งแต่ทฤษฎี เข้าห้องแล็บส่องกล้องจุลทรรศน์ดูว่าจุลินทรีย์ใน EM กับจุลินทรีย์ที่อาจารย์ทำต่างกันอย่างไร แต่ก่อนเราใช้ EM ฟังแต่คำโฆษณาของคนขาย ก็เข้าใจว่าใช้กับพืชผักได้ แต่พอได้มาเรียนเจาะลึก ทำให้รู้ว่าต่างกัน จุลินทรีย์ของอาจารย์จะถูกคัดเลือกมาแล้ว ทำหน้าที่เฉพาะ ถ้าเป็นเชื้อย่อยก็ทำหน้าที่ย่อยสลาย เอามาทำปุ๋ยได้ ตัวที่ทำหน้าที่ดับกลิ่นก็ใช้ดับกลิ่นเหม็น”

การได้เรียนรู้ “จุลินทรีย์เพื่อการเกษตร” จุดประกายให้ แม่หลวงอ้อ มองเห็นช่องทางที่จะช่วยให้สมาชิกในชุมชนลดการใช้สารเคมี แม่หลวงทดลองใช้เชื้อจุลินทรีย์กลุ่มควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืช กลุ่มเร่งการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำหัวเชื้อมาขยายและฉีดพ่น

“เห็นได้ชัดว่าผลผลิตดีขึ้น ได้จำนวนมากขึ้น ลดการเกิดโรคผลแตก ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ใช้จุลินทรีย์กลุ่มควบคุมโรคพืชฉีดพ่นที่ต้นลำไย ช่วยป้องกันโรคลำไยแตก ลดปัญหาหนอนกระทู้ผักในแปลงผักได้ ส่วนจุลินทรีย์กลุ่มเร่งการย่อยสลายฯ ก็ฉีดพ่นที่โคนต้นลำไย ช่วยย่อยสลายใบลำไยที่ร่วง แล้วในจุลินทรีย์นี้เป็นเชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยป้องกันโรคได้อีกด้วย”

แม้ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้จะมีโรงเลี้ยงไก่ถึงสองหลังใหญ่ แต่กลับไม่ได้กลิ่นของขี้ไก่ ทั้งนี้เพราะแม่หลวงอ้อได้ใช้จุลินทรีย์กลุ่มบำบัดกลิ่นและบำบัดน้ำเสียฉีดพ่นในโรงไก่แทนการใช้น้ำยาเคมีฆ่าเชื้อ เช่นเดียวกับบ่อปลานิลที่ประสบปัญหากลิ่นเหม็นจากปลาตายในบ่อโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอสันนิษฐานว่าอาจมาจากอาหารหรือขี้ปลาตกตะกอนสะสมในบ่อ แม่หลวงได้ใช้จุลินทรีย์กลุ่มเดียวกันนี้ผสมน้ำตามสัดส่วนและสาดรอบบ่อทุกๆ 7 วัน ไม่เพียงกลิ่นเหม็นหายไป แต่ยังหยุดอัตราการตายของปลาอีกด้วย

เมื่อได้เรียนรู้และทดลองใช้จริง ผลลัพธ์ที่ได้ตอบโจทย์ความต้องการลดใช้สารเคมีและยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ แม่หลวงอ้อจึงได้ส่งต่อความรู้เรื่องจุลินทรีย์เหล่านี้ให้สมาชิกในชุมชน ด้วยแนวคิดที่ “แนะนำให้เขาใช้ก่อน เกษตรกรถ้าไม่เห็นผล เขาจะไม่ยอมรับ ต้องให้เขาได้ทดลองเอง”

ผลตอบรับเป็นไปดังที่แม่หลวงคาดหวัง สมาชิกให้ความสนใจและนำจุลินทรีย์กลุ่มควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืชไปใช้ในแปลงลำไยและแปลงผักของตนเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแปลงลำไยของชุมชนหมู่ 4 ส่งต่อไปถึงเกษตรกรจากอำเภอสารภีที่ให้ความสนใจ ทดลองนำไปใช้และได้ผลดีเช่นกัน กลายเป็นผู้ใช้ขาประจำที่แวะเวียนมารับจุลินทรีย์จากศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้

แม่หลวงอ้อ ได้รับหัวเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มบำบัดกลิ่นและน้ำเสีย กลุ่มเร่งการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และกลุ่มควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืชจากโครงการความร่วมมือระหว่าง สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อได้หัวเชื้อมาแล้ว แม่หลวงจะขยายหัวเชื้อใส่ถังแกลลอน 200 ลิตร ติดป้ายที่ถังระบุประเภทเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มต่างๆ เตรียมไว้ให้สมาชิกนำแกลลอนมาตักบรรจุกลับไปใช้ที่แปลงตนเอง

“เคยไปอบรมกับหน่วยงานอื่น ได้เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นผงใส่ซอง เอามาใช้แล้วไม่ค่อยดี แต่จุลินทรีย์ของม.แม่โจ้ เป็นเชื้อสด เห็นผลชัดเจน ช่วยย่อยสลายได้เร็ว และยังใช้งานง่ายกว่า แค่เอาไปผสมน้ำแล้วฉีดพ่นได้เลย” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มฯ บอกเล่าถึงประสบการณ์การใช้เชื้อจุลินทรีย์ด้านการเกษตร

ระบบนิเวศที่เสื่อมสภาพ สุขภาพร่างกายที่แย่ลงจากการทำเกษตรที่ใช้สารเคมี ทำให้สมาชิกในชุมชนเปิดใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำเกษตร แม้เริ่มต้นจะดูยุ่งยาก แต่พวกเขาก็พร้อมเรียนรู้

“พยายามให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยน ทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง เราอ้างอิงวิชาการทุกคำ ความรู้จากสถาบันที่ได้มา ทำแจก ไม่มีขาย คุณอยากลองก็ทำ ไม่บังคับ ความรู้ก็เหมือนรถเมล์ ถ้าคุณอยากขึ้นก็โบกไป ถ้าไม่อยากขึ้นก็ปล่อยผ่านไป”

ปัจจุบันสมาชิก 30 คนของชุมชนหมู่ 4 ได้รับความรู้และใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม ได้ผลผลิตดีขึ้น ลดต้นทุนการทำเกษตร และที่สำคัญได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมา

# # #

สวทช. สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา “การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในด้านสิ่งแวดล้อมและการเกษตร” ให้ ผศ.ดร.ฐปน ชื่นบาล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านป่าลาน ม.4 ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่

จากหนังสือ “วิทย์พลิกชีวิต เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี”

เมื่อ “จุลินทรีย์” เปลี่ยนชีวิต