ทุ่งน้ำหลากตำบลท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก ระบบนิเวศสำคัญที่ใกล้สูญหาย บ้านหลังสุดท้ายของปลาใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก

เรื่องโดย
ชวลิต วิทยานนท์ และ จารุปภา วะสี


 

แก้มลิงธรรมชาติผืนสุดท้ายของที่ราบภาคกลาง

ทุ่งน้ำหลากตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เป็นที่ราบลุ่มต่ำจุดที่ลึกที่สุด ซึ่งรับน้ำท่วมตามธรรมชาติจากป่าเขาใหญ่และแม่น้ำปราจีนบุรี และเป็น “แก้มลิงธรรมชาติ” ผืนสุดท้ายของที่ราบภาคกลาง ที่เชื่อมกับพื้นที่รับน้ำใกล้เคียงในตำบลปากพลี อำเภอปากพลี และตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี รวมพื้นที่ทั้งหมดในหน้าน้ำหลากช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เหลือเพียงราว 150 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

ในฤดูน้ำท่วมทุ่ง ปลาที่อยู่ในหนองบึงขนาดเล็กและคลองธรรมชาติที่กระจายอยู่ทั่วไปในแถบนี้จะว่ายเข้าไปในทุ่งน้ำหลากอันกว้างใหญ่ที่ใช้ปลูกข้าวนาปีหรือ “ข้าวน้ำลึก” ราวแสนไร่ เพื่อหาอาหาร ผสมพันธุ์ และวางไข่ เมื่อน้ำเริ่มลดจากทุ่งและไหลกลับสู่ลำน้ำธรรมชาติในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ปลาจะว่ายจากทุ่งกลับลงสู่แหล่งน้ำ เป็นช่วงเวลาของมหกรรมจับปลาจำนวนมหาศาลที่ว่ายออกจากทุ่งปี ทั้งปลาซิว ปลาสร้อย ปลาสลิด ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาชะโด ปลาดุก ปลากระดี่ ปลาตะเพียน ปลาฉลาด ปลากด ปลากราย ปลานิล และปลาไหล ส่วนปลาขนาดเล็กมาก ๆ ที่หลุดรอดจากเครื่องมือจับปลาจะกลับลงไปเติบโตตามแหล่งน้ำที่ยังมีน้ำอยู่ และรอเวลาที่จะว่ายเข้าทุ่งกว้างใหญ่เมื่อน้ำหลากมาอีกครั้ง


ความหลากหลายของพรรณปลาในทุ่งน้ำหลากที่พบมากกว่า 90 ชนิด

การหมุนเวียนของฤดูกาลและระบบน้ำธรรมชาติทำให้ระบบนิเวศของทุ่งน้ำหลากในตำบลท่าเรือยังคงความหลากหลายของห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ ในทุ่งหน้าน้ำมีพืชและสัตว์หลากชนิด เมื่อน้ำลดจะมีหนู งู และนกน้ำจำนวนมาก รวมทั้งนกนักล่าอพยพ จำพวกเหยี่ยว อินทรี และแร้ง หลายพันตัวเข้ามาพักอาศัยในฤดูหนาว จนได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สำคัญของนกในระดับนานาชาติ (Important Bird Area) ที่เป็นแหล่งพักพิงและทำรังของเหยี่ยวดำจำนวนมาก เกิดเป็นนิเวศบริการต่อมนุษย์ เป็นความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและจังหวัดรอบข้าง เป็นฐานเศรษฐกิจชีวภาพและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งเกิดเป็นระบบภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนที่มีค่าในการจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติของทุ่งน้ำหลากที่ใกล้สูญหายจากประเทศไทย


ความหลากหลายของสัตว์เลื้อยคลานและสะเทินน้ำสะเทินบก

ภาพโดย : ปริญญา ภะวังคนันท์


ความหลากหลายของนกน้ำ
ภาพโดย : จิรายุ จันทร์ศรีคำ


เหยี่ยวดำ

 

บ้านหลังสุดท้ายของ “ปลาซิวสมพงษ์” 1 ใน 100 สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก


ฝูงปลาซิวสมพงษ์ในท้องนาธรรมชาติ
ภาพโดย : นณณ์ ผาณิตวงศ์

 ทุ่งน้ำหลากในตำบลท่าเรือยังเป็นบ้านหลังสุดท้ายของ “ปลาซิวสมพงษ์” (Trigonostigma somphongsi) ซึ่งเป็น “1 ใน 100 สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก” (Critically Endangered: CR) ตามเกณฑ์ IUCN Redlist ที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และมีโอกาสสูงมากที่จะสูญพันธุ์หากไม่ดำเนินการใด ๆ

ปลาซิวสมพงษ์เป็นปลาขนาดจิ๋วในวงศ์ปลาซิว (Danionidae) พบเฉพาะในประเทศไทย ตัวโตเต็มที่ยาวไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร ปลาเพศผู้รูปร่างเรียวยาวและขนาดเล็กกว่าเพศเมีย อาศัยปะปนกับปลาซิวชนิดอื่น แต่พบน้อยกว่ามาก กินแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก แม่ปลาวางไข่น้อยมาก ครั้งละประมาณ 8-10 ฟอง และวางไข่ต่อเนื่องหลายวัน โดยแปะติดกับใบของพืชน้ำ ใช้เวลาฟักประมาณ 2 วัน

ปลาซิวสมพงษ์เคยอาศัยในหนองบึงและทุ่งนาน้ำหลากของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง ในแหล่งน้ำคุณภาพดี มีพรรณไม้น้ำหนาแน่น ปัจจุบันเหลือเพียงประชากรกลุ่มสุดท้ายของโลกในบริเวณทุ่งน้ำหลากตำบลท่าเรือ และพื้นที่เชื่อมต่อใกล้เคียงขนาดรวมไม่เกิน 50 ตารางกิโลเมตร ส่วนในหน้าแล้งยามน้ำแห้งทุ่ง พบปลาซิวสมพงษ์หลบอาศัยอยู่ในคลองหนองบึงของตำบลท่าเรือที่มีสภาพเป็นธรรมชาติ มีการระบายน้ำและคุณภาพน้ำดี โดยเฉพาะในแหล่งน้ำใกล้เคียงหรือเชื่อมโยงกับทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ตำบลท่าเรือ ซึ่งมีขนาดพื้นที่รวมกันไม่ถึง 10,000 ตารางเมตร ถือเป็น “ถิ่นอาศัยวิกฤต” (critical habitat) ที่หากมีการเปลี่ยนแปลง รบกวน และพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานใด ๆ อาจทำให้ปลาซิวสมพงษ์สูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว

ทุ่งอยู่ได้ ชีวิตที่หลากหลายอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

ตำบลท่าเรือตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำและห่างไกลจากถนนใหญ่กว่าพื้นที่โดยรอบทำให้การเปลี่ยนแปลงในตำบลยังเกิดขึ้นไม่มากนัก ชาวตำบลท่าเรือมีวิถีชีวิตเรียบง่ายและเป็นส่วนหนึ่งในวัฏจักรชีวิตทุ่งน้ำหลาก โดยได้ร่วมกันดูแลรักษาระบบนิเวศที่สำคัญและใกล้สูญหายนี้มานานกว่า 130 ปี ทั้งการเฝ้าระวังปัจจัยคุกคามต่าง ๆ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แหล่งน้ำ เพื่อให้ทุ่งน้ำท่วมแห่งนี้พื้นที่สำคัญที่อนุรักษ์ “สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก” และ “ถิ่นอาศัยวิกฤต” ไว้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นพื้นที่เก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกซึ่งสร้างประโยชน์แก่ทุกคนอย่างยั่งยืน

สำหรับการรักษาสภาพพื้นที่ถิ่นอาศัยวิกฤตของปลาซิวสมพงษ์ในฤดูแล้งซึ่งมีอยู่ไม่เกิน 0.01 ตารางกิโลเมตรในลำคลองที่พบปลาซิวสมพงษ์ ในตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ชุมชนมีแผนร่วมมือกับกรมชลประทาน โดยผู้นำชุมชนเสนอให้เพิ่มปริมาณน้ำในหน้าแล้งด้วยการขุดลอกคลองรอบทุ่งใหญ่นกเหยี่ยวตำบลท่าเรือ (ทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์) ความยาวรวม 8,500 เมตร ให้ลึกเพิ่มขึ้น 1 เมตร ทำฝาย 1 จุด เพื่อรักษาปริมาณน้ำให้เหมาะสม และขุดลอกวัชพืช โดยเฉพาะจอกหูหนูที่แพร่ระบาดอย่างหนักในปีนี้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์น้ำอย่างยิ่ง

ชุมชนยังตั้งใจจะทำให้ทุ่งใหญ่ปากพลีได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเพื่อเป็นพื้นที่เชิงอนุรักษ์หรือเป็นแรมซาร์ไซต์ เป็นเวทีพูดคุยระหว่างชุมชนกับเครือข่ายการทำงานอนุรักษ์ระดับต่าง ๆ จากภายนอกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดทางเลือกในการตัดสินใจและเกิดการสนับสนุนให้เป้าหมายของชุมชนเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีแผนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์และถิ่นอาศัยใกล้สูญพันธุ์ให้แก่คนในชุมชนและเยาวชน เพื่อเป็นแนวร่วมสำคัญในการอนุรักษ์และเป็นกระบอกเสียงกระจายข่าวสารให้ผู้สนใจ ซึ่งโครงการกำลังจะจัดทำหนังสือและสื่อความรู้ รวมทั้งจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่ชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจและความเข้มแข็งด้านการอนุรักษ์ต่อไป

About Author