“กากับเหยือกน้ำ” ความเฉลียวฉลาดของสัตว์โลก

เรื่องโดย
รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ


          ในนิทานอีสปเรื่อง The crow and the pitcher หรือ กากับเหยือกน้ำ นั้น กล่าวถึง กาตัวหนึ่งที่กำลังบินด้วยความอ่อนล้าและกระหายน้ำอย่างแรง มันเหลือบไปเห็นเหยือกน้ำใบหนึ่งตั้งอยู่ จึงรีบตรงดิ่งไปที่เหยือกด้วยความดีใจ แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เหยือกปากแคบและลึก แถมน้ำในเหยือกก็เหลืออยู่ไม่มาก กาพยายามแหย่จงอยปากของมันลงไป แต่ก็ไม่ถึงน้ำเสียที มันไม่ยอมแพ้ ยังคงมุ่งมั่นหาสารพัดวิธีที่จะกินน้ำให้ได้ ในที่สุดไอเดียเด็ดก็ผุดขึ้นในหัว กาบินไปคาบหินมาใส่ลงไปในเหยือกทีละก้อนๆ ราวกับปาฏิหาริย์ ระดับน้ำค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจนใกล้ถึงขอบเหยือก กายิ้มมุมปาก พร้อมก้มลงกินน้ำดับกระหายด้วยความอิ่มเอม

(ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/8725928@N02/8080898424)

          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการใช้สติปัญญา

          หลังฟังนิทานจบ หลายคนแอบคิดในใจว่า ก็นี่มันนิทาน แต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิง สอนใจ และหลอกเด็ก กาบ้านแกสิจะรู้มากขนาดนั้น

          “ใช่แล้ว กาทั้งบ้านฉัน บ้านแกนี่แหละ ที่สามารถและฉลาดไม่เป็นรองใครในปฐพี” นักชีววิทยาหลายเสียงตะโกนขึ้นพร้อมกัน

          “กา” และรวมถึงนกอื่นที่อยู่ในวงศ์ Corvidae ได้รับการพิสูจน์จากหลายสถาบันแล้วว่า พวกมันขึ้นชื่อมากเรื่องความเฉลียวฉลาด การที่กาใช้ก้อนหินหย่อนลงในเหยือก เพื่อให้ระดับน้ำที่อยู่ก้นเหยือกสูงขึ้นจนมันกินได้ตามที่นิทานว่านั้น นักวิจัยจาก Cambridge University พบว่า พวกมันสามารถทำอะไรแบบนั้นได้จริงๆ

(ภาพจาก https://www.biorxiv.org/content/10.1101/027706v1.full)

          ในการทดสอบเพื่อยืนยันความฉลาดเฉลียวของนกวงศ์กา พวกเขาได้จำลองเหตุการณ์ที่คล้ายกับในนิทาน โดยได้จัดแก้วทรงสูงปากแคบซึ่งมีน้ำอยู่แค่ก้นแก้วไว้ให้กา แต่เพื่อสร้างแรงจูงใจ จึงได้ใส่หนอนลงไปในแก้วด้วย แน่นอนว่า แม้จะอยากกิน แต่กาก็ไม่สามารถแหย่ปากลงไปจิกหนอนขึ้นมาได้ นักวิจัยจึงได้แอบประทานก้อนหินให้กองหนึ่ง แล้วเฝ้าดู กาค่อยๆ คาบก้อนหินหย่อนใส่แก้วไปทีละก้อน จนระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น พอถึงระดับที่ปากมันแหย่ลงไปถึง จึงค่อยจิกหนอนขึ้นมากินอย่างง่ายดาย

          ในการทดสอบแบบชี้ชัดขึ้นไปอีก คราวนี้นักวิจัยประทานก้อนหินที่มีขนาดใหญ่และเล็กปนเปกัน ปรากฏว่า กาก็ยังฉลาดไม่เลิก มันเลือกใช้แต่หินก้อนใหญ่ เพื่อให้ระดับน้ำเพิ่มสูงเร็วขึ้น แต่เหนื่อยน้อยกว่า นักวิจัยเองก็ยังไม่หยุดแค่นั้น ในการทดสอบครั้งที่สามเพื่อฟันธงว่ากาไอคิวสูงจริงๆ นักวิจัยได้เพิ่มแก้วบรรจุหนอนในขี้เลื่อยเข้ามาสร้างความสับสน แต่กาไม่หลงกล มันยังคงเลือกหย่อนหินลงในแก้วที่มีน้ำเท่านั้น

          นอกจากการเรียนรู้ที่เร็ว และรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว กายังสามารถสร้างเครื่องมือเฉพาะกิจเพื่อใช้ในการ

(ภาพจาก https://api.semanticscholar.org/CorpusID:4140877)

          หากินอย่างน่าทึ่ง นักวิจัยจาก Oxford University พบว่า กานิวคาลีโดเนีย (New Caledonian crow) เป็นนักประดิษฐ์ที่มีพรสวรรค์สูง พวกมันรู้จักนำวัสดุธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ ก้านใบ ไหลเฟิร์น หรือแม้กระทั่งขนของมันเอง มาทำเป็นไม้จิ้ม สำหรับแหย่เข้าไปตกเหยื่อที่อยู่ตามซอกหลืบ หรือช่องแคบที่ไม่สามารถแหย่ปากเข้าไปได้ แต่ในบางครั้ง เมื่อใช้ไม้จิ้มรุ่นเบสิคแล้วจิ้มไม่ติด กาจะพัฒนาไม้จิ้มรุ่นใหม่ที่พิเศษกว่า คือ มีปลายงอเหมือนเข็มถักโครเชต์ ทำให้เกี่ยวติดเหยื่อได้ง่ายขึ้น

(ภาพจาก https://arstechnica.com/science/2017/10/scientists-investigate-why-crows-are-so-playful/)

          กาบางตัวครีเอทีฟขึ้นไปอีก มันเลือกใช้ของที่ธรรมชาติเสกสรรปั้นแต่งมาแล้ว เช่น ขอบใบของไม้สกุลเตยซึ่งมีลักษณะเป็นซี่เลื่อยมาทำเป็นไม้จิ้ม ไม้จิ้มรุ่นขอบใบเลื่อยนี้ ทำขึ้นด้วยความประณีตและแฝงไว้ด้วยหลักการ ตรงส่วนปลายไม้จิ้มจะเรียวแหลม ในขณะที่ตรงโคนจะกว้างกว่าเพื่อให้คาบได้ถนัด ที่สำคัญ ซี่เลื่อยทางแหลมจะหันเข้าหาตัวกาเสมอ เพื่อให้แทงเหยื่อได้ง่าย และให้ซี่เลื่อยทำหน้าที่เหมือนตะขอที่จะจิกเกี่ยวเนื้อของเหยื่อไว้

          วีรกรรมกาทำได้ยังมีอีกมาก หลายสิ่งที่เราทำได้ กาก็(อาจ)ทำได้ และในบางครั้ง เราเองก็ตกเป็นเครื่องมือของกาโดยไม่รู้ตัว ณ ประเทศญี่ปุ่น กาผู้หิวโหยคาบลูกนัตไปวางทิ้งไว้กลางถนน ก่อนจะหลบไปเฝ้าดูลูกนัตอยู่ห่างๆ อย่างไม่วางตา ทันใดนั้นมีรถคันหนึ่งผ่านมาทับเปลือกลูกนัตจนแตก กายิ้มมุมปาก แล้วค่อยๆ บินมาคาบเอาเนื้อลูกนัตไปกินอย่างสบายอารมณ์

          งานวิจัย(เหล่า)นี้สอนให้รู้ว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยการใช้สติปัญญา

About Author